ข้อมูลครั้งที่ 24: 6 เดือน 100 มาตรการ กับผลงานรัฐบาลประชาธิปัตย์


โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 47.24 ล้านคน ในปี 2553 โดยอนุมัติงบฯปี 2552 ทั้งสิ้น 89,322.26 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับ 2,401.33 บาท/ประชากร ซึ่งเป็นอัตราเหมาจ่ายที่สูงที่สุดของการดำเนินงานที่ผ่านมา และงบฯบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ไตวายเรื้อรัง โรคเรื้อรัง

ข้อมูลส่งให้ทีมครั้งที่ 24: วันที่ 9 สิงหาคม 2552

ประเด็น :    6 เดือน 100 มาตรการ กับผลงานรัฐบาลประชาธิปัตย์

 

สำนักข่าวแห่งชาติได้นำบทสรุปที่คัดมาจากเอกสารผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2552) มีความยาว 40 หน้า จัดทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี และได้เผยแพร่ในวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่นายอภิสิทธิ์ และคณะแถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 6 เดือน ที่ทำเนียบรัฐบาล

1.การสร้างรายได้

- การช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อคน มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยรอบแรกแล้ว 3,576,661 คน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 มีการเบิกจ่ายงบฯแล้ว 6,019,597,500 บาท

- ให้ค่าตอบแทน (ค่าป่วยการ) แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.เชิงรุก) ทั่วประเทศ จำนวน 987,019 คน ในอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือน เดือนเมษายน 2552 จ่ายครั้งแรกไปแล้ว และเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน ได้จ่ายอีกรอบเป็นเงินรวมกว่า 1,796 ล้านบาท

- จัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ในการเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดให้ชุมชนทำโครงการเสนอขออนุมัติเงินชุมชนละ 100,000-700,000 บาท ตามจำนวนประชากร มีชุมชนต่างๆ ส่งโครงการขอรับงบประมาณ 59,338 ชุมชน รัฐบาลอนุมัติโครงการไปแล้ว 25,059 ชุมชน วงเงิน 7,228 ล้านบาท และได้โอนเข้าบัญชีชุมชนไปแล้ว 3,032 ล้านบาท

- การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เริ่มจากให้ความเห็นชอบในแนวทางการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากนั้นได้เริ่มมาตรการรับจำนำและแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรหลัก ประกอบด้วย

ก.เปิดจุดรับจำนำข้าว เปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/2552 จำนวน 745 จุดทั่วประเทศ เพื่อรับจำนำข้าวนาปีของเกษตรกรจำนวน 574,190 ราย ปริมาณผลผลิตรวม 5.35 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าราคาก่อนรับจำนำ เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ จากราคา 9,800-10,000 บาท/ตัน เป็น 13,500-14,200 บาท/ตัน

ข.การรับจำนำข้าวเปลือก นาปรัง ปี 2552 มีเกษตรกรมาจำนำ 367,940 ราย ปริมาณรับจำนำรวม 4.26 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวนาปรังปรับเพิ่มสูงขึ้น จาก 9,888 บาท/ตัน เป็น 9,906 บาท/ตัน

ค.การแทรกแซงตลาดมัน สำปะหลัง ปี 2551/2552 มีเกษตรกรมาจำนำทั้งสิ้น 77,333 ราย ปริมาณรับจำนำ 1 ล้านตันหัวมันสด ส่งผลให้ราคาหัวมันสดสูงขึ้น จาก 1.20-1.30 บาท/กก. เป็น 1.80-2.05 บาท/กก.

ง.การแทรกแซงตลาดข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 มีเกษตรกรมาจำนำทั้งสิ้น 77,333 ราย ปริมาณรับจำนำ 1 ล้านตัน ส่งผลให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงขึ้นจาก 7.91 บาท/กก. เป็น 8.88 บาท/กก.

นอกจากนี้ยังแก้ไขปัญหา นมดิบล้นตลาด มีการแทรกแซงตลาดน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2551/2552 และสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

2.การลดค่าใช้จ่ายและลงทุนทางสังคมเชิงรุก

- โครงการเรียนฟรี 15 ปี จัดสรรงบประมาณ 19,296 ล้านบาท

- โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 47.24 ล้านคน ในปี 2553 โดยอนุมัติงบฯปี 2552 ทั้งสิ้น 89,322.26 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับ 2,401.33 บาท/ประชากร ซึ่งเป็นอัตราเหมาจ่ายที่สูงที่สุดของการดำเนินงานที่ผ่านมา และงบฯบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ไตวายเรื้อรัง โรคเรื้อรัง

- การลดค่าครองชีพประชาชน ได้แก่ ธงฟ้าราคาประหยัด,เช็คช่วยชาติ,โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน (น้ำ ไฟ รถเมล์ รถไฟชั้น 3 ฟรี),การตรึงราคาก๊าซหุงต้มโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชยการนำ เข้าก๊าซหุงต้ม,การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้กลับไปอยู่ในอัตรา เดิมก่อนดำเนินมาตรการ

- โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ได้แก่ โครงการต้นกล้าอาชีพ มีผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมผู้ว่างงานจำนวนรวม 113,069 คน,ออกมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดเลิกจ้าง ลดเคลื่อนย้ายแรงงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ว่างงาน เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มทางเลือกอาชีพ เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน,โครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเอสผ่านการปล่อยสินเชื่อ และการค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 5 แห่ง รวม 22,858.57 ล้านบาท

3.มาตรการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยว

- ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ 1,470.38 ล้านบาท,ยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมด้านการท่องเที่ยว,ช่วยเหลือด้านการ เงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ผ่านการให้สินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาท,การประกันภัยคุ้มครองชาวต่างชาติในกรณีเกิดจลาจล,การให้จัดสัมมนา ของหน่วยราชการเฉพาะภายในประเทศ,กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ

4.การเร่งรัดลงทุนขนาดใหญ่

ในช่วงต้นปี 2552 รัฐบาลได้ดำเนินการบรรเทาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะหน้า โดยจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน และจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 วงเงิน 116,700 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศสร้างรายได้ และลดรายจ่ายค่าครองชีพของประชาชนที่มีรายได้น้อย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นในช่วง ครึ่งแรกของปี 2552 และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากที่ดำเนินการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะหน้าไปแล้วในช่วงต้นปี โดยการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะเป็นการลงทุนเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน สร้างโอกาสการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน วางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกเมื่อเศรษฐกิจ โลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้อนุมัติกรอบการลงทุนจำนวน 1.43 ล้านล้านบาท ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือที่เรียกว่า "แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นการลงทุนในช่วงปี 2552-2555 โดยจะดำเนินการลงทุนใน 7 สาขา ได้แก่

- แผนงานปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการกระจายน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร ดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน จะได้รับประโยชน์จากการมีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม รวมทั้งการผลิตในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังรวมถึงการป้องกันบรรเทาอุทกภัย และการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ทั้งพืชอาหารและพืชพลังงานที่สำคัญ

- แผนงานปรับปรุงและพัฒนาบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติคส์ของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาวโดยลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า การปรับปรุงทางหลวง และก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรและ อุตสาหกรรมและการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล การปรับปรุงก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ ไฟฟ้าใต้ดิน ประปาและเคเบิลใต้น้ำในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ และปรับปรุงอุทยานแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นการกระจายบริการพื้นฐานไปสู่พื้นที่ชนบท นอกจากนี้ รัฐบาลจะลงทุนพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยการปรับปรุงโรงเรียน 10,607 แห่ง การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน การพัฒนาโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล 4,000 แห่ง จัดตั้งและพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์ไต เบาหวาน และศูนย์อุบัติเหตุรวม 161 แห่ง เป็นต้น

- แผนงานเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีศักยภาพและการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ที่เสื่อมโทรม เช่น ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยการส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างสถานที่สำคัญริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

- แผนงานพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นการลงทุนเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยการลงทุนจะครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ 1) มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (Cultural Heritage) 2) การส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรม (Art and Cultural Performance) 3) การส่งเสริมงานช่างฝีมือ (Craftsmanship) 4) การพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ (Creative Product) 5) การส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อและซอฟท์แวร์ และ 6) การส่งเสริมการออกแบบ และการวิจัยและพัฒนา (Design and R&D) รวมถึงโครงการ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกโลกอยุธยาในสภาวะเร่งด่วน การพัฒนากรุงเทพฯสู่เมืองวัฒนธรรม (Bangkok Cultural Towns) การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตเซรามิค อัญมณี เครื่องจักสาน แกะสลักไม้ ของ SME และการจัดงาน Digital Media Asia 2009 เป็นต้น

- แผนงานยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัย เป็นการลงทุนพัฒนาให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกวัย ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีการเรียนรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนตลอดชีวิต มีการผลิตกำลังคนระดับกลางและระดับสูงที่มีสมรรถนะสอดคล้องและตรงกับความ ต้องการของภาคการผลิตและบริการพร้อมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของกำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สูงขึ้นและยกระดับมหาวิทยาลัยวิจัยของไทยให้ อยู่ใน 200 อันดับแรกของโลก

- แผนงานปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุข ดำเนินการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขการผลิตแพทย์ ประมาณ 1,100 คน พยาบาลวิชาชีพ 6,000 คน ทันตสาธารณสุข 1,600 คน นักวิชาการสาธารณสุข 2,400 คน ผู้ช่วยพยาบาล 75,000 คน นักกายภาพบำบัด 200 คน และการพัฒนาศักยภาพและบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ อีก 19,000 คน เพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขใน ทุกระดับบริการ และการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาค

- แผนงานการลงทุนเพื่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตในระดับชุมชนและพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ขึ้น มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเพิ่มขึ้น 18,750 หลังคาเรือน มีน้ำสะอาดและบริการประปาเพิ่มขึ้น 17,272 ครัวเรือน มีการจ้างงาน มีอาชีพสามารถยกระดับรายได้ใน 2,901 ชุมชน โดยในชุมชนเป้าหมายเร่งด่วน 696 ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17,515 บาทต่อคนต่อปี (สำนักข่าวประชาสัมพันธ์ 31 กรกฎาคม 52)

อ่าน : ผลงานดำเนินงานของรัฐบาลอย่างละเอียด http://www.pm.go.th/works

 

หมายเลขบันทึก: 285559เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2009 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 05:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท