การจัดเวทีสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง


โครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังพันธุ์ดีเพื่อผลิตพลังงานทดแทน : เอทานอล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552

เรื่องเก่านำมามาเล่ากันใหม่  เพราะเรื่องนี้ผู้เขียนได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่  20  พฤษภาคม  2552   ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 13  ต.กระบกเตี้ย อ.เนินขาม   จ.ชัยนาท    โดยมีกลุ่มบุคคลเป้าหมายประกอบด้วย  เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ จังหวัด และเกษตรกร จำนวน   94  คน  ด้วยสาเหตุที่คุ้นเคยคือเวลาที่มีนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ  จะบอกว่าไม่มีเวลาก็ไม่ใช่ เพราะเขาให้เวลามาเท่ากันทุกคน คือ  24 ชั่วโมง/วัน 

จุดเริ่มต้นของแนวคิดที่จัด  การดำเนินงานการจัดเสวนาการจัดการความรู้ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยใช้เงินงบประมาณจากโครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังพันธุ์ดีเพื่อผลิตพลังงานทดแทน : เอทานอล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552   ดำเนินการ 4 จกลุ่มคือ อ.เนินขาม 21 คน  อ.หนองมะโมง 20 คน   อ.วัดสิงห์   20 คน และ อ.หันคา  20 คน   จะจัดเสวนาในพื้นที่ของแต่ละกลุ่มๆ ละ 3 ครั้ง  การได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างกลุ่มต่างๆ จึงไม่มี  ดังนั้นจึงได้จัดเวที การจัดเวทีสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเปิดประเด็นการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง เจ้าหน้าที่  โดยเฉพาะได้เชิญเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยนาท คือ คุณพี่พรสวรรค์  เริงมิตร นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ ผู้คลุกคลีกับกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ มานาน รวมทั้งกลุ่มผู้ผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่ตำบลไพรนกยูง ซึ่งประสบผลสำเร็จในการตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในมันสำปะหลังมาตลอดทุกปี สามารถเพิ่มผลผลิตจากไร่ละ 2.8 ตัน เป็น 4-5 ตัน ภายในระยะเวลา 3 ปี

การเสวนา  เริ่มจากการทักทาย  เพื่อสร้างบรรยากาศเป็นกันเอง  เนื่องจากเป็นช่วงฝนตก เกษตรกรกังวลถึงงานที่รออยู่ในไร่นา  เมื่อกล่าวถึงวัตถุประสงค์โดยตั้งธงของการเสวนาว่า เราจะตั้งกลุ่มและสร้างเครือข่ายกันอย่างไร  จึงได้ให้เปิดประเด็น โดยเกษตรกรที่มีแนวคิด และประสบการณ์ต่างๆ ดังนี้

คุณ ลำพวน  สวนชูผล จากกลุ่มไพรนกยูง กล่าวถึง ผลดีที่ได้รับจากการตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ประเด็นดังนี้

1.       เจ้าหน้าที่ของรัฐ จากหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ความสนใจ และเข้ามาถ่ายทอดความรู้เป็นประจำ

2.     ได้ร่วมกันเรียนรู้ ทดลอง ทดสอบพันธุ์มันสำปะหลัง การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จนสามารถมีปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในชุมชน ลดต้นทุนเป็นจำนวนมาก

3.       ได้มีเวทีพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของกเกษตรกร

 นายไพโรจน์  ศรีวารีรัตน์  เกษตรกรรายใหม่ที่มีประสบการจากการทำงานภาคเอกชนมาก่อน  ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจว่า ถ้าเราทุกคนสามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง  จะสามารถแปรรูปผลผลิตมันสำปะหลังจากการขายมันสำปะหลังเป็นหัวมันสด  เป็นมันเส้นได้เพื่อจำหน่ายให้ได้ราคาที่สูงขึ้น และสามารถรอจำหน่ายเมื่อมันสำปะหลังมีราคาที่สูงขึ้นได้  ในการนี้อาจดำเนินการในรูปของกองทุนชุมชน ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อพัฒนาการแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ต่อไป

นายประสิทธิ์  กันทัด  เกษตรกรประธานกลุ่มเกษตรกรทำไร่กะบกเตี้ย  จาก อ.เนินขาม  กล่าวว่า การตั้งกลุ่มเกษตรกรมักจะพบปัญหา จากการให้ความร่วมมือของสมาชิกในกิจกรรมต่างๆ  อีกทั้งการกล่าวต่อว่าผู้ทำงานส่งผลให้ผู้ทำเกิดความท้อถ่อยออกมาไม่ทำงานต่อ ส่งผลให้การรวมกลุ่มไม่เข้มแข็ง และล้มลงอย่างน่าเสียดาย 

นายไพโรจน์  ศรีวารีรัตน์  เกษตรกรจากอำเภอหนองมะโมง กล่าวว่า  การสร้างเครือจะช่วยให้ได้พบปะพูดคุยกันนำมาซึ่งความคิดที่จะร่วมกันรับผิดชอบในชุมชน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะแนวคิดที่จะแปรรูปผลผลิตมันสำปะหลังในรูปแบบต่างๆ  รวมทั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้และแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งปุ๋ยอินทรีย์  สารสกัดสมุนไพร และพันธุ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

                            หลังจากรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละรายหลากหลายความคิด แต่ไม่สามารถนำมาเสนอหมดได้ ซึ่งบางครั้งประเด็นจะใกล้เคียงในแนวทางเดียวกัน  แต่ต้องเปิดโอกาสให้ได้กล่าวเพื่อการเพิ่มน้ำหนักของประเด็นนั้นๆ

ข้อแก้ไขในแนวคิดของเกษตรกร   จุดประเด็นสำคัญที่เกษตรกรไม่ต้องการตั้งกลุ่มผู้เขียนได้นำเสนอให้กลุ่มได้รับทราบหลังจากรับฟังหลายท่านได้กล่าว  สรุปได้ 3 ประเด็นคือ  ประสบการณ์  จินตนาการณ์ และรางสังหรณ์  คือการนำประสบการณ์ที่พบจากการตั้งกลุ่ม หรือรับทราบการการเห็นและรับฟังมา นำมาปรุงแต่งเติมสีสันให้น่ากลัวตามความคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเราตั้งกลุ่มขึ้นมา จึงได้เสริมว่า เราต้องมีศรัทธา และแก้ไขที่ใจเราก่อน เมื่อนั้นเราจะสามารถเดินไปด้วยกัน พร้อมๆ กัน บนแนวความคิดของการทำงานเป็นทีม ให้กำลังใจ ให้อภัย และช่วยกันทำ และได้เปิดโอกาสให้พี่พรสวรรค์ เริงมิตร ได้กล่าวถึงหลักการสร้างเครือข่าย สรุปประเด็นดังนี้

1.       ประโยชน์ที่สมาชิกแต่ละคนจะได้รับ   ในที่นี้อาจแตกต่างกัน แต่ทุกคนต้องรู้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เขาเข้ามีส่วนร่วมทำงาน  ไม่ใช่เป็นเข้ามาเป็นเพียงไม้ประดับ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่สมาชิกเห็นว่าเขาเสียประโยชน์มากกว่าได้ หรือเมื่อเขาได้ในสิ่งที่ต้องการเพียงพอแล้ว สมาชิกเหล่านั้นก็จะออกจากเครือข่ายไปในที่สุด 

2.       ความสัมพันธ์ของสมาชิกในเครือข่ายต้องเป็นไปโดยสมัครใจ สมาชิกทุกคนมิสิทธิ์เท่าเทียมกัน  โดยกิจกรรมที่ทำในเครือข่ายต้องมีลักษณะเท่าเทียมหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

3.       สมาชิกของเครือข่ายต้องมีแนวคิดในประเด็นต่างๆ ร่วมกันคือ การรับรู้และมุมมองที่เหมือนกัน  การมีวิสัยทัศน์  ความสนใจหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน  การมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคนในเครือข่าย  มีการเสริมสร้างซึ่งกันและกัน  มีการเกื้อหนุนพึ่งพากัน  และมีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงแลกเปลี่ยน

ดังนั้นการพัฒนาเครือข่าย เพื่อความยั่งยืน  หัวใจ  คือการมีส่วนร่วมของสมาชิก สมาชิกจะต้อง เข้าใจเป้าหมายในการร่วมกันทำ  การยอมรับซึ่งกันและกัน  มีกิจกรรมสม่ำเสมอกระจายงานได้ทั่วถึง   การสื่อสารระหว่างกันอย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ  การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกและองค์กร ให้โอกาสสมาชิกทำกิจกรรม ให้กำลังใจซึ่งกัน และกัน การทำงานร่วมกัน

หลังจากเสวนากันจนเหนื่อยล้าแล้ว พี่ไพศาล มงคลหัตถี  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ จากสถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท  ได้มาแนะนำการปรับปรุงบำรุงดินในไร่มันสำปะหลังด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยพืชสด อีกทั้งได้สาธิตการทำปุ๋ยหมักด้วยอาหารจานด่วน  จากวัสดุดังนี้แกลบดิบ 3 กระสอบ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ แกลบดำ  3 กระสอบ ข้อดีมีซิลิก้าสูงช่วยสร้างผนักเซลของพืชแข็งแรงทดทานต่อโรคและแมลงเกิดช่องว่างที่อาศัยของจุลินทรีย์ และปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง มูลสัตว์อีก 10 กระสอบ เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน น้ำหมักชีวภาพ 4-5 ลิตร  เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและเพิ่มจุลินทรีย์  กากน้ำตาล 1-2 กิโลกรัม  ที่ขาดไม่ได้คือสารเร่ง พ.ด. 1 และ พ.ด.3 อย่างละ 1 ซอง  เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ เร่งการย่อยสลาย กลายเป็นปุ๋นอินทรีย์ได้เร็วขึ้น        

วิธีทำ เลือกสถานที่ในที่ร่ม นำวัสดุต่างๆ ผสมกัน ก่อนที่จะนำสารเร่ง พ.ด. 1 และ พ.ด.3 ละลายน้ำ  ผสมกากน้ำตาล ราดรดลงบนกองปุ๋ยให้พอชุ่ม ไม่แฉะเกินไป ปรับกองเป็นสี่เหลี่ยมไม่สูงเกินไป คลุมด้วยกระกอบป่าน  หมักทิ้งไว้  สังเกตว่าใช้ได้หรือยังคือใช้มือซุกเข้าในกองปุ๋ยจะไม่มีความร้อน สามารถนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินโดยหว่านระหว่างร่องของมันสำปะหลัง หรือหว่านก่อนเตรียมดิน

บทสรุปของการเสวนา การจัดเวทีสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง สมาชิกทุกคนเห็นด้วยกับการสร้างเครือข่าย   ซึ่งจะรวมกลุ่มจากกลุ่มเล็กไปสู่กลุ่มใหญ่ และประสานงานกันตามสถานการณ์เช่น พันธุ์มันสำปะหลังในแต่ละพื้นที่ และการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น

 

หมายเลขบันทึก: 285149เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2009 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท