ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

. วรรณกรรมพื้นบ้าน


วรรณกรรมท้องถิ่น

วรรณกรรมพื้นบ้าน

     วรณกรรมพื้นบ้าน (Folk Literature) ีความหมายเช่นเดียวกับวรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง ผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น เพลง นิทาน ตำนาน สุภาษิต เพื่อสร้างความบันเทิงให้สังคมในท้องถิ่น และเสนอแง่คิด คติสอนใจ ในการดำเนินชีวิต การศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านจะช่วยให้เข้าใจวิถีชีวิต ค่านิยม และความเชื่อของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นรากฐานการศึกษาความคิดและพฤติกรรมของคนรุ่นปัจจุบัน
   

  ลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมพื้นบ้า
 
 
  ๑. วรรณกรรมพื้นบ้านมักจะไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เพราะเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันมาแม้ว่าบางครั้งจะทราบว่าผู้แต่งเป็นใคร เช่น เรื่องสังข์ศิลป์ชัยของภาคอีสาน มีหลักฐานระบุว่าท้าวปรางค์คำเป็นผู้แต่ง แต่ก็ไม่ทราบประวัติที่ชัดเจนว่า ท้าวปรางค์คำมีตัวตนจริงหรือไม่ โดยทั่วไปวรรณกรรมพื้นบ้านจะระบุนามผู้เรียบเรียงหรือปริวรรต หรือผู้คัดลอก ซึ่งเรียบเรียงจากเรื่องราวเดิมที่เล่ากันอยู่ในท้องถิ่นนั้นอยู่แล้ว
  ๒. วรรณกรรมพื้นบ้านจะใช้ภาษาถิ่น ลักษณะถ้อยคำเป็นคำง่ายๆ มีทั้งที่สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา หรือแฝงนัยให้คิด ดังตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เช่น
   การสื่อความหมายตรงไปตรงมา
   " ลมพัดเหอ พัดมาวอกแวก
 อกน้องเหมือนจะแตก ใครจะมาล่วงโร้
 ถ้าเป็นน้ำเต้าหรือขี้พร้า จะผ่าให้แลกันโฉโฉ
ใครจะมาล่วงโร้ ในอกในทรวงน้อย...เหอ"

   พลงกล่อมเด็กเพลงนี้ กล่าวถึงจิตใจของผู้หญิงที่หวั่นไหว ยากจะบอกความในใจกับใครหากสามารถผ่าหัวใจได้เหมือนผ่าน้ำเต้าหรือฝักเขียว (ขี้พร้า) ก็จะผ่าให้ดูแต่ก็จนใจนัก
    ๓. วรรณกรรมพื้นบ้านเป็นแหล่งข้อมูลวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพราะได้บันทึกขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในท้องถิ่น เพื่อให้คนรุ่นต่อมายึดถือปฏิบัติตาม เช่น ประเพณีสู่ขวัญในภาคกลาง ภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีบทสวดที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และสืบทอดต่อกันมา เพื่อบอกขั้นตอนพิธีกรรม และมีถ้อยคำเชื้อเชิญเทวดา และเชื้อเชิญขวัญให้มาอยู่ประจำตัว นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกไว้โดยการจดจำจากรุ่นต่อรุ่น เช่น ประเพณีทำขวัญแม่โพสพหรือแม่ขวัญข้าวในภาคกลาง จะทำพิธีตอนข้าวตั้งท้อง (ข้าวออกรวง) และมีบทร้องอัญเชิญแม่โพสพให้มาอยู่เป็นมิ่งขวัญในท้องนา เพื่อข้าวในนาจะได้ออกรวงดี และเก็บเกี่ยวได้มาก
   ๔. วรรณกรรมพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาทางภาษาที่สืบทอดกันมาด้วยวิธีมุขปาฐะ วิธีมุขปาฐะ คือการบอกเล่าต่อๆ กันมา ขณะที่เล่าถ่ายทอดกันนั้น ผู้เล่าก็จะต่อเติมเสริมแต่งเรื่องราวทำให้เนื้อเรื่องแตกต่างไปจากเค้าเรื่องเดิม ยิ่งเล่าสืบทอดกันมานานเท่าใด เนื้อเรื่องก็จะพิสดารมากขึ้นลักษณะข้อนี้เป็นจุดด้อยคือ ทำให้การอนุรักษ์เรื่องเดิมกระทำได้ยาก แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดเด่นคือ ทำให้เกิดความหลากหลายของเนื้อเรื่องในแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันได้มีการรวบรวมรวมวรรณกรรมมุขปาฐะเหล่านี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คนรุ่นต่อมาจึงมักจะศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านจากต้นฉบับที่บันทึกไว้ การสืบทอดวรรณกรรมพื้นบ้านจึงเปลี่ยนแปลงจากวีการเล่าให้ฟังมาเป็นวิธีการอ่านจากต้นฉบับ
     ๕. วรรณกรรมพื้นบ้านกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มชนในท้องถิ่น
ความต้องการดังกล่าว ได้แก่ เพื่อความบันเทิง เช่น การเล่านิทาน การร้องเพลงพื้นบ้าน เพื่ออธิบายความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าชาวบ้านก็สร้างตำนานเรื่องรามสูรกับเมขลาขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์นั้น นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมพื้นบ้านที่สร้างขึ้นเพื่อสอนนคติธรรมในการดำรงชีวิต เช่น สำนวนภาษิตต่างๆ ที่ให้ข้อคิดสอนใจ ยังมีวรรณกรรมพื้นบ้านที่สะท้อนปัญหาครอบครัวไทย ดังนิทานจักรๆ วงศ์ ๆ

     ขอบเขตการแบ่งวรรณกรรมพื้นบ้าน
      โดยทั่วไปนิยมแบ่งวรรณกรรมพื้นบ้านเป็น ๔ เขต ตามการแบ่งเขตภูมิภาคดังนี้
๑. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลาง
๒. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ
๓. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๔. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้

      รูปแบบวรรณกรรมพื้นบ้าน
 
  

           วรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลาง
    วรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลางส่วนใหญ่มีรูปแบบเป็นกลอนสวด กลอนบทละครนอก กลอนนิทาน และกลอนแหล่ ลักษณะของแต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้
    ๑. วรรณกรรมกลอนสวด
วรรณกรรมที่ประพันธ์ด้วยกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ การสวดหนังสือ คือ การอ่านวรรณกรรมเป็นทำนองต่างๆ สวดโอ้เอ้วิหารราย หรือโอ้เอ้ศาลาราย สวดมาลัย สวดคฤหัสถ์ นอกจากผู้ฟังจะได้รับความเพลิดเพลินบันเทิงใจแล้ว ยังได้คติธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ประเพณีการสวดหนังสือนิยมปฏิบัติในวัด มีการสวดในครัวเรือนบ้าง เพื่อเป็นกิจกรรมบันเทิงยามว่าง เช่น เจ้าเงาะสวดสุบิน คำกาพย์ให้นางรจนาฟังในเรื่องสังข์ทอง

    ๒. วรรณกรรมกลอนบทละครนอก
เป็นกลอนที่เลือกเฉพาะเนื้อเรื่องตอนสนุกสนานจากวรรณกรรมพื้นบ้านมาประพันธ์ จึงพบต้นฉบับเป็นตอนๆ ไม่จบเรื่องบริบูรณ์ ละครนอกเป็นการแสดงของชาวบ้านที่นิยมกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะบทประพันธ์ไม่เคร่งครัด ฉันทลักษณ์ ใช้สำนวนโวหารตามแบบฉบับชาวบ้าน เช่น ใช้คำหยาบ ไม่นิยมใช้ราชาศัพท์ วรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลางประเภทกลอนบทละครนอก ได้แก่ เรื่องพิกุลทอง มณีพิชัย ไชยเชษฐ์ พระรถ – เมรี สังข์ทอง มโนห์รา
     ๓. วรรณกรรมกลอนนิทาน
วรรณกรรมกลอนนิทานต่างจากวรรณกรรมประเภทกลอนบทละครนอกเพราะนิยมประพันธ์จนจบเรื่องบริบูรณ์ ในสมัยที่กิจการโรงพิมพ์เจริญรุ่งเรือง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การพิมพ์กลอนนิทานออกจำหน่ายได้รับความสนใจจากผู้อ่านอย่างยิ่ง ประชาชนนิยมซื้อกลอนนิทานมาอ่านสู่กันฟังในครัวเรือน กิจการโรงพิมพ์ที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น คือ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หรือโรงพิมพ์วัดเกาะ๔. วรรณกรรมกลอนแหล่
กลอนแหล่ คือ การนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่งในมหาเวสสันดรชาดก มาประพันธ์เป็นรูปแบบกลอนแหล่ เรียกว่า แหล่ใน หรือนำบางตอนของนิทานพื้นบ้านมาประพันธ์เรียกว่าแหล่นอก นอกจากนี้ยังมีการประพันธ์กลอนแหล่ประเภทเบ็ดเตล็ด เช่น กลอนแหล่บายศรี กลอนแหล่ให้พร กลอนแหล่ทำขวัญนาค
การแหล่เป็นการขับลำนำชนิดหนึ่งที่อนุญาตให้พระภิกษุเป็นผู้ขับลำนำได้โดยไม่ถือว่าผิดศีลเพราะเนื้อหาการแหล่มาจากชาดก การแหล่มีลักษณะการเอื้อนและใช้เสียงสูงต่ำคล้ายกับการอ่านทำนองเสนาะ ภิกษุนักแหล่ที่มีความสามารถมักจะใช้ปฏิภาณด้นกลอนสด จึงมีเนื้อเรื่องบางตอนที่ออกนอกชาดกบ้าง

         วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ
    วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มาจาก ปัญญาสชาดก กวีพื้นบ้านได้นำเนื้อหามาจากชาดกเรื่องนี้มาประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น โคลง ค่าวธรรม ค่าวซอ เป็นต้น วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือมี ๔ ประเภทคือ วรรณกรรมโคลง วรรณกรรมค่าวธรรม วรรณกรรมค่าวซอ และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด แต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้

  ๑. วรรณกรรมโคลง
โคลง หรือเรียกตามสำเนียงท้องถิ่นภาคเหนือว่า กะโลง เป็นฉันทลักษณ์ที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์มังรายตอนปลาย กวีสมัยอยุธยาได้นำรูปแบบโคลงของภาคเหนือมาประพันธ์เป็น โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ ตัวอย่างวรรณกรรมโคลงของภาคเหนือที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น โคลงพรหมทัต โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน โคลงพระลอสอนโลก โคลงปทุมสงกา เป็นต้น
 ๒. วรรณกรรมค่าวธรรม
ค่าวธรรม หรือ ธรรมค่าว คือ วรรณกรรมที่ประพันธ์ตามแนวชาดก ฉันทลักษณ์ของค่าวธรรมส่วนใหญ่ เป็นร่ายยาว แทรกคาถาภาษาบาลี ภิกษุจะนำค่าวธรรมมาเทศน์ในอุบาสกอุบาสิกาฟังในวันอุโบสถศีล ค่าวธรรมจึงจัดเป็นวรรณกรรมศาสนา ตัวอย่างวรรณกรรมค่าวธรรม เช่น พรหมจักร บัวรมบัวเรียว มหาวงศ์แตงอ่อน จำปาสี่ต้น แสงเมืองหลงถ้ำ สุพรหมโมขะ หงส์ผาคำ วัณณพราหมณ์ เป็นต้น
   ๓. วรรณกรรมค่าวซอ
ค่าวซอ เป็นคำประพันธ์ภาคเหนือรูปแบบหนึ่ง นิยมนำมาอ่านในที่ประชุมชน เรียกว่า เล่าค่าว หรือใส่ค่าวเนื้อเรื่องเป็นนิทานพื้นบ้าน เป็นที่นิยมของชาวบ้าน เพราะได้ฟังเสียงไพเราะจากผู้อ่านและได้รับความเพลิดเพลินจากเนื้อเรื่องนิทาน การอ่านค่าวนิยมในงานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน บวชลูกแก้ว (บวชเณร) และงานปอยเข้าสังข์ (งานทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ)
ตัวอย่างวรรณกรรมค่าวซอที่สำคัญ เช่น วรรณพราหมณ์ หงส์หิน จำปาสี่ต้น บำระวงศ์หงส์อำมาตย์ เจ้าสุวัตรนางบัวคำ เป็นต้น
   ๔. วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด
วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด คือ วรรณกรรมขนาดสั้น เช่น คำอู้บ่าวอู้สาว คำเรียกขวัญ หรือ คำฮ้องขวัญ จ๊อย ซอ คำปันพร
คำอู้บ่าวอู้สาว หรือคำเครือ คำหยอกสาว เป็นคำสนทนาเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวชาวบ้านลานนาในอดีต
คำเรียกขวัญ คือ คำฮ้องขวัญ คือบทสวดสู่ขวัญในพิธีกรรม เช่น ทำขวัญ บ่าวสาว ทำขวัญควาย
จ๊อย เป็นการขับลำนำโดยไม่มีดนตรีบรรเลงประกอบ หรือบางครั้งอาจมีดนตรีคลอตาม เช่น สะล้อ พิณเปี๊ยะ เนื้อหาเป็นการคร่ำครวญถึงความรักระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว
ซอเป็นการขับร้องเพลงโต้ตอบระหว่างชายกับหญิง ผู้ขับร้องเรียกว่า ช่างซอ การขับร้องจะมีดนตรีบรรเลงประกอบ เช่น ปี่ ซึง สะล้อ นิยมฟังในงานพิธีกรรมต่างๆ และนำนิทานพื้นบ้านตอนใดตอนหนึ่งมาซอ เช่น ซอพระลอ ซอน้อยไจยา
คำปันพร หรือ คำปั๋นปอน เป็นคำให้พรของชาวบ้านล้านนา มีความไพเราะคล้องจองให้แง่คิด รวมทั้งความเป็นสิริมงคล


                                                                                                                                                                                                                                            ้           วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้
วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้ แบ่งได้เป็น ๓ รูปแบบ คือ วรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลาง วรรณกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด แต่ละรูปแบบมีรายละเอียด ดังนี้
   ๑. วรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลาง
วรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลาง หมายถึง วรรณกรรมที่คัดลอกต้นฉบับมาจากภาคกลาง แต่ผู้คัดลอกนำมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องบางตอนตามความคิดเห็นของตน โดยยังคงฉันทลักษณ์เดียวกับต้นฉบับ แต่มีสำนวนภาษาท้องถิ่นปะปนอยู่บ้าง เช่น พระรถเสนคำกาพย์ สุบินกุมาร จันทโครพ รามเกียรติ์ ลักษณวงศ์ อุณรุท เป็นต้น
   ๒. วรรณกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง
วรรณกรรมรูปแบบนี้ เป็นวรรณกรรมที่กวีพื้นบ้านภาคใต้นำโครงเรื่องจากนิทานในท้องถิ่นหรือนำโครงเรื่องมาจากภาคกลาง แต่ประพันธ์ขึ้นใหม่ด้วยด้วยฉันทลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ชาลวันคำกาพย์สุวรรณสิน สัปดนคำกาพย์ สังข์ทองคำกาพย์ พระแสงสุริยฉายคำกาพย์ พระวรเนตรคำกาพย์ เป็นต้น
   ๓. วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด
วรรณกรรมรูปแบบนี้ ได้แก่ ตำรา เช่น ตำราดูลักษณะสตรี ตำราดูลักษณะสัตว์ ตำรายา ตำราดูโชคชะตาราศี แบบเรียนที่คัดลอกมาจากภาคกลาง เช่น จินดามณี ประถม ก กา ปฐมมาลา

           วรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสาน
วรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสาน นิยมใช้เนื้อหาเป็นเกณฑ์โดยแบ่งเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ วรรณกรรมพุทธศาสนา วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมนิทาน วรรณกรรมคำกลอน และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด แต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้
    ๑. วรรณกรรมพุทธศาสนา
วรรณกรรมพุทธศาสนา ได้แก่ วรรณกรรมชาดก และวรรณกรรมตำนานพุทธศาสนา
วรรณกรรมชาดก คือ วรรณกรรมที่พระภิกษุนำมาเทศน์ เช่น ลำมหาชาติ สุวรรณสังข์ชาดก ท้าวโสวัต พระยาคันคาก มาลัยหมื่นมาลัยแสน
วรรณกรรมตำนานพุทธศาสนา คือ วรรณกรรมที่กล่าวถึงตำนานพุทธเจดีย์ในภาคอีสานหรือแนวคิด หลักธรรมของศาสนาพุทธ เช่น อุรังคนิทาน (ตำนานพระธาตุพนม) มูลสถาปนา (ตำนานกำเนิดโลกและจักรวาล) กาลนับมื้อส้วย (พุทธทำนายการสิ้นสุดศาสนา พ.ศ. ๕๐๐๐)

   ๒. วรรณกรรมประวัติศาสตร์
วรรณกรรมประเภทนี้มีจำนวนน้อยกว่าวรรณกรรมพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น มหากาพย์ ท้าวฮุ่งท้าวเจือง ขุนบรม พื้นเวียง พงศาวดารจำปาศักดิ์
    ๓. วรรณกรรมนิทาน
ภาคอีสานมีวรรณกรรมนิทานเป็นจำนวนมาก นิยมนำมาอ่านให้ฟังในงานเฮือนดี (งานศพ) หรือนำมาเทศน์ในระหว่างเข้าพรรษาที่เรียกว่า เทศน์ไตรมาส นอกจากนี้ หมอลำยังนิยมนำวรรณกรรมนิทานมาขับลำในการแสดงที่เรียกว่าลำเรื่อง หรือลำพื้น ตัวอย่างวรรณกรรมนิทนที่สำคัญและได้รับความนิยม เช่น สินไซ ไก่แก้ว นางผมหอม จำปาสี่ต้น กำพร้าผีน้อย ท้าวสีทน พระลักพระลาม นางแตงอ่อน กาละเกด ผาแดง – นางไอ่ ขูลู – นางอั้ว
   ๔. วรรณกรรมคำสอน
วรรณกรรมรูปแบบนี้มีเนื้อหาสอนใจ ในแนวทางดำเนินชีวิตในครอบครัวและสังคม โดยยึดคติธรรมในศาสนาและจารีตท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น กาพย์ปู่สอนหลาน กาพย์หลานสอนปู่
ฮีตสิบสองคองสิบสี่ อินทิญาณสอนลูก พระยาคำกองสอนไพร่
๕. วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด
วรรณกรรมรูปแบบนี้ ได้แก่ วรรณกรรมที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บทสูดขวน(บทสู่ขวัญ) กาพย์เซิ้งบั้งไฟ วรรณกรรมที่ใช้เกี้ยวพาราสีนี้เรียกว่า ผญา นิทานตลกขบขัน เช่น
เซียงเมี่ยง โตงโตง นิทานก้อม และกลอนรำต่างๆ

คำสำคัญ (Tags): #พื้นบ้าน
หมายเลขบันทึก: 283788เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณครับ คุณไม่แสดงตน

  • ที่แวะมาทักทาย

ขอบคุณมากค้ะ

น้อยไปหน่อยพี่  แต่ก็ดีคับ

ขออนุญาตนำเนื้อหาไปทำรายงาน ขอบคุณมากๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท