รื้อ ก.ม.ประกันสังคม ขยายสิทธิ "ภรรยา-ลูก"


รัฐบาลนำร่องแก้กฎหมายประกันสังคม ปูทาง "รัฐสวัสดิการ" ขยาย "ภรรยา-ลูก" ผู้ประกันตนใช้สิทธิประกันสังคม ยอมลดจ่ายเงินสมทบกองทุนให้แก่สมาชิกหลังจ่ายครบ 10 ปี คลังเตรียมเสนอ ครม.เดือน ก.ย.นี้ ออกกฎหมาย
ดึงแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน เข้า "กองทุนออมชราภาพ" สร้างหลักประกันรายได้หลังเกษียณอายุ เดินหน้า
"เบบี้ บอนด์" ให้เด็กแรกเกิดไว้ใช้เป็นทุนการศึกษา พร้อมเพิ่มค่ารักษาพยาบาล เจ้าหน้าที่ กคช. และ กปน. จาก 800 บาท เป็น 1,200 บาทต่อวัน ผู้บริหาร สปส.หวั่นขยายสิทธิกระทบกองทุนชราภาพในอนาคต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (5 ส.ค.) ที่ประชุมเห็นชอบการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคมเพื่อขยายสิทธิการคุ้มครองให้คู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน เพื่อให้คนในสังคมมีสวัสดิการและมีหลักประกันได้ทั่วถึงมากขึ้น ส่วนรายละเอียดการสมทบเงินส่วนนี้จะไม่เรียกเก็บจากลูกจ้างและนายจ้าง แต่จะใช้เงินของรัฐบาล  อย่างไรก็ตาม จะต้องกำหนดอัตราส่วนที่รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบอีกครั้งว่า จะสมทบสัดส่วนเท่าไร แต่เหตุผลที่ต้องดำเนินการเรื่องนี้เพราะคิดว่าสถานะของกองทุนประกันสังคมในส่วนสิทธิ
4 สิทธิ คือ การรักษาพยาบาล คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ไม่รวมเรื่องชราภาพ รัฐบาลอยู่ในฐานะที่สนับสนุนได้ คิดว่าเป็นความต้องการของคนในครอบครัวของผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับสวัสดิการนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน เพื่อผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปพิจารณาสิทธิของการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมว่า ยังมีส่วนใดที่ด้อยกว่าสิทธิที่ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพ ควรจะปรับเพิ่มให้เท่ากัน  ส่วนการขยายสิทธิประกันสังคมให้แรงงานนอกระบบ ไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม สามารถออกพระราชกฤษฎีกาขยายได้  ที่ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐบาลจะทำงานเรื่องสวัสดิการทั้งหมดของประชาชน ผมไปที่ จ.สงขลา ผมไปดูพื้นที่สวัสดิการชุมชน กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องระบบการออมขึ้นมา ดังนั้นการขยายสิทธิจึงเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดที่จะขยายเรื่องสวัสดิการออกไปนายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า ได้ให้ สปส.ไปพิจารณาแนวทาง
การ
แยก สปส.ออกมาเป็นองค์กรอิสระ

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม คือ การกำหนดความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการและลูกจ้างทั้งหมด พร้อมเพิ่มคำนิยามคำว่า ลูกจ้าง ทุพพลภาพ และภัยพิบัติ ให้ชัดเจน  

ขณะเดียวกัน จะกำหนดอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการ กำหนดให้กองทุนต้องวางและถือไว้
ซึ่งระบบบัญชีที่เหมาะแก่กิจการ แก้ไขการเสนองบการเงินกองทุน และกำหนดให้สำนักงานจัดทำรายงานประมาณการรายรับและรายจ่ายของกองทุน นอกจากนี้ ยังแก้ไขหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทและเงื่อนไขการรับประโยชน์ทดแทน และแก้ไขระยะเวลาการขาดส่งเงินสมทบอันมีผลให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด

นายวัชระ กล่าวว่า สปส.ได้เสนอให้แก้ไขข้อเท็จจริงในแบบรายการได้ กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 120 เดือน หรือ 10 ปี ได้รับการลดอัตราเงินสมทบ และกำหนดให้ยกเว้นหรือลดหย่อนการส่งเงินสมทบ  กรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรง รวมถึงการกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายประกันสังคมไม่ถูกตัดสิทธิหรือประโยชน์ตามกฎหมายอื่น  ขณะเดียวกัน จะแก้ไขระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในวันเวลาที่เลขาธิการกำหนด กำหนดขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน และแก้ไขวิธีการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้

นายวัชระ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม คือ มาตรา 28 ที่กำหนดให้ผู้ประกันตน
คู่สมรส มีหน้าที่เลือกสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ และกำหนดสิทธิ หากมีเหตุจำเป็นกรณี
ไม่อาจเข้า
รับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล รวมถึงแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณี
คลอดบุตร หลักเกณฑ์และอัตราการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และกรณีถึงแก่ความตาย และแก้ไขให้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือทุพพลภาพหรือผู้ประกันตน ซึ่งรับบำนาญชราภาพมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า นอกจากการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมแล้ว กระทรวงการคลังกำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนการออมชราภาพ (กอช.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนอื่น ๆ ที่รัฐบาลอุดหนุนเงินอยู่แล้ว เพื่อให้แรงงานนอกระบบที่มีถึง 24 ล้านคน มีระบบการออมเพื่อรองรับเมื่อเกษียณ  คาดว่าเดือน ก.ย.นี้จะเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ก่อนเสนอให้สภาพิจารณาเพื่อผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2553  นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดออกมาตรการอุดหนุนการศึกษา หรือการจ้างเรียน ในรูปของ เบบี้บอนด์ซึ่งจะจ่ายเงินสะสมให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียน

ครม.เห็นชอบให้ปรับค่าห้อง และค่าอาหารในการรักษาพยาบาล สำหรับพนักงานการเคหะแห่งชาติ (กคช.) การประปานครหลวง (กปน.) อัตราค่าห้อง-ค่าอาหารคนไข้ในโรงพยาบาลจากเดิมเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 800 บาท เป็นไม่เกินวันละ 1,200 บาท  เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเพิ่มอัตราค่าป่วยการ กับค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง กรณีปฏิบัติงานภายในและภายนอกแก่ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงาน กรณีปฏิบัติงานภายในให้เพิ่มค่าป่วยการจากวันละ 500 บาท เป็น 1,000 บาท กรณีปฏิบัติงานภายนอกให้ได้รับค่าป่วยการ 1,000 บาท

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ
ให้ขยายสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา
40 (ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ) จาก 3 กรณี เป็น 5 กรณี ได้แก่ กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต เงินชดเชยการขาดรายได้ระหว่างการเจ็บป่วยรักษาในโรงพยาบาล 3 วันขึ้นไป ได้รับเงินครั้งละ 1,000 บาท ปีละ 2 ครั้ง และให้สิทธิประโยชน์กรณีเงินบำเหน็จชราภาพ  นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบในหลักการให้ขยายสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ผู้ประกันตนในระบบปกติ) ครอบคลุมคู่สมรสและบุตรได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปศึกษาตัวเลขคู่สมรสผู้ประกันตนมีจำนวนเท่าไร และดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนประกันสังคมให้แล้วเสร็จภายใน
3 สัปดาห์ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่สภา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปี 2552  การขยายสิทธิครอบคลุมไปสู่คู่สมรสและบุตร ผมยืนยันได้ว่า สปส.จะไม่เก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนเพิ่มอีก และจะผลักดันเป็นกฎหมายโดยเร็ว นายไพฑูรย์ กล่าว

ขณะที่ นางสุจิตรา บุญชู รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ได้สั่งการให้กองวิชาการ สปส.เก็บสถิติผู้ประกันตน
ทั้งชายและหญิงที่มาเบิกค่าคลอดบุตรย้อนหลัง
3 ปี เพื่อหาตัวเลขทำเป็นฐานข้อมูลคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน และให้เสนอ

ส่วนกรณีการตั้งข้อสังเกตว่า มติ ครม.ที่ ให้ขยายสิทธิประโยชน์ไปยังคู่สมรสอาจเป็นโมฆะ เพราะยังไม่ได้
ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม แต่นายไพฑูรย์ ชิงนำเรื่องขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนว่า
  เรื่องนี้แม้บอร์ด สปส.ยังไม่มีมติ แต่ก็เคยรับทราบแล้วจึงไม่ผิดกฎหมาย

แหล่งข่าว สปส.กล่าวว่า นโยบายขยายสิทธิไปยังคู่สมรสผู้ประกันตนสร้างความอึดอัดใจให้ผู้บริหาร สปส.เพราะเกรงว่าในระยะยาวจะกระทบต่อสถานะเงินกองทุน สปส. เนื่องจากปัจจุบันการเก็บเงินสมทบ 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต มีสัดส่วนใกล้เคียงกับรายจ่ายที่จ่ายออกไป  บางเดือนต้องจ่ายมากกว่าที่ได้มา ดังนั้นผู้บริหารจึงเตรียมหารือกับนายไพฑูรย์ เพื่อให้รัฐบาลโอนเงินเหมาจ่ายรายหัวกองทุน สปสช. ซึ่งจ่ายให้คู่สมรส 1,509 บาทต่อปี ให้ สปส.นำมาบริหารจัดการแทน เนื่องจากปี 2557 กองทุนชราภาพมีภาระต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญคืนให้ผู้ประกันตนจำนวนมาก

กรุงเทพธุรกิจ  โพสต์ทูเดย์  สยามรัฐ  ไทยรัฐ  โลกวันนี้  เดลินิวส์  มติชน  แนวหน้า  พิมพ์ไทย  6  ส.ค.  52

หมายเลขบันทึก: 283784เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท