ชีวิตที่พอเพียง : ๘๐๙a. ชีวิตที่รับผิดชอบต่อหน้าที่



          วันนี้ (๕ ส.ค. ๕๒) ผมจัดเวลาไปฟังการบรรยายของ ศ. ดร. เมธี เวชารัตนา เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสำหรับบัณฑิตยุคใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๕)    ที่เปลี่ยนแปลงแบบ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์”   จากเน้นความรู้วิชาการ/วิชาชีพ เท่านั้น   เป็นต้องเรียนรู้กว้างและเชื่อมโยงกว่าเดิมมาก   ตามสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนไป   ศ. เมธี บอกว่า นศ. วิศวะต้องเรียนศาสตร์ที่สัมพันธ์ที่ขอบของวิชาชีพวิศวะทุกศาสตร์ ได้แก่สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์   โดยกำหนดเป็น outcome-based curriculum   มีทั้งหมด ๒๔ outcome   แบ่งออกเป็น ๓ หมวด


 4 expected foundational outcome


1.  Mathematics
2. Natural sciences
3. Humanities
4. Social Sciences


 11 expected technical outcome


5. Materials science
6. Mechanics
7. Experiments
8. Problem recognition and solving
9. Design
10. Sustainability
11. Contemporary issues and historical perspectives
12. Risk and uncertainty
13. Project management
14. Breadth in civil engineering areas
15. Technical specialization


 9 expected professional outcome


16.  Communication
17.  Public policy
18.  Business and public administration
19.  Globalization
20.  Leadership
21.  Teamwork
22.  Attutudes
23.  Lifelong learning
24.  Professional and ethical responsibility

  
          ผมเข้าใจว่า learning outcome ที่ผมใส่พื้นสีฟ้านั้น   เราไม่เคยนึกว่าคนที่จะเป็นวิศวกรจะต้องเรียน   แต่ National Academy of Science และ National Adademy of Engineering และ ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) ของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ปรับหลักสูตรเป็นต้องเรียน   โดยทางมหาวิทยาลัยและคณะจะต้องเอาข้อกำหนดของ ABET มาตีความ เสริมจุดเน้นของตน แล้วกำหนดออกมาเป็นหลักสูตรของตนเอง


          ศ. เมธี ให้ความเห็นว่า แม้หลักสูตรห่วย แต่ถ้าอาจารย์ดี มีความรับผิดชอบ   ก็จะผลิตบัณฑิตคุณภาพดี   ดังนั้น อาจารย์ที่มีความสามารถและรับผิดชอบ   มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด   โดยมหาวิทยาลัยต้องสร้างและให้ความดีความชอบอาจารย์แบบนี้


          เมื่อถึงตอนให้ผู้ฟังถาม   มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งไม่ถามเรื่องการ reform หลักสูตรตามหัวเรื่อง    ไพล่ไปถามว่า มหาวิทยาลัยมี นศ. ที่พื้นฐานอ่อนมาก จะทำอย่างไร  


          ผมต้องรีบออกจากห้องบรรยาย เพราะต้องไปประชุมกรรมการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ    แต่ก็นึกในใจว่า ตอบง่ายนิดเดียว    คือใช้หลักความรับผิดชอบ   ก็เมื่อมหาวิทยาลัยรับเขาเข้ามาเรียน ก็ต้องจัดการเรียนรู้ให้เขามี learning outcome ตามที่กำหนดให้ได้   นักเรียนคนไหนพื้นอ่อนเกินจะเอาเข้ามาเรียนสู่ learning outcome ที่กำหนด ก็อย่ารับเขาเข้ามา   เมื่อรู้ตัวว่ามี นศ. พื้นความรู้อ่อนมากเข้ามาเรียน ก็ต้องเสริมพื้นฐานให้เขา


          มหาวิทยาลัยไม่ควรรับ นศ. ที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยแต่ไม่อยากเรียน   หรือถ้าจำเป็นต้องรับ ก็ต้องมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากเรียน   และเรียนสนุก   มหาวิทยาลัยต้องมีอาจารย์ที่เก่งในกิจการนี้    ต้องให้ ARR (authority, recognition, reward) แก่อาจารย์แบบนี้  


          ชีวิตที่ใช้ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นชนวนจุดไฟแห่งความสร้างสรรค์ เป็นชีวิตที่มี lifelong learning outcome ไม่จบสิ้น

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ส.ค. ๕๒

             
       
           

หมายเลขบันทึก: 283666เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับอาจารย์

    ผมย้อนนึกถึงเรื่อง อย่าบ้าความรู้ ให้เลือกความรู้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยในแนวคิด เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสำหรับบัณฑิตยุคใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๕) หลายเรื่อง เช่น

  1. ถ้านักศึกษาที่ตั้งใจเข้าไปเรียนคณะวิศวะ หรือวิทยาศาสตร์ ตั้งใจเรียนวิชาตามสาขา ให้มีความรู้ความสามารถเต็มที่ ไม่ต้องไปบังคับให้เอาเวลาไปเรียนทุกอย่างน่าจะดีกว่า เวลาเพียง 3-4 ปี แต่จะให้ได้ทั้งวิชาชีพ ทั้งวิชาสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ (สมัยโบราณกาล เรียนวิชาพันดาบอย่างเดียว เรียนกับทิศาปาโมกข์ 8 ปี ถึงได้รับการยอมรับว่าใช้ได้)
  2. ปัจจุบันนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยจริงๆ อาจมีความสามารถในการทำงานน้อยกว่านักเรียนช่างเทคนิคด้วยซ้ำ เพราะเรียนแต่ภาคทฤษฎี ไม่ค่อยได้ปฏิบัติจริง ท่องจำเอา ตัวอย่างน้องวิศวะไฟฟ้าที่ผมรู้จัก เข้าทำงานทำอะไรไม่เป็นเลย ต้องเรียนจากช่างที่มีประสบการณ์อีกนานกว่าจะทำงานได้เท่าช่างจริงที่เรียนไม่สูงเท่า ดังนั้นถ้าเอาเวลาที่มีมาเน้นการทำแล็ปทดลองมากๆ จะได้คนที่มีความรู้มีคุณภาพจริงมากกว่า
  3. วิชาสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ น่าจะเป็นความสนใจของแต่ละคน ไม่ใช่บังคับ ผมมีความเห็นว่าทุกคนในโลกไม่สามารถเป็นผู้นำได้ทุกคน ต้องมีผู้ตามบ้าง วิชาอย่าง Leadership จึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรเรียนกันหมด สอนจนไม่มีคนอยากตาม แย่งกันเป็นผู้นำ ทั้งๆ ที่เป็นไม่ได้ก็ดันทุรังจะเป็นก็มี (ปัจจุบันนับกันที่วุฒิการศึกษาถึงจะเป็นผู้นำได้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่ายอมรับจริง)
  4. ผมไม่เห็นด้วยกับการเอาอย่างระบบการศึกษาของคนอื่นมาใช้ เช่น เรื่อง Social responsibility, Teamwork, Leadership, Attitude ถ้าเรียนกันแบบท่องจำ มันไม่ใช่ของจริง ถ้าเพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นบังคับให้นักศึกษาไปทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา เช่นตัวอย่างของโรงเรียนรุ่งอรุณ (ทำไมตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิทางภาคใต้จึงส่งเด็กนักเรียนไปทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ประสบภัยด้วย) ในบทความคนดีวันละคน (รศ. ประภาภัทร นิยม) ที่อาจารย์เคยบันทึกไว้     นักเรียนสัมผัสชีวิตจริง ไปคลุกคลี ยากลำบากอย่างเด็กชาวบ้าน เค้าจะเปลี่ยนเอง อาจารย์ไม่ต้องไปเปลี่ยน เค้าได้จริง เห็นคุณค่าจริง ไม่เสียเวลาท่องจำและมีคุณค่าเพียงการสอบได้เกรดเท่านั้น

  โดยส่วนตัวผมได้ไปค่ายอาสาหลายครั้ง หลัง AAR หลายคนที่เป็นนักศึกษาปี 1 ปี 2 เริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง รู้ปัญหาของตัวเอง เช่น รู้ว่าทำไมจึงไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะ ผมเป็นคนที่ถามคำตอบคำ เลือกคุยเป็นบางคน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจแต่ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากคุยด้วย กลับไปผมจะคุยกับทุกคน เปิดใจมากขึ้น ทำงานต้องฟังกันถึงไม่ชอบก็ต้องฟังให้จบก่อน

  อยากให้เพิ่มกิจกรรมการทำงานกับสังคม  การฝึกภาคปฎิบัติ มากกว่าเพิ่มเนื้อหาวิชาการครับ  (ไม่ควรสอนให้เขาแบกโลกแบกความรู้ไว้)

  ผมมีความเห็นค่อนข้างแตกต่างจาก ศ. ดร. เมธี เวชารัตนา ครับ ผมกลับเห็นว่าควรลดจำนวนวิชาเรียน  แต่ไม่เพิ่มเวลาเรียนรู้ (เพิ่มเวลาปฏิบัติ ลดเวลาบรรยาย) ไม่อยากให้ทุกคนเรียนมาเป็นเป็ดเหมือนกันหมด เป็นทุกอย่างแต่ไม่ได้ดีสักอย่าง อยากให้รู้ ใช้งานได้ ทำจริงเป็นและ "เชี่ยวชาญ" แค่อย่างเดียวก็พอในเวลา 4 ปี มากกว่าครับ

  แหวกแนว  คิดเห็นไม่ค่อยตรงกับผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องขออภัยด้วยครับ

 

ขอบคุณครับ

อภิชา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท