หวัด2009-ไข่ไฮเทคทำวัคซีนฟองละ500พร้อมแล้ว


หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ตีพิมพ์เรื่อง "ไข่ฟองละ 500 พร้อมผลิตวัคซีนหวัด 2009" ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ ขอความกรุณาแวะไปให้กำลังใจ "คม ชัด ลึก" ด้วยการอ่านข่าว สาระบันเทิง หรือคลิกโฆษณาให้เว็บไซต์ "คม ชัด ลึก" ครับ > ขอขอบพระคุณ [ คม ชัด ลึก ]

...

[ ข้อความคัดลอก ] > [ คม ชัด ลึก ]

"เชิญเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าที่ปลอดเชื้อโรคครับ" "กรุณาใส่หมวกที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคครับ" "นี่เป็นรองเท้าเฉพาะสำหรับใส่เข้าอาคารครับ"

การเข้าไปภายในอาคารผลิตไข่วัคซีน สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือต้องปราศจากเชื้อโรคทุกชนิด เพราะไข่ไก่สีขาวบริสุทธิ์ที่มองเห็นนี้ไม่ใช่ไข่ไก่ธรรมดา แต่เป็น "ไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อเฉพาะ" หรือไข่เอสพีเอฟ (Specific Pathogen-Free : SPF)

...

เมื่อกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้ผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้เชื้อไวรัสก็คือ ไข่เอสพีเอฟที่จะนำมาผลิตวัคซีน

ซึ่งในประเทศไทยมีแห่งเดียวที่สามารถผลิตได้ คือ สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จุดประสงค์ตอนนั้นก็เพื่อผลิตวัคซีนปีละหลายล้านโดสฉีดให้ไก่ที่จะส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

...

นสพ.อัตพงศ์ นาคะปักษิณ หัวหน้าฝ่ายผลิตไก่และไข่ปลอดเชื้อเฉพาะ กรมปศุสัตว์ เล่าว่า โรงงานผลิตไข่และวัคซีนลงทุนสร้างตั้งแต่ปี 2539-2541 ด้วยงบประมาณกว่า 786 ล้านบาท

ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วถือเป็นโปรเจกท์ยักษ์ใหญ่ สร้างด้วยเทคโนโลยีจากเยอรมนีเกือบทั้งหมด จนถึงวันนี้ก็ยังต้องสั่งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาจากเยอรมนีทุกปี

... 

เพราะเราผลิตได้แค่ไข่ไก่บริสุทธิ์ แต่เทคนิคการเพาะตัวไก่ยังเป็นลิขสิทธิ์ที่ไม่เปิดเผย

ไข่ที่จะนำมาผลิตวัคซีนต้องปลอดเชื้อตั้งแต่ตัวพ่อ ตัวแม่ สถานที่ อากาศ และอาหารที่ไก่จะกินเข้าไป เริ่มตั้งแต่ไข่ 6,000 ฟองที่แบ่งเป็นพ่อพันธุ์ 1,000 ฟอง และแม่พันธุ์ 5,000 ฟอง จากเยอรมนีเดินทางถึงประเทศไทย จะถูกนำไปเข้า "ตู้ฟัก" นาน 18 วัน

... 

จากนั้นก็ย้ายไป "ตู้เกิด" อีก 3 วัน ลูกไก่จึงฟักออกมา เมื่อคัดลูกไก่อ่อนแอและเพศที่ไม่ต้องการทิ้งไป จะเหลือประมาณ 2,000 กว่าตัว เลี้ยงจน 16 สัปดาห์แล้วค่อยกระจายเข้ากรง ช่วงนี้จะต้องเจาะเลือดตรวจทุกตัวว่า ปลอดเชื้อโรคที่กำหนดไว้หรือไม่

ไก่ที่อายุ 18 สัปดาห์จะออกไข่รุ่นแรกเป็นฟองเล็กๆ หรือยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องรอจนไก่มีอายุได้ 23 สัปดาห์ขึ้นไป ถึงจะเป็นไข่ที่สมบูรณ์พอส่งไปทำวัคซีนได้

... 

แต่ก่อนส่งต้องทำความสะอาดด้วยการรมฆ่าเชื้อด้วยแก๊สฟอร์มาลดีไฮด์ ไข่ที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปแช่ห้องเย็นอุณหภูมิ 15-18 องศาเซลเซียส

รอจนกระทั่งมีการสั่งไข่ปลอดเชื้อจากโรงงานผลิตวัคซีน เพราะวัคซีนแต่ละชนิดต้องการไข่อายุไม่เท่ากัน บางชนิดต้องการไข่อายุ 7 วัน บางชนิดก็ 10 วัน

...

"แต่ละปีจะสั่งไข่แม่พันธุ์และพ่อพันธุ์จากเยอรมนีรวม 1.2 หมื่นฟอง ต้นทุนฟองละ 500 กว่าบาท เพราะตัวไก่เหล่านี้จะใช้งานได้แค่ 1 ปีกว่าก็ต้องปลดระวางทำลายทิ้ง จะปล่อยออกไปข้างนอกไม่ได้

เพราะเป็นไก่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเลย เป็นไก่บริสุทธิ์ ไข่ของมันจึงมีสีขาวใส ไม่เป็นไข่ไก่สีขุ่นเหลืองเหมือนไข่ที่เรากิน

... 

อาหารที่ไก่พวกนี้กินก็ต้องสั่งเฉพาะและนำไปฉายรังสีแกมมา ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติเสียก่อน โดยเฉลี่ยแล้วโรงงานของเราผลิตไข่เอสพีเอฟได้วันละประมาณ 1 พันฟอง หรือเดือนละ 3 หมื่นฟอง" นสพ.อัตพงศ์ กล่าว

ด้าน นสพ.สุรพัฒน์ เลาหวณิช หัวหน้าฝ่ายผลิตวัคซีนสัตว์ปีก อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อโรคอย่างละเอียด เพราะไข่เอสพีเอฟจะถูกนำไปฉีดเชื้อไวรัสที่ต้องการผลิตวัคซีน

... 

ดังนั้น ขั้นตอนจะละเอียดตั้งแต่เริ่มรับไข่มาจากฟาร์มเลยทีเดียว แม้จะมาจากฟาร์มของสำนักเดียวกันก็ตาม

เริ่มจากการฆ่าเชื้อไข่เอสพีเอฟที่รับมาจากอาคารผลิตด้วยฟอร์มาลีน ฉีดเชื้อไวรัสที่ต้องการผลิตวัคซีนเข้าไปในไข่ นำไข่ไปฟักในห้องที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ รอจนไวรัสเจริญเติบโต แล้วนำมาส่องไฟอย่างละเอียด

... 

หากพบไข่ใบไหนตายก็ทิ้งไป จากนั้นก็นำมาผสมเป็นวัคซีน โดยไข่ 1 ใบอาจผลิตวัคซีนได้มากถึง 1 พันโดส

ขณะที่ นายประวัติ รัตนภุมมะ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กล่าวถึงโรงงานราคาเกือบ 800 ล้านบาทแห่งนี้ว่า

... 

แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ พื้นที่ฟาร์มไข่เอสพีเอฟ ห้องปฏิบัติการ (QC) และโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับไก่ หมู โค กระบือ เช่น วัคซีนนิวคาสเซิล วัคซีนหลอดลมอักเสบ วัคซีนฝีดาษไก่ แต่ละปีผลิตวัคซีนได้ประมาณ 200 ล้านโดส

หากรัฐบาลต้องการขอความช่วยเหลือ เพื่อนำไปผลิตวัคซีนสำหรับคนก็อาจเป็นไปได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ไข่เอสพีเอฟที่กำลังผลิตอยู่นั้น เน้นให้เป็นไข่ปลอดเชื้อโรคที่เกี่ยวกับสัตว์ 18 ชนิด

... 

หากจะผลิตวัคซีนมนุษย์ก็ต้องมาทดสอบว่า ต้องการไข่ปลอดเชื้อโรคตัวใดบ้าง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดหรือไม่

"หากตั้งคำถามว่าโรงงานแห่งนี้จะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 สำหรับคนได้หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ระดับผู้บริหารของกระทรวงและตัวแทนรัฐบาลว่า จะตัดสินใจอย่างไร

... 

เพราะตามศักยภาพโรงงานแล้วน่าจะทำได้ แต่ต้องปรับระบบใหม่หลายส่วน ทั้งเรื่องไข่เอสพีเอฟและเชื้อไวรัสสำหรับผลิตวัคซีน

ส่วนขั้นตอนการผลิตวัคซีนก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะโรงงานผลิตวัคซีนของไวรัสสัตว์กับคนจะต่างกัน ต้องมีการฆ่าเชื้อโรคในอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ มีการปรับระบบใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งทางสำนักก็พร้อมจะให้ความร่วมมือทุกอย่าง" นายประวัติ ระบุ

[ ข้อความคัดลอก ] > [ คม ชัด ลึก ]

หมายเลขบันทึก: 282809เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท