บันทึกจากประกายรังสี "ในที่แห้งแล้ง น้ำหยดเดียวมีค่ายิ่ง"


"ถ้าจะบีบคั้นหาความสามารถและความดีในตัวผม คงได้เป็นน้ำสักหยดหนึ่งเห็นจะได้ น้ำหยดนี้ ถ้าเราไปหยดในที่ที่ชุ่มชื้นอยู่แล้ว มันคงไม่มีค่าหรือมีความหมายสักเท่าไร เพราะมันชื้นแฉะอยู่แล้ว เหมือนในต่างประเทศที่เข้าพร้อมอยู่แล้ว ตัวผมคงไม่สามารถทำอะไรให้เขาได้มากเท่าไร แต่ถ้าเราเอาหยดน้ำนี้ไปหยดในที่ที่แห้งแล้ง แม้เพียงหยดเดียวก็ดูมีค่ายิ่ง เหมือนประเทศไทยของเรา ที่แห้งแล้งและขาดแคลนอย่างมากในเรื่องรังสี ถ้าผมมาอยู่ตรงนี้ที่ประเทศไทย ผมก็จะช่วยทำประโยชน์ได้มาก"

     ผมได้เคยเขียนเรื่อง "ลิงเหมือนคน หรือคนเหมือนลิง" (http://www.tsrt.or.th/RT_News/RTnote7.htm) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับgenetic coding หรือ การทำตามๆกันมาโดยปราศจากการพัฒนา ปราศจากการคิดวิเคราะห์ที่เกิดจากตัวเรา ถ้าพูดแรงๆก็คือคิดไม่เป็น หรือไม่กล้าคิดแหวกแนว ทำให้เราไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างเพราะกลัวผิด ผมไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องนะครับ เรื่องไม่ดีเราจะทำไปทำไม เราต้องกล้าทำเรื่องดีๆในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพื่อให้มันดีขึ้น ไม่ใช่ให้มันแย่ลง หลายคนก็คิดไปว่า ผมกำลังตั้งตัวเป็นผู้รู้มาเที่ยวสอนชาวเรา หรือผมกำลังอวดศักดาอะไรประมาณนั้น จริงๆแล้ว ผมไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอก อาจารย์ที่ผมเคารพนับถือท่านก็คอยเตือนเสมอๆว่า อย่าอวดตนเองว่าดีว่าเก่งกว่าผู้อื่นเขาจะดูไม่เข้าทีหรือทุเรศ ผมก็ระวังตัวและเตือนตัวเองอยู่เสมอ สิ่งที่เขียนแสดงออกไปนั้น มันออกมาจากใจเมื่อได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเป็นไป ก็เท่านั้นเองครับ ชาวเราที่มีมุมมองในเชิงสร้างสรรเพื่อรังสีเทคนิคไทย ก็สามารถแสดงออกได้ เวทีนี้เปิดกว้างครับ
     วกมาที่รังสีเทคนิคไทยของชาวเรานี่แหละครับ มีหลายคนที่มีความกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างเพื่อรังสีเทคนิคไทยที่ดีขึ้น คำว่ารังสีเทคนิคไทยผมหมายรวมถึง นักรังสีเทคนิค จิต วิญญาณ เกียรติภูมิ ความเป็นนักรังสีเทคนิค และทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับรังสีเทคนิคของประเทศไทย แต่หลายคนเหล่านั้นอาจชอกช้ำเพราะมีชาวเราอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้ทำไป โรคท้อก็ถามหา บางคนที่ทุ่มเทก็ฝ่อและเหี่ยวไปเลยอย่างน่าเสียดาย การให้เกียรติกัน การให้กำลังใจกัน การเห็นคุณค่าของกันและกัน ในยุคแห่งการเริ่มต้นบุกเบิก (โดยเฉพาะคนที่ใกล้ๆกัน ในชุมชนเดียวกัน) น่าจะดีกว่าอย่างมากๆๆไหมครับ มันจะดีกว่าการที่เรา พูดถึง รู้สึก แสดงออก ในเชิงเห็นคุณค่าหรือยกย่องใครก็ไม่รู้ที่อยู่ไกลจากชุมชนเราเหลือเกิน ว่าเก่ง ว่าดี ว่าเจ๋ง แม้ใครคนนั้นไม่ได้สนใจเรา ไม่ได้ให้คุณอะไรกับชุมชนของเราเลยแม้แต่น้อย
     ชาวเราหลายคนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีแค่เครื่องเอกซเรย์ธรรมดา ไม่มีเครื่องมือรังสีที่ทันสมัย ราคาแพง เรียกว่าอยู่ในที่แห้งแล้งกันดานทางเครื่องมือและเทคโนโลยีมาก มาบ่นกับผมทำนองน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ต้องทำงานในสภาพนี้ ดูไม่ค่อยน่าตื่นเต้น และก็ไม่มีใครเหลียวแล เรียนมาแทบเป็นแทบตาย แต่ให้ทำแค่นี้ ผมก็ให้กำลังใจไปว่า เราต้องมีศัทรา เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำงานให้เกิดความสนุกสนาน ทำตรงนั้นให้ดีที่สุดจนสุดความสามารถของเรา เสมือนว่าตรงนั้นคือบ้านของเรา ถ้าเราทำจนบ้านดีน่าอยู่อาศัย เราก็อยู่ดีมีสุขไปด้วย ถ้าเราหนีไปทำงานในที่ที่มันมีอะไรพร้อมหมดแล้ว มองอีกด้านหนึ่งมันจะมันตรงไหน เพราะพร้อมหมดแล้ว เราจะไปทำอะไรได้ ก็มีชาวเราที่ทำงานในที่ที่อุดมสมบูรณ์เกือบจะทุกอย่าง มาบ่นให้ผมฟังเหมือนกันว่าทำไมที่ที่ทำงานอยู่มันแห้งแล้งน้ำใจเหลือเกิน ผมก็ได้แต่รำพึงในใจว่าโลกนี้หาความพอดียาก เลยคิดถึงคำพระที่ว่า จงพอใจในสิ่งที่ตนมี วงเล็บอย่างถูกต้อง หมายความว่า ไอ้ที่เราได้มาหรือมีนั้นจะต้องมีหรือได้มาอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ทุจริต ฉ้อโกง หรือใช่เล่ห์กลเอามาเป็นของตนเอง
     อาจารย์สุพจน์ อ่างแก้ว บิดารังสีเทคนิคไทย ชื่อนี้ชาวเรารู้จักดี ที่เีรียกท่านว่าบิดารังสีเทคนิคไทย เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาชีพนี้ครั้งแรกในประเทศไทย ถ้าท่านอ่านบทความของอาจารย์สุพจน์ เรื่อง ประวัติการสร้างวิชาชีพรังสีเทคนิคครั้งแรกในประเทศไทย (http://www.tsrt.or.th/his_p1.htm )ท่านจะทราบว่า อาจารย์สุพจน์ต้องลำบากและขมขื่นขนาดไหน กว่าวิชาชีพนี้จะเป็นตัวตนได้อย่างปัจจุบันนี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์สุพจน์ค่อนข้างบ่อยมากในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาและหลังจากที่อาจารย์เกษียณแล้ว ทุกครั้งที่คุยกัน อาจารย์จะมีเรื่องดีๆ ข้อคิดดีๆ มาให้ผมได้ขบคิด บางเรื่องก็นำไปปฏิบัติในชีวิตจริง หลังเกษียณอาจารย์สุพจน์ท่านจะมาที่คณะฯที่ที่ท่านเคยทำงานอยู่ที่เดียวกับผม เพื่อสอนนักศึกษา และอ่านฟิล์มเอกซเรย์ที่ออกบริการชุมชนทุกอาทิตย์ ท่านมักจะแวะเข้ามาหาผมที่ห้องทำงานและพูดคุยกัน อาจารย์สุพจน์สามารถคุยได้ทุกเรื่อง และเป็นเรื่องที่มีสาระเสมอ และผมจะรู้สึกเหมือนว่าอาจารย์มาช่วยเคาะสนิมในตัวผม ทำให้ผมโล่งและตาสว่างหลายเรื่อง วันหนึ่งได้คุยกับท่านและผมถามท่านว่า สมัยที่ท่านไปดูงานรังสีเทคนิคในต่างประเทศ ท่านมีโอกาสที่จะอยู่อาศัยและทำงานในต่างประเทศได้เลย เพียงแค่ใช้ทุนรัฐบาล และเงินเดือนที่ต่างประเทศก็สูงมากด้วย ทำงานไม่นานก็คุ้มกับเงินที่ชดใช้รัฐบาลแล้ว ท่านฟังจบแล้วก็ยิ้มพร้อมกับตอบว่า "ถ้าจะบีบคั้นหาความสามารถและความดีในตัวผม คงได้เป็นน้ำสักหยดหนึ่งเห็นจะได้ น้ำหยดนี้ ถ้าเราไปหยดในที่ที่ชุ่มชื้นอยู่แล้ว มันคงไม่มีค่าหรือมีความหมายสักเท่าไร เพราะมันชื้นแฉะอยู่แล้ว เหมือนในต่างประเทศที่เข้าพร้อมอยู่แล้ว ตัวผมคงไม่สามารถทำอะไรให้เขาได้มากเท่าไร แต่ถ้าเราเอาหยดน้ำนี้ไปหยดในที่ที่แห้งแล้ง แม้เพียงหยดเดียวก็ดูมีค่ายิ่ง เหมือนประเทศไทยของเรา ที่แห้งแล้งและขาดแคลนอย่างมากในเรื่องรังสี ถ้าผมมาอยู่ตรงนี้ที่ประเทศไทย ผมก็จะช่วยทำประโยชน์ได้มาก"
     ผมฟังอาจารย์สุพจน์พูดจบแล้ว มีความรู้สึกซาบซึ้งจับใจมากอย่างบอกไม่ถูกทีเดียว อาจารย์สุพจน์เปรียบเทียบชนิดเห็นภาพทะลุทะลวงโปร่งตลอดไม่มีอะไรติดขัด และผมก็ไม่อยากจะเก็บความรู้สึกนี้ไว้คนเดียว เรียนอาจารย์สุพจน์ว่าผมขออนุญาตเอาคำพูดที่อาจารย์คุยกับผม มาเขียนในบันทึกจากประกายรังสีเพื่อให้ชาวเราได้รับทราบด้วย โดยเฉพาะชาวเราในที่แห้งแล้งที่กำลังคิดว่าเรียนมาแทบตายแล้วให้ทำแค่นี้ ซึ่งท่านก็อนุญาต แต่ท่านเตือนว่า ระวังเขาจะหาว่าเรายกตัวเองสูงกว่าผู้อื่น อาจหาญไปสอนเขา ผมหวังว่าชาวเราคงไม่คิดเช่นนั้นนะครับ เพราะเจตนาผมไม่ต้องการเช่นนั้นเลย เพียงแค่พบอะไรดีๆก็เอามาฝากครับ เป็นกำลังใจเล็กๆกับชาวเราที่กำลังหดหู่อยู่ในเวลานี้ครับ

มานัส มงคลสุข
พฤษภาคม 2547

หมายเลขบันทึก: 28138เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้ว ชุ่มชื่นห้วใจ ดีจริงๆ ค่ะ :)

น้ำเพียงหยดเดียว จากการบีบคั้นความดีของท่านอาจารย์สุพจน์ (ผศ.นพ.สุพจน์  อ่างแก้ว) ออกมา ช่วยปลูกวิชาชีพรังสีเทคนิคในประเทศไทย ให้เติบโตตราบทุกวันนี้

ต้นวิชาชีพรังสีเทคนิคนี้ จะเติบโตอย่างแข็งแรงเพียงใด เราคงต้องช่วยกันรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แห่งความรักและความสามัคคีกัน ชื่นชมให้กำลังใจกัน สร้างงานวิชาการ สร้างนวัตกรรม แบบพึ่งพาตนเอง อย่างที่อาจารย์มานัส ทำมาโดยตลอด

ขอขอบคุณอาจารย์มานัส แทนบุคลากรทุกคนในวิชาชีพรังสีเทคนิคทุกท่าน  ที่อาจารย์ไม่เคยหยุดรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แก่ต้นวิชาชีพรังสีเทคนิคเลย

กาลเวลา เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี.........  

ประคอง สุขบุญชูเทพ
ขอสนับสนุนคำพูดของอาจารย์ทุกท่านที่เขียนมา เรามาทำงานเกี่ยวกับรังสี โดยเป็นฝ่ายสนับสนุนของโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ทุกโรงพยาบาลจะให้ความสำคัญกับแพทย์ บางครั้งดูเหมือนว่าจะไม่มีค่าในสายตาของโรงพยาบาล เราทำงานมาตรงนี้ เราน่าจะได้ศักดิ์ศรี หรือความเท่าเทียมกันบ้างในวิชาชีพอื่นๆ แต่ท่านคงยังทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าท่านจะทำไม่ได้ แต่หากแต่ว่าท่านยังไม่ได้ทำ ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งซึ่งอยากให้ทุกท่านที่เป็นชาวรังสีของเรา ลุกขึ้นมามองเห็นวิชาชีพของเราซึ่งช่วยงานของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ไม่มีหน่วยงานของเรา แพทย์ย่อมทำงานได้ยากขึ้น รักษาโรคได้ไม่ดี ข้าพเจ้าอยากให้พวกเราช่วยกันไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิชาการ นวัตกรรมใหม่ๆ มาแชร์กันทางด้านความรู้(KM) ซึ่งน่าจะประสานกับอาจารย์เนื่องจากเราไม่ชำนาญทางด้านทฤษฏี แต่เชื่อว่าท่านที่ทำงานทางด้านเป็นโรงพยาบาลเล็กๆนี้จะมีประสบการณ์มากมาย ทำไมเราไม่เอาทั้งทฤษฏีและประสบการณ์มารวมกันแล้วทำให้มีความสำคัญขึ้นมา ในชีวิตปัจจุบันเราต้องสามัคคี จึงจะอยู่รอดได้ในชีวิต แชร์ทางด้าน KM บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังบ่อยๆจะได้มีประสบการณ์ชีวิต ให้ฟัง กัน ทำให้รังสีมีความสำคัญขึ้นมาให้ทัดเทียมกับบรรดาวิชาชีพอื่นๆ

ขอสนับสนุนความคิดนี้ด้วยอีกคนค่ะ นักรังสีเทคนิคที่ผ่านมาอย่างดิฉัน อ่านแล้วรู้สึกสบายใจอย่างมากอย่างน้อยอาจารย์เป็นที่พึงให้เรา  การปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆมีความสุขมากที่สุดเพราะเราสำคัญมากถ้าวันใหนเราไม่อยู่แพทย์จะถามหาแพราะต้องการเห็นฟิล์มเอกซเรย์เพื่อสร้างความมั่นใจในการรักษา  ท่านรองคิดดู เราสำคัญมากขนาดใหนไม่ได้ยกตนข่มท่านนะแต่เราภูมิใจต่างหาก

คุณค่าของเราอยู่ที่ใน ถ้ารพ.ท่านทำ HA สิ่งที่ได้คือหน่วยงานดีเด่น พัฒนางานในระดับแนวหน้า มีนวัตกรรมออกมาตลอด

นักรังสีเทคนิค คิดวิเคราะห์ งานเก่ง

จากประสบการณ์ในการไปศึกษาดูงานโรงพยาบาลชุมชนหลายๆแห่ง พบว่ารังสีเทคนิค มีนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ  ชนะการประกวดหลายแห่ง ระดับจังหวัด  ระดับเขต ระดับประเทศยังมี แต่เราไม่มีองค์กรวิชาชีพที่คอยชื่นชมและแสดงความยินดี ให้กำลังใจ

ส่วนใหญ่เรามุ่งแต่ความต้องการของตนเองเลยลืมดูพวกเดียวกันเองมัวแต่คอยมองความเติบโตของวิชาชีพอื่นโดยเฉพาะพยาบาลซึ่งองค์กรวิชาชีพเขามีมานานและเข็มแข็งและรวมตัวกันได้ดี

องค์วิชาชีพเราเพิ่งเริ่มต้นและขาดประสบการณ์จะดำเนินกิจกรรมใดต้องรอบครอบและค่อยป็นค่อยไปเลยไม่ทันใจนักรังสีเรา

ขอให้ทุกคนสามัคคีรวมแรงร่วมใจช่วยเหลืองานองค์กรวิชาชีพ  เพื่อองค์กรเราจะได้เติบโตถึงเราจะไม่ทันแต่น้องๆเราก็จะได้ประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท