หลากหลายกิจกรรมในตลาดนัดความรู้ นครพนม วันที่ ๒


ภายใต้ความธรรมดาเหมือนๆ กัน ทุกคนก็สามารถค้นพบการปฏิบัติที่เป็นสิ่งดีๆ ของเพื่อน

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙

เมื่อคืนนอนหลับได้ดีขึ้น เพราะงานตลาดนัดผ่านไปได้ ๑ วันแล้ว และจากการ AAR ของทีมทำงานพบว่าภาพรวมของงานในวันแรกก็เป็นที่น่าพอใจ เช้านี้ตื่นตอนที่มีเสียงกลองจากวัดข้างๆ พอดี มองเห็นแสงสว่างผ่านม่านหน้าต่าง ดูนาฬิกาบอกเวลา ๐๕.๓๐ น. นึกว่าดูผิดเพราะสว่างเหมือนเช้าแล้ว เมื่อดูซ้ำจึงรู้ว่าเวลาเป็นไปตามนั้นจริงๆ แสดงว่าริมฝั่งโขงด้านนี้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเร็ว เมื่อเวลา ๖ นาฬิกากว่าๆ แสงพระอาทิตย์ที่ตกบนพื้นน้ำก็สว่างไปทั่วแล้ว

วันนี้ไม่ต้องรีบร้อนมากเพราะเราจะเปิดตลาดนัดกันต่อในเวลา ๐๙.๐๐ น. เพื่อให้เวลาสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางมาไกล ดิฉันชวนคุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณมานั่งจิบกาแฟรับลมเย็นๆ จากแม่น้ำโขงที่ระเบียงหน้าห้องพัก คุณน้อยเจ้าของรีสอร์ทจัดอาหารเช้าแบบพิเศษมาให้คือขนมถ้วยญวน หน้าตาแตกต่างไปจากขนมถ้วยที่เราคุ้นเคย ตัวแป้งมีลักษณะเหมือนถ้วยตื้นๆ แบนๆ เหนียวกว่าขนมถ้วยไทย ไม่มีหน้ากะทิ แต่โรยด้วยหมูหยองและน้ำปรุงรสออกเปรี้ยวหวานเผ็ดนิดๆ อร่อยดี

คุณเอนกและน้องหงามารับอีกตามเคย เช้านี้เราได้ไปไหว้พระธาตุพนม ทำบุญตามราศีเกิดกันด้วย ไปถึง รพร.ธาตุพนม ผู้เข้าประชุมยังไม่มาเลย ต้องลุ้นกันอีกแล้ว พอใกล้ๆ ๐๙.๐๐ น. เริ่มมีคนทยอยกันเข้ามาเรื่อยๆ กว่าจะพร้อมเริ่มงานก็เลยเวลาไปประมาณ ๑๐-๑๕ นาที เดิมเราตั้งใจจะใช้การเล่นเกมส์เปิดกิจกรรม แต่เนื่องจากเวลาล่วงเลยไปแล้วจึงต้องยกเลิกไป ดิฉันให้ทุกคนออกกำลังกายร่วมกันแทน วันนี้ยังคงท่าการออกกำลังกายแบบอิสาน แต่มีจังหวะเร็วขึ้น ทุกคนก็ร่วมมือด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอีกเช่นเคย ตรวจสอบกำลังพลแล้วพบว่าขาดไปเพียง ๑-๒ คน โดย นพ.ธีรชัย เลิศอมรภัทร หมอหนุ่มจาก รพ.ท่าอุเทน ได้แจ้งไว้แล้วว่ามาได้เพียงวันเดียว

ออกกำลังกายเรียบร้อยแล้ว เราให้แบ่งกลุ่มสร้างเกณฑ์ระดับขีดความสามารถต่อจากเมื่อเย็นวานนี้ ดิฉันสังเกตว่าบางกลุ่มเมื่อมาถึงก็ลงมือทำงานต่อกันเลยตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดตลาด ผู้เข้าประชุมบางคนยังงงๆ เกี่ยวกับการสร้างเกณฑ์ ทีมงานจึงต้องคอยแวะเวียนไปดูและให้คำแนะนำ บางกลุ่มก็ต้องใช้เวลาในการตกลงกันค่อนข้างนาน ดิฉันแนะนำให้เริ่มจากสร้างเกณฑ์ระดับ ๑ และ ๕ ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายความเป็นเกณฑ์ระดับ ๒, ๓, ๔ ต่อไป และควรหลีกเลี่ยงการสร้างเกณฑ์แบบขั้นบันได ย้ำว่าทำพอให้เข้าใจกระบวนการ หลังจากนี้ยังสามารถปรับปรุงได้อีก

ทีมเราตกลงกันว่าให้แต่ละกลุ่มเขียนเกณฑ์ระดับขีดความสามารถไว้บน Flip chart ไม่ต้องมีการนำเสนอ แล้วให้แต่ละ รพ. เดินดูและประเมินตนเองไปเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการพิมพ์แจกและผู้เข้าประชุมจะได้มีการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ไปด้วย ทีมงานได้จัดพิมพ์แบบการประเมินตนเองสำหรับทุก รพ.เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว เราเขียนชื่อแต่ละโรงพยาบาลให้ด้วย แต่ละ รพ. ประเมินตนเองว่าปัจจุบันมีขีดความสามารถอยู่ในระดับใด และอีก ๑ ปี ข้างหน้าคาดหวังจะพัฒนาไปให้ถึงระดับไหน หากพบว่าประเมินไม่ได้หรือมีปัญหาอะไรในการประเมินก็ให้บันทึกไว้ด้วย ในการนี้เราพบว่าการสร้างเกณฑ์ประเภทที่ว่า “มีนโยบาย......” “มีคำสั่งแต่งตั้ง...ชัดเจน” บาง รพ. ไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่มีสิ่งเหล่านี้ เป็นต้น

ทีมงานเอาข้อมูลมาจัดทำเป็นกราฟ แผนภูมิแม่น้ำ และแผนภูมิขั้นบันได ในระหว่างนั้นเราให้ ภก.เอนก ทนงหาญ แนะนำการใช้เว็บบล็อก gotoknow.org  โดยมีคุณสุพัฒน์ สมจิตรสกุล และคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน เป็นผู้ช่วย คุณสุพัฒน์ ได้ทำเอกสารแนะนำมาแจกด้วย คุณเอนกใช้เวลาน้อยกว่าที่กำหนดไว้ เราดำเนินการต่อได้เพราะทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จเร็วเช่นกัน หลังจากนั้นดิฉันได้นำเสนอกราฟขีดความสามารถของแต่ละ รพ. แผนภูมิแม่น้ำ/ธารปัญญา แผนภูมิขั้นบันได พร้อมทั้งจับคู่ “ผู้พร้อมให้” และ “ผู้ใฝ่รู้” โดยเลือกมาเพียง ๕ ปัจจัย

   

 ขีดความสามารถของแต่ละ รพ.

 แผนภูมิแม่น้ำ

เกือบเวลา ๑๑.๓๐ น. เริ่มกิจกรรมเข้ากลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามคู่ที่จัดให้ ทีมงานรีบจัดแจงบอกว่าตอนรับประทานอาหารกลางวันก็คุยกันต่อได้ เพราะเราจัดอาหารมาให้ถึงโต๊ะของแต่ละกลุ่มเลย เรียกว่าใช้เวลาทุกนาทีให้มีประโยชน์ เมื่อถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. แต่ละ รพ.ทั้งที่เป็น “ผู้พร้อมให้” และ “ผู้ใฝ่รู้” จึงสามารถนำเสนอให้กลุ่มฟังได้ว่าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรจากกันและกันบ้าง (ดูรายละเอียดที่นี่) แม้ว่า รพ.ส่วนใหญ่ที่มาร่วมตลาดนัดครั้งนี้ ไม่ได้มีผลงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จัก แต่ภายใต้ความธรรมดาเหมือนๆ กันนั้น ทุกคนก็สามารถค้นพบการปฏิบัติที่เป็นสิ่งดีๆ ของเพื่อน ความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่จะนำไปใช้ต่อได้ เรียกว่า “ถึงไม่เด่น แต่ก็มีดี” สอดคล้องกับความเชื่อของเราที่ว่า “ทุกคนมีความรู้อยู่ในตัว ทุกการปฏิบัติมีความรู้”

ต่อจากนั้น นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร สมาชิกตลาดนัดครั้งที่ ๑ ของเรามาเป็นแขกรับเชิญ เล่าเรื่องงานเบาหวานของจังหวัดสกลนคร (อ่านที่นี่) นอกจากนี้คุณหมอปรเมษฐ์ยังเขียนข้อเสนอแนะไว้ให้อีกคือ (๑) นโยบายต้องชัดเจน เช่น การจัดวิชาการในส่วนที่ขาด การประกวดผลงาน (๒) การมีส่วนร่วมของชุมชน ของ อบต. (๓) ครอบครัวและผู้ป่วย (๔) การ record ข้อมูล สร้าง KPI ของตัวเองและเก็บไว้เพื่อเป็นผลงาน HA, HPH (๕) Record ข้อมูลที่ไม่สามารถตอบคำถามผู้ป่วยได้เพื่อนำมาแลกเปลี่ยน

 

 

 ประเมินตนเอง

 จับคู่แลกเปลี่ยน

   

 จับคู่แลกเปลี่ยน หนุ่มคนเดียวคือหมอ X

 เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเพื่อน

เวลายังมีพอ นพ.ประกาศิต จิรัปปภา ขวัญใจของชาว รพร.ธาตุพนม ขอถือโอกาสนี้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเท้าในสไตล์ของอาจารย์แพทย์อีกประมาณ ๔๐ นาที เรียกว่าคนที่มา workshop ครั้งนี้ได้ครบทั้งความรู้แจ้งชัดและความรู้ปฏิบัติ

เวลา ๑๕.๐๐ น. พักรับประทานอาหารว่าง ต่อจากนั้นเป็นการทำ AAR ของผู้เข้าประชุม เริ่มต้นดิฉันขอให้ผู้ที่ต้องการ AAR เสนอตัว ปรากฏว่า นพ. นฤทธิ์ บุญเพชร (คุณหมอ X) จาก รพ.ศรีสงครามขออาสาเป็นคนแรก คุณหมอกล่าวว่า


“ก่อนมาคิดว่าเป็นการประชุมวิชาการทั่วๆ ไป มาแล้วรู้สึกเหมือนทุกอย่างมีความลับซ่อนอยู่ สิ่งที่ได้เกินความคาดหวังคือประสบการณ์การดูแล DM ที่เราได้ เป็นสิ่งที่เอาไปใช้ได้ เปิดหาในตำราไม่มี สิ่งที่ได้น้อยคือสิ่งที่เราเคยคาดไว้ เพราะคาดหวังไม่ตรงกัน สิ่งที่อยากให้ปรับปรุงคือทำให้ชัดเจนขึ้น อย่าให้คลุมเครือ หลังจากนี้จะเอาความรู้ไปใช้ต่อ เพราะรับผิดชอบทีม DM อยู่แล้ว”


ตัวแทนของแต่ละ รพ. รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ที่ตั้งชื่อให้ตนเองว่า "คุณแอบมอง" ได้ผลัดกัน AAR เราให้ทุกคนได้เขียนไว้ด้วย คุณเอนกคงจะนำลงบล็อกต่อไป

ดิฉันกล่าวถึงความในใจของตนเองเกี่ยวกับการจัดประชุมครั้งนี้ใน AAR ขอบคุณผู้เข้าประชุมทุกคนและทีมงาน ไม่รู้เข้าข้างตัวเองหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าครั้งนี้พูดปิดท้ายได้ดีที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะได้พูดออกมาจากใจ

นพ.มนู ชัยวงศ์โรจน์ ผอ.รพร.ธาตุพนม กล่าวปิดประชุมพร้อมเชียร์ให้ทุก รพ.นำวิธี KM ไปใช้พัฒนางาน มอบของที่ระลึกให้ดิฉันและทีมงาน ปิดท้ายด้วยการถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

   

 นพ.ปรเมษฐ์เล่างานของสกลนคร

 ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก

ดิฉันประเมินว่าตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จังหวัดนครพนมครั้งนี้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกประการ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเครือข่ายเบาหวาน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙
 

คำสำคัญ (Tags): #ตลาดนัดความรู้
หมายเลขบันทึก: 28051เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2006 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท