การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์(Results-Based Management : RBM)


ตีพิมพ์ใน...วารสารเทคโนโลยี(สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) 29(165) ต.ค-พ.ย.45 หน้า 156-158

   
                  การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์  หมายถึง  การบริหารที่เน้นผลผลิต (Outputs)  และผลลัพธ์ (Outcomes)  โดยมีตัวชี้วัดผล (Indicators)ที่เป็นรูปธรรม  อาจเขียนเป็นสมการได้  ดังนี้
 
                ผลสัมฤทธิ์ (Results)  =  ผลผลิต (Outputs) + ผลลัพธ์ (Outcomes)
 
                  มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน เช่น Results-Based Management, Management for, Results, Results Oriented Management  เป็นต้น   ซึ่งทุกชื่อมีแนวความคิดหลักเหมือนกัน
                  การบริหารที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เป็นรูปแบบการบริหารที่เน้นความรับผิดชอบ (Accountability)  ของรัฐบาลต่อประชาชนที่จะต้องแสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนว่า     รัฐบาลได้ใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลอย่างไร    โดยการแสดงถึงว่าได้มีผลงานอะไรบ้าง       ได้ให้บริการประชาชนในเรื่องใดบ้าง  ผลงานหรือบริการเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตต่อการทำมาหากินของประชาชนอย่างไร  และรัฐบาลจะต้องสามารถอธิบายต่อประชาชนได้ว่ากิจกรรมที่ทำลงไปนั้น  เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างประหยัด    มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดประสิทธิผลและคุ้มค่าเพียงใด   ซึ่งเทียบเคียงได้กับภาคเอกชน ที่ประเมินผลงานจากกำไรของบริษัท
 

       ความเป็นมา   การบริหารในรูปแบบใหม่นี้ได้มีการพัฒนาและทดลองปฏิบัติในประเทศที่พัฒนาแล้วมาร่วม 20 ปี  เช่น  สหราชอาณาจักร  (1980)  แคนาดา (1980)  นิวซีแลนด์ (1984)  สหรัฐอเมริกา (1990)  เป็นต้น   โดยรัฐบาลประเทศเหล่านั้น  ต่างประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างมากในเรื่องการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การใช้จ่ายของรัฐที่มีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายจ่ายรวมทั้งประเทศ ปัญหาการขาดดุลของงบประมาณภาครัฐ และปัญหาเรื่องความล่าช้าในการบริการประชาชน รัฐบาลประเทศเหล่านั้นจึงพยายามปฏิรูประบบบริหารเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนคืนมา   โดยนำเทคนิคบริหารที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์มาใช้
 
      สำหรับประเทศไทยได้นำแนวคิดการบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูประบบราชการ  ซึ่งมีแรงผลักดันมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  วิกฤตเศรษฐกิจ  การเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้  ความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนมีมากขึ้น  รวมทั้งภาคเอกชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น  ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่บทบาทของรัฐก็ยังไม่ปรับบทบาทใหม่  ประชาชนเองก็ตื่นตัวที่จะได้รับบริการจากรัฐที่มีคุณภาพและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540  ก็กำหนดไว้ชัดเจน
                  เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาที่ปรากฎมาชั่วนาตาปีอันเกิดจากความเก่าล้าสมัยของระบบ  การบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ  กฎระเบียบเทคโนโลยีวิธีปฏิบัติงานไม่ทันสมัย  ค่าตอบแทน  สวัสดิการแก่บุคลากรไม่เหมาะสม  ความไม่รับผิดชอบและขาดคุณภาพของบุคลากร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากการทุจริตประพฤติมิชอบที่เป็นเหลือบเกาะกินการพัฒนาประเทศ  รัฐบาลจึงปฏิรูประบบราชการโดยเริ่มต้นจากการกำหนดโครงสร้างกระทรวงเป็น 20 กระทรวง  136 กรม  จำแนกตามกลุ่มภารกิจ 3 กลุ่ม คือกลุ่มกระทรวงนโยบายพื้นฐานของรัฐ 6 กระทรวง  กลุ่มกระทรวงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 10 กระทรวง และกลุ่มกระทรวงขนาดเล็กที่เป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล 4 กระทรวง
          ภารกิจหลักในการปฏิรูประบบราชการนอกจากปรับโครงสร้างบทบาทภารกิจเป็นเรื่องแรกแล้วยังต้องปฏิรูปวิธีการงบประมาณ ปฏิรูประบบบุคคล ปฏิรูปกฎหมาย  และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ   ซึ่งต้องทำทั้งระบบ  ดังนั้น  จึงต้องกำหนดนโยบาย  เป้าหมาย  ผลสัมฤทธิ์ของงานและกำหนดผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน

 แนวคิดการบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์     การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การบริหารที่มุ่งเน้นความประหยัด (Economy) ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)  และความมีประสิทธิผล (Effectiveness) นั่นเอง   ความประหยัด  คือ การใช้ปัจจัยนำเข้าหรือทรัพยากรน้อยที่สุด  ราคาต่ำที่สุด เวลาน้อยที่สุดในการผลิต   ความมีประสิทธิภาพ  คือ การเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยนำเข้ากับผลผลิต  ถ้าใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและเกิดผลผลิตสูงก็ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง ความมีประสิทธิผล  คือ การเปรียบเทียบระหว่างวัตถุประสงค์กับผลผลิตและผลลัพธ์  หากบรรลุตามวัตถุประสงค์ก็ถือว่า เกิดประสิทธิผล  ซึ่งดูจากทั้งปริมาณและคุณภาพ 

 เทคนิคที่เกี่ยวข้อง

                  การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์จะเกี่ยวข้องกับเทคนิคการบริหารที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารได้  หลายเรื่อง เช่น 

                  1. การวัดผลการปฏิบัติงาน  (Performance  Measurement )     เป็นกระบวนการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน  โดยกำหนดเป้าหมายและเทียบผลการปฏิบัติงานกับเป้าหมายที่ตั้งไว้  เพื่อการรายงานผลการปฏิบัติงานหรือเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพัฒนางาน

                  2. การเทียบงาน (Benchmarking)  เป็นการหาองค์การที่ปฏิบัติงานดีที่สุดในสาขาเดียวกับที่ตนปฏิบัติอยู่   แล้วศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้องค์การนั้นประสบผลสำเร็จ     และนำมาวางแผนยกระดับการปฏิบัติงานองค์การของตนให้ถึงระดับองค์การต้นแบบ       แล้วประเมินเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์เพื่อหาทางปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น

                  3. การตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน (Performance Audit)   เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการจัดทำข้อมูลการปฏิบัติงาน  ทั้งการตรวจสอบภายในองค์การ  และการตรวจสอบจากภายนอกองค์การ  ซึ่งปัจจุบันจุดเน้นของการตรวจสอบอยู่ที่ผลการปฏิบัติงาน

                  4. การประเมินผลโครงการ (Project Evaluation)  เป็นกระบวนการศึกษาเชิงลึกว่าการวัดผล  หรือการตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน  จะใช้รูปแบบการประเมินของใคร  ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการประเมิน  แต่ที่นิยมใช้กันมาก คือ รูปแบบ CIPP ของ Stufflebeam  เป็นต้น

                  5. การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) เป็นการกำหนดกรอบการทำงานและการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์  ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างวัตถุประสงค์เชิงนโยบายกับเป้าหมายในระดับปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

                  6. ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (Performance-Based Budgeting : PBB) เป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์  มีการวางแผนกลยุทธ์  มีมาตรฐานการจัดการด้านการเงิน      แล้วกระจายอำนาจให้หน่วยงานตัดสินใจบริหารเอง  แต่ต้องมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้

                 7. การบริหารตามวงจรคุณภาพ PDCA  เป็นการบริหารอย่างเป็นระบบที่มีการวางแผนกลยุทธ์ (Plan)  ลงมือปฏิบัติ (Do)  ตรวจสอบประเมินผล (Check) กำหนดมาตรฐาน/ปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง (Act)  ฯลฯ

                  ปัจจัยพื้นฐานซึ่งจะทำให้การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ประสบความสำเร็จคือ การมีระบบข้อมูลที่เที่ยงตรงเชื่อถือได้  และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ในการปฏิบัติงานของบุคลากร

                  การปฏิรูประบบราชการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์       จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ปรับโครงสร้างและภารกิจ เพราะนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น


 

------------------------------------

                 

                                        เอกสารอ้างอิง

ทิพาวดี   เมฆสวรรค์         การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์  กรุงเทพมหา  นคร  อรุณการพิมพ์ 2543

ยรรยงค์   คำบรรลือ      ราชการยุคใหม่   เอกสารประกอบการบรรยายการเตรียมความพร้อมการบังคับใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ……)  .. …………  วันที่ 6  สิงหาคม 2545  ณ   หอประชุมคุรุสภา  กทม.

คำสำคัญ (Tags): #no tag
หมายเลขบันทึก: 27977เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท