วิพากษ์การศึกษาไทย:"ความชั่วร้ายที่จำเป็น" ในแวดวงการศึกษาไทย


การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่จึง จำเป็นต้องตั้งโจทย์สำคัญเพิ่มเติมว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถขจัดวัฒนธรรมทางความคิดที่สนับสนุนให้ "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" ดำรงอยู่ในแวดวงการศึกษาของบ้านเรา ให้หมดไปได้

วันนี้เปิดอ่านบทความที่น่าสนใจ......

โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หัวหิน



คำ ว่า "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" มีนิยามเฉพาะในบทความนี้ว่า หมายถึง "สิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่คนทำกันจนเป็นเรื่องปกติ และผู้กระทำเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ" ในแวดวงการศึกษาของบ้านเราความชั่วร้ายในความหมายดังกล่าวนี้มีอยู่มาก เช่น.-

ธุรกิจการศึกษาที่แข่งขันกันเปิดหลักสูตรต่างๆ ในระดับปริญญาตรี โท เอก ที่เน้นการเรียนง่าย จบง่าย ถ้าจ่ายคล่อง ค่านิยมที่เรียนเพื่อเอาใบปริญญาไว้แขวนคอ ไม่สนใจความรู้จริง รู้กว้าง รู้ลึก ผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่ง เรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก แต่จ้างคนอื่นหรือจ้างลูกน้อง (ด้วยเงินบ้าง ด้วยการให้ 2 ขั้นบ้าง) ทำงานส่งอาจารย์ทำวิจัย หรือทำวิทยานิพนธ์แทน

อาจารย์มหาวิทยาลัยหา กินกับการรับจ้างทำวิจัยกับหน่วยงานราชการและเอกชน โดยมีการวางเครือข่ายเส้นสายจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้กับบุคลากรภายในหน่วยงาน นั้นๆ เพื่อให้ได้งบฯวิจัยก้อนโต นักวิชาการและผู้บริหารในมหาวิทยาลัยที่มี "นิสัย" เปลี่ยนสีเปลี่ยนจุดยืนไปตามการเปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐ

การจ้างคนอื่นทำ ผลงานทางวิชาการ เช่น ทำครู ค.ศ.3, ครู ค.ศ.4 ทำ ผศ. รศ. การวิ่งเต้นจ่ายเงินแก่กรรมการตรวจผลงานทางวิชาการ การซื้อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา การเมืองในมหาวิทยาลัยที่มีการเล่นพรรคเล่นพวก ผูกขาดอำนาจ การทุจริตคอร์รัปชั่น ตั้งแต่โกงตำราเรียน นมโรงเรียน งบฯก่อสร้าง ฯลฯ

คน ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะสนใจสอดส่ายสายตาหาความผิดเหล่านั้นหรือไม่ จะเป็นนักตรวจสอบหรือไม่ก็ตาม ทุกคนย่อมรู้ว่าความชั่วร้ายต่างๆ เป็นต้นที่ยกมานั้น มีอยู่จริงในแวดวงการศึกษาทั้งกรณีที่เราเห็นๆ กันตำตา เล่าปากต่อปาก หรือที่ตกเป็นข่าวทางสื่อมวลชน

ยิ่งไปกว่านั้น เราที่อยู่ในแวดวงการศึกษาต่างเคยได้ยินได้ฟังตรรกะที่สนับสนุนว่า ความชั่วร้ายเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติหรือเป็นสิ่งที่ควรทำหรือจำเป็นต้องทำ เช่น เรื่องแบบนี้ใครๆ เขาก็ทำกัน ถ้าไม่ทำก็ไม่ทันกิน เรียนจบไปแล้วสิ่งที่คนรับรู้คือคุณจบปริญญาอะไร ไม่มีใครสนใจหรอกว่าคุณเรียนจบอย่างมีคุณภาพแค่ไหน คุณภาพ อุดมการณ์ กินได้ที่ไหนเล่า แต่ถ้ามีตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผศ., รศ., ศ. (หรือ ดร.) นำหน้าชื่อ หรือมีตำแหน่งผู้บริหาร มันกินไม่ได้ มันมีเกียรติที่จับต้องได้ ฯลฯ

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือ ให้ได้อะไรที่มันกินได้ เกียรติที่จับต้องได้ จะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้

จะ เห็นได้ว่า วัฒนธรรมทางความคิดที่ว่า "เป้าหมายที่ต้องการเป็นสิ่งตัดสินความถูกต้องของวิธีการ" และวิธีอ้างเหตุผลที่ว่า "เรื่องแบบนี้ใครๆ เขาก็ทำกัน" ทำให้เกิดมาตรฐานการตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงถูก/ผิด มีความคิดกันว่าถูก/ผิดไม่มีอยู่จริง มีแต่สิ่งที่เราทำและไม่ได้ทำ หรือมีแต่สิ่งที่ทำแล้วได้ประโยชน์กับสิ่งที่ทำแล้วไม่ได้หรือเสียประโยชน์ เท่านั้น

วัฒนธรรมทางความคิดหรือวิธีคิดดังกล่าว ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" ในแวดวงการศึกษาของบ้านเรา และการที่ความชั่วร้ายที่จำเป็นมันหยั่งรากลึก แผ่กิ่งก้านสาขามากขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลให้เกิดความเสียหายทางการศึกษาของชาติ อย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. ธุรกิจการศึกษาขยายตัวอย่างรวดเร็ว แข่งขันกันแย่งลูกค้าอย่างเข้มข้น แต่คุณภาพการศึกษาแย่ลง ทำให้ "ปริญญาชน" เฟ้อ แต่ขาดแคลน "ปัญญาชน" ที่มีจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ (academic spirit) คงแก่เรียน มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม เป็นมันสมองของชุมชน สังคม ประเทศชาติ

2. สถาบันการศึกษาขาดการสร้างพลังท้าทายทางปัญญา เช่น สร้างความโดดเด่นเป็นแรงจูงใจทำให้คนอยากมาเรียนในสถาบันแห่งนี้ เพราะเป็นสถาบันที่เข้มงวดเรื่องคุณภาพ เข้ายาก เรียนหนัก จบยาก เพราะต้องมีคุณภาพจริงๆ จึงจบได้ มีแต่ว่าทุกสถาบันต่างแข่งกันสร้างจุดขาย "เรียนง่าย จบง่าย ถ้าจ่ายคล่อง"

3. สถาบันการศึกษาล้มเหลวในการสร้างพลังความกล้าหาญทางจริยธรรมและการส่งเสริม วัฒนธรรมประชาธิปไตย เพราะมากไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น การซื้อตำแหน่ง จ้างทำผลงานวิชาการ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมอำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม พรรคพวกนิยม การสืบทอดอำนาจแบบ "ทายาทอสูร" เอาไว้อย่างมั่นคง

ถ้า เป็นความจริงว่า สถาบันการศึกษาเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาคุณภาพคนทั้งในด้านความรู้ความ สามารถ ทักษะอาชีพ จิตใจ สติปัญญา คุณธรรมจริยธรรม จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฯลฯ แต่ทว่าสถาบันการศึกษากลับเป็นสถาบันซึ่งดำรง "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนและมีแนวโน้มจะแผ่ขยายมากขึ้นเช่นนี้ สังคมไทยจะหวังพึ่งสถาบันใดได้อีกเล่า

การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่จึง จำเป็นต้องตั้งโจทย์สำคัญเพิ่มเติมว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถขจัดวัฒนธรรมทางความคิดที่สนับสนุนให้ "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" ดำรงอยู่ในแวดวงการศึกษาของบ้านเรา ให้หมดไปได้


ที่มา - มติชนรายวัน หน้า 5 - วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11432

อ้างอิงจาก http://www.kruthai.info/board02_/show.php?Category=vipak&No=147

ทุกท่านคิดอย่างไรครับ

หมายเลขบันทึก: 279312เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท