ภารกิจสุดท้ายของพ่อแม่ เตรียมพร้อมให้ลูกสำหรับ...การเดินทาง


ทำดีที่สุด เท่าที่เราทำได้ ก็พอแล้ว

 

ส่งท้าย ... หน้าที่สำคัญ  "ภารกิจสุดท้าย" ของพ่อแม่ 

เตรียมพร้อมให้ลูกสำหรับ ... การเดินทาง

เมื่อลูกเป็นมะเร็ง  ก็หมายถึงว่า ลูกอาจจะมีช่วงชีวิตสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น  มีเวลาที่เหลืออยู่น้อยลงกว่าเด็กปกติ   ณ เวลานี้หน้าที่สำคัญของพ่อแม่มิใช่การเลี้ยงดู หรือรักษาลูกเท่านั้น   แต่ต้องมีหน้าที่สำคัญเพิ่มขึ้นคือ  " เตรียมตัวลูกให้พร้อมมากที่สุด...สำหรับการเดินทาง "    อย่ามองแต่ในแง่ดีว่า ลูกยังไม่เป็นอะไร  ยังมีเวลาอีก  หรือจะเป็นการแช่งลูก   ถึงแม้ว่าปัจจุบันโอกาสหายจะเพิ่มขึ้น เพราะมีการพัฒนาเกี่ยวกับการรักษาได้ดีขึ้น   แต่มันก็มีทางเป็นได้ 2 ทาง คือ " หาย"หรือ " ไม่หาย "      ดังนั้นการเฝ้ารออย่างเดียวจึงไม่เกิดประโยชน์อะไร   แต่การลงมือทำในสิ่งที่เห็นว่าดีสำหรับลูก  น่าจะดีกว่า

ที่จริงแล้วยิ่งมีเวลามาก ก็ยิ่งดี  เราจะได้มีเวลาเตรียมตัว ทั้งตัวเองและลูกได้มากขึ้น  ไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องไปทั้งนั้น  ไม่เว้นแม้แต่ตัวเอง   ดังนั้นการไปแบบเตรียมตัว หรือไม่เตรียมตัว  ... แบบไหนจะดีกว่ากัน

ณ เวลานั้น   ช่วงสุดท้ายของชีวิต  ทุกคนมีสถานะเท่ากันหมด  ทรัพย์สินหรือสถานะใดๆที่ติดตัวมา  หรือมีมาก่อน   ไม่มีส่วนช่วยในการเลือกทางเดิน  ณ จุดนั้น ใครเตรียมใจ ใครเตรียมตัวพร้อมมากที่สุด  ก็น่าจะดีกว่าคนที่ไม่ได้เตรียมตัว

ที่ผ่านมาตลอดการรักษา ทุกคนๆ จะได้รับการดูแลรักษา " กาย "  อย่างดีที่สุด  ทั้งจากแพทย์  พยาบาล  พ่อแม่   และคนใกล้ชิด   แต่เมื่อใกล้ถึงช่วงสุดท้าย เราน่าจะให้ความสำคัญกับการดูแลรักษา "ใจ" มากกว่า   เพราะต่อไป " กาย " จะไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว    ดังนั้นการให้ " อาหารใจ "  ในช่วงสุดท้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าการให้ " อาหารกาย "

ตั้งแต่ลูกเล็กๆ เวลาญาติคนใดเสียก็มักจะพาลูกไปงานศพด้วยเสมอ  เพราะที่บ้านจะให้ความสำคัญกับงานศพมากกว่างานอื่น  เนื่องจากเป็นงานสุดท้ายสำหรับคนนั้นๆ แล้ว     และเมื่อธรรศเป็นมะเร็ง   ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสใกล้กับคำว่า " ตาย "  เร็วกว่าเด็กปกติ   ก็ยิ่งทำให้ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด  เพราะเป็นเรื่องที่เรารู้ล่วงหน้า

สำหรับเด็กในวัย 4 - 5 ขวบ ขนาดธรรศนั้น      การจะให้ลูกเข้าใจเรื่องการตายก็เป็นเรื่องยาก แต่ก็คิดว่า ในความยาก เราควรทำให้เป็นเรื่องแบบง่ายๆ โดยเริ่มจากการทำให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยกับคำว่า "ตาย "    นอกจากพาลูกไปงานศพญาติๆ แล้ว   จึงเริ่มด้วยการบอกเล่าให้ทั้งธรรศ และธรณ์ทราบว่า  "คนเราต้องตายทุกคน  บางคนแก่มากๆ ก็ตาย   บางคนบาดเจ็บมากๆ ก็ตาย  บางคนไม่สบายมากๆ ก็ตาย    ทุกคนต้องตายทั้งนั้น   พ่อกับแม่ก็ต้องตาย  การตายก็เหมือนการพักผ่อน"

ซึ่งลูกก็จะมีข้อสงสัยจากเรื่องใหม่ที่ได้รับฟัง และเราก็จะได้ตอบในสิ่งที่ลูกสงสัย แบบง่ายๆ

ลูก      - ทำไมทุกคนต้องตาย  แล้วถ้าคนไม่ตาย  ไม่มีใครตาย

แม่      - ถ้าไม่มีใครตาย คนก็จะเต็มโลกไปหมด  ต้องแย่งกันอยู่ ต้องแย่งกันกิน  แล้วก็ทะเลาะกัน เพราะแย่งกันทุกอย่าง

ลูก      - ไม่อยากให้แม่ตาย  อยากให้อยู่

แม่      - ถ้าแม่ไม่ตาย  แม่ก็ต้องแก่มากๆ ทำอะไรก็ไม่ได้   เดินไม่ได้  แต่ถ้าตายก็ได้พักผ่อน

ลูก      - แล้วธรรศกับธรณ์ก็ต้องตายเหมือนกันหรือแม่

แม่      - ใช่  ทุกคนก็ต้องตายเหมือนกัน   เกิดมาแล้วก็ตาย  มันคู่กัน  เหมือนกับลูกหิว พอกินแล้วก็อิ่ม  หิวก็คู่กับอิ่ม

หลากหลายคำถามที่จะตามมาเมื่อนึกได้เรื่อง" ตาย " นี้ อาจทำให้ลูกพอคุ้นเคย พอเข้าใจแบบง่ายๆ

การสอนเรื่อง " ตาย "  สำหรับเด็กนั้น ไม่ได้คาดหวังว่า ลูกจะเข้าใจเรื่องการตาย  เพราะขนาดผู้ใหญ่หลายๆ คนก็ยังไม่เข้าใจ    ต้องการแค่ว่า ให้ลูกเคยได้ยินคำว่า " ตาย "   และรู้สึกว่า " ตาย " เป็นเรื่องพูดได้  เป็นเรื่องปกติ  เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ   อย่างน้อยลูกจะได้รู้สึกว่ามันไม่ได้น่ากลัว   เพราะเป็นเรื่องที่พูดได้  เป็นเรื่องที่เคยได้ยิน   เป็นเรื่องปกติ ... เพราะทุกคนต้องตาย 

 

นอกจากนั้นก็หาโอกาสให้ลูกได้ทำบุญเป็นนิจศีล  ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม  ไม่เน้นที่ปริมาณของที่จะทำบุญ  เน้นที่ความสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร  เช่น นม 1 กล่อง ก็ตักบาตรได้    หรืออาจหากระปุกให้ลูกหยอดเงินทุกวัน  วันละ 1 , 2 , 5 .. บาท   แล้วก็ค่อยนำเงินนี้ไปทำบุญต่อ   

สำหรับการอธิษฐานตอนทำบุญนั้น   ที่สอนลูกมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันคือ " ขอลดละกรรม"  ไม่เคยให้ลูกขออะไรเกินกว่านี้   หรือขอให้หายจากโรคที่เป็นก็ไม่เคย   แม้ตัวเองก็เช่นกัน  อาจจะเป็นแม่ที่แปลกที่ไม่เคยบอกกล่าวขอให้ลูกหายจากโรค  อย่างมากแค่นึกว่า ถ้ายังไม่ถึงเวลา ก็ขอให้เห็นทาง     ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าทุกคนมีทางเดินที่ถูกกำหนดไว้แล้ว   ทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง   ถ้าจะทำอะไรก็ต้องทำ ต้องสำเร็จด้วยตัวเอง  ปฏิบัติเอง   อย่าไปรบกวนผู้ใด   เพราะกรรมเป็นของแต่ละบุคคล    ซึ่งแต่ละบุคคลก็ต้องจัดการกับกรรมของตนเอง  ขอลดละกรรมของตนเอง   พ่อแม่จะเป็นผู้ช่วยชี้แนวทางปฏิบัติให้ลูก  เป็นแนวทางตามวัยของลูกที่จะรับได้   แต่ลูกต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง เพราะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ณ วันนี้  แม้ว่าธรรศจะยังไม่มีอาการใดๆ ปรากฏขึ้นมา  ยังไม่มีการ relapse   แต่ด้วยตัวโรคที่มีสถิติการเกิดน้อยมาก  จึงเป็นสิ่งที่วางใจไม่ได้  เพราะหากมีอาการใดเกิดขึ้นมาแล้ว  วิธีรักษาจะเป็นอย่างไร  มีระยะเวลาเหลืออีกเท่าใด จะบอกแน่นอนไม่ได้ด้วยความที่โรคชนิดนี้มีคนเป็นน้อย  ดังนั้นการเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับธรรศ  และทุกคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

แต่ก่อนอาจจะมองว่าใครเป็นโรคมะเร็งถือว่าโชคร้าย  แต่ตอนนี้มุมมองอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง  เพราะถ้ามาย้อนคิดว่า การที่ธรรศเป็นมะเร็ง กับเป็นโรคที่อยู่ได้ แต่รักษาไม่หาย เช่น เด็กพิเศษต่างๆ นั้น

การที่ธรรศเป็นมะเร็ง .. น่าจะดีกว่า   เพราะ

  • ถ้าธรรศยังไม่มีอาการอะไร ก็อยู่ไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วหมดเวลาแล้ว ก็จบไปเลย พ่อแม่ก็ยังรัก ยังระลึกถึงลูกเสมอ แต่จะไม่ห่วงไม่กังวลว่าลูกจะอยู่อย่างไร จะเป็นอย่างไร ต่างกับเป็นโรคที่มีชีวิตอยู่ได้ แต่รักษาไม่หาย พ่อแม่จะมีความห่วงความกังวลอยู่ตลอด ว่าลูกจะอยู่อย่างไร ต่อไปใครจะดูแล

  • เมื่อรู้ล่วงหน้าว่าเวลามีจำกัด การรู้ล่วงหน้านั้น ทำให้เราได้เตรียมตัว ทั้งลูก ตัวเอง และคนรอบข้าง

  • การที่ลูกเป็นมะเร็ง เมื่อเวลาเดินทางของลูกมาถึง พ่อแม่จะได้มั่นใจว่า เราได้เตรียมตัวลูก เราได้ส่งลูกด้วยตัวเอง ... อย่างดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แต่ถ้าลูกเป็นโรคที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่รักษาไม่หาย อะไรที่เป็น ... อนาคต มันบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

 คำว่า  " สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว   สิ่งนั้นดีเสมอ"   น่าจะเป็นบทสรุปในทุกๆ เรื่อง 

 

ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ มุมมองของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน   การมองในลักษณะนี้ คงไม่ใช่รูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เป็นแค่มุมมองที่เกิดขึ้น  ความรู้สึกที่เกิดขึ้น จากการที่ลูกเป็นมะเร็ง    

สิ่งที่ทำและถ่ายทอดออกมา ก็เป็นสิ่งที่ทำเพื่อชีวิตเล็กๆ อันเป็นที่รัก เพื่อการต่อสู้อย่างพอเหมาะ  เพื่อการอยู่อย่างมีคุณภาพในปัจจุบัน  เพื่อการยอมรับว่าทำเต็มที่ได้เท่านี้  และเพื่อการเตรียมตัวสำหรับเดินทางในเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต   

สิ่งเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการคิดด้วยสติ และด้วยใจที่รักลูก แล้วว่า จะทำอย่างไร จะทำแบบไหน ที่จะดีที่สุดสำหรับลูก  เพราะ ณ เวลานั้น สถานการณ์แบบนั้น ทางเลือกเท่านั้น .... เราทำดีที่สุดแล้ว     

 

หมายเลขบันทึก: 278435เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

คุณเเป๊วเก่งมากค่ะ การพูดเรื่องความตายกับเด็กเป็นเรื่องที่เราลำบากใจมาก เเม้กระทั่งพวกกุ้งอยู่ในทีมการดูแลเด็กป่วยมาเเละเจอเด็กระยะสุดท้ายมาเยอะ ท้ายที่สุดการพูดเรื่องความตายกับเด็กต้องขึ้นอยู่กับครอบครัว ว่าความต้องการที่จะบอกหรือไม่บอก เหนือสิ่งอื่นใดในบริบทอิสานจะไม่ค่อยบอก เเต่นั่นก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง พื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัว ระยะเวลาในการรับทราบผลการเจ็บป่วยที่ไม่ดีแล้ว หากมีเวลาเตรียมตัวนานส่วนใหญ่ครอบครัวจะบอกเด็ก ในเด็กโตบางครั้งเราต้องเเน่ใจมากๆว่าเขาเข้าใจกับโรคทุกอย่างเเล้ว เราประเมินว่าครอบครัวบอกคนไข้เเล้ว เราถึงพุดกับเด็กได้

อ่านแล้วน้ำตาพาลจะไหล เป็นแม่ที่ใจเพชรเลยค่ะ การต้องจากก่อนเวลาที่ควรจะเป็น เป็นสิ่งที่ทรมานใจคนที่ยังอยู่มาก แต่ก็คิดถูกแล้ว ถ้าเขาอยู่แต่ช่วยตัวเองไม่ได้ จะยิ่งแย่กว่านี้

ตั้งแต่ลูกเล็กๆ แนวทางที่สอนลูก คือ พูดจริง พูดด้วยเหตุผล แต่ก็จะพยายามหาวัธีพูดในแบบที่เด็กในวันของเค้าจะเข้าใจ

แป๊วคิดว่าการที่เราคุยด้วยเหตุผล พูดความจริง จะเป็นการสอนที่ยั่งยืน เพราะถ้าเราพูดไม่จริง พอลูกโตขึ้นหน่อย ก็ต้องเปลี่ยนเหตุผลใหม่แล้ว

มาให้กำลังใจค่ะ

คุณบุศรินทร์ ขอบคุณนะคะ

มีหนังสือเล่มหนึ่ง ดิฉันเคยอ่านแล้วย่อยให้ลูกฟัง

"ชั่วนิรันดร์"

เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่เป็นอมตะ

เรา-ดิฉัน ค่อย ๆ เล่าแบบง่าย ๆ ตั้งแต่เขาอายุสี่ห้าขวบ

เพราะเขาชอบบอกว่า โตขึ้นจะเป็นนักวิทยาศาสตร์และคิดค้นยาทำให้คนเป็น อมตะ โดยเฉพาะพ่อแม่+เขา

เมื่อโตขึ้นมาทีละนิด ๆ ตอนนี้เพิ่งชนสิบเอ็ดขวบ เขาเข้าใจมากขึ้น

......คำที่เขาได้ยินเราสองคน-พ่อแม่ พูดบ่อย ๆ คือ

"ไปก่อนได้พักก่อน"

"ทุกคนต้องไป ไม่มีเว้น"

"ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต"

.....

แต่สารภาพค่ะ ว่า เรา-ดิฉัน กลัวมาก ๆ

ขอเป็นกำลังใจและขอเรียนรู้วิถีแห่งความเข้มแข็งค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

 

สวัสดีค่ะ คุณภูสุภา

ขอบคุณที่ส่ง link มาให้ ขอ add ไว้นะคะ

แป๊วมองว่า การที่เราจะช่วยอะไรลูก เราต้องจัดการที่ตัวเราก่อน เพราะลูกจะมองวิธีปฏิบัติจากพ่อแม่ คนใกล้ชิด เสมอ

ถ้าเราแสดงความกลัวให้เค้าเห็น เค้าจะกลัวยิ่งกว่าเราอีก เพราะเราคือ "แบบ" ที่เค้ามองเห็น

สำหรับเรื่องการ "ตาย" นั้น ถ้ามองให้ถ่องแท้แล้ว มันคือความปกติของทุกชีวิต

เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่า เรามักถูกสอนให้เรียนรู้วิธีต่างๆ เพื่อที่จะ "อยู่อย่างไร" กันอย่างแพร่หลาย แต่ไม่ค่อยมีการสอนเรื่อง "จะตายอย่างไร" ทั้งที่สุดท้ายทุกคนต้องตาย

ณ ตอนนี้ ก็ยังนึกขอบคุณ "ลูก" อยู่เสมอ ที่สอนเราในหลายๆ เรื่อง

แป๊ว

สวัสดีค่ะคุณแป๊ว

จามหาน้องธรรศ์มานานหลายเดือนแล้ว ดีใจจังที่น้องดีขึ้น แม่ๆในเวปmomypedia(บ้านแปลนเก่า) หลายคนอยากทราบว่าน้องเป้นยังไงบ้าง

คิดถึงน้องธรรศ์น้องธรณ์ค่ะ ขอให้น้องธรรศ์แข็งแรงแบบนี้ตลอดไปนะคะ คุณแป๊วผุ้เข้มแข็งและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับแม่ๆทุกคน

บุญรักษานะคะ

ปล แวะไปที่เวป momypedia บ้างนะคะ ถ้าพอมีเวลา

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณมากๆ นะคะ ที่ยังนึกถึง และห่วงใยกัน ทั้งๆ ที่หลายๆ คนก็ไม่ได้รู้จักกันเลย เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ลูกไม่สบาย

หลังจากที่ผ่าตัดไตซ้ายออกไป ฉายแสง 11 ครั้ง ให้เคมีบำบัด 2 คอร์ส (25 ครั้ง) จบการให้เคมีบำบัดเมื่อปลาย พ.ย.51 ตอนนี้ธรรศก็อยู่ในช่วงติดตามอาการค่ะ ต้องไปทำ BONE SCAN CT SCAN ทุก 6 เดือน

ณ ตอนนี้คือยังไม่มีการกลับมาของโรค ก็ต้องคอยดูไปเรื่อยๆ ค่ะ เพราะสำหรับมะเร็งนั้น ตัวเองมองว่าเป็นได้ 2 ทาง คือ อยู่ไปได้เรื่อยๆ กับหมดเวลา เรื่องหายมั้ย? ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีใครทราบ บอกแน่นอนไม่ได้ เลยไม่ทราบจะถามคุณหมอ หรือตั้งคำถามไปทำไม โดยเฉพาะตัวที่ธรรศเป็นนั้น (CLEAR CELL SARCOMA) ถือเป็นรายที่ 2 ของ รพ. จุฬา และ 10 ปี ที่ผ่านมามีเคสแบบธรรศ 40 ราย จากทั่วโลก ซึ่งคนเป็นน้อยมากๆ มันยิ่งไม่น่าจะต้องถามเรื่องหายกันเลยค่ะ

ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการทำคุณภาพชีวิตของปัจจุบันให้ดีที่สุดสำหรับธรรศ (เท่าที่เราทำให้ได้) และมองถึงว่าถ้าหากหมดเวลา.. จะทำอย่างไรน่าจะดีกว่า

ซึ่งแนวคิดในการดูแลธรรศที่เป็นมาตั้งแต่ต้นก็สอดคล้องกับการดูแลในแนว "ชีวันตารักษ์ หรือ Palliative care" คือการดูแลอย่างเต็มที่ทั้งทางกาย ใจ จิตวิญญาณ โดยไม่หวังการหายของโรค

จะหาโอกาสเข้าไปที่ momypedia ค่ะ ต้องลงทะเบียนใช่มั้ยคะ ช่วงหลังที่ไม่ได้เข้าไปเพราะช่วยคุณหมอเรื่องเด็กๆ ที่ป่วย เลยไม่ค่อยมีเวลาค่ะ

ตอนนี้ธรรศ กับธรณ์ อายุ 6 ปีเต็ม (เมื่อ 27 ต.ค.52) เรียนอยู่ชั้นเด็กเล็ก ที่ประถมสาธิต มศว.ประสานมิตรค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ

แป๊ว

ขอบคุณ คุณแป๊วคะที่เข้าไปบอกข่าวคราวใน momypedia ค่ะ ขออนุญาติติดตามน้องธรรศที่นี่นะคะ

ลูกชายทั้ง2 ของคุณแป๊วน่ารักมากค่ะเชื่อฟังพ่อแม่ดี คงด้วยวิธีการสอนของคุณแป๊วนั่นเอง อยากเป็นได้อย่างคุณแป๊วบ้างจัง

^^

สวัสดีค่ะ

หลานของดิฉันเป็นเหมือนลูกของคนเลยค่ะ ตัดไตข้างซ้ายพร้อมม้ามออกไปแล้วค่ะ ตอนนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

รอบที่ 2 แล้วค่ะ เพราะเจ้าก้อนมะเร็งมันกลับมาอีก (ที่เดิม) หมอบอกว่ายังผ่าตัดไม่ได้เพราะก้อนมันโตเกินไป อาจไปกระทบถึงเส้นเลือดใหญ่ได้ ตอนนี้ให้คีโมเพื่อให้ก้อนยุบ หรือฉายแสง เพื่อจะผ่าออกได้ คุณหมอบอกว่าหลานของดิฉันมีชีวิตอยู่ได้แค่ 2 ปี ตอนนี้ในครอบครัวทุกคนกำลังหมดหวัง แต่ก็ยังสู้และพร้อมที่จะยอมรับมันให้ได้ เข้ามาเจอ Web ของคุณโดยบังเอิญ เพราะเป็นคนที่ชอบหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้อยู่ตลอดเวลา เข้ามาอ่านแล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมากค่ะ และขออนุญาติ Print ไปให้คนในบ้านอ่านนะคะ เพื่อสร้างกำลังใจ และตอนนี้กำลังลังเลอยู่ว่าจะย้ายไปรักษาตัวต่อที่ โรงพยาบาลศิริราชดีหรือไม่ แต่คุณหมอที่ให้คีโมบอกว่า ยาตัวนี้เป็นยาตัวเดียวกับโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นยาตัวเดียวที่จะรักษาได้ หากคุณมีคำแนะนำอย่างไรช่วยบอกหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณน้ำ

แป๊วให้เมล์ไว้นะคะ ส่งที่ [email protected] จะคุยกันได้สะดวกค่ะ

หรือจะโทรศัพท์มาคุยก็ได้นะคะ ยินดีค่ะ 081 931 1414 / 089 111 1414 / 080 599 1414

ส่งก่อนเผื่อยัง on อยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท