การดูแล ... ออกแบบได้


เด็ก ... ไม่เล็กอย่างที่คิด

การเลี้ยงดูไม่ให้ธรรศรู้สึกแตกต่างกับน้องฝาแฝด

สิ่งแรกคือ  พ่อแม่หรือคนที่ดูแล "อย่าไปสร้างความรู้สึกให้ธรรศคิดว่า ตัวเองเป็นคนป่วยอยู่ตลอดเวลา "   การห้าม  หรือปกป้องมากเกินไป เช่น อันนี้ทำไม่ได้   อันนั้นก็ทำไม่ได้ ฯ อยู่เรื่อยๆ จะทำให้ธรรศรู้สึกว่าเค้ามีความแตกต่าง   เค้าไม่เหมือนเดิม   ศักยภาพของธรรศก็จะลดลง   พอนานๆ ไป  ธรรศจะรู้สึกว่าตัวเอง " น่าจะเป็นคนป่วยจริงๆ "    ทั้งนี้เพราะการกระทำของพ่อแม่   และคนรอบข้างทำให้เค้ารู้สึกเช่นนั้นตลอดเวลา  

พาไปเที่ยว  พาไปนอกบ้านเหมือนเดิม  เพียงแต่ให้สอดคล้องกับข้อควรปฏิบัติที่คุณหมอแนะนำ    เช่น    ตั้งแต่เล็กๆ จะพาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้านทุกวันหยุด     ปัจจุบันก็ยังพาธรรศออกไปเที่ยวนอกบ้านทุกวันหยุดเหมือนเดิม   เพียงแต่จะไม่พาไปในที่ๆ คนเยอะ  เพราะเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค    จะเลือกสถานที่ๆ พาไป   เช่น   ร้านอาหารที่อากาศถ่ายเทสะดวก   ไปบ้านญาติ   ไปต่างจังหวัดใกล้ๆ ที่ไปกลับในวันเดียวได้     ทั้งนี้เพราะธรรศจะได้ไม่รู้สึกว่าเค้ามีความแตกต่างกับธรณ์    

กฎระเบียบที่วางไว้ ต้องพยายามให้ปฏิบัติเหมือนกันทั้งธรรศและธรณ์  เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่าง     ให้ธรรศรู้สึกว่า ตัวเองอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันกับธรณ์   ไม่ใช่เข้มงวดกับธรณ์   แต่ตามใจธรรศ     หรือหากทำผิดก็ถูกลงโทษ  เช่น   ไม่ได้ดู CD      ถูกแยกให้นั่งคนเดียว (Time Out)      หรือถ้ากระทบกระทั่งกัน หากใครผิดก็ต้องไปขอโทษอีกฝ่าย     ธรรศจะไม่มีอภิสิทธิ์เพียงเพราะว่าเค้าไม่สบาย  

ความมั่นใจในตัวเองของธรรศ   เป็นสิ่งที่พ่อแม่ และคนใกล้ชิดต้องช่วยกันสร้าง    ตอนที่ธรรศผมเริ่มร่วง   และได้พาธรรศไปโกนผมนั้น    เวลาจะไปหาใคร แม่ก็จะบอกคนที่เราจะไปหาว่า  อย่าถามเรื่องผมของธรรศ    ช่วงนั้นเวลาออกไปไหนธรรศจะสวมหมวกตลอด  โดยที่ธรรศเป็นคนไปหยิบ  หรือบอกว่าจะเอาหมวกเอง    แต่พอผ่านไป 3-4 วัน   ธรรศก็เอาหมวกไปบ้าง  ไม่เอาหมวกไปบ้าง     ซึ่งถ้าธรรศไม่ได้ร้องขอที่จะเอาหมวกไป   เราก็จะไม่ไปกระตุ้นให้ธรรศต้องเอาไป  หากเราต้องให้ธรรศเอาหมวกไปทุกครั้งที่ออกจากบ้าน  ธรรศต้องรู้สึกว่าตัวเองกับธรณ์ไม่เหมือนกัน    ซึ่งตอนหลังธรรศจะไม่สนใจเรื่องการใส่หมวกเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น ต้องฝึกให้ธรรศยอมรับตัวเองให้ได้   ถ้าธรรศยอมรับตัวเองได้  ธรรศจะอยู่อย่างมีความสุข   เนื่องจากธรรศจะต้องเจอสภาพแบบนี้เป็นระยะเวลาพอสมควร        

คำพูดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก  ช่วงธรรศไม่สบายก็จะสอนให้ธรณ์ดูแลธรรศ เพราะธรณ์ตัวโตกว่า  ซึ่งธรณ์ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในเหตุผลที่แม่บอก      ธรรศเองก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ในเรื่องขนาดของร่างกาย    

แต่จะไม่ใช้เหตุผลที่ธรณ์ต้องดูแลธรรศว่า  ธรณ์แข็งแรงกว่า  หรือเพราะธรรศไม่สบาย      เพราะจะทำให้ธรรศรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า อ่อนแอกว่า    ส่วนธรณ์เองก็อาจคิดว่าตัวเองเหนือกว่า   จะเห็นว่าคำพูดที่ผู้ใหญ่อาจคิดว่า เล็กๆ น้อยๆ นี้   แต่สำหรับใจของเด็กแล้ว มันไม่เล็กน้อยนะคะ    ถ้าผู้ใหญ่สังเกตความรู้สึก  ปฏิกิริยาของเด็ก  ก็จะรู้ว่าเด็กคิดอะไรได้ลึกซึ้งมากมาย    คิดอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึง      เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องการใช้คำพูดกับเด็ก   ต้องคิดเสมือนว่าเราพูดกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง       เพราะบางครั้ง .. เด็กก็ไม่เล็กอย่างที่เราคิด      และเด็กก็มีหัวใจที่จะรู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกสุข  กับคำพูดที่ได้รับฟัง

 

หมายเลขบันทึก: 278429เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เด็กยุคนี้ฉลาด เรียนรู้เร็ว เพราะความทันสมัยของสื่อต่างๆ

วิธีการสั่งสอนของพ่อแม่ยุคโลกาภิวัฒน์ก็ต้องปรับไปตามยุคสมัย

เรื่องการระมัดระวังคำพูดกับเด็ก  ผมเห็นด้วยครับผม.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท