เคล็ดลับ ความสำเร็จของงาน HR


เคล็ดลับ ความสำเร็จของงาน HR

เคล็ดลับ ความสำเร็จของงาน HR

บทความนี้มาจากเมลล์ของสมาชิก ซึ่งมีเคล็ดลับความสำเร็จของงาน HR มาฝากสำหรับ นักบริหารงานบุคคลพันธุ์แท้ ดังนี้                      
มีความเป็นนักพยากรณ์ (Predictor)
พนักงานในองค์กรทุกคนต่างก็มีความคาดหวัง กับนักบริหารงานบุคคล มาทุกยุคสมัย ในเรื่องของการให้บริการที่รวดเร็วฉับไว โดยท่านพยากรณ์ได้จากความรู้สึกขั้นพื้นฐานในจิตใจของตัวท่านเอง  หมายความว่า พนักงานก็มิได้รู้สึกอะไรที่ผิดแผกแตกต่าง ไปจากตัวท่านแต่ประการใด เช่น เมื่อพนักงานมาเบิกค่ารักษาพยาบาล ท่านก็แจ้งระยะเวลาในการดำเนินการในเบื้องต้นก่อน ไม่นิ่งเฉยหรือเพียงแค่รับเอกสาร การเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่านั้นและจากนั้น ท่านก็แจ้งพนักงานก่อนที่พนักงานจะสอบถาม ว่าจะรับเงินได้เมื่อไหร่ ก็แปลว่าท่านได้สร้างความประทับใจให้กับพนักงานท่านนั้นไปโดยปริยาย
เป็นนักศึกษา (Educator)
หากท่านได้อ่านและศึกษาประวัติบุคคล ที่ประสบความสำเร็จ ในชีวิตการทำงานไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพในสาขาใดๆ หรือวุฒิการศึกษา การทำงาน ก็ตามจะสังเกตได้ว่า เขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ใฝ่รู้  หมั่นศึกษา และติดตามวิวัฒนาการความก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาผู้นั้นเป็นคนที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์  แถมยังเป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  การมีคุณสมบัติของนักศึกษา จะทำให้ตัวเราเป็นที่น่าศรัทธา น่าเชื่อถือ เปรียบเสมือนดั่งเราเป็นครูอาจารย์เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ความรู้ให้กับ    ลูกศิษย์  พนักงานก็จะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเรา
ผู้สร้างความเป็นสนุกสนาน ( Entertainer) 
นักบริหารงานบุคคลท่านใดที่สามารถสร้างความสุข ความสนุกสานให้กับพนักงานในองค์กร ของท่านได้แล้วไซร้ การจะขอความร่วมมือจากพนักงานให้เข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ ก็จะไม่เป็นเรื่องยาก       แต่ประการใด เพราะพนักงานมีความรู้สึกว่า HR ท่านนั้น เป็นกันเอง สัมผัสได้ไม่สูงเกินเอื้อม พูดคุยได้อย่างสบายอกสบายใจ             
เป็นนักสังเกตการณ์ ( Observer )
เวลาที่ท่านเจ็บป่วยและต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาพยาบาลตัวท่านเอง มีบางครั้งที่คุณหมอต้องให้ท่านเข้าพักอยู่ในห้องสังเกตอาการ เพื่อติดตามอาการของโรคนั้น ๆ  นักบริหารงานบุคคลก็ไม่แตกต่างกับคุณหมอครับ ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการของพนักงานทุกคนในองค์กร ว่าคิดอย่างไร กับบริษัทฯ  วิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานอย่างไร  HR จะได้จ่ายยาได้ตรงกับอาการนั้นๆ  การสังเกตการณ์ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ผสมผสานกับหลักจิตวิทยา HR จะต้องแสดงพฤติกรรมในเชิงการเลียนแบบ (Simulator )  ยกตัวอย่างเช่น  ต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักบัญชี  ซึ่งหมายถึง ความละเอียดรอบคอบในการทำงาน การจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือ การตรวจสอบเอกสารต่างๆ   บางครั้งต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักกฎหมาย  ซึ่งหมายถึง ความเที่ยงตรงแม่นยำ และการเคารพ  ในกฎกติกามารยาทขององค์กร หรือบางครั้ง ก็ต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักจัดชื้อ ซึ่งหมายถึงการเจรจาต่อรอง การสรรหาคัดเลือก ซึ่งหาก HR ท่านใดสามารถผสมผสาน ความเป็นนักสังเกตการณ์บวกกับ พฤติกรรมในการเลียนแบบได้อย่างกลมกลืนแล้ว รับประกันความสำเร็จได้เลย
เป็นผู้ให้กำลังใจ ( Encourager)
การดำรงชีวิตของพนักงานในองค์กร ย่อมจะพบกับอุปสรรคนานัปการซึ่งโดยส่วนใหญ่พนักงานมักจะไม่พบหนทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี มิหนำซ้ำ ยังดูถูกตนเอง ว่าเกิดมามีกรรม นามสกุลไม่ใหญ่โต ไม่มีมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษฯลฯ  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความคิดที่บั่นทอนสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ของตัวพนักงานเองทั้งสิ้น  ดังนั้น นักบริหารงานบุคคลจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติความคิดของพนักงาน และเป็นผู้ให้กำลังใจ สร้างขวัญกำลังใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ศรัทธา และเชื่อมั่นในตนเอง และเป็นที่พึ่งของตนเองได้  ดั่งคำพระที่ว่า " อัตตาหิ อัตตโนนาโถ "  หรือ " ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน "  อีกทั้ง HR มือฉมังก็จะต้องประสบพบเจอกับความกดดันต่างๆ หลายประการในการบริหารงานบุคคล  ก็จะต้องมี " อุเบกขาหรือ  ความอดทนอดกลั้น วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบต่อจิตใจ เป็นหลัก  ยึดมั่น ก็จะทำให้ HR มีวัคซีนในตัวเองที่จะสร้างความเข้มแข็ง และความพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ให้กับพนักงานและตนเองได้อย่างดีเยี่ยม
เป็นผู้กล้าหาญ (Braver )
หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในการทำศึกหรือที่เรียกว่าการทำยุทธหัตถี  ซึ่งตำนานที่เลื่องลือมาจนถึงยุคปัจจุบันนั่นคือ ความกล้าหาญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงรบชนะศึก กับพม่า นักบริหารงานบุคคลก็เช่นเดียวกัน ต่างก็ต้องสู้รบกับความคิดของพนักงานแต่ละตำแหน่ง แต่ละประสบการณ์  และต้องสวมวิญญาณความกล้าหาญที่พร้อมจะนำเสนอความคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมความคิดของพนักงานในองค์กร  ซึ่งภารกิจดังกล่าวนี้ ในหลายๆ หน่วยงานมีวัฒนธรรมองค์กร และวัฒนธรรมความคิด ของพนักงานที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานนับสิบปี  และมักจะไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนความคิดใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยรวม  ดังนั้น HR จะต้องรวบรวมความกล้าหาญและยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพ พร้อมทั้งพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ในเจตนารมณ์ที่ดี ที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร และวัฒนธรรมความคิด ของพนักงานให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ในยุคที่มีการแข่งขันอย่างสูงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งนับวันจะเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ ของทุกๆองค์กรในโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์ 
                จากบทความนี้ ดิฉันมีความคิดเห็นว่า ถ้าหากนักบริหารงานบุคคลนำเคล็ดลับทั้ง  6 ประการ มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ความสำเร็จของงาน HR ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอนค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 278424เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดีครับ แต่ตัวเล็ก คนแก่ อ่านลำบาก Copy มา Paste ใน Word แล้ว ปรับเป็น Tahoma ตัวจะได้ อ่านสบายตาครับ

แม่นแล้ว.... โปรดอนุเคราะห์ เด็กและ.....คนชรา อ่านบ่ได้เจ้าแต่เนื้อหา

เยี่ยมยอด ขอบอก เสียดายจัง

ปรับปรุงตัวอักษรแล้วค่ะ ขอบคุณนะคะสำหรับคำแนะนำที่ดี แล้วแวะเข้ามาอีกนะคะ

แวะมาอ่านแล้วครับ บทความมีประโยชน์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท