สติ .. จุดเริ่มต้นของทุกอย่าง


ถ้าจะสอนให้ลูกสู้ .. สอนให้ลูกเข้มแข็ง ก็ต้องเริ่มจากตัวเราก่อนเสมอ

มื่อรู้ว่าลูกเป็นมะเร็ง  และการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

สิ่งแรกที่มาก่อนกำลังใจ คือ  " การตั้งสติ    การสงบนิ่ง  และการยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น   "     ของทุกคนไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย  คุณพ่อ  และตัวเอง     เพราะทำให้สถานการณ์ ณ ตอนนั้นไม่วุ่นวาย  ไม่ต้องมีใครมานั่งปลอบใจใครแบบเป็นเรื่องเป็นราว   ทุกคนต่างก็พยายามจัดการกับความวิตกกังวลด้วยตัวเอง     แต่เราก็รับรู้ได้ว่าคนรอบข้างให้กำลังใจเราอยู่ตลอดเวลา

จริงๆ แล้วสำหรับพ่อแม่    เมื่อเรารู้ว่าลูกเป็นอะไรนั้น    เรามองถึงว่าเรื่องนี้จุดที่แรงที่สุดสำหรับเรา คือ ธรรศจะต้องเป็นไปตามวาระ  ตามอาการของโรค   เพราะฉะนั้นถ้าเรากล้ายอมรับในจุดที่แรงที่สุดนั้นได้   ตราบใดที่ยังไม่ถึงตรงนั้น   มันก็ยังไม่ร้ายจนเกินไป  ยังเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้       การที่เรากล้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เราไม่กลัว       เราจะกลัวเพราะเราพยายามที่จะปฏิเสธ  หรือไม่ยอมรับ   และที่สำคัญถ้าพ่อแม่กลัว ... ลูกกลัวยิ่งกว่า

เรื่อง " มุมมอง "   ของแต่ละคนก็มีส่วนสำคัญ    ที่จะทำให้เรามีกำลังใจ   หรือหมดกำลังใจ     สำหรับตัวเองแล้ว   ไม่มาย้ำคิดอยู่แต่ว่าเราโชคร้าย    แต่คิดว่า  " เราโชคดี "   ที่ได้รู้ก่อนที่ธรรศจะเป็นมากกว่านี้    ซึ่งทำให้เรามีเวลาที่จะทำอะไรให้ลูก   มีเวลาที่จะรักษา   และเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด   แต่ผลจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้     เมื่อเทียบกับบางคนไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรให้ลูกด้วยซ้ำ  เช่น กรณีเกิดอุบัติ    ดังนั้นแค่ให้เรามีเวลา  มีโอกาส  ก็พอแล้ว  

การที่จะมาย้ำคิดแต่ว่า " เราโชคร้าย "  นั้น    ไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไร    เอาเวลานั้นมาคิดว่าจะทำอะไรให้ธรรศได้บ้าง          เพื่อให้ธรรศได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ  และมีคุณค่ามากที่สุด       เพราะธรรศอาจจะผ่านจุดวิกฤตก็ได้     ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น   การที่เราสอนให้ธรรศเข้มแข็ง   รู้จักกฎระเบียบ   ได้มีประสบการณ์ตามวัย  ก็จะทำให้ธรรศเป็นคนที่มีคุณภาพ  และได้รับโอกาสเหมือนเด็กคนอื่นๆ    ในทางกลับกันหากเลี้ยงธรรศแบบคนป่วยที่ต้องประคับประคองตลอดเวลา  มีข้อยกเว้น  มีอภิสิทธิ์ในหลายๆ เรื่อง        ก็จะทำให้ธรรศเป็นคนที่ด้อยคุณภาพ    อ่อนแอ   และขาดประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น    ดังนั้นคนที่ดูแลผู้ป่วย "ใจ" ต้องไม่ป่วย

นอกจากนั้น พ่อและแม่จะแบ่งหน้าที่กัน  คือ คุณพ่อจะบริการเรื่องการเดินทางรับ-ส่งเวลาไปโรงพยาบาล   แต่แม่จะเป็นคนพาลูกไปหาคุณหมอ-คุยกับคุณหมอ   จะได้ไม่ต้องลางานพร้อมกันทั้งคู่   เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าต้องไปโรงพยาบาลบ่อย   จึงเก็บวันลาของแต่ละคนไว้เพื่อผลัดกันใช้จะดีกว่า     ซึ่งถ้า " ใจเราพร้อม  และเข้มแข็งพอ "   ก็ไม่จำเป็นหากำลังใจ  ไม่จำเป็นต้องไปทั้งคู่ (พ่อ-แม่) ก็ได้      เพราะหากจะต้องตัดสินใจทำอะไร    พ่อและแม่ต้องมาคุยกันก่อนอยู่แล้ว 

จริงๆ แล้ว  ในเคสของเรา  การให้กำลังใจต่อกันระหว่าง  " พ่อ-แม่ "   น่าจะเริ่มจากการที่  "แต่ละคนสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น มองทั้งด้านบวกและลบ  แต่ไม่ท้อถอยกับสิ่งที่ต้องทำ   "    และเมื่อเราสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้     ลักษณะการให้กำลังใจต่อกันก็จะไม่ได้ออกมาในลักษณะการปลอบประโลม    แต่ออกมาในรูปของการช่วยกันดูแลลูก     สร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน     หาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูก      และ " ดูแลใจของลูก" ให้เข้มแข็ง

หมายเลขบันทึก: 278426เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท