ชีวิตที่พอเพียง : 17. เรียนหนังสือสมัยเด็ก


• พ่อแม่เล่าว่าตอนอายุ ๕ – ๖ ขวบป่วยเป็นโรคหวาดกลัว   เห็นเงาบนหลังคาก็กลัว   เห็นคนก็กลัว   ในที่สุดหายด้วยอุบายของหมออาคม (หมอที่ชื่อว่าอาคม ไม่ใช่หมอที่รักษาด้วยคาถาอาคม)    หมออาคมให้เด็กรุ่นเดียวกันมากราบไหว้เป็นทีว่ากลัวเรา   หลังจากนั้นก็ค่อยๆ หายหวาดกลัว    แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเด็กขี้ขลาด ไม่กล้าหาญ
• หายป่วยอายุเกือบ ๖ ขวบ    ปู่สอนหนังสือ สอนเลข เรียนได้เร็ว    พ่อจึงพาไปฝากเข้าโรงเรียนก่อนเข้าเกณฑ์ ๒ ปี อยู่ชั้น ป. เตรียม   จำได้ว่าเพื่อนๆ ที่เรียนมาก่อนเกือบปียังอ่านหนังสือไม่ออก   เราต้องเป็นต้นเสียง อ่านให้เพื่อนอ่านตาม   เมื่อเพื่อนรุ่นนี้ขึ้น ป. ๑ เราจึงได้ขึ้นไปเรียนด้วย    เราจึงเรียนกับเพื่อนๆ ปีมะโรง  โดยที่เราเกิดปีมะเมียปลายปี  
• จำได้ว่าชั้นเรียน ป. เตรียมอยู่ที่ศาลาวัด   นั่งพับเพียบกับพื้น มีโต๊ะยาวยกสูงขึ้นมาประมาณ๒๐ ซม. ให้เด็กนั่งเอากระดานชนวนหรือหนังสือวาง    กว่าจะจบ ป. ๑ กระดานชนวนแตกไปนับ ๑๐ แผ่น   เพื่อนบางคนจนมากไม่มีเงินซื้อกระดานชนวน พ่อทำกระดานดำขนาดเท่ากระดานชนวนให้ เขียนด้วยดินสอพอง
• เพื่อนส่วนใหญ่เดินเท้าเปล่า   เราเองบางทีก็เดินเท้าเปล่า   แต่ส่วนใหญ่สวมรองเท้าแตะหรือบางทีก็สวมเก๊ยะ
• ตอนอยู่ชั้นประถมเป็นแผลเรื้อรัง   หมอว่าเป็นคุดทะราด   ต้องไปฉีดยาเพ็นนิซิลลินที่ร้านหมอในตลาดจึงหาย    เพื่อนๆ หลายคนเป็นแผลที่ส้นเท้า    ต้องเดินเขย่งเท้า    เขาเรียกว่าเป็นหน่อ คือเป็นคุดทะราดนั่นเอง แต่เป็นมากกว่าของผม
• ตอนสายวันเสาร์ (สมัยนั้นโรงเรียนเรียน ๕ วันครึ่งต่อสัปดาห์) นักเรียนจะมานั่งสวดมนตร์กันที่ห้องประชุม   โดยนั่งพับเพียบกับพื้นโดยสวดยาวนับครึ่งค่อนชั่วโมง ซึ่งนับว่ายาวมากสำหรับเด็กซึ่งซุกซนอยู่นิ่งๆ ไม่ได้    ตั้งแต่อรหังสัมมา  พาหุงสหัส   อิติปิโสภควา  ฯลฯ   โดยมีสมุดสวดมนตร์เล่มเล็กเท่าฝ่ามือเป็นตัวช่วย   แต่พอสวดบ่อยๆ เข้าก็จำได้ ไม่ต้องอาศัยคู่มือ 
• โรงเรียนอยู่ห่างบ้านไปไม่ถึงกิโลเมตร   เดินไป   ตอนเที่ยงเดินกลับมากินข้าวที่บ้านแล้วเดินกลับ    ตอนที่เรียนอยู่ชื่อโรงเรียนประชาบาล ตำบลท่ายาง ๑   ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวัดพิชัยยาราม   เวลานี้ชื่อโรงเรียนพิชัยยาราม   ตอนเราเรียนมีชั้น ป. เตรียม ถึง ป. ๔ ชั้นละ ๑ ห้อง   เวลานี้สอนถึง ม. ๓ 
• เพื่อนๆ เป็นคนเก่ง เล่นเกมต่างๆ คล่องแคล่ว เช่นเล่นหึ่ง  เล่นตี่จับ  กระโดดเชือก  ทอยกอง  ร่อนรูป  ฯลฯ   เราเล่นไม่เก่ง ไม่ค่อยมีคนอยากเล่นด้วยเพราะไม่มีฝีมือ
• แต่พอเข้าห้องเรียน เรากลายเป็นคนเก่ง เป็นที่ชื่นชมของครู
• แปลกใจเรื่อยมา ว่าที่เรียกว่าคนเก่งนั้นผู้ใหญ่มักหมายถึงเรียนเก่ง    แต่ทำไมคนที่เล่นเก่ง จึงเรียนหนังสือไม่เก่ง    มาเข้าใจว่าเป็นเรื่องพหุปัญญาก็เมื่ออายุจวนจะ ๖๐   การเลี้ยงดู และการศึกษาของเราไม่เอื้อ ไม่ส่งเสริม ให้เด็กใช้ความสามารถที่หลากหลายด้านให้เกิดประโยชน์ในการฝึกฝนตนเอง เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในภายหน้า    เพื่อนของผมหลายคนถูกหาว่าโง่ โดยที่เขาฉลาดด้านอื่นที่ไม่ใช่เลขหรือหนังสือ

วิจารณ์ พานิช
๓ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 27807เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • อ่านแล้วชอบมากเลยครับที่มีผู้ใหญ่มาเล่าความหลังที่ผมไม่มีโอกาสได้รู้
  • ไม่รู้ว่าคนสมัยก่อนเค้าบันทึกความรู้ลงกระดานชนวน แล้วเค้าเก็บความรู้มาทบทวนได้ยังไง
  • ไม่เหมือนสมัยนี้ที่บันทึกลงสมุด ลงฐานข้อมูล ลงอีบุ๊ค ได้สารพัด
  • แต่สิ่งหนึ่งที่ผมว่ายังไม่เปลี่ยนก็คือ ครูก็ยังมองว่าคนเก่ง คือคนที่เรียนเก่ง แต่ยังนับว่าดีที่ยังมีครูบางส่วนเข้าใจมากขึ้น

เป็นเรื่องเล่าสมัยเด็กที่มีเนื้อหาที่มีความรู้...สมัยโน่นที่ดีทีเดียวค่ะ

  • ได้เห็นภาพการศึกษา การละเล่น ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กในสมัยก่อน
  • ผมเห็นด้วยว่าเด็กทุกคนมีความเก่ง แต่เก่งคนละด้านเหมือน ของ De Bono
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท