จากทานมัย ศีลมัย สู่ก้าวที่สองของเด็ก เยาวชนไทใหญ่ ในสถานีวิทยุชุมชนปางมะผ้า


“ หมั่ล สูงค่า เสียงตี้กู้ก้อได้ถ่อม เป๋นเสียงจากสถานีวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัว สยชช. เอ็ฟเอ็ม แปดสิบเก้าจุดศูนย์เม็กกาเฮิตซ์.... ”

จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วนำนภามาแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ” 

เสียงเพลง “ใครหนอ” เสียงเพลงดีๆมีสาระเหมาะสมกับวัยใสๆ ดังจากคลื่น 89.0 เมกกาเฮิร์ตซ์ เช้านี้ 18 กรกฎาคม 2552 กระตุ้นในผมต้องมานั่งพิมพ์บันทึกนี้

 

“ หมั่ล สูงค่า  เสียงตี้กู้ก้อได้ถ่อม เป๋นเสียงจากสถานีวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัว สยชช. เอ็ฟเอ็ม แปดสิบเก้าจุดศูนย์เม็กกาเฮิตซ์.... ”  เป็นเสียงทักทายใสๆจากเด็กๆไทใหญ่ที่มาแสดงจิตอาสา มาช่วยกันจัดรายการวิทยุชุมชนในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์

 

“หมั่ล สูง ค่า” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า สวัสดี
“กู้ก้อ” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า ทุกคน
“ถ่อม” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า ฟัง

 

จะว่าไปนี่ก็เข้าเดือนที่เจ็ดแล้ว ที่สโมสรของเราจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนเล็กๆขึ้นมา ก็มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ด้วยจิตอาสาของเด็กๆที่อยากจะใช้เวลาว่างเสาร์อาทิตย์มาจัดรายการ มาแสดงมาฝึกฝนความสามารถของตน รายการต่างๆของเราก็ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีโฆษณา แต่อาศัยบุญที่เราทำร่วมกัน

 

ตามวัฒนธรรมชาวพุทธ การให้ทานเป็นหนึ่งในสามรูปแบบการทำบุญที่สำคัญ  จากการทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนที่นี่ ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่า สถานีวิทยุชุมชนของเด็ก เยาวชนที่นี่ใช้ทานมัย และศีลมัยเป็นระบบการทำงานที่สำคัญนะครับ

 

ทานมัย นี่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเด็กๆ ครับ คือในช่วงจัดรายการ เราก็จะพยายามจัดหาขนม ของว่าง อาหารกลางวันคอยบริการพวกเขา อันนี้ถามว่าเอาสตางค์มาจากไหน คำตอบก็คือมาจากการบริจาคนะครับ ส่วนใหญ่ก็คือจากผมกับภรรยา และจากโครงการพัฒนาต่างๆในพื้นที่ที่ผมดูแลอยู่ก็บูรณาการงบมาช่วย แต่ถ้าท่านใดมีจิตกุศลอยากช่วยสงเคราะห์ขนมนมเนยแก่เด็กๆ ทางผมก็ขออนุโมทนาสาธุด้วยนะครับ

                                      รุ่นใหญ่ช่วยกันทำอาหาร

                                                                         รุ่นเล็กช่วยกันเก็บกันล้าง

ระยะต่อไป เราอาจจะมีการจัดผ้าป่าเหมือนสถานีวิทยุชุมชนอื่นๆในภาคเหนือ แต่ผมกะว่ารอให้สถานีมีอายุครบขวบปี แล้วค่อยก้าวต่อไปถึงจุดนั้น

 

ส่วนศีลมัยนี่เราช่วยกันทำมาตั้งแต่แรก คือทุกคนมาด้วยใจบริสุทธิ์ อันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี เราไม่เอาตัวไปผูกกับทุนนิยมและระบบมาตรฐานสากล คือจัดกันแบบบ้านๆ เน้นการมีส่วนร่วมและสุขภาวะของเด็กนะครับ เนื้อหารายการผมกับภรรยาก็สละเวลากันมาช่วยตรวจช่วยดู ติดเสียว่าบางช่วงที่ผมกับภรรยาและแกนนำสโมสรมีประชุม ก็จะไม่มีคนไปช่วยเปิดปิดเครื่อง สัปดาห์นั้นเด็กๆก็ “รับประทานแห้ว” ไป ปัญหานี้ ทางเราก็พยายามแก้อยู่โดยพัฒนาเด็กโตมาช่วยคุมเครื่อง ก็กำลังอยู่ในช่วงสอนงานครับ

 

ด้านจิตอาสานี่เราเต็มร้อยกัน แต่ต้องเข้าใจว่าจิตอาสาของเด็กมันก็มีเงื่อนไขด้วยนะครับ คืออย่างน้อยพ่อแม่ก็ต้องอนุญาต เด็กบางคนก็ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน และจิตอาสาก็ต้องสนุกด้วย เหล่านี้ก็ทำให้เด็กๆไปๆมาๆ ยืดหยุ่น แต่ก็เหนียวแน่นมาได้ระดับหนึ่ง สโมสรเองก็ไม่ได้มีข้อบังคับอะไรจุกจิก เอาเป็นว่าเน้นวินัยเชิงบวกละกัน ส่วนเรื่องเนื้อหาอาศัยที่เรามีฐานงานวิจัยท้องถิ่นกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และแกนนำเยาวชนก็จะมาช่วยทำงานวิจัยท้องถิ่นในเรื่องต่างๆกันทุกปี ก็ไม่ค่อยห่วงเท่าไร

 

จะขลุกขลักหน่อยก็คือเรื่องทักษะ จริงๆแล้ว สยชช. เราได้รับการสนับสนุนการฝึกอบรมด้านการทำสื่อสารมวลชนมาบ้างครับจากโครงการ Local Talk ของสำนักข่าวประชาธรรมตั้งแต่ปี 50 - 51 แต่พักหลังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทางโครงการจากสำนักข่าวก็หายเงียบไป ต่อมามีโครงการศูนย์ข่าวและข้อมูลท้องถิ่นที่เราได้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ก็ได้ทางสำนักข่าวเด็กและเยาวชน จ.พะเยา มาช่วยอบรมและติดตั้งเครื่องส่งให้ แล้วเราก็ออกอากาศกันเรื่อยมา อันนี้คร่าวๆเป็นช่วงหกเดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย. 52) ที่สถานีวิทยุเด็ก เยาวชนเราก้าวมา เป็นก้าวแรกครับ

 

ก้าวที่สองของเรานี่ ด้วยความที่ผมถูกดึงไปทำงานเครือข่ายและนโยบายมากขึ้น งานในพื้นที่รวมถึงสถานีวิทยุก็ถูกถ่ายโอนไปที่ภรรยาและแกนนำมากขึ้นโดยอัตโนมัติ เร็วกว่าที่วางแผนไว้ ทีแรกผมก็ไม่มั่นใจนักว่าจะปล่อยมือได้แค่ไหน พอพักหลังที่ผมต้องออกต่างจังหวัดมากขึ้น ก็ทำให้เห็นศักยภาพว่าพวกเขาก็เริ่มดูแลกันและกัน รู้จักคิดวางแผนมากกว่าสมัยที่ผมเป็นหลักให้

 

ตอนนี้ ผังและรูปแบบรายการทั้งหมดเด็กๆและเยาวชนแกนนำจะช่วยกันจัดวางและบริหาร ผมค่อยช่วยเป็นที่ปรึกษา และหาเครือข่ายมาหนุนเสริมครับ ซึ่งขณะนี้ เราโชคดีที่มีเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนืออีกหลายสิบสถานี และยังมีสถานีวิทยุ FM 105.0 MHz ซึ่งเป็นสถานีวิทยุสาธารณะเพื่อเด็กและเยาวชนแห่งแรก มาช่วยสนับสนุนด้านทักษะ เนื้อหาสาระ และกระจายข่าวสารจากเด็กชายแดนไปถึงหูและใจของเด็กในเมือง อันนี้พวกเราก็พลอยปลื้มเอามากๆ

รูปการประชุมกับเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือและชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน จากกรุงเทพ ณ ม.แม่โจ้ 11-12 ก.ค. 52

 

สรุปคือในก้าวที่สองของสถานีวิทยุ ในระดับท้องถิ่นก็จะเปิดให้เด็กมามีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนในระดับเครือข่ายก็จะเน้นการหนุนเสริมและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากภายนอก ทั้งในรูปแบบ เนื้อหา เพลง และเทคนิคการจัดทำรายการ

 

แต่ในระดับการประสานกับหน่วยงานพัฒนาในพื้นที่ ถือว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งถ้าจะว่าถึงเหตุผลตรงนี้อีกยาวครับ เอาสั้นๆแค่นี้ก่อน น่าเสียดายและออกจะน้อยใจแทนเด็กๆเยาวชนที่หน่วยงานพัฒนาในหมู่บ้านที่พวกเขาอยู่ยังไม่เห็นความสำคัญของพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กๆอย่างนี้เท่าที่ควร โดยเฉพาะ อบต. แต่เด็กๆเยาวชนก็ไม่ท้อ เราก็จะทำดีกันเรื่อยไป

 

                    วันนี้มาเล่าสู่กันเท่านี้ก่อน แล้ววันหลังจะเล่าความคืบหน้ามาอีก  

ขอบุญกุศลจากรายการแผ่ไปถึงทุกท่านที่ติดตามส่งกำลังใจมายังพวกเรา  ขอบคุณมากครับ

 

                                                                             

หมายเลขบันทึก: 277795เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีใจกับความพยายามของครูยอดในการส่งเสริมให้เด็กมาทำวิทยุกระจายเสียงกัน เลยอยากขอแบ่งปันนิทานของเด็กๆที่ปางมะผ้าไปออกอากาศที่กรุงเทพให้เด็กๆในเมืองได้ยินได้ฟังเสน่ห์ของเด็กๆชนบท เป็นการแลกเปลี่ยนนิทานกันบ้างนะครับ ส่งไปซีดีก็ได้นะครับ ไปที่ กลุ่มเสียงไทย ตู้ปณ.81 ปท.ดินแดง กรุงเทพ 10407 จะเอาไปออกอากาศในรายการโลกของเราทางวิทยุศึกษา เอฟเอ็ม92.0 ก่อน ที่แม่ฮ่องสอนรับฟังได้ที่วิทยุชุมชนคนเมืองปาย หรือถ้าฟังวิทยุสวศ.ได้ ก็รอฟังได้นะครับ จะมีนิทานก่อนนอนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ 4 นาที หรือถ้ามีประเด็นที่น่าสนใจ จะเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือตอนบนใช้พื้นที่สื่อสารทุกวันอาทิตย์ในรายการครอบครัวของเรา ทางวิทยุไทย เอฟเอ็ม105 ต่อไปนี้ทุกวันอาทิตย์จะเป็นเสียงจากชุมชน(ไร้เสียง) กำลังตัดต่อMap Radio อยู่ อาจได้ฟังวันอาทิตย์หน้ากัน และอาทิตย์ถัดไปตงเป็นวิทยุชุมชนของลุงช้าง ที่สันป่าตอง พรุ่งนี้ลุงช้างจะมารับผมไปสันป่าตองครับ อยากไปปางมะผ้าจังครับ ได้ยินชื่อเสียงมานาน แต่ได้ฟังเสียงเด็กๆก่อนก็ได้ครับ

พี่นก จันทร์เจ้าขา กะ โลมาลั้นลา

มาส่งกำลังใจให้คนทำงานด้วยคนค่ะ

เห็นเด็กๆ จัดรายการกันแล้วน่าสนุกจังเลยนะคะ

พี่นกอยากไปจัดรายการกับเด็กๆ บ้างจังเลย

แล้วก็อยากได้นิทานของเด็กๆ ที่นี่เหมือนกันค่ะ

เพราะรายการจันทร์เจ้าขา FM 105 กับ โลมาลั้นลา FM 92

ก็มีเด็กๆ มาเล่านิทาน อิจฉาคุณลุงจเลิศจังเลยได้ฟังเสียงเด็กๆ ด้วย

แต่วันก่อนพี่นกก็แอบฟังรายการของคุณลุงนะคะ

ได้ฟังเสียงน้องๆ ที่ปางมะผ้าด้วย

หวังว่าครูยอดคงใจดี แบ่งนิทานของเด็กๆ ที่นี่

มาให้พี่นกกับน้องๆ ที่กรุงเทพฯ ฟังบ้างนะคะ (:

หมั้ล สู่ง ข้า...

อ้ายยอด กึ้ดเติงหาครับ อยากหารือหลายประเด็นมากครับ :) เอาไว้ผมจะติดต่อไปนะครับ

เห็นภาพการเติบโตของงานเยาวชนที่ปางมะผ้าแล้วชื่นใจ มากๆครับ

อยู่หลี กิ๋นหวาน เน้อครับจาย

  • สวัสดีครับเอก หายจากปางมะผ้าไปนาน มีคนถามถึงเอกหลายคนนะครับ ว่าเมื่อไร ดร.เอกจะกลับมาเย้าเยือนแดนร้อยถ้ำ
  • หรือลืมกันไปแล้วน้อ
  • ผมยังต้องบุกเบิกอะไรมากมายที่นี่ครับ ไปไหนไกลไม่ได้ ภาระมากมาย ทั้งภาระยัน และพันระยา :-)
  • ปีนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ผมกำลังจะไปเกี่ยวข้องอยู่ครับ หนีไม่พ้นเรื่องชาติพันธุ์ การปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรม และสื่อมวลชน กับเด็ก เยาวชน อ้อ มีเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย ต้องทำงานกับเครือข่ายโรงเรียน (ที่เป็นตัวจริง) มากขึ้น
  • เหนื่อยครับ แต่ก็มีความสุขที่เห็นงานคืบ
  • พักหลังผมวุ่นมากจนไม่ค่อยมีเวลามาโกทูโนว ก็เลยไม่รู้ว่าใครเป็นอย่างไรบ้าง ต้องขอทาด้วย ถ้าเอกมีอะไรให้ผมช่วย ผมยินดีเสมอ
  •  อีเมล์ของยะฮู ผมโดนแฮ็กไปแล้ว ติดต่อมาที่ [email protected] นะครับ

สวัสดีครับคุณนก

  • เรื่องนิทานไม่ยากครับ รู้สึกเป็นเกียรติด้วยซ้ำที่ส่วนกลางให้ความสำคัญกับเสียงชายขอบอย่างเรา
  • แต่ถ้าเปรียบรายการของคุณนกเป็นหงส์ รายการเด็กๆที่ปางมะผ้าก็เป็นลูกเป็ดขี้เหร่อยู่ครับ
  • ที่ปางมะผ้า นักจัดรายการส่วนใหญ่เป็นมวยวัดนะครับ ข้อดีคือ เด็กมีจิตอาสา และมีการวางแผนร่วมกัน มีความผูกพัน แต่ข้อเสียคือ เด็กๆส่วนใหญ่เรียนรู้มาแบบผิดๆจากสื่อกระแสหลักก็เยอะ คือพยายามเลียนแบบสื่อกระแสหลัก เราพยายามหาอัตลักษณ์ แบบฉบับในการจัดรายการของเรา
  • ตอนนี้ก็เริ่มจากการใช้ภาษาไทใหญ่ และใช้เนื้อหาจากชุมชนให้มาก
  • แต่จะเปลี่ยนวิธีคิดไปถึงพฤติกรรมได้ ต้องใช้เวลา และความผิดหวังซ้ำๆๆๆๆ แล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน มองมันเชิงบวกให้ได้
  • รวมถึงอาจจะต้องอาศัยความช่วยเหลือ คำปรึกษา และกำลังใจจากคุณนกนะครับ
พี่นก จันทร์เจ้าขา กะ โลมาลั้นลา
  • การพัฒนาทักษะของเด็กๆ สามารถทำได้นะคะ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป นกเชื่อว่า เด็กๆ พร้อมที่จะพัฒนาและหาอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม แต่ผู้ใหญ่ต้องฟังเขาบ้าง เท่านั้นเองค่ะ
  • การที่เด็กๆ มีจิตอาสา ก็สำคัญมาก เพราะทุกอย่างเริ่มที่ใจ ถ้าใจมา อะไรก็มานะคะ
  • นกยินดีให้คำปรึกษาทุกอย่างค่ะ ส่วนกำลังใจมีให้เสมออยู่แล้วค่ะ มีทุกเวลาที่ต้องการ และให้กำลังใจคนทำงานเพื่อเด็กๆ ทุกคนนะคะ ยกย่องน้ำใจของทุกท่านด้วยใจบริสุทธิ์จริงๆ ค่ะ

แต่ตอนนี้ครูยอดเองก็ต้องมีกำลังใจเยอะๆ นะคะ จะได้มีแรงสู้ต่อ...เพื่อเด็กๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท