การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องตามหลักการไคเซ็น (Kaizen) ในงานบริหารทรัพยากรบุคคล


การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องตามหลักการไคเซ็น (Kaizen) ในงานบริหารทรัพยากรบุคคล
 

 การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องตามหลักการไคเซ็น(Kaizen) ในงานบริหารทรัพยากรบุคคล

 

 

ผู้เขียนบทความ :  อภิชัย  ศรีเมือง
วิทยากรที่ปรึกษาการบริหารทรัพยากรบุคคล
[email protected]

                ไคเซ็น (Kaizen)  เป็นหลักการและการปฎิบัติในการส่งเสริมคุณภาพและการเพิ่มผลผลิต มีรากฐานมาจากการปรับปรุงการทำงานในด้านอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ดี หลักการของไคเซ็นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ ได้ทุกงาน เพราะหลักการสำคัญของไคเซ็น คือการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด วิธีการทำงานแบบทีละเล็กละน้อย ที่พนักงานทำด้วยตนเอง ได้ เป็นการปรับปรุงที่ทำต่อเนื่องโดยไม่มีวันสิ้นสุด เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี และไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด หรือปรับโครงสร้าง แต่ไคเซ็นเป็นการให้พนักงานคิดหาวิธีการปรับปรุงงานของตนเอง โดยไม่ใช่การเสนอแนะ (Suggestion) ให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นทำ  แต่เราสามารถนำข้อเสนอแนะ ที่ผู้อื่นแนะนำให้เราทำมาเป็นข้อเสนอปรับปรุงงานแบบไคเซ็นได้

รูปแบบการเขียนข้อเสนอไคเซ็น จะต้องมีหลักการที่สำคัญคือ

1. สภาพปัญหาปัจจุบันของการทำงาน ที่เป็น ปัญหาหรือเกิดการสูญเสียที่ไร้ประโยชน์
2. วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจากวิธีการที่ไร้ประโยชน์นั้น
3. ข้อเสนอที่จะให้มีการปรับปรุงวิธีการใหม่
4. ประเมินคุณค่าหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการใหม่

                ในการส่งเสริมให้พนักงานเขียนข้อเสนอไคเซ็น ควรจะทำกันทั้งองค์การ และมีระบบการให้รางวัลแก่ข้อเสนอที่ปฎิบัติได้ผลจริงจังและเกิดผลดี ทั้งนี้ ต้องให้ทุกหน่วยงานในองค์การมีส่วนร่วม ให้พนักงานเขียนข้อเสนอไคเซ็น รวมทั้งหน่วยงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล การเขียนข้อเสนอไคเซ็นในงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะทำให้เราสามารถกระตุ้นพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลพัฒนาการทำงานของตนเองได้ ให้รู้จักการคิด การวางแผน การแก้ปัญหาของตนเอง แทนที่จะให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการอยู่ฝ่ายเดียว ส่วนการปรับปรุงถือว่าเป็นผลงานของผู้ที่เสนอ  ในองค์การที่มีการให้พนักงานเขียนข้อเสนอไคเซ็น จากการที่ผู้เขียนได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และสำรวจการเขียนข้อเสนอไคเซ็น ในงาน HR เห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจ จึงรวบรวมมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เราลองมาดูว่ามีอะไรบ้าง

ตัวอย่างข้อเสนอไคเซ็น

1.       การปรับปรุงขั้นตอนการสมัครงาน
ปัญหาพนักงานระดับปฎิบัติการ เข้ามาทำงานแล้วมีความรู้สึกไม่อาจจะปรับตัวเข้า
ระบบและสถานที่ทำงานได้เพราะเห็นว่าเป็นงานที่ต้องตรากตรำหรือเป็นงานยากกว่าที่ตนเองคิดไว้ จึงลาออกจากงานหลังจากทำงานเพียงไม่นาน ทำให้องค์การเกิดปัญหาสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งใบสมัคร เอกสารการจ้างงาน การฝึกอบรม การเตรียมการทางด้านสวัสดิการต่างๆ  จึงเสนอให้มีการจัดทำโครงการให้บุคคลที่ประสงค์จะสมัครงานได้เข้าชมในสถานที่ทำงานก่อน ได้รับทราบอธิบายการทำงานก่อน หากพอใจก็เขียนใบสมัครงาน ไม่มั่นใจก็ไม่สมัคร ก็จะเป็นการประหยัดใบสมัคร และค่าใช้จ่ายต่างๆ และลดปัญหาการออกจากงานบ่อยได้

2.       ให้มีการแลกเปลี่ยนวิทยากร
การฝึกอบรมภายในสถานประกอบการ มีปัญหาที่บุคลากรมักจะไม่ยอมรับวิทยากรภายใน หรือบางครั้งหาวิทยากรภายในที่เหมาะสมไม่ได้ ส่วนการจ้างวิทยากรจากภายนอก ก็มีปัญหาค่าจ้างสูงทำให้ไม่อาจจะเกิดกิจกรรมการฝึกอบรมได้  ดังนั้น จึงเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนวิทยากร กับบริษัทลูกค้าหรือ กลุ่มธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท  ก็เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายวิทยากร และได้วิทยากรจากภายนอกที่ทำให้พนักงานภายในยอมรับมากขึ้น

3.       เสนอให้มีการจัดทำบอร์ดแสดงข้อมูลวันเกิดพนักงาน
การที่พนักงานไม่ทราบข้อมูลวันเกิดของเพื่อนๆ หรือบุคคลอื่นๆ ทำให้ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดทำข้อมูลแสดงวันเกิดของพนักงานทั้งหมด และนำไปติดบอร์ดเป็นรายวันหรือสัปดาห์ เมื่อถึงวันบรรจบครบวาระวันคล้ายวันเกิดของพนักงานคนใด ก็จะทำให้พนักงานสนใจมาดูบอร์ดประกาศ ทำให้พนักงานมีการติดตามข้อมูล เกิดกิจกรรมการอวยพรหรือการสังสรรค์ย่อย ในหมู่พนักงานเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มพนักงาน

4.       การส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้
การทำงานของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีลักษณะต่างคนต่างทำงาน ขาดความสัมพันธ์กันและไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน การเรียนรู้ระหว่างกันมีน้อย  จึงเสนอให้มีระบบการประชุมพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีการนำเสนอรายงานผลการทำงานของตนเป็นรายบุคคลในทุกสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การได้สนับสนุนช่วยเหลือกัน และเป็นการเปิดโอกาสให้หัวหน้างานได้รับทราบปัญหาและให้คำปรึกษาแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ได้

5.       การจัดทำเอกสารสรุปข้อมูลข่าวสารให้หัวหน้างานในสายงาน
เนื่องจากหัวหน้างานในสายงานมีระบบการประชุม พนักงานเป็นประจำ แต่มักจะไม่ได้ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ทำให้เกิดปัญหาการขาดความเข้าใจและการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงเสนอให้ทุกสัปดาห์เจ้าหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ส่งข้อมูลข่าวสารของตนเองมายังผู้ประสานงานเพื่อการทำเอกสารสรุปข่าวสารของ HR ประจำสัปดาห์เพื่อแจ้งหรือเวียนให้หัวหน้างานได้ทราบและเป็นเอกสารสำหรับใช้ในการแจ้งการประชุมในหน่วยงานทำให้พนักงานรับทราบข้อมูลข่าวสารและปฎิบัติได้อย่างถูกต้อง

                จากตัวอย่างที่นำเสนอมา เป็นความพยายามส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้ใช้ความคิดมากขึ้น ในการปรับปรุงงานของตนเอง  โดยหัวหน้างานจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองประเมินผล หากเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี ไม่มีผลประทบก็ให้พนักงานได้ทดลองทำถือว่าเป็นผลงานของแต่ละบุคคล ทุกคนจะมีใบข้อเสนอปรับปรุงงานที่เป็นของตนเอง ที่หัวหน้างานต้องรับรู้ ใช้ในการตรวจสอบดูความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ก็จะทำให้การประเมินผลงาน ได้ตรงตามข้อเท็จจริงของงานทีททำได้มากยิ่งขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                 ตามหลักการนี้องค์กรต่าง ๆ ควรจะนำไปใช้ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมีการปรับปรุงพัฒนางาน เรียนรู้ร่วมกันและได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงวิธีการใหม่ ๆ

 

 

หมายเลขบันทึก: 277793เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขออนุญาต รากคำ KAI + ZEN มาเสริมครับ

ขอบคุณและยินดีให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมได้นะคะ

บังเอิญว่า พึ่งรู้จัก ไคเซ็นคับ อย่าจะได้ ตัวอย่างมากกว่านี้คับ (ต้องรบกวนด้วย) เพื่อที่จะไปปรับปรุงในหน่วยงาน หากมีตัวอย่าง ยังไงฝากบอกผมด้วยน่ะคับ ขอบคุณมากคับ (หรือจะ ส่งมาทางเมล์ก็ได้น่ะคับ)

เป็นบทความที่ดีมากเลยครับ นำไปใช้พัฒนางานได้เลย

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆ นะคะ

เป็นฝ่ายบุคคลค่ะ รู้สึกเห็นด้วยกับบทความ และมีประโยชน์มากเลย แต่เราจะมีวิธีโน้มน้าวจิตใจ หรือแรงจูงใจให้พนักงานมาสนใจกับการทำไคเซ็นได้อย่างไรค่ะ  เพราะที่บริษัทพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนทีมีอายุมากแล้วไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าที่ควรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท