พัฒนาการเรียนรู้สู่ R2R


ถ้าหากเราสามารถทด “ทิฏฐิ มานะ” นี้ลงได้ เราจะสามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ของแต่ละฝ่ายได้อย่างกลมกลืน…

เมื่อได้คลุกคลีกับงานและ “คนหน้างาน” นานเข้า นานเข้า ความรู้จากตำรา (Explicit Knowledge) จึงมีที่ มีทาง มีเวที ให้ลอง ให้รู้ ให้เชื่อม ให้โยง


งานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้เราพูดไม่ได้เต็มปากว่า “เราไม่รู้ เราไม่รู้”
เราไม่ได้ร่ำ ไม่ได้เรียน ไม่ได้มีใบปริญญา แต่เราสามารถใช้ความอ่อนน้อมเพื่อ “ขอความเมตตา” และ “ปัญญา” จากผู้มีความรู้

นับตั้งแต่ “วิศวกร” เรื่อยจนไปถึง “กรรมกร” เรามักอ่อนน้อม ถ่อมตัว ลงไปเพื่อให้ได้เรียนรู้จากตัวเขา
วิธีการเรียนรู้แบบนี้เอง เราจึงสามารถมี “วิศวกร” ที่ปรึกษานับสิบ นับร้อย
วิธีการเรียนรู้แบบนี้เอง เราจึงสามารถมี “กรรมกร” ที่ปรึกษานับร้อย นับพัน


หลักการ วิชาการที่ศึกษามา ถ้าไม่ได้ลง ไม่ได้ลอง ไม่ได้ใช้ ก็ยังเบ่งบานไม่เต็มที่
ฝีมือ ประสบการณ์ ความรู้ที่อยู่หน้างาน (Tacit Knowledge) ถ้าสามารถเชื่อมโยงกับ “หลักการ (Explicit Knowledge)” ได้ ความรู้นั้นจัก “สมบูรณ์ (Formal)”

คนหน้างานเป็นผู้มีประสบการณ์ หนอนหนังสือเป็นผู้มีหลักการ ถ้าคนทั้งสองอ่อนน้อม โอนอ่อน และโน้มตัวเข้าหากันได้ “ปัญญา” ย่อมเกิดมี เกิดได้ในทุก ๆ ขณะจิต...

สิ่งสำคัญ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สำเร็จ คือ “ความอ่อนน้อม”
สิ่งสำคัญ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ล้มเหลว คือ “ทิฏฐิมานะ”

ถ้าต่างคน ต่างก็ทะนงว่า “ตัวเองรู้ ตัวเองรู้” และยืนอยู่บนทิฏฐิ มานะ ของแต่ละคน งานที่ทำงานย่อมสับสน วุ่นวาย
คนหนึ่งว่าซ้าย อีกคนหนึ่งก็จะไปขวา ถึงแม้นรู้อยู่เต็มอกว่าสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งนั้น “ถูกต้อง”
ความถูกต้องนั้นไม่ถูกใจสำหรับคนที่มี “ทิฏฐิ มานะ”

แต่ถ้าหากเราสามารถลด “ทิฏฐิ มานะ” นี้ลงได้ เราจะสามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ของแต่ละฝ่ายได้อย่างกลมกลืน…

หาก “วิศวกร” อ่อนน้อม วิศวกรย่อมเรียนรู้และอยู่คู่กับ “กรรมกร”
หาก “วิศวกร” มีทิฏฐิ มานะ วิศวกรย่อมเรียนรู้และเดินคู่กับ “เซลล์ขายของ” ขายอุปกรณ์ก่อสร้าง

หาก “หมอ” อ่อนน้อม หมอย่อมเรียนรู้และอยู่คู่กับ “พยาบาล” และ "คนไข้"
หาก “หมอ” มีทิฏฐิ มานะ หมอย่อมเรียนรู้และเดินคู่กับ “คนขายยา” อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์

หาก “ครู” อ่อนน้อม ครูย่อมเรียนรู้และอยู่คู่กับ “นักเรียน”
หาก “ครู” มีทิฏฐิ มานะ ครูย่อมเรียนรู้และเดินคู่กับ “วิทยากรกระบวนการ” อาจารย์ และการอบรม...

หากบุคคลทั้งหลายเรียนรู้และอยู่คู่กับ "ความอ่อนน้อมและถ่อมตน" บุคคลทั้งหลายย่อมพัฒนาการเรียนรู้สู่ R2R (Research to Routine)

หมายเลขบันทึก: 277617เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หาก “ครู” อ่อนน้อม ครูย่อมเรียนรู้และอยู่คู่กับ “นักเรียน”
หาก “ครู” มีทิฏฐิ มานะ ครูย่อมเรียนรู้และเดินคู่กับ วิทยากรกระบวนการ อาจารย์ และการอบรม...

ทว่าพระ จะตรงกันข้าม กับฆราวาส

หากพระ อ่อนน้อม (เพราะ)พระย่อม(อาจ)หวัง ลาภสักการะ(ต่อ) อุบาสกอุบาสีกา


หากพระ มีทิฏฐิ มานะ พระย่อม อดข้าว (ภิกษุควรเป็นผู้เลี้ยงง่าย)
 

ทิฏฐิ มานะ ควรใช้ในทาง ปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น

(สัมมา)ทิฏฐิ
(โยนิโส)มานะ(สิการ)

ท่านพูดคล้ายคลึงกับเรื่องราวของครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาของอีกหนึ่งศาสนา

ครูท่านนั้นท่านสอนนักเรียนว่า...

การที่พระไม่ใส่รองเท้าไปบิณฑบาตนั้น ก็เพื่อทำตัวให้เป็น "บุคคลน่าสงสาร"

การเป็นบุคคลน่าสงสารนั้นจะทำให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่พบเห็น "สงสาร" และนำอาหารมาใส่ให้ใน "ภาชนะ (บาตร)" ซึ่งบาตรนั้นเปรียบประหนึ่งกับ "เศียรของพระพุทธเจ้า..."

การอ่อนน้อมของ "พระ" คนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้เอง...!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท