บรรยากาศการจัดการเรียนรู้ รุ่นที่ 7


KM, การจัดการความรู้

สาระจากการรายงานทำให้คณะผู้เข้าประชุมเริ่มจะมีความชัดเจนในความสำคัญและความเร่งด่วนของที่จะต้องมีการประชุม  สำหรับผู้เขียนเองได้ผ่านการประชุมมาแล้วในรุ่นที่ 2 ขอชื่นชมว่าเป็นการประชุมที่มีคุณค่าจริง ๆ  ผู้เข้าประชุมจะได้ปฏิบัติจริง  คณะหรือหน่วยงานก็จะได้เครื่องมือในการจัดการความรู้  โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  และนอกจากนั้นก็ก่อเกิดความร่วมมือร่วมใจทำงานเพื่อรองรับการประเมินภายนอกจาก สมศ. และการประเมินเพื่อการจัดสรรงบประมาณและรับรางวัล (โบนัส)  จาก ก.พ.ร. ซึ่งขณะนี้เวลาก็จวนเจียนเข้ามาแล้ว  ……. ñ

                หลังจบการกล่าวรายงาน   ท่านอธิการก็รีบขอบคุณและขอโทษผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  ขอโทษที่ต้องใช้เวลาของผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงปิดเทอม  ขอบคุณที่ทุกท่านเสียสละเวลาในการปฏิบัติภารกิจอื่นมาเข้าร่วมประชุม  ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความภาคภูมิใจเหลือเกินในการมาประชุมครั้งนี้  ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง  เป็นผลประโยชน์ของผู้เข้าร่วมประชุมที่จะได้รับความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม  รวมทั้งการได้เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนรู้  ต้องขอขอบพระคุณทางทีมงานของ

มหาวิทยาลัยที่ทำให้เรามีโอกาสนี้  จากที่ฟังท่านอธิการบรรยายในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้  สรุปได้ถึงภาวะวิกฤติทางการศึกษา  สถาบันการศึกษาทุกแห่งจึงแข่งขันมุ่งสู่การเป็นองค์กรคุณภาพ  เราในฐานะที่เป็นสถาบันเก่าแก่  เคยมีชื่อเสียงมาก่อนคงจะต้องธำรงความเป็นเอกลักษณ์ต่อไป 

                เมี่อท่านอธิการเรียกน้ำย่อยในการทำงานแล้ว ผศ.ดร.เสทื้อน  เทพรงทอง  จึงนำเข้าสู่บทเรียนหลังจากที่พวกเรารับประทานอาหารว่างเช้าเรียบร้อยแล้ว  ทุกคนจึงพร้อมเต็มที่สำหรับการเติมน้ำ(ความรู้)ให้เต็มแก้ว(ตัวเรา)    คุณอำนวยแจ้งพวกเราให้ทราบประการแรกว่า  ปัจจุบันนี้เกิดภาวะคนเกินงาน  กล่าวคือเมื่อเทียบคุณภาพผลงานกับบุคลากร ปรากฏว่างานที่ได้ไม่เท่ากับจำนวนคนที่มี   และอีกประการหนึ่งก็คือ  ในปีนี้เราจะได้รับการประเมินภายนอกจาก สมศ. และ การประเมินจาก ก.พ.ร.  โดยปกติ สมศ.จะทำการประเมินสถานศึกษา 5 ปีต่อครั้งในแต่ละรอบ

ปีที่ผ่านมาเราได้ผ่านการประเมินเพื่อยืนยันสภาพจริงมาแล้ว  เป็นรอบ 5 ปีแรก  รอบที่ 2 จะเป็นการประเมินเพื่อรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน  เราถูกแจ็คพอตเร็วเกินไป  ถ้ามีเวลามากกว่านี้เราคาดว่าเราสามารถผ่านเกณฑ์ สมศ. ได้อย่างสวยสดงดงาม  ที่ว่าเร็วก็เนื่องจากว่าเราเพิ่งจะทราบเกณฑ์ สมศ.เมื่อกลางเดือนเมษายน 2549 นี้  อีกทั้งมาเราก็มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาในเดือนที่ผ่านมา  หากผู้ประเมินไม่คำนึงถึงบริบทเหล่านี้ของเราแล้วตัดสินผลการประเมินว่าไม่รับรอง  เราก็ไม่กล้าคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

                การแบ่งกลุ่มเราให้ทุกคนนับเลข 1-5  คนละ 1 หมายเลข  เพราะจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม  บางคนยังงงว่าจะนับยังไง   คุณอำนวยของเราก็เลยนับให้  พอถึงตอนให้คนที่นับเลขเหมือนกันมาอยู่กลุ่มเดียวกันก็เกิดปัญหาว่า  จำไม่ได้ว่านับเลขอะไร  (คุณอำนวยเป็นคนนับให้  ฮา....)

                และแล้วเราก็ได้ปฏิบัติงานกลุ่ม  หลังจากที่ฟังภาคทฤษฎีและนำมาใช้เป็นเครื่องมือการทำงาน  วิทยากรแบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม “การเล่าเรื่อง”  เพื่อสร้าง “ขุมความรู้”  ที่จะใช้ในการเปิดตลาดนัดความรู้  ปรากฏว่าสมาชิกหลายท่านได้ช่วยกันวิพากษ์ “แก่นความรู้”  ที่ทางวิทยากรกำหนดจากขุมความรู้  ซึ่งมี 5 แก่น คือ การปฏิบัติโดยผู้เรียน สื่อ/แหล่งการเรียนรู้  การดำเนินกิจกรรมโดยผู้สอน  การประเมินผล  และการวางแผนการสอน จากนั้นพิจารณาความสอดคล้องของแก่นความรู้ต่าง ๆ  สุดท้ายทุกกลุ่มก็สามารถจ่ายตลาด (เลือกแก่นความรู้)  ไปทำกิจกรรมกลุ่ม “ตารางแห่งอิสรภาพ”   จากการทำตารางแห่งอิสรภาพ ต่อเนื่องจนถึงการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการกำหนด “ธารปัญญา” และ “บันไดแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ซึ่งทำให้เราได้สะท้อนตนเองว่าเราจะเป็นผู้ให้และผู้รับในแก่นความรู้อะไรบ้าง  เมื่อถึงขั้นนี้เราจึงตระหนักถึงคุณค่าของตนเองว่าสี่งที่เราคิดเราทำมันก็เป็นประโยชน์อยู่บ้าง  เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้เหมือนกัน  ก่อนพักรับประทานอาหารเย็น  คุณอำนวยของเราก็ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของการเตรียมรับการประเมินของ ก.พ.ร. 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27628เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2006 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
น่าสนใจมากเลยครับ อยากไปร่วมประชุมด้วย ติดต่อได้ที่ไหนครับ

ยินดีมากครับ ติดต่อที่ ม.ราชภัฏอุบล 045-352000

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท