ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

โลกร้อน...ต้องดื่มชาพลังแสงอาทิตย์


Etiquette in Gourmet&Cuisine, June 2009

        ชากับน้ำร้อนเป็นของคู่กัน

        น้ำไม่ร้อน ชาก็ไม่อร่อย

        คนที่พิถีพิถันมาก  ต้องวัดอุณหภูมิของน้ำ  แถมด้วยการจับเวลาแช่ถุงชา  จะนานกี่นาทีก็ขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของชา  เพื่อให้ได้ลิ้มรสดีๆ อย่างเต็มพิกัด

        วิถีชงชา  วิถีดื่มชา จึงเป็นศาสตร์ที่คุยได้ไม่รู้จบ

        หน้าร้อนปีนี้ กรุงเทพอาการหนัก  อากาศร้อนมาก กกก.. แดดออกเปรี้ยงจนตาหยี

จะต้มน้ำเพื่อดื่มชาสักถ้วย แค่คิดก็เหงื่อไหลซะแล้ว

        เพื่อนข้างตัวพูดขึ้นมาว่า อยากกินชาแดด ไม่เห็นทำให้กินตั้งนานแล้ว

        เออ..จริงสิ  เคยทำชาแดดเลี้ยงญาติมิตรในช่วงหน้าร้อน  ไหงปีนี้ไม่ได้คิดถึงเลย  ดื่มชาทีไรก็ต้มน้ำทุกที  เสียเงินค่าพลังงานไฟฟ้าบ้าง แก๊สบ้าง เพื่อทำให้น้ำร้อน

        ทีพลังงานที่ไม่ต้องเสียเงิน  อย่างพลังงานแสงแดด  กลับไม่ใช้ซะงั้น   ยิ่งตอนนี้กระแสโลกร้อนมาแรง  แทนที่จะช่วยลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ก็ดันลืม

        กลับมาพบกันอีกครั้งนะ...ชาแดด

        ครั้งแรกที่รู้จักชาแดด  คือตอนที่เพื่อนชาวอเมริกันสมัยเรียนอยู่เมืองคาวบอยเท็กซัส ชวนไปกินข้าวที่บ้าน  ข้าวจริงๆ เพราะเพื่อนอยากโชว์ฝีมือทำอาหารจากข้าว 

        ช่วงนั้นเป็นฤดูร้อน  อากาศก็ร้อนพอๆ กับเมืองไทย แดดเปรี้ยงเหมือนกัน  บ้านเพื่อนเป็นฟาร์มอยู่นอกเมือง  ก่อนจะเดินเข้าตัวบ้าน  ตาเหลือบไปเห็นขวดแก้วขนาด 1 แกลลอน ใส่น้ำสีน้ำตาลอ่อนวางอยู่กลางสนามหญ้า  มีชิ้นอะไรบางอย่างลอยอยู่ภายใน  

        จะว่าไปแล้วก็คล้ายกับโหลยาดอง?!

        อดไม่ได้ต้องถามเพื่อนว่านั่นขวดโหลอะไร  คำตอบคือ “Sun Tea”  แปลว่าชาพระอาทิตย์น่ะสิ  เก๋มากเลย   เธออธิบายว่านี่คือวิธีทำน้ำชาสำหรับสมาชิกในครอบครัวของเธอ 

        วิธีทำง่ายมากค่ะ  ใส่น้ำดื่มลงในขวดแก้วขนาด 1 แกลลอน ก็ประมาณ 4 ลิตร  ใส่ถุงชาลงไป 5-6 ถุง โดยรวบไว้เป็นพวง แล้วใช้ฝาขวดหนีบปลายเส้นด้ายที่พาดปากขวดไว้  ถุงชาจะได้ไม่ลอยสะเปะสะปะ  และสามารถหยิบออกไปทิ้งได้ง่าย

        จากนั้นก็ปล่อยตากแดดไว้  ถ้าแดดแรงๆ ก็ประมาณ  3 ชั่วโมง  บางครั้งก็ทิ้งไว้ครึ่งวัน บางครั้งอาจเป็นทั้งวันหรือสองสามวันก็มี  แล้วแต่ความแรงของแสงอาทิตย์   จะแวะมาเขย่าขวดเป็นระยะ  ๆ บ้างก็ได้  ไม่เขย่าก็ไม่เป็นไร   

         

        แน่นอนว่าเครื่องดื่มสำหรับอาหารมื้อนั้นเป็นชาพลังแสงแดดค่ะ  แต่เป็นชาแสงแดดผสมเลมอน   เพราะหลังจากหยิบถุงชาออก  เพื่อนก็หั่นลูกเลมอนสีเหลืองสดเป็นแว่นๆ ตามขวาง  ใส่ลงไปในขวด  ตามด้วยน้ำเลมอนคั้นอีกประมาณ 1 ถ้วยตวง

        วิธีผสมก็คือ  ปิดฝาขวด แล้วยกขึ้นเขย่าๆ  จากนั้นก็รินใส่แก้วส่งให้  บอกว่า ใส่น้ำตาลกับน้ำแข็งเองนะ ง่ายดีแฮะ

        หลังจากรู้จักชาที่ชงด้วยแสงแดดแล้ว  จึงสังเกตเห็นว่ามีขวดโหลสำหรับทำชาแบบนี้โดยเฉพาะ วางขายในซุปเปอร์มาเก็ตด้วย  เพราะเขียนข้างขวดว่า Sun Tea  บางขวดก็เขียนว่า Solar Tea  แสดงว่าวิถีดื่มชาแสงแดด เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเท็กซัสคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

        ภาวะโลกร้อนอย่างนี้  ช่วยกัน Go Green ด้วยการชงชาแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาดื่มกันเถอะค่ะ

 

 

 

 

  

 

 

หมายเลขบันทึก: 273595เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาติดตามความรู้ใหม่ค่ะ ป้าเจี๊ยบ คิดถึงค่ะ และก็...ขอบคุณนะคะ

จินตนา ศรีดาวเดือน

การดื่มชาหนูชอบมากค่ะ อาจารย์ แต่พอดื่มตอนร้อนก็ร้อนมากไม่อร่อย ดื่มตอนอุ่นๆนี่ก็ดีค่ะ แต่ว่าดื่มมากเกินไปก็ท้องผูกค่ะ แก้ไม่หายสักที From นักศึกษาป.โทสาขาหลักสูตรและการสอนค่ะ

Sun Tea ไอเดียดีค่ะ เข้าคอนเซปโลกร้อนได้ดีทีเดียว

ไว้จะมาขอความเรื่อง ชา อีกนะคะ

ว่างๆเข้ามาอ่านเรื่อง "เสาะหา ชาดีๆ ในประเทศไทย" ที่

smileyteatime.blogspot.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท