ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ปิกนิกแบบไทยแถวๆเถียงนา


Etiquette in Gourmet&Cuisine, April 2009

         สมัยที่ฉันยังเด็ก คุณแม่จะพาลูกๆ ไปปิกนิกกลางทุ่งนา เพราะหลังบ้านมีพื้นที่ติดกับนาข้าว

        กินกันกลางทุ่งนาจริงนะคะ เพราะเป็นนาช่วงหลังเก็บเกี่ยวไปแล้ว จึงเหลือแต่ตอต้นข้าวเตี้ยๆ  ซึ่งคุณแม่จะให้คนงานนำเสื่อไปปูทับลงไป  พอแดดร่มก็ลำเลียงอาหารไปวางบนเสื่อให้ลูกๆ กิน   สลับกับการเล่นว่าวไปด้วย 

        บางครั้งคุณแม่ก็พาลูกๆ ไปปิกนิกริมทะเล  ปูเสื่อบนหาดทราย ปล่อยให้ลูกเล่นน้ำทะเลกันตามสบาย  หิวเมื่อไหร่ก็ขึ้นมากิน   โตขึ้นจึงได้รู้ว่านี่เป็นแผนอันชาญฉลาดของคุณแม่ที่จะหัดให้ลูกๆ กินอาหารต่างๆ ที่ตามปกติแล้วเด็กๆ มักไม่ชอบกิน อย่างเช่น แกงขี้เหล็ก ผัดผัก  เพราะเวลาเล่นน้ำขึ้นมาหิวๆ อะไรที่คุณแม่ตักใส่จานให้   ล้วนกินอร่อยสุดสุดไปซะทั้งนั้น

เวลาเดินทางไปเที่ยวตามที่ต่างๆ คุณแม่จะเตรียมอาหารไปเองทุกครั้ง ไม่เคยซื้ออาหารตามร้านเลย ลูกหิวเมื่อไหร่ก็จอดรถ  แวะศาลาริมทางซึ่งมีตั้งเรียงรายอยู่ข้างถนนเป็นระยะๆ  เพื่อปิกนิกกัน  บางทีก็แวะตามวนอุทยานหรือสวนป่า  

        วันเวลาผ่านไป... บรรยากาศการกินแบบปิกนิกริมทางก็หายไปจากชีวิต จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้  ฉันมีโอกาสพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวแบบเรื่อยเปื่อยไร้แผน แถวจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี  ได้เห็นนาข้าวสีเขียวสดสองข้างทางและศาลากลางทุ่ง  ทำให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ขึ้นมาทันที

        หลังจากแวะปฏิบัติการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นที่ตลาดสามชุกร้อยปีสุพรรณบุรีแล้ว  ระหว่างเส้นทางไปบึงฉวาก  ฉันเห็น “ขนำ” อยู่ริมทาง  รีบเอ่ยปากชวนเพื่อนว่าจอดกินข้าวที่ “ศาลา” ไหม?  

ทุกคนเห็นด้วยค่ะ  ช่วยกันหอบของกินที่ซื้อมา  ไปนั่งกินกันในขนำ โดยมีทุ่งนาสีเขียวสวย พร้อมลมพัดโกรกเย็นสบายเป็นของแถม

    ระหว่างกินก็เปิดอภิปรายว่าที่นั่งกันอยู่นี้เรียกว่า “ขนำ”    แต่เพื่อนบอกว่าเรียก “เถียงนา” ก็ได้   พอกลับบ้านมาเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตดูก็ได้ความอย่างนี้ค่ะ

        ขนำ  [ขะหฺนํา] (ถิ่น-ปักษ์ใต้) น. กระท่อมชั่วคราวในทุ่งนาเป็นต้น
        เถียง (ถิ่น–อีสาน) น. เรือนพักชั่วคราวในทุ่งนาสําหรับอยู่เฝ้าข้าว

        ขนำหรือเถียงนา  จึงเป็นคำที่ใช้เรียกที่พักของเกษตรกรซึ่งออกไปทำงานประจำวัน เช่น ชาวนาที่ออกไปทำนา ต้องใช้เวลาอยู่กับนาเกือบทั้งวัน  จึงต้องมีที่พักเหนื่อยหลบแดดและความร้อน  โดยทั่วไปมักสร้างเป็นเพิงพักง่ายๆ สำหรับอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว  ยกพื้นสูง ไม่นิยมกั้นฝา

        เถียงนาหลังที่ฉันแวะเข้าไปใช้บริการโดยพลการ  ก็มีลักษณะดังกล่าว   ตัวหลังคาไม่ได้มุงจาก  แต่มุงสังกะสี   ใต้หลังคามีจานและช้อนสังกะสีเสียบอยู่ตรงขื่อ  ข้างเสามีกระติกเปล่าๆ ชนิดที่เอาไว้ใช้ใส่น้ำแข็งวางอยู่หนึ่งใบ   ไม่เห็นเจ้าของขนำอยู่บริเวณนั้นแต่อย่างใด  

หลังจากอิ่มกายและนั่งพักซึมซับบรรยากาศจนอิ่มใจแล้ว  เราช่วยกันเก็บกวาดดูแลสถานที่และสภาพแวดล้อมโดยรอบจนสะอาดเรียบร้อย    แล้วพากันพูดกับเถียงนาโดยพร้อมเพียงกันว่า “ขอบคุณค่ะ”  ก่อนเดินทางต่อ

        หากมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทย  ลองจัดให้ตัวเองได้สัมผัสกับการปิกนิกแบบไทยแถวๆเถียงนาดูบ้างนะคะ รับรองว่าเป็นประสบการณ์ที่โดนใจแน่นอน  แต่ต้องระลึกไว้ว่าเถียงนาไม่ใช่สมบัติสาธารณะเหมือนศาลาริมทาง  อาจจะโดนข้อหาบุกรุกได้ 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ขนำ#เถียงนา
หมายเลขบันทึก: 273588เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นึกถึงบรรยากาศ ลมพัดเย็นสบาย ทุ่งนาเขียวขจี เพราะตอนนี้เป็นฤดูฝน ชาวนากำลังทำนา อาหารมื้อนั้นคงอร่อยมากเลยใช่มั๊ยคะ

  • สวัสดีค่ะ อ.ป้าเจี๊ยบ
  • เถียงนา/ขนำ ภาคเรียกเรียกว่าอย่างไรคะ
  • เห็นภาพแล้ว ชื่นใจกับการทำตัวที่เรียบง่ายติดดินของป้าเจี๊ยบและเพื่อนๆจังค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
จินตนา ศรีดาวเดือน

อาจารย์ทั้งสามท่านน่ารักดีค่ะ / จากลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับอาจารย์ค่ะ

อาจารย์คะ พื้นเดิมหนูเป็นเด็กต่างจังหวัดค่ะ สมัยหนูเด็กๆ ในยามหน้านาก็จะลงนา ก็จะนำสัมภาระในการประกอบอาหารมื้อเที่ยงไปเก็บไว้ที่เถียงนา ส่วนใหญ่ก็จะนำแต่ข้าวเหนียวนึ่งไป อาหารมื้อเที่ยงก็จะช้อนปลา ช้อนหอยกินกัน เก็บผักบุ้งในหนอง เก็บพริกในสวนมาทำน้ำพริก การทำอาหารก็ไม่ได้พิถีพิถันมากแต่รสชาติอร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ

สวัสดีค่ะ

* มาแสดงความยินดีที่เถียงนาสุพรรณ ได้มีโอกาสต้นรับค่ะ

*โอกาสหน้าเชิญ แวะเที่ยวตลาดร้อยปีบางปลาม้าบ้างนะคะ  บรรยากาศเก่าๆ ยังเหลืออยู่หลายแห่งค่ะ

* สุขกายสุขใจค่ะ

  • มหา คนลูกทุ้งแวะมาอ่าน  เถียงนา ขะหนำ
  • วิถีชีวิตดั้งเดิมกำลังสูญหายไป
  • ชอบใจ ป้าเจิ๊ยบเสนอ
  • ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท