การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ตอน 2


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (6)

รูปแบบการจัดการความรู้

          จากแนวคิดของการจัดการความรู้ที่มีมากมายและหลากหลาย ทำให้เราทราบว่า การจัดการความรู้เป็นเรื่องที่มีกระบวนการเฉพาะ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามบริบทของหน่วยงาน หรือองค์กรที่นำไปใช้ ตามที่มีการกล่าวว่า “KM ไม่ใช่ MK” เพื่อสื่อให้เห็นว่าการนำ KM ไปใช้นั้น ต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร ไม่ใช่จำเป็นต้องดำเนินการเหมือนกัน เปรียบเทียบได้กับ ร้าน MK ที่ไม่ว่าเราจะไปทานที่ไหนก็ต้องมีสถานที่ เมนูอาหาร และรสชาติที่เหมือนๆ กัน หรือเปรียบเทียบได้กับการตัดเสื้อที่ไม่ใช่วิธีตัดเสื้อโหล ให้กับผู้ใส่ทุกคน แต่ต้องตัดเสื้อให้เหมาะสมกับผู้ใส่ ดังนั้นในการที่จะนำเอาการจัดการความรู้ไปใช้ในหน่วยงาน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษารูปแบบในการจัดการความรู้ (Knowledge Management Model) รูปแบบต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเอง สรุปได้ดังนี้

 

1) The SECI Model of Knowledge Creation

หากพูดถึงรูปแบบในการจัดการความรู้ รูปแบบแรกๆ ที่นักจัดการความรู้แทบทุกคนต้องรู้จัก ก็คือ SECI model ของ Professor. Ikujiro Nonaka ที่ได้นำเสนอแนวคิดผ่านหนังสือชื่อ The Knowledge-Creating Company: how Japanese companies create the dynamics of innovation ว่า ความรู้ในตัวคนสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทซึ่งได้แก่ ความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้ง ซึ่งความรู้ทั้ง 2 ประเภทเป็นความรู้ที่มีค่า และมีความสำคัญต่อองค์กรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ฝังลึก เพราะเป็นความรู้ ที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในการทำงาน การลงมือปฏิบัติ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานนั้น ๆ ความรู้ฝังลึกนี่เอง หากมีการดึงออกมาใช้ (เปลี่ยนรูปเป็นความรู้ชัดแจ้ง) ภายใต้บริบท หรือสถานการณ์ใหม่ๆ จะทำให้คนเกิดการเรียนรู้ และสร้างเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่ง SECI model จะช่วยทำให้ความรู้ทั้ง 2 ประเภทเกิดการเปลี่ยนรูป หรือที่เรียกกันว่า “Knowledge Conversion” และกลายเป็นความรู้ใหม่ โดยอาศัย รูปแบบ (mode) 4 รูปแบบดังนี้ (ภาพที่ .)

 

1.   Socialization เป็นกระบวนการแบ่งปันประสบการณ์ และสร้างความรู้โดยนัยของแต่ละบุคคล ผ่านการสังเกต ลอกเลียนแบบ และการลงมือปฏิบัติ

2.   Externalization เป็นกระบวนการในการแปลงความรู้โดยนัย ให้เป็นความรู้ชัดแจ้ง สามารถทำได้โดยการเปรียบเทียบ หรือเทียบเคียง การตั้งสมมติฐาน และการสร้างกรอบความคิด ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญของการสร้างความรู้

3.   Combination เป็นกระบวนการในการรวบรวม ผสาน และจัดระบบความรู้ ซึ่งความรู้ที่ได้จะถูกจัดเป็นองค์ความรู้ขององค์กร เพื่อใช้งานร่วมกัน

4.   Internalization เป็นกระบวนการที่ความรู้ชัดแจ้ง เปลี่ยนรูปกลับไปเป็นความรู้โดยนัยอีกครั้ง โดยผ่านการฝึกปฏิบัติ หรือนำเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้งาน

หากจะมองให้ง่ายขึ้นคือ ความรู้โดยนัยที่มีอยู่ในแต่ละคน จะถูกดึงขึ้นมาใช้ในกระบวนการทำงาน และการตัดสินใจ ซึ่งความรู้โดยนัยนี้จะสามารถถ่ายทอดไปสู่บุคคลอื่นโดย ผ่านการสังเกต การลอกเลียนแบบ การพบปะ การสอนงาน และการฝึกงาน ขั้นตอนนี้เรียกว่า Socialization และในขณะที่สังเกต หรือลอกเลียนแบบนั้น ก็มีการจดบันทึก จัดทำเป็นคู่มือ หนังสือ บันทึกเสียง รวมถึงการบันทึกเป็นวีดิทัศน์ ขั้นตอนนี้เรียกว่า Externalization หลังจากนั้นก็ทำการรวบรวมความรู้ที่เกิดขึ้นจากแต่ละแผนก และหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร มาจัดการให้เป็นระบบ และจัดทำเป็นความรู้ขององค์กรเพื่อให้คนในองค์กรสามารถเข้าถึง และใช้งานได้ ซึ่งก็คือ Combination และเมื่อมีการนำความรู้ที่ถูกจัดเก็บ หรือรวบรวมอยู่ไปใช้ เมื่อรวมเข้ากับประสบการณ์ แล้วนำไปปฏิบัติ ความรู้เหล่านั้นก็จะกลายเป็นความรู้ใหม่เกิดขึ้นอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล ขั้นตอนนี้เรียกว่า Internalization ซึ่งถ้าองค์กรสามารถกระตุ้น และพัฒนาให้กระบวนการทั้ง 4 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด จนกลายเป็นเกลียวความรู้ (Knowledge Spiral) จะส่งผลให้คนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การเรียนรู้ขององค์กรในที่สุด

ภาพแสดง The SECI Model of Knowledge Creation

ซึ่งในการที่จะกระตุ้น และพัฒนาให้กระบวนการทั้ง 4 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเกลียวความรู้นั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ 1) “Ba” สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือพื้นที่ ที่ใช้ในการแบ่งปันบริบท และสร้างความรู้ ไม่ว่าจะเป็นมุมกาแฟ บอร์ดประชาสัมพันธ์ ห้องประชุม การอบรมสัมมนา เว็บบอร์ด เว็บบล็อก หรือแม้แต่บาร์เหล้า “Ba” จึงเป็นพื้นที่ร่วม เป็นเวทีที่ส่งเสริมให้คนเกิดการเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ความรู้สึก และสร้างความสันพันธ์ระหว่างกัน ผ่าน 2) การพูดคุย (Dialogue) หรือการสนทนา โดยการสนทนานั้นจะต้องเป็นการสนทนากันด้วยเหตุผล การยอมรับ และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งในปัจจุบันเรานิยมเรียกการสนทนาในลักษณะเช่นนี้ว่า “สุนทรียสนทนา” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 3) ผู้นำ “Leadership” ต้องทำหน้าที่สำคัญในการสร้าง รักษา และเชื่อมโยง “Ba” ที่เกิดขึ้น ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนด 4) วิสัยทัศน์ (Vision) เพื่อเป็นทิศทางขององค์กร และ 5) วัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อน (Driving Objectives) ให้เป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินการในการจัดการความรู้

 

2) โมเดล “ปลาทู”

          KM model ที่ชื่อ “ปลาทู” คงเป็นชื่อที่นักจัดการความรู้จำนวนไม่น้อยเคยสัมผัส KM ฉบับปลาทู ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ ของ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า การจัดการความรู้จะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ

1.   Knowledge Vision (KV) คือ วิสัยทัศน์ของการจัดการความรู้ เป็นการกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ว่าดำเนินการไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะของพนักงานสู่ความเป็นเลิศ, การจัดการความรู้เรื่องกฎและระเบียบสำหรับพนักงานสายสนับสนุน และการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว เป็นต้น ซึ่งการกำหนดวิสัยทัศน์ของการจัดการความรู้ในแต่ละประเด็น ก็เปรียบเสมือนหัวปลาที่บอกทิศทางในการว่าย ว่าจะเคลื่อนที่ไปทางใด โดยเป้าหมายสำคัญที่กำหนดขึ้นต้องสอดคล้อง และสนับสนุนกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ขององค์กร

2.   Knowledge Sharing (KS) คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจ และยากที่สุดสำหรับการจัดการความรู้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น ซึ่งโดยทั่วไปมักคิดว่า ผู้มีความรู้ คือ ผู้ที่มีอำนาจ ถ้าต้องถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นจะทำให้ตนเองรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มีอำนาจ อาจโดนคนอื่นแย่งตำแหน่ง แย่งหน้าที่การงาน เป็นต้น ดังนั้นในการจัดการความรู้ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงมุ่งหวังเพื่อจัดการให้เกิดเหตุปัจจัย และสิ่งแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้คนตระหนัก และพร้อมที่จะแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกัน

3.  Knowledge Assets (KA) คือ ความรู้ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังความรู้ โดยความรู้ที่ถูกจัดเก็บต้องเป็นความรู้ที่จำเป็น มีความสำคัญ และสอดคล้องกับเป้าหมายในการจัดการความรู้ จะไม่จัดเก็บความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกลงไปในคลังความรู้นั้น ทั้งนี้คลังความรู้ที่ดี จะต้องมีการวางระบบในการจัดเก็บ และมีการจัดหมวดหมู่ รวมถึงมีระบบที่ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้น และค้นคืนได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงความรู้ที่จัดเก็บไว้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เสมือน ให้คนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ง่ายขึ้น รวมถึงต้องมีการตรวจสอบ ปรับปรุงให้ความรู้ที่ถูกจัดเก็บในคลังความรู้มีความถูกต้อง ทันสมัยอยู่เสมอ และที่สำคัญความรู้ที่ถูกจัดเก็บต้องถูกกำกับด้วยบริบทของเรื่องทุกครั้ง พร้อมกันนี้ควรมีการระบุถึงแหล่งข้อมูล ซึ่งได้แก่ ผู้ให้ข้อมูล และข้อมูลสำหรับการติดต่อ เป็นต้น

ภาพสามองค์ประกอบหลักของ KM ตามโมเดล “ปลาทู”

จะเห็นได้ว่าการจัดการความรู้ตามโมเดล “ปลาทู” นั้นเริ่มต้นด้วยการกำหนดส่วนหัวของปลา นั่นคือ วิสัยทัศน์ของการจัดการความรู้ที่สอดคล้อง สนับสนุน หรือไปในทิศทางเดียวกันกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยต้องมีผู้บริหาร มาทำหน้าที่เป็นตาของปลา เพื่อกำกับเป้าหมาย และทิศทางของการว่ายสำหรับหัวปลาเพื่อให้ว่ายไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กร เราจะเรียกผู้ดำรงตำแหน่งนี้ว่า CKO (Chief Knowledge Officer) หรือ “คุณเอื้อ” ซึ่งนอกจากการกำกับทิศทางการว่ายแล้ว ยังช่วยทำหน้าที่ในการเอื้อให้เกิดความสะดวกในด้านต่างๆ ได้แก่ การบริหารงานแบบเอื้ออำนาจ (Empowerment), การจัดสรรทรัพยากร และงบประมาณ, การเชื่อมโยงการจัดการความรู้เข้ากับกิจกรรม และโครงการต่างๆ มอบความชื่นชม ยกย่องการปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จ และที่สำคัญต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และมีส่วนร่วมกับการจัดการความรู้ที่ได้ดำเนินการอยู่ โดยต้องมีทีมการจัดการความรู้ทำหน้าที่สอดประสานระหว่าง”คุณเอื้อ” และผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในศัพท์การจัดการความรู้เราจะเรียกทีมการจัดการความรู้นี้ว่า “คุณอำนวย” และผู้ปฏิบัติงานว่า “คุณกิจ” 

  "คุณอำนวย" หรือทีมงานการจัดการความรู้ จะเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ อำนวยทุก ๆ อย่างสำหรับการจัดการความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง "คุณกิจ"  กับ  "คุณเอื้อ"  และ "คุณกิจ" กับโครงการการจัดการความรู้โครงการต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกองค์กรเข้าหากัน, สร้างกระบวนการ หรือบรรยากาศเพื่อให้  "คุณกิจ" ได้เล่าประสบการณ์ความประทับใจในความสำเร็จของงานที่ได้ปฏิบัติ และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมกันนั้นก็รวบรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์  และแนวทางปฏิบัติที่ดี เก็บไว้ใน ฐานความรู้ (หางปลา) จัดการ จัดระบบ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง ใช้ ปรับปรุง เพิ่มเติม และต่อยอดองค์ความรู้เหล่านั้นให้ถูกต้อง และทันสมัยอยู่เสมอ  และที่สำคัญ คือ การทำหน้าที่ในการกระตุ้น และสร้างบรรยากาศ ให้กระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นกันเอง และเป็นธรรมชาติ ให้ทุกคนเกิดความรู้สึก ของความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เล่ายินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ ให้แก่ผู้อื่น และผู้รับก็จะเปิดใจรับฟังเรื่องราวต่างๆ รวมถึงต้องคอยซักไซ้ประเด็นสำคัญของเรื่อง ที่ผู้เล่าเล่าไม่ละเอียด หรือยังไปไม่ถึงแก่นของความรู้อีกด้วย ทั้งนี้ต้องกำหนดให้มีอีกคนทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเพื่อช่วย "คุณอำนวย" ในการจดบันทึกข้อมูล รายละเอียดต่างๆ และ ประเด็นสำคัญๆ ที่ได้จากการเล่าก็ได้ โดยเราจะเรียกผู้ช่วยคนนี้ว่า "คุณลิขิต"

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์

ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3  ตอน 4  ตอน 5  ตอน 6  ตอน 7

หมายเลขบันทึก: 272463เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท