การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ตอน 1


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (5)

          การพัฒนาทุนมนุษย์ มีวิธีการมากมายหลายวิธีที่จะพัฒนาให้มนุษย์ที่มีอยู่ในองค์กรต่างๆ ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ สนองตอบต่อวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กรที่ก่อเกิดและดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างมากมาย ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เชื่อมโลกให้แคบและเล็กลง มีการแข่งขันสูง มนุษย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดขององค์กร ทำอย่างไรจึงจะให้มนุษย์มีขีดความสามารถได้ การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จึงควรทำความเข้าใจกับเรื่อง “การจัดการความรู้” ว่ามีจุดกำเนิด พัฒนาการ ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับองค์กรในการใช้ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้อย่างไร

 

แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการความรู้

แนวคิดการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ถ้าจะว่ากันแล้วน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 เมื่อโครงการ ARPANET ได้เริ่มขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่พยายามเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์จากสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย 4 แห่งในสหรัฐอเมริกาเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ตรงจุดนี้เองน่าจะเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดการจัดการความรู้ แต่ในตอนเริ่มต้น ยังไม่ได้ใช้ชื่อว่า การจัดการความรู้ และหลังจากนั้นก็ได้มีแนวคิดที่เกี่ยวข้องตามมาอีกจำนวนมาก ที่น่าสนใจได้แก่ Learning Organizational (Chris Argyris and Donald Schon, 1978), The Fifth Discipline: The Art and Practice of the Organization (Peter M Senge, 1990) และ The Knowledge Creating Company (Ikujiro Nonaka: Harvard Business Review, 1991) จนถึงปี ค.ศ.1993 ที่ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือการจัดการความรู้เล่มแรกชื่อ Knowledge Management Foundations เขียนโดย Karl M.Wiig และหลังจากนั้นแนวคิดการจัดการความรู้ก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

และเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการจัดการความรู้มากยิ่งขึ้น จึงขอยกนิยาม และความหมายของการจัดการความรู้ที่นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดการความรู้ได้ให้ไว้ดังต่อไปนี้

Karl M. Wiig (1993) การจัดการความรู้ เป็นพื้นฐานของการจัดการกับความรู้ และทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กร เพื่อสร้างคุณค่า และเพิ่มผลประกอบการขององค์กร

Davenport & Prusak (1999) การจัดการความรู้ เป็นความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะสร้าง รวบรวม เผยแพร่ และใช้ความรู้

Nonaka & Takeuchi (1995) การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการในการสร้างความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง การเผยแพร่ความรู้ทั่วทั้งองค์กร อันนำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี และระบบใหม่ๆ ขององค์กร

Sveiby (1997) การจัดการความรู้ เป็นศิลปะในการสร้างคุณค่าจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ขององค์กร

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (2545) การจัดการความรู้ เป็นการรวบรวม การจัดระบบ การจัดเก็บ และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ การแบ่งปันความรู้ การตีความ และการประยุกต์ใช้ความรู้ และการประเมินความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลขององค์กร

จะเห็นได้ว่าแนวคิดการจัดการความรู้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องของความพยายามในการจัดการกับความรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อดึงเอาความรู้ที่มีอยู่ทั้งภายใน และภายนอกองค์การ มาใช้ เผยแพร่ และยกระดับให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การมากที่สุด และเร็วที่สุด ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถจัดการกับความรู้ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับ “ความรู้” กันเสียก่อน 

นิยาม ความรู้ ของ Hideo Yamazaki คือ สารสนเทศที่ผ่านการคิดเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับความรู้อื่น จนเกิดเป็นความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์โดยการสรุปและตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่จำกัดช่วงเวลา

 

แผนภาพแสดงสรุปนิยามความรู้ของ Hideo Yamazaki ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบปิรามิด

ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 กำหนดนิยาม คำว่า ความรู้ คือ สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะความเข้าใจ หรือ สารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ สิ่งที่ได้รับมาจาการได้ยิน ได้ฟัง การคิดหรือการปฏิบัติองค์วิชาในแต่ละสาขา

ดังนั้น “ความรู้” จึงเป็นสารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และเชื่อมโยงกับประสบการณ์ และบูรณาการร่วมกับความรู้อื่น ๆ จนเกิดเป็นความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ใหม่ ๆ การแก้ปัญหา และใช้ในกระบวนการตัดสินใจ ดังนั้น “ความรู้” จึงถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่ายิ่งขององค์การ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้องค์การสามารถพัฒนาได้เหนือคู่แข่ง ทำให้องค์การสามารถรักษาสมรรถนะทางการแข่งขัน และความรู้นี้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้เป็นต้น สรุปง่ายๆ ได้ว่า ความรู้ ก็คือสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงาน และกระบวนการในการตัดสินใจ

          ทั้งนี้ Professor.Ikujiro Nonaka ได้แบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภท โดยประเภทที่ 1 คือความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การลงมือปฏิบัติ หรือเป็นพรสวรรค์ของตนเองที่มีอยู่ สิ่งเหล่านี้จัดเป็นความรู้ชนิดที่ยากต่อการถ่ายทอด หรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งเราจะเรียกความรู้ประเภทนี้ว่า ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) หรือความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล และประเภทที่ 2 คือความรู้ที่สามารถถ่ายทอด หรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ความรู้ประเภทนี้คือ ความรู้ที่ถูกเขียนออกมาเป็นตำรา เป็นคู่มือ หรือเอกสารต่างๆ ซึ่งเราจะเรียกความรู้ประเภทนี้ว่า ความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge)

          ดังนั้นในการจัดการความรู้จึงเป็นกระบวนการในการจัดการกับความรู้ทั้ง 2 ประเภท ทั้งที่เป็นความรู้ไม่ชัดแจ้ง และความรู้ชัดแจ้ง ซึ่งวิธีการในการจัดการความรู้นั้น เราจะลองพิจารณาจากรูปแบบการจัดการความรู้ที่นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญได้นำเสนอ เพื่อหาองค์ประกอบ จุดดี และจุดด้อย ในบริบทที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์

ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3  ตอน 4  ตอน 5  ตอน 6  ตอน 7

หมายเลขบันทึก: 272457เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านเอื้อ โชคดี ครับที่ มข ใช้ KM เป็น เครื่องมือ ไม่ได้ให้ทำ KM

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท