สรุปการประชุมวิชาการ ครั้งที่ ๑๗ (ต่อ)


สรุปการประชุมวิชาการ ครั้งที่ ๑๗ (ต่อ)

เนื่องจากข้อความในบล็อเรื่องนี้ส่วนท้ายขาดหายไป   จึงขอเอาตั้งแต่ส่วนเริ่มต้นของศิริราชมาลงใหม่นะครับ

หน่วยงานสุดท้ายที่นำเสนอ  คือ  คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  โดยมี ดร. ยุวดี   เกตสัมพันธ์,  คุณวราพร  แสงสมพร และคุณสมใจ   เนียมหอม  เป็นผู้นำเสนอ 
ดร. ยุวดี   เกตสัมพันธ์  กล่าวว่า  ศิริราชเริ่มทำการจัดการความรู้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม   คือ  หลังจากที่    ศิริราช  ได้รับการรับรอง HA  เมื่อปี  ๒๕๔๖  แล้ว  และเริ่มมองหาสิ่งท้าทายใหม่ ๆ   จนได้มารู้จักกับ     ดร.บุญดี   บุญญากิจ  ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ   เนื่องจากผู้บริหารต้องการให้บุคลากรของศิริราชเกิดการตื่นตัว   ไม่หยุดนิ่ง   แต่ในขณะนั้น  ผู้บริหารเองก็ยังไม่ทราบว่า  การจัดการความรู้คืออะไร   แต่ก็ได้ให้งบประมาณ  และมีการทำสัญญาโครงการนำร่องกับสถาบันเพิ่มฯ ใช้ระยะเวลา ๑๘  เดือน
โดยได้มีการตั้งทีมรับผิดชอบและทีมดำเนินการ   ทุกคนทำงานนี้ด้วยความมานะอดทน   ตลอด  ๑๘  เดือน ภายใต้การประเมินและติดตามโครงการอย่างเข้มข้น   มีการปรับกระบวนทัศน์และประมวลผลด้วยทีมพัฒนาคุณภาพ  พบว่าทำให้องค์กรเป็นไปในทิศทางที่ดี  เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้มากขึ้น  ต่อมาจึงมีการขยายไปสู่ระดับคณะ  มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ KM ของคณะ   สนับสนุนและส่งเสริม  ปรับปรุง  Website  นำร่อง  ส่วนในระดับหน่วยงาน  มีการกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการขยายความรู้นั้น   ทำให้ KM มีชีวิตชีวาขึ้น   มีการส่งสัญญาณให้คณะกรรมการระดับสูง เช่น ระดับคณบดี,  ผู้อำนวยการ,  หัวหน้าภาควิชา,  หัวหน้างาน  ว่า   KM พร้อมแล้ว   ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้องค์กรมั่นใจว่าจะขับเคลื่อนต่อไปได้   ผู้บริหารก็เข้ามาร่วมด้วย  ทุกคนก็มีความสุข  อีกทั้งยังมีการสรุปช่วยทีม KM ทำงานต่อไป
                เมื่อเสร็จสิ้นโครงการนำร่องและประเมินตนเอง   ก็มีการกำหนดเข็มนำ KM มาเป็นตัวขับเคลื่อน   มีทีมดำเนินการ   กำหนดแนวทาง  เน้นคน   กำหนดบทบาท  และติดอาวุธ มี “คุณอำนวย”   ใช้วิธีติดอาวุธตามบทบาท   สอน Historian (ผู้ประมวลความรู้)   เป็นการบันทึกเรื่องราว แต่จะไม่เหมือน Note Taker   ทำได้ไม่ยาก   หาคนที่จับประเด็นเก่งๆ  คนที่คนที่เขียนบันทึกแล้วอ่านง่าย  นำมาแลกเปลี่ยนวิธีการให้คนที่เป็น Historian  ต่อไป
                ในการดำเนินการจัดการความรู้  ศิริราชได้กำหนด Domain  สำคัญเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO)  กำหนดโดยดูพันธกิจ   กระจาย Domain ของเราในองค์กร   ขณะนี้มีอะไรที่ต้องนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้   หาเจ้าภาพของแต่ละ Domain ต้องมีแนวทางในการจัดการ  ซึ่งรวมแล้วมีทั้งหมด ๑๗   Domain เช่น  เรื่องของ CPR,   ความปลอดภัยจากการให้ยา,   การบริหารยาในหอผู้ป่วย  เป็นต้น   โดยทุกๆ  งานที่ทำต้องมีการจดบันทึกเก็บเป็นคลังความรู้ทั้งหมด   
                นอกจากนั้น  ยังมีการสร้างชุมชนและมีการกำหนดจำนวนสมาชิกและคุณสมบัติ   ซึ่งขั้นการสร้างชุมชน   ตอน kick off  ค่อนข้างเครียด   ไม่พร้อม   แต่ก็ยังดำเนินการต่อแม้จะไม่พร้อมก็ตาม   เพราะเชื่อว่าหากมีความเชื่อว่าทุกคนมี ความสามารถก็สามารถทำได้    
                เมื่อคิดว่า ศิริราชพร้อมแล้วสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อต้องการยกระดับ ต่อไป  จึงได้มีการจัดตลาดนัด   โดยให้ผู้บริหารเข้าร่วมกลุ่มและมีการสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย  ซึ่งจะมีการเวียนไปทุก Station ที่จัดให้ 
                จากการประเมินผลการดำเนินการจัดการความรู้  ทำให้รู้ว่า       องค์กรมีชื่อเสียงขึ้น   มีความรู้จากการปฏิบัติ   มีเครือข่ายมากขึ้น  ทำงานสะดวกขึ้น  คนไข้ได้รับบริการที่ดีขึ้น  และที่สำคัญ คือ  ทีมมีความสุข   ทุกคนสามารถทำได้   มีผู้นำเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะบุคลากรระดับปฏิบัติงาน
                สำหรับปัจจัยสำเร็จที่สำคัญ คือ
- ผู้นำ ทำงานเพื่อองค์กร  ตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับล่าง  
- วัฒนธรรมองค์กร
- ความรู้ความเข้าใจของผู้รับผิดชอบโครงการ
- ความสามารถของ “คุณอำนวย” 
- ความพร้อมในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก  ทั้งเวทีจริง และเวทีเสมือน
- การดึง Knowledge  Assets   ออกมาให้ได้ว่า ทำแล้วเห็นผลลัพธ์ชัดเจน
       
                ต่อมาคุณสมใจ  เนียมทอง  ในฐานะ  “คุณกิจ” ที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้  กล่าวว่า  สำหรับวัฒนธรรมองค์กรของที่ศิริราช ต้องบอกว่า การจัดการความรู้  หากไม่มีใจ  จะทำให้  “คุณอำนวย”  เครียดมาก   “คุณกิจ”  จะต้องทำหน้าที่เล่าสิ่งที่ปฏิบัติมา   มีการไว้ใจกันซึ่งกันและกัน  ซึ่งจะช่วยทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ลื่นไหลได้ดี   และที่สำคัญ  ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละครั้ง  ควรจะต้องมีการบันทึกเป็นคลังความรู้  เพื่อนำขึ้น Website  สำหรับเผยแพร่ต่อไป  และหากนำไปใช้แล้วเกิดปัญหา  ขอแนะนำให้นำมาคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมต่อไป 
                และสุดท้าย คุณวราพร  แสงสมพร  ซึ่งรับผิดชอบในส่วนกลาง   ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้การจัดการความรู้,   เป็นคนเชื่อมระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเข้าด้วยกัน และทำหน้าที่รายงานผลการดำเนินการให้ผู้บริหาร  เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนจากผู้บริหาร  ขณะเดียวกันก็ติดตามผลการจัดการความรู้ของผู้ปฏิบัติงานและปัจจัยต่างๆที่มากระทบ  เพื่อสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่อง  กล่าวว่า  ปัจจุบันศิริราชมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดทีมจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ   โดยต้องการให้มีการพัฒนาโมเดลที่ใช้ในศิริราชเอง  และต้องการให้การจัดการความรู้ขยายไปทั่วทั้งองค์กร  รวมทั้งต้องการให้คนที่เป็น Knowledge Worker    มีความรู้พร้อมใช้ หาได้ง่ายและนำมาใช้ได้ทันที  แต่ในขณะนี้  คิดว่า  ศิริราชยังทำคลังความรู้ได้ไม่ดีนัก  แต่ที่คิดว่า  จะนำ blog link Web ของศิริราชมาใช้ต่อไป
                เมื่อตัวแทนหน่วยงานทั้ง ๖  แห่ง ได้นำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว  ทางทีม “คุณลิขิต”  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ  สคส.  ได้นำเสนอ “ขุมความรู้”  ที่ได้จากเรื่องเล่าของหน่วยงานทั้ง ๖  ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี  แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างน้อย  และกรณีศึกษามีจำนวนมาก  ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ได้ซักถามแลกเปลี่ยนกับวิทยากรมากนัก แต่ในช่วงสุดท้ายของการประชุม  ได้มีการ AAR  เพื่อเป็นการปิดท้ายการประชุมในครั้งนี้  อีกทั้งยังได้ขอให้ผู้เข้าร่วมและวิทยากรได้ซักถามแลกเปลี่ยนตอบข้อสงสัย หรือเสนอแนะความคิดเห็นเพิ่มเติมโดยใช้ Blog  เป็นเครื่องมือแทนต่อไป 
           ผมเข้าใจว่าในไม่ช้า กพร. จะกำหนดตัวชี้วัด และแนวทางการประเมิน KM ในหน่วยราชการใหม่    เข้าใจว่า สคส. คงจะมีส่วนให้ความเห็น    เราจะช่วยกันทำให้เป็นเกณฑ์ที่สมเหตุสมผล มีความยืดหยุ่นตามลักษณะขององค์กรมากขึ้น    และเป็นเกณฑ์ตาม “บันได ๔ ขั้น” ให้กิจกรรม KM มีช่วงฝึกฝนจากการปฏิบัติจริงถึง ๔ ปี    เป็น ๔ ปีที่มีความสำเร็จเป็นขั้นตอนที่ทำไม่ยาก (แต่ต้องทำจริง และฟันฝ่า)    ในกรณีเช่นนี้การเรียนรู้จากเพื่อน (Peer Assist – เพื่อนช่วยเพื่อน) มีความสำคัญยิ่ง    สคส. เราจึงช่วยแนะนำ เพื่อน ให้ท่าน ๖ องค์กรที่แตกต่างกันมาก    ตั้งแต่ขนาด ๑๖๐ คน (บ้านตาก) ไปจนถึง ๑๐,๐๐๐ คน (ศิริราช)
วิจารณ์ พานิช
๑๘ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #องค์กร
หมายเลขบันทึก: 2717เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2005 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท