แบคทีเรียหลายชนิดมีส่วนก่อให้เกิดโรคติดเชื้อได้ทั่วร่างกาย
รวมทั้งเชื้อเอช. ไพโลรีที่อาจทำให้กระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ
และเป็นแผลกระเพาะอาหารได้
การรักษาเชื้อดังกล่าวนิยมใช้ยาปฏิชีวนะ 2 ชนิด ซึ่งรักษาได้ผลประมาณ 77-90 % ถ้าจำกัดเชื้อไม่ได้ หรือเกิดภาวะเชื้อดื้อยา แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะ 4 ชนิด ซึ่งรักษาได้ผลประมาณ 75-85 %
โปรดสังเกตนะครับว่า ไม่มีหมอเทวดาที่จะรักษาโรคให้หายได้ 100 % การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคจึงปลอดภัยกว่าการปล่อยให้เกิดโรค แล้วตามแก้ ตามรักษากันให้วุ่นวาย
อาจารย์นายแพทย์บอร์ ยัง เช็น (Bor-Shyang Shen) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเช็งคุง ไทนาน ไต้หวันรายงานผลการศึกษาในคนไข้ที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดล้มเหลว และจะเข้ารับการรักษาต่อด้วยยาปฏิชีวนะ 4 ชนิด
การศึกษานี้แบ่งเป็นสุ่มตัวอย่างคนไข้ (randomize) 138 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่รักษาด้วยยา 4 ชนิดอย่างเดียว รักษาด้วยยา 4 ชนิดบวกโยเกิร์ต และรักษาด้วยโยเกิร์ตอย่างเดียว
โยเกิร์ตที่นำมาทดลองเป็นโยเกิร์ตชนิด AB หมายถึงมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดี 2 ชนิดได้แก่ แลคโทบาซิลลัส (Lactobacillus) และไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ขนาดที่ให้คือ วันละ 400 มิลลิลิตร
ถ้าเทียบกับโยเกิร์ตชนิดถ้วยในไทย โยเกิร์ตบ้านเราถ้วยละ 150 มล. ถ้าต้องการใช้วันละ 400 มล. จะต้องใช้โยเกิร์ตวันละ 2.67 ถ้วย กินทุกวันนาน 4 สัปดาห์
การศึกษานี้ใช้วิธีให้คนไข้กลืนสารยูเรียที่มีสารกัมมันตรังสีชนิดคาร์บอน-13 (13C-urea) ลงไปในกระเพาะอาหาร
ถ้ามีเชื้อเอช. ไพโลรี เชื้อนี้จะย่อยสลายสารยูเรีย เกิดเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีสารคาร์บอน-13 (13CO2) แก๊สนี้จะซึมเข้าสู่กระแสเลือด และขับถ่ายออกมาทางปอด
ถ้าปริมาณเชื้อมีน้อยลง การย่อยสลายจะลดลง แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีคาร์บอน-13 จะออกมากับลมหายใจน้อยลง
ถ้าไม่มีเชื้อเอช. ไพโลรี จะไม่มีการย่อยสลาย และไม่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีคาร์บอน-13 ออกมากับลมหายใจ
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับโยเกิร์ตอย่างเดียวมีปริมาณเชื้อลดลงมากกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ 4 ชนิดอย่างเดียว
ความแตกต่างนี้มากถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.0001 หรือหมายถึงว่า ถ้าทดลองแบบนี้10,000 ครั้งจะได้ผลแบบนี้มากกว่า 9,999 ครั้ง ได้ผลแบบอื่นน้อยกว่า 1 ครั้ง)
กลุ่มที่ได้ทั้งยาปฏิชีวนะ 4 ตัวพร้อมกับโยเกิร์ตพบว่า กำจัดเชื้อได้สำเร็จ 85 % กลุ่มที่ได้ยาปฏิชีวนะ 4 ตัวอย่างเดียวกำจัดเชื้อได้ 71.1 %
ความแตกต่างนี้มากถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05 หรือหมายถึงว่า ถ้าทดลองแบบนี้ 100 ครั้ง จะได้ผลแบบนี้มากกว่า 95 ครั้ง ได้ผลแบบอื่นน้อยกว่า 5 ครั้ง)
สรุปคือ การกินโยเกิร์ตวันละ 2.67 ถ้วยอาจจะช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้กระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ หรือเป็นแผลกระเพาะฯ ได้
การศึกษานี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเป็นการศึกษาตามน้ำ(สนับสนุน) หรือทวนน้ำ(คัดค้าน) อย่างไรก็ตาม... ผลการศึกษาในตอนนี้คงจะเป็นข่าวดีสำหรับคนชอบโยเกิร์ต
คำแนะนำ:
- โยเกิร์ตในไทยมีการเติมน้ำตาลเข้าไปมาก แนะนำให้เลือกชนิดน้ำตาลต่ำ (low sugar) และเลือกโยเกิร์ตชนิดไขมันต่ำ (low fat) หรือไม่มีไขมัน (nonfat) โดยเปรียบเทียบฉลากอาหาร (food label)
- โยเกิร์ตส่วนใหญ่มีปัญหาที่น้ำตาลมากเกิน จึงควรเลือกชนิดน้ำตาลต่ำไว้ก่อน
- ถ้ากินเกินวันละ 1 ถ้วยควรเดินเพิ่มขึ้นให้ได้วันละ 15 นาที/ถ้วย เช่น เดิมเดินเร็ววันละ 30 นาที วันนี้กินโยเกิร์ต 2 ถ้วย ควรเดินเป็นวันละ 30 + 15 = 45 นาที
- การเดินเร็ว... ไม่จำเป็นต้องเดินรวดเดียวคราวละนานๆ จะแบ่งการเดินเป็นช่วงย่อยก็ได้ เช่น เดินหลังอาหาร 10 นาที x 3 มื้อ = 30 นาที และเดินติดต่อกันอีก 15 นาที ฯลฯ
แหล่งข้อมูล:
- เชิญชมภาพใหญ่ที่นี่ > http://www.gotoknow.org/file/wullopporn/060504Betel-L.jpgภาพแผงขายหมาก เมืองมัณฑเลย์. หมากไม่ทำให้อ้วน แต่อาจเป็นสารก่อมะเร็งในช่องปากได้... กฏหมายพม่าห้ามบ้วนน้ำหมากลงบนถนน ทว่า... บางแห่งไม่พบรอยน้ำหมากรอบๆ คนกินหาก ผู้เขียนสันนิษฐานว่า คนพม่าบางคนอาจต้องกลืนน้ำหมากลงไป ไม่บ้วนออกมา เพื่อป้องกันการโดนปรับ
- ขอขอบคุณ > Laurie Barclay (MD). news author. Desiree Lie
(MD, MSEd) CME author. Probiotic yoghurt may help eradicate H.
pylori infection. http://www.medscape.com/viewarticle/530055?src=mp
> May 4, 2006.
source: American Journal of Clinical Nutrition.April 2006;83:864-869.
(เว็บไซต์นี้ต้องสมัครสมาชิก medscape ก่อนเข้าไปอ่านบทความ). - นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ใน บ้านสุขภาพ
อาจารย์หมอคะ
สงสัยว่า ถ้าไม่ทราบว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้หรือไม่ (ไม่ค่อยปวดท้องแบบอิ่มก็ปวด หิวก็ปวดดั่งโฆษณาว่าจะเป็นแผลในกระเพาะ) เราทานโยเกิร์ตบ่อยๆ เลยได้หรือไม่ ทานตอนท้องว่าง ก่อนอาหารเช้า ช่วง 6-7 โมงเช้าได้หรือไม่คะ
ขอบคุณค่ะ