เทอมแห่งความอลหม่าน.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบเจ็ดถึงยี่สิบเอ็ด มกราคม ถึง พฤษภาคม 2552


ชีวิตในปีที่สองของนักศึกษาปริญญาเอก

เทอมแห่งความอลหม่าน.....บันทึกของครูน้อยในเดือนที่สิบเจ็ดถึงยี่สิบเอ็ด  มกราคม ถึง  พฤษภาคม 2552

 

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

ก่อนอื่นต้องกราบขออภัยครูใหญ่และเพื่อนนักอ่านทุกท่านที่เรื่องราวของครูน้อยหายไปหนึ่งเทอมเต็ม     ถ้าพูดในแง่ร่างกายแล้ว  ครูน้อยยังแข็งแรงดีอยู่ค่ะ   เทอมที่ผ่านมาก็ไม่ได้เจ็บป่วยหนักๆ แต่อย่างใดเลย   หากสาเหตุที่ไม่ได้มาอัพบล็อกถึงหนึ่งภาคการศึกษานั้น   เป็นเพราะความไม่ลงตัวในเรื่องการเรียนของครูน้อยค่ะ   ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ  ไม่แน่ใจ  และสุดท้ายก็คือ  ไม่สามารถที่จะอัพบล็อกได้ว่าตกลงชีวิตอันแสนอลหม่านเทอมที่ผ่านมานั้น   มันจะดำเนินไปในทิศใดกันแน่    แต่ว่า..หลังจากเทอมอันแสนปั่นป่วนนี้ผ่านมาจนถึงเวลานี้   ครูน้อยได้เห็นเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว   จึงเข้าใจอย่างถ่องแท้และต้องการที่จะเรียบเรียงออกมาให้ทุกท่านได้อ่าน    และหวังว่าอาจจะเป็นอุทธาหรณ์ให้แก่ท่านได้บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ          

 

(และกราบขอบพระคุณครูใหญ่และผู้อ่านหลายท่านที่กรุณาแสดงความเป็นห่วงเข้ามานะคะ    ครูน้อยเกรงใจทุกท่านมากๆ  ที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาค่อนข้างนานกว่าจะสามารถเขียนบล็อกนี้ต่อได้    และขอรับความผิดพลาดนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียวค่ะ)

 

 

 

เมื่อย่างเข้าสู่เทอมที่สี่ของการศึกษาปริญญาเอก   ในตอนแรกชีวิตก็ดูจะเป็นไปตามกำหนดที่วางแผนไว้ค่ะ    ในเทอมนี้  ครูน้อยตั้งใจจะลงทะเบียนเรียนสามวิชา  เป็น Coursework 2 วิชาและ Research 1 วิชาดังนี้ค่ะ

ü      Seminar in Strategic Management

ü      Introductory Econometrics

ü      Doctoral Dissertation Research

 

 

ü                  Seminar in Strategic Management   เรียนเกี่ยวกับทฤษฎีและงานวิจัยต่างๆ ของสาขาการจัดการเชิงกลยุทธ์ค่ะ     โดยที่ลักษณะและรูปแบบการเรียนจะคล้ายคลึงกับวิชา Organizational Behavior และ Human Resource Management ที่เรียนในเทอมที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นวิชาบังคับตามหลักสูตร    แต่แตกต่างกันที่ level of concentration ซึ่ง SM นี้จะเน้นการวิจัยในระดับ Corporate หรือ Organization มากกว่าในระดับ Team/Group หรือ Individual เช่นสองวิชาแรก 

 

เนื่องจากงานที่ให้ในชั้นเรียนจะคล้ายคลึงกับวิชา Organizational Behavior และ  Human Resource มาก   ก็จะขอเล่าเพิ่มเติมในส่วนที่แตกต่างนะคะ   อาจารย์ผู้สอนจะเน้นการประยุกต์ใช้ค่อนข้างมากกว่าในวิชา HR  โดยมีการเชิญบุคคลภายนอกที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาในภาคเอกชนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษา  และในส่วนที่แตกต่างจากสองวิชาที่ได้เรียนไปแล้วก็คือ  วิชานี้ไม่มี presentation ค่ะ   แต่ครูน้อยต้อง lead class discussion สองครั้ง  เพราะอาจารย์บอกว่านักศึกษาที่เรียนวิชาเอกทางด้าน Strategy ต้องรับภาระหนักกว่านักศึกษาภาคอื่นๆ    โชคร้าย (หรือโชคดีก็ไม่ทราบ) ของครูน้อยที่นักศึกษาภาค Strategy มีน้อยกว่าภาคอื่นมากในวิชานี้  ครูน้อยก็เลยรับภาระมากหน่อยค่ะ

 

         

ü                  Introductory Econometrics   และวิชานี้ก็เป็นหนึ่งในวิชาเลือกทางด้าน economics ซึ่งทางหลักสูตรบังคับไว้สองวิชาค่ะ   เนื้อหาการเรียนก็เกี่ยวกับ research methodology อีกแล้ว  ก็เรียกได้ว่าครบถ้วนทุกอย่างล่ะค่ะ    เป็นวิชาที่งานหนักมาก   อยากจะใช้สำนวนที่เด็กๆ เค้าฮิตกันว่า  มากถึงมากที่สุดเลยทีเดียว   มีทั้งการบ้านปริมาณมหาศาล  สอบสองครั้ง  แล้วยังมี term paper อีกต่างหาก    ซึ่งทำเอาการใช้ชีวิตในเทอมนี้ครูน้อยปั่นป่วนได้อย่างมากทีเดียวค่ะ  

 

ü                  Dissertation Research    ตัวนี้เหมือนเทอมก่อนๆ ค่ะ   ครูน้อยเลือกลงวิชานี้เพื่อใช้เวลาในการวิจัยร่วมกับอาจารย์ค่ะ   ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้จัดสรรเวลาในการทำวิจัยได้มากยิ่งขึ้น   

 

 

จากที่เล่ามาข้างต้น  ก็จะเห็นว่าชีวิตของครูน้อยก็ดูจะไปได้ดีระดับหนึ่งนะคะ   แม้ว่างานจะหนัก   แต่ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร    และแล้วปัญหาของครูน้อยก็เข้ามาในชีวิตการเรียนอย่างไม่ทันรู้ตัวเมื่อครูน้อยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้ลงเพิ่มอีกหนึ่งวิชา  คือ  Independent Study ค่ะ  (ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เปิดเทอมไปได้สองสามสัปดาห์แล้ว   จำได้ว่าเป็นช่วงที่ครูน้อยน่าจะต้องสรุปเรื่องวิชาที่เรียนในเทอมนี้ลงบล็อก   ครูน้อยเลยตัดสินใจยังไม่เขียน   เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะจัดตารางเรียนอย่างไรบ้าง   ไม่นึกเลยว่า   ชีวิตต่อจากนั้นจะอลหม่านเสียจนไม่ได้เขียนบล็อกอีกเลยตลอดเทอม)

 

ในตอนแรกที่ได้ทราบเรื่องนี้  ครูน้อยก็ต่อรองกับอาจารย์ที่ปรึกษาโดยขอลงในช่วงภาคการศึกษาฤดูร้อนแทน   โดยทำเช่นเดียวกันกับ Independent Study ตัวแรกที่ได้ลงไปเป็นวิชา Minor ของภาคการตลาด  คือเริ่มพูดคุยและทำสรุปทุกอย่างในเทอมนี้ (Spring Semester)  และไปเก็บข้อมูลและเขียน paper ในเทอมหน้า (Summer Semester)  แต่อาจารย์ไม่ยอมค่ะ    ซึ่งถ้าจะพูดกันตามตรง   ครูน้อยก็ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลของอาจารย์ที่ให้มาเหมือนกัน   ว่าทำไมท่านถึงไม่ยอมให้ครูน้อยทำเช่นนั้น    แต่ก็พยายามที่จะเข้าใจว่าสไตล์การทำงานของอาจารย์แต่ละท่านไม่เหมือนกัน    การที่ท่านไม่สะดวกใจให้ทำเช่นนั้น   ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมเช่นกัน    ดังนั้น  ครูน้อยจึงตกลงทำตามที่ท่านต้องการ     โดยที่ได้ต่อรองกับท่านไว้ก่อนว่า   เมื่อดูจากจำนวนวิชาที่ครูน้อยต้องลงเรียนและปริมาณ workload แล้ว   ครูน้อยอาจจะต้องขอเลื่อนไปส่ง paper ของวิชานี้ในช่วง Summer แทน   ซึ่งท่านก็ตกลงด้วยวาจาแต่ขอให้ครูน้อยไม่ต้องระบุลงในเอกสาร   (ในการทำ independent study จะต้องมีเอกสารแสดงรายละเอียดของงานและวันเวลาที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ค่ะ)

 

และนี่แหละค่ะ  จุดเริ่มต้นของชีวิตรันทดของครูน้อยในเทอมที่ผ่านมา..

 

ก่อนจะเล่าถึงชีวิตรันทดของนักศึกษาปริญญาเอกต่อ   เรามาพักอารมณ์กันสักเล็กน้อยด้วยการพูดถึงภาพรวมของการศึกษาอีกสองวิชาที่เหลือนะคะ  ครูน้อยก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจริงๆ   และสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่ามากก็คือ   การได้เรียนรู้ว่า    หากต้องทำอะไรที่ไม่ถนัด   ไม่ใช่เรื่องที่สนใจ   แต่ถ้าเราพยายามอย่างหนัก  ไม่ว่าจะพยายามด้วยตนเองหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น   เราก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีและคุ้มค่าค่ะ   ซึ่งสำหรับอีกสองวิชานั้น   ครูน้อยก็ได้รับคำชมเชยจากอาจารย์ผู้สอนทั้งสองท่านเมื่อสิ้นเทอมด้วย    ทำให้รู้สึกเป็นกำลังใจให้กับตัวเองเป็นอย่างมาก    ซึ่งรายละเอียดต่างๆ นั้น  ขอเล่าให้ฟังในบล็อกของเดือนถัดๆ ไปละกันนะคะ   (ต้องอุบไว้ก่อน  เดี๋ยวช่วงปิดเทอมนี้ไม่มีอะไรมาเล่าค่ะ)

   

เอาล่ะค่ะ   ทีนี้เรามารันทดกันต่อแบบม้วนเดียวจบเลย  

 

ในวิชา independent study นี้    อาจารย์ที่ปรึกษาได้กำหนดให้ครูน้อยทำ thesis proposal เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ในการนำเสนอได้จริงๆ ตอนสิ้นปีที่สาม  เพื่อนำไปสู่การทำ dissertation ในขั้นต่อไป    ซึ่งหัวข้อนั้นก็มีการพูดคุยกันคร่าวๆ ก่อน    จากนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาก็ให้ครูน้อยทำลิสต์ของ literature review ในแต่ละสัปดาห์   ซึ่งครูน้อยจะต้องหาบทความที่เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อที่อาจารย์สั่ง  (ซึ่งอาจารย์ก็มีมอบหมายเพิ่มเติมหัวข้อไปเรื่อยๆ) และอ่านเพื่อนำมาพูดคุยในทุกสัปดาห์    ซึ่งก็เป็น workload ที่หนักเท่าๆ กับการเรียน doctoral seminar อีกหนึ่งตัวนั่นเอง 

 

อาจารย์ได้กำหนดให้ส่งร่างของ paper ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม   โดยที่กำหนดส่ง paper ฉบับเต็มคือต้นเดือนพฤษภาคม    แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นกว่ามาตรฐานทั่วไป   แต่ครูน้อยก็ปฏิบัติตาม (เนื่องจากไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้)

 

และในช่วงก่อนที่จะส่งร่างแรกนั่นเอง   ซึ่งเป็นช่วงที่ครูน้อยอ่านเก็บข้อมูลมาได้พอสมควรและกำลังจะขอความเห็นจากอาจารย์เพื่อลงมือเขียนร่าง paper  อาจารย์ที่ปรึกษาของครูน้อยก็ไม่สบายค่ะ    ซึ่งท่านก็ไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้ในช่วงนั้น  ครูน้อยจึงเขียนร่างแรกไปตามหัวข้อที่ได้ตกลงกับท่านไว้ตั้งแต่ตอนต้น   เนื่องจากไม่มีข้อมูลอื่นเพิ่มเติมนอกจากนั้น  (และท่านไม่ได้ตอบอีเมล์ครูน้อยในช่วงนั้น  รวมถึงไม่ได้เข้ามาที่โรงเรียนด้วย)

 

จากนั้นก็ถึงกำหนดส่งร่างแรก   ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาท่านก็หายป่วยพอดี    หลังจากที่ท่านได้ดูร่างแรก   ท่านก็แสดงความเห็นแก้ไขต่างๆ ในรายละเอียด   และบอกว่าครูน้อยน่าจะใช้เป็น thesis proposal ได้   และมันไม่น่าจะเสร็จทันเทอมนี้   และ..ครูน้อยน่าจะเปลี่ยนไปเขียน review paper ในหัวข้อที่ใกล้เคียงแทน

 

ในเวลานั้น  ครูน้อยก็มึนตึ้บเลยค่ะ  เหลืออีกหนึ่งเดือนกับแปดวันจะถึงกำหนดส่ง paper ฉบับเต็ม   แต่อาจารย์ขอแก้  หรือพูดอีกนัยก็คือขอยกเลิกงานที่ครูน้อยทำไปแล้วทั้งหมด   และขอให้ทำของใหม่   ซึ่งอาจารย์ก็โน้มน้าวครูน้อยว่า   การเขียน review paper ในหัวข้อที่ท่านต้องการนั้น   เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครเขียนมาก่อน   และมีโอกาสที่จะได้ตีพิมพ์สูง   อีกทั้งเนื่องจากมันเกี่ยวเนื่องกับ thesis ของครูน้อยที่เคยปรึกษากับท่าน  เพราะฉะนั้น  โอกาสที่ครูน้อยจะได้นำ review paper ไปใช้ฉบับนี้ไปใช้เป็น review chapter ของ thesis หรือ dissertation ของตนเองมีสูงตามไปด้วย

 

ครูน้อยยอมรับว่าเหตุผลของอาจารย์นั้นฟังขึ้นทุกประการ   เพียงแต่ระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณสี่ห้าอาทิตย์นี้   ครูน้อยจะทำได้สำเร็จหรือไม่   เพราะเป็นช่วงเข้าสู่ final exam แล้ว   แน่นอนว่าครูน้อยต้องสอบไล่หนึ่งวิชา  ต้องส่ง paper อีกสองวิชา  และระหว่างนั้นก็มีการบ้านของอีกสองวิชาด้วยเช่นกันในทุกสัปดาห์    ครูน้อยจึงขอต่อรองอีกครั้ง  ว่าถ้าหากไม่เสร็จ   ขอให้อาจารย์ยืดเวลาออกไปในช่วงซัมเมอร์ให้ครูน้อยมีเวลาในการเขียน paper นี้ให้ดีที่สุด  (ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการทำ independent study ที่นี่  ซึ่งครูน้อยได้สอบถามมาก่อนหน้านี้แล้ว  รวมถึงได้ทำมาแล้วด้วยครั้งหนึ่ง)    ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่าขอให้ครูน้อยทำให้ดีที่สุด   ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น  และอาจารย์จะพิจารณาเอง

 

จากนั้น ครูน้อยก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำไปอย่างที่อาจารย์ต้องการ   โดยไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร   แต่ก็พยายามทำอย่างเต็มที่   หลักการของครูน้อยก็คือทำให้ดีที่สุด   ไม่ได้ทำครึ่งๆ กลางๆ อย่างที่นักศึกษาคนอื่นๆ มักจะเลือกทำ   (ตามที่ได้เคยถามเพื่อนๆ มา   หลายคนมักจะเลือกส่งแบบบางส่วน   มากกว่าจะส่งครบ  เพื่อให้สามารถเลื่อนไปอีกภาคการศึกษาได้)    แต่ก็ตั้งใจว่าจะขออาจารย์ให้โอกาสในการ revise อีกสักรอบเพื่อความสมบูรณ์  

 

และก็ถึงวันส่งงาน  ครูน้อยก็สามารถทำส่งแบบ paper เต็มฉบับได้ตามที่ตกลงกับอาจารย์ไว้    ซึ่งอาจารย์เองก็ออกปากหลังจากได้อ่านว่า   ไม่อยากเชื่อว่าครูน้อยจะทำได้จนสำเร็จ   เพราะปริมาณบทความวิจัยที่ครูน้อยต้องอ่านในช่วงเวลาอันน้อยนิดก่อนที่จะเขียน review paper ได้นั้น  มีหลายร้อยบทความเลยทีเดียว

 

ทุกอย่างฟังดูเรียบร้อยดีใช่ไหมคะ   เพียงแต่..อาจารย์ท่านไม่ให้โอกาสครูน้อยในการแก้ไขงานอย่างที่ตั้งใจตามที่เคยตกลงกันไว้    ตรงนี้ครูน้อยยอมรับว่าผิดหวังมาก  ผู้อ่านท่านอื่นๆ อาจจะคิดว่า  ทำไมจะต้องผิดหวัง   ทุกอย่างก็ดูโอเค   ครูน้อยก็ได้เกรดค่อนข้างดี   แม้ว่าจะไม่ได้โอกาสในการแก้ไขงานเพื่อทำเกรดให้ดีขึ้นไปอีกตามที่ได้ตกลงกันไว้เดิม    แต่ความรู้สึกครูน้อยไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ

 

อาจารย์อาจจะมีมาตรฐานของท่าน   แต่ครูน้อยก็มีมาตรฐานในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์เช่นกันค่ะ   ครูน้อยยึดถือในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจและการให้โอกาสเป็นอย่างมาก   และความรู้สึกของครูน้อยที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้ก็คือความเสียใจที่อาจารย์ไม่ทำตามที่ท่านได้ตกลงไว้     แม้ว่าครูน้อยจะทั้งขอร้องและต่อรองกับท่านอย่างเต็มความสามารถแล้ว

 

เรื่องราวปั่นป่วนก็มีเท่านี้ล่ะค่ะ   ทุกคนที่ครูน้อยรู้จักจะบอกเสมอว่า  อาจารย์ที่ปรึกษาของเรามีความสำคัญที่สุดในการที่เราจะเรียนเอกจบหรือไม่จบ    และครูน้อยก็ตระหนักดีในเรื่องนั้น    สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ครูน้อยขาดความมั่นใจในอนาคตตัวเองในการเรียนและทำงานวิจัยต่อที่นี่อยู่พอสมควร

 

ฟังดูเหมือนครูน้อยคิดมากไปหรือเปล่าคะ   จริงๆ ในรายละเอียดมันก็มีเรื่องราวหลายอย่างที่ทำให้ขาดความมั่นใจน่ะค่ะ    แต่ครูน้อยก็ยังมีกำลังใจในการเรียนต่อที่นี่นะคะ   เพียงแต่ยอมรับตัวเองคงต้องหากลยุทธ์ในการรับมือกับชีวิตให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาเท่านั้นเองค่ะ

 

ผ่านมาถึงตอนนี้   ใช้ทางธรรมะและทางโลกเข้าข่ม (ด้วยการท่องเที่ยวและไปเยี่ยมเยียนอาจารย์ที่เคยเรียนและทำงานกับท่านตอนสมัยปริญญาโทค่ะ   ได้กำลังใจมาเพียบ)   ก็รู้สึกดีขึ้นมาก   พยายามทำความเข้าใจว่าทัศนคติของแต่ละคนย่อมจะไม่เหมือนกัน   ครูน้อยได้เจอกับอาจารย์ที่น่ารักและให้โอกาสกับตัวเองมามากมายหลายท่าน   ตั้งแต่เรียนตรีจนถึงเอก   ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ   พอมาเจอเรื่องแบบนี้เข้าเป็นครั้งแรก   ก็เลยเกิดอาการสติแตก   จริงๆ น้องที่เรียนเอกเหมือนกัน  แต่อยู่อีกคณะเล่าให้ฟังว่า  เขาเจอหนักกว่านี้อีก   คือเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษามาสามคนแล้ว  โดยเจอเหตุการณ์ทอดทิ้งกลางคันอีกด้วย   เพราะฉะนั้น  เรื่องที่ครูน้อยเจอถือว่าเป็นเรื่องเล็กๆ มากทีเดียว

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ   บ่นยาวเลย   ท่านผู้อ่านเบื่อกันบ้างหรือเปล่า   คราวต่อไปครูน้อยจะเล่าเรื่องสนุกๆ มากกว่านี้นะคะ    และคิดว่าคงไม่ต้องรอกันอีกเทอมแน่ๆ  (หรือไม่แน่..  พูดเล่นค่า..) 

 

แล้วเจอกันเดือนหน้าค่ะ..

 

คำสำคัญ (Tags): #knowledge management#lndependent study
หมายเลขบันทึก: 267274เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วยังเข้าใจไม่ชัดครับ เอาไว้คุยกันวันจันทร์หน้านะครับ

ประสบการณ์เผชิญมรสุม เป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เอาไว้ใช้ในการทำหน้าที่อาจารย์ และในการดำรงชีวิต ในภายหน้าได้เป็นอย่างดี คนที่ไม่เคยเจอมรสุม ถือว่าขาดทุน หรือชีวิตไม่เต็มเปี่ยม

วิจารณ์

  • มาให้กำลังใจ
  • ขอให้มีความสุขมากๆๆ
  • เป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับการเรียนปริญญาเอก
  • เอาใจช่วยขอให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี
  • ขอบคุณที่เล่ามาเพื่อเป็นบทเรียนต่อคนอื่นๆต่อไป
  • ขอบคุณมากครับ

ฟ้าหลังฝน ย่อมสดใสกว่าฟ้าไดๆค่ะ เอาใจช่วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท