ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กิจกรรม ในการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ข้อเสนอในการจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ เพื่อเสนอต่อการประชุมคณะกรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งยกร่างโดยอาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

 

ข้อเสนอในการจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ 

 

(๑)               ความเป็นมา

 

สืบเนื่องจากมีการจัดตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ โดยผลของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.๒๕๕๑ หลังจากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากการประชุมได้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำงานในรายละเอียดทั้งการจัดทำข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการที่นำสู่การปฏิบัติการที่เป็นไปได้จริงและมีประสิทธิภาพ

ต่อมา ในวันที่ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ได้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อหารือถึงแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยได้บรรลุถึงยุทธศาสตร์หลัก ๕ ด้าน กล่าวคือ (๑) ยุทธศาสตร์ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (๒) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (๓) ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมวัฒนธรรมการบริโภคสื่ออย่างเหมาะสม (๔) ยุทธศาสตร์การกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการสื่อทุกแขนงอย่างเป็นระบบ  (๕) ยุทธศาสตร์การรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักสำหรับทุกภาคส่วนในสังคม

          เพื่อให้เกิดการทำงานในรายละเอียดในภาคปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการกำหนดรายละเอียดของการทำงานในแต่ละยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกัน รวมถึง การจัดทำยุทธวิธีในการทำงานและผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงาน

 

(๒)             ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงาน

 

๒.๑ ยุทธศาสตร์ด้านการบังคับใช้กฎหมาย

 

เป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน (๑) เพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่โดยองค์กรที่รับผิดชอบตามกฎหมายเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (๒) เพื่อปฏิรูปกฎหมายที่มีอยู่ให้สามารถใช้บังคับได้จริงในทางปฏิบัติ (๓) เพื่อพัฒนากฎหมายที่เน้นระบบการส่งเสริมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเรื่องของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การใช้มาตรการทางภาษี (๔) เพื่อพัฒนากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน และ (๕) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน ส่วนภูมิภาค และ ส่วนกลาง

ข้อเสนอเชิงมาตรการในการทำงานและผลลัพธ์ในการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน เสนอให้มีการจัดทำมาตรการใน ๓ ระยะ โดยการจัดทำกิจกรรม ดังนี้

Ø มาตรการระยะสั้น บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

Ø กฎหมายที่มีผลต่อการปราบปรามสื่อที่เป็นภัยต่อสังคมไทย ทั้ง กฎหมายอาญา กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยการจัดทำโครงสร้างในการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดการเชิงระบบเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย

o   จัดทำระบบมาตรการ กลไกในการจัดการสื่อใหม่และสื่อเก่าที่ไม่ปลอดภัย

Ø เร่งรัดให้เกิดการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายในประเด็นที่เกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ ทั้งประเด็นเรื่องของการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ การโฆษณาในรายการบางประเภท ในระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรเจ้าภาพตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๐

Ø มาตรการระยะกลาง ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเดิมให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ และ การพัฒนากฎหมายที่เน้นระบบการส่งเสริมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวคือ

Ø จัดทำพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.....

Ø ผลักดันพระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ... เพื่อทำให้เกิดการอุดช่องว่างทางกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามสื่อที่เป็นภัยต่อสังคมไทย

Ø จัดทำมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในรูปพระราชกฤษฎีกาให้นำเงินการบริจาคมาใช้เป็นส่วนลดหย่อนภาษีได้มากกว่าหรือเท่ากัน ๒ เท่าของจำนวนเงินที่บริจาคจริง

Ø เร่งรัดกฎกระทรวงภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑

Ø แก้ไขปรับปรุงให้มีการจัดระดับความเหมาะสมของเกมคอมพิวเตอร์ภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑

Ø แก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบการร้านวีดีทัศน์โดยให้สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑

Ø มาตรการระยะยาว ดำเนินการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็ก เยาวชน ซึ่งยังคงต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 

๓.๒ ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

เป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน ประกอบด้วย (๑) การส่งเสริมแรงจูงใจในการผลิต สร้างสรรค์สื่อในรูปของเงินทุน มาตรการทางภาษี (๒) การสนับสนุนการผลิต พัฒนาสื่อทั้งในสื่อเก่า และ สื่อใหม่ (๓) การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผู้ผลิตสื่อที่มีคุณภาพและจิตสำนึกสาธารณะ (๔) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นกระแสสังคม

ข้อเสนอเชิงมาตรการในการทำงานและผลลัพธ์ในการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน เสนอให้มีการจัดทำมาตรการใน ๓ ระยะ โดยการจัดทำกิจกรรม ดังนี้

Ø มาตรการระยะสั้น ดำเนินโครงการที่เน้นการส่งเสริมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

Ø ในรูปของการสนับสนุนด้วยเงินทุน ทั้งในรูปแบบของการลงทุน หรือการร่วมลงทุน สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต้นแบบ โดยเสนอให้มีการทดลองระดมเงินทุนจากแนวคิดเรื่องการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ รวมถึง การระดมทุนจากหน่วยงานของรัฐ ที่นำไปสู่การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ต้นแบบทั้ง ๖ ประเด็นทั้งในสื่อเก่าและสื่อใหม่ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม

o   เสนอให้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจัดทำเกณฑ์การประเมินรัฐวิสาหกิจโดยอาศัยเกณฑ์ในการสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์

Ø มาตรการระยะกลาง ดำเนินการจัดทำระบบการส่งเสริมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย

Ø การจัดทำกฎหมายว่าด้วยกองทุนสื่อสร้างสรรค์ (มีการศึกษาวิจัย การประชาพิจารณ์และ การจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยกองทุนสื่อสร้างสรรค์แล้ว)

Ø การใช้มาตรการทางภาษี เพื่อเป็นการระดมเงินทุน และ การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการด้านธุรกิจต่างๆ

Ø มาตรการระยะยาว ดำเนินการสร้าง พัฒนา และ เสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์สื่อเชิงคุณภาพให้กับผู้ผลิตสื่อ

Ø การจัดทำโครงการในรูปแบบของการประกวดการจัดทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่องทั้งในสื่อเก่า และ สื่อใหม่ ที่ครอบคลุมทั้ง ๖ ประเด็นความรู้ โดยเน้นกระบวนการในการอบรม และ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อระหว่างเครือข่าย

Ø ส่งเสริมการพัฒนาประมวลจริยธรรมและแนวปฏิบัติที่ดีของสื่อแต่ละแขนงที่เป็นไปเพื่อการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว

 

๓.๓ ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมวัฒนธรรมการบริโภคสื่ออย่างเหมาะสม

 

เป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน ประกอบด้วย (๑) การสร้างภูมิคุ้มกัน การเรียนรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน (๒) การจัดทำพื้นที่ในการเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน (๓) การส่งเสริมให้เกิดการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม (๔) การพัฒนาเครือข่ายในการเฝ้าระวังเพื่อนำไปสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาสื่อระหว่างภาคีเครือข่าย

ข้อเสนอเชิงมาตรการในการทำงานและผลลัพธ์ในการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน เสนอให้มีการจัดทำมาตรการใน ๓ ระยะ โดยการจัดทำกิจกรรม ดังนี้

Ø มาตรการระยะสั้น ดำเนินการด้านการสร้างภูมิคุ้มกันในการเลือกรับสื่อ การเรียนรู้เท่าทันสื่อให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้ง การพัฒนาให้เกิดพื้นที่ในการเรียนรู้เท่าทันสื่อสร้างสรรค์และพื้นที่สร้างสรรค์ในการเข้าถึงสื่อ

o   ทั้งในรูปแบบของกิจกรรมระยะสั้นที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ผ่านเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ต่างๆ 

§  การอบรม โดยอาศัยหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต และ เกมคอมพิวเตอร์ที่มีการพัฒนาขึ้นแล้ว

o   การปฎิรูประบบหลักสูตรการศึกษาการเรียนรู้เท่าทันสื่อทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาตามอัธยาศัย

§  ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อเพื่อบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา

o   การพัฒนาให้ร้านเกมคาเฟ่ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในการเรียนรู้สื่อใหม่ โดยเน้นระบบการส่งเสริมการลงทุน และ การมีส่วนร่วมของชุมชน

§  จัดทำโครงการร้านเกมคาเฟ่ปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยอาศัยผลการศึกษาวิจัยโครงการร้านเกมปลอดภัยและสร้างสรรค์

Ø มาตรการระยะกลาง ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม โดยเน้นกลุ่มเด็ก และ เยาวชน

o   การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว ในการสร้างสรรค์ พัฒนา ผลิต สื่อในรูปของกิจกรรมการสนับสนุนการจัดทำสื่อท้องถิ่นโดยชุมชนมีส่วนร่วม

§  ดำเนินการด้านงบประมาณในระดับท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดทำสื่อชุมชนโดยเครือข่ายเด็ก เยาวชน ทั้งในสื่อเก่าและสื่อใหม่

§  จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของการทำงานระหว่างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

o   ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเด็ก เยาวชน ครอบครัว ในการติดตามเฝ้าระวังสื่อ

§  โดยใช้เครื่องมือในสื่อใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ me.in.th

§  เสนอให้หารือร่วมกับกระทรวง พม. ในการพัฒนาโครงสร้างการเฝ้าระวังสื่อในเครือข่ายเด็กและเยาวชน

Ø มาตรการระยะยาว เน้นการพัฒนาโครงสร้างที่ยั่งยืนในการติดตามเฝ้าระวังที่ใช้แนวคิดเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย รวมถึง การพัฒนาองค์กรการคุ้มครองผู้บริโภคในกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน

o   การจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนา สร้างสรรค์สื่อแต่ละประเภทระหว่างเครือข่าย

o   การพัฒนาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของสภาผู้บริโภค

 

๓.๔ ยุทธศาสตร์การกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการสื่อทุกแขนงอย่างเป็นระบบ

 

เป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน ประกอบด้วย (๑) การพัฒนาระบบโครงสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภาคส่วนเดียวกัน (แนวระนาบ) และระหว่างภาคส่วน (แนวดิ่ง) (๒) การพัฒนากลไกการทำงานที่เชื่อมต่อระหว่างการทำงานในระดับชุมชน ภูมิภาค และ ส่วนกลาง (แนวโครงข่าย)

ข้อเสนอเชิงมาตรการในการทำงานและผลลัพธ์ในการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน เสนอให้มีการจัดทำมาตรการใน ๒ ระยะ โดยการจัดทำกิจกรรม ดังนี้

Ø มาตรการระยะสั้น  ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับชุมชน ระดับภูมิภาคที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์หลักใน ๕ ด้าน

o   เสนอให้คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในจัดทำกิจกรรมการเยี่ยมกัลยาณมิตรคณะอนุกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับจังหวัดเพื่อร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค

Ø มาตรการระยะยาว ดำเนินการบูรณาการยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคเพื่อจัดทำแผนแม่บทหลักในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

๓.๕ ยุทธศาสตร์การรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักสำหรับทุกภาคส่วนในสังคม

เป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน ประกอบด้วย (๑) การรณรงค์กระแสสังคมเพื่อให้คนในสังคมรับรู้ร่วมกันถึงความสำคัญในการสนับสนุนสื่อคุณภาพ (๒) การพัฒนาโครงสร้างด้านการสื่อสารสาธารณะด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ข้อเสนอเชิงมาตรการในการทำงานและผลลัพธ์ในการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายหลักอันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน เสนอให้มีการจัดทำมาตรการใน ๒ ระยะ โดยการจัดทำกิจกรรม ดังนี้

Ø มาตรการระยะสั้น การจัดทำการประชาสัมพันธ์สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ผ่านทางช่องทางสื่อสาธารณะในรูปแบบต่างๆ การพัฒนาระบบการประชาสัมพันธ์ในระยะยาว

o   เสนอให้หารือร่วมกับสื่อสาธารณะทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างสรรค์ต้นแบบ

Ø มาตรการระยะยาว การจัดทำศูนย์ข้อมูลด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสืบค้นข้อมูลด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทั้งในรูปแบบบของสื่อเก่า และ สื่อใหม่

 

 

 

 

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับนำเสนอกรรมการสื่อ >>>

หมายเลขบันทึก: 266868เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2009 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท