KM Workshop ต้องมีกิจกรรม จัดการ "ความไม่รู้" อยู่ในนั้นด้วย


ในใจผมนั้นคิดเสมอว่าเรื่องการจัดการความรู้ หรือ KM นั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการจัดการความไม่รู้เสมอ

         เมื่อวาน (8 มิ.ย.) ในงานสัมมนา KM Workshop ที่ทาง สคส. จัดให้กับสำนักงานศาลยุติธรรม (สถาบันวิจัยรพีพัฒน์ฯ) ช่วงเช้าผมพูดคำว่า การจัดการความรู้ ค่อนข้างจะบ่อย ในระหว่างที่พักทานอาหารกลางวันท่านผู้พิพากษาท่านหนึ่งได้ถามผมว่า . . . เราน่าจะให้ความสนใจ จัดการ ความไม่รู้ ด้วยไหม? เพียงแค่ได้ยินคำถามนี้ ผมก็รู้ดีว่าท่านผู้พิพากษาท่านนั้นมองเรื่องนี้ได้กว้างไกลเพียงใด?

         จริงๆ แล้วผมคิดว่าท่านน่าจะอ่านใจผมได้ เพราะในใจผมนั้นคิดเสมอว่าเรื่องการจัดการความรู้ หรือ KM นั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการจัดการความไม่รู้เสมอ และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม KM Workshop ของ สคส. จึงมักเริ่มต้นที่กิจกรรม . . . การฟังอย่างมีสติ . . . การเปิดใจ . . . การเรียนรู้ตัวตน อะไรทำนองนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรม KM

         หากจะพูดให้สั้นๆ ก็คือการให้ความสำคัญกับการจัดการทั้งส่วนที่เป็น ความรู้และ ปัญญา ผมว่าปรมาจารย์หรือบรมครูที่สอนเรื่อง การจัดการความไม่รู้ ที่ทุกท่านรู้จักกันดีก็คือ พระพุทธเจ้า ท่านสอนเราว่าถ้าสามารถจัดการหรือกำจัด ความไม่รู้ (อวิชชา) ที่ว่านี้ได้ เราก็จะได้พบกับความสว่างที่อยู่ภายใน จะเรียกว่าปัญญาก็ได้ พบกับจิตประภัสสรก็ได้ เข้าสู่สุญญตา ความว่าง ความเป็นหนึ่งเดียว หรือที่พระเยซูใช้คำว่าการกลับมาสู่บ้านที่แท้จริง (ถึงภาษาที่ใช้ อาจจะแตกต่างกันไป แต่น่าจะหมายถึงสภาวะเดียวกัน !?)

         นั่นคือความรู้สึก(นึกคิด)ของผมในเรื่องนี้ รบกวนท่านที่มีใจเมตตาช่วยกรุณาชี้แนะเพิ่มเติมด้วย ถือว่าเป็นการช่วยไม่ให้หลงทางเข้ารกเข้าพงน่ะครับ

หมายเลขบันทึก: 266822เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2009 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

ผมอ่านในหนังสือของท่าน Osho ที่อาจารย์ประพนธ์ได้แปลไว้

มีพูดถึง "ความไม่รู้" ด้วย

ประมาณว่า ภูมิปัญญาตะวันตก พยายามจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้กระจ่างชัด โดยไม่เข้าใจว่า โลกนี้มีสิ่งที่รู้ไม่ได้ Unknown ซึ่งความรู้ไม่ได้นี้เอง ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่กลับเป็นเสน่ห์ ความลึกลับ ให้ชีวิตมีความตื่นเต้นพิศวงอยู่เสมอ

ไม่รู้จะตรงกันหรือเปล่าครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ในทัศนะของกะปุ๋มนะคะ... "ความรู้" คือ สภาวะที่เคลื่อนไปจากความไม่รู้ หรืออวิชชา และเมื่อใดที่เราได้เปิดประตูใจใคร่ครวญและมองเห็นถึงความไม่รู้ และเหตุแห่งความไม่รู้นั้น ...สภาวะก็จะเริ่มเครื่อนไปสู่สภาวะรู้

กะปุ๋มว่าเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท" เป็นกระบวนสร้างความรู้ที่เกิดขึ้นอยู่ในกระบวนการทางปัญญา และพระพุทธองค์ท่านทรงอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม อันเป็นเรื่องของการสร้างความรู้ และการจัดการความรู้ค่ะ

อวิชชา ==> วิชชา

ความไม่รู้ ==> ความรู้

ด้วยความนับถือค่ะ

(^___^)

กะปุ๋ม

ขอบคุณทั้งสองท่านสำหรับ "การแบ่งปัน" ที่สร้างสรรค์ "ปัญญา" ครับ

   การจัดการความไม่รู้ ในมุมมองของผม ต่างกับการจัดการความรู้ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น โดยการจัดการความไม่รู้มุ่งเน้นที่ตัวความรู้ มุ่งค้นหาว่าขาดความรู้ด้านใด เพื่อนำมาแก้ไขปิดจุดอ่อนของหน่วยงาน  บรรยากาศก็คงไม่ค่อยสดชื่นเท่าใดนักเพราะต้องพยายามช่วยกันหาจุดอ่อนของตัวเองว่ายังไม่รู้เรื่องใดบ้าง แม้นว่าจะหาความรู้มาได้แต่ก็เป็นแนวเชิงลบ

   การจัดการความรู้เริ่มที่คน มองหาความสำเร็จน้อยใหญ่เพื่อนำมา ลปรร.ด้วยความชื่นชมยินดี เป็นแนวเชิงบวก

   ผลที่ได้ คงได้ความรู้เช่นเดียวกันแต่ความรู้สึกและบรรยากาศคงต่างกันมากทีเดียวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท