กุญแจสู่ความร่วมมือของ อปท.ด้านการป้องกันเอดส์


อบต., เทศบาล , ป้องกันเอดส์

บทความพิเศษ....กุญแจสู่ความร่วมมือของ อปท.ด้านการป้องกันเอดส์

 ภก. เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ

              ต่อเนื่องไว้จากครั้งที่แล้ว ครั้งนี้ผมจะมาถ่ายทอดประสบการณ์เรื่อง  "กุญแจสู่ความร่วมมือของ อปท.ด้านการป้องกันเอดส์ " ซึ่งผมได้ค้นพบกุญแจจากประสบการณ์การทำงาน 

                ผมและทีมงานได้มีโอกาสลงพื้นที่ประเมินผลการทำงานด้านเอดส์ในระดับจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง  โดยมุ่งเน้นการประเมินผลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พวกเราเลือกจังหวัด 5 จังหวัดเป้าหมาย  แล้วทำการสุ่มอย่างง่าย  ได้จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นตัวแทนของจังหวัด   จากนั้นก็หาฐานข้อมูลจาก สปสช.เขตพิษณุโลก  ว่า อปท.ใดที่ได้รับเงินสนับสนุนกองทุนสุขภาพตำบลจาก สปสช. บ้าง 

             แล้วจึงทำการสุ่มเลือกอำเภออีก 2 อำเภอ  คืออำเภอเมือง ( สุ่มแบบเฉพาะเจาะจง ) และอำเภอวิชียรบุรี ( สุ่มอย่างง่าย )  เพื่อเปรียบเทียบกัน   แล้วทั้ง 2 อำเภอก็ถูกสุ่มอย่างง่ายเลือก อปท.และเทศบาลอีกครั้ง ( ดังแผนภูมิด้านล่าง )

จากนั้นผมและทีมงานได้นัดหมายพร้อมลงพื้นที่ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก ( Indept  interview ) และทำ Focus Group  ผู้บริหาร อปท.เช่น นายกเทศมนตรี , นายก อบต. , ปลัด อปท. , ผู้นำชุมชน , ประธาน อสม. ฯลฯ  ใน อปท.เป้าหมายในช่วงเดือนธันวาคม 2551  ซึ่งผมได้สรุปข้อค้นพบที่ผมคิดว่าเป็นปมปัญหาการทำงานด้านเอดส์ของ อปท. อยู่ 3 ประเด็นสำคัญคือ

       ข้อค้นพบที่ 1 การขาดข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในหมู่บ้านและตำบล  ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ส่งผลให้ไม่มีข้อมูลให้ผู้บริหารและประชาคมได้ตัดสินใจให้ความสำคัญกับปัญหาของชุมชน

 

                 ผู้บริหาร อปท.รู้ข้อมูลเพียงว่า  ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ที่มีในพื้นที่ก็คือคนที่มาขอรับเบี้ยยังชีพเท่านั้น  เพราะเขาไม่มีโอกาสจะได้รู้ข้อมูลเลยว่าในพื้นที่ของเขามีผู้ติดเชื้อท่าไรแน่  ไม่เคยมีใครบอกเขาเลย  ทำประชาคมงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบล  ประชาคมงบประมาณประจำปี อปท.เอง  เรื่องเอดส์ถูกตีตกไปทุกครั้ง  เพราะชุมชนทราบเพียงว่า ไม่มีผู้ป่วยเลยหรือมีก็เพียงเล็กน้อย   ไม่เป็นปัญหาของชุมชน  ดังนั้นงบประมาณดำเนินการเรื่องเอดส์จึงแทบไม่เคยผ่านประชาคมสักครั้ง   พอทีมงานผมนำตำเลขจำนวนผู้ป่วยที่ไปค้นมาจากระบบของโรงพยาบาล  ผู้บริหาร อปท.ทุกแห่งแทบลมจับ  เพราะแต่ละปีพื้นที่ อปท.เขาไม่เคยมีคนมารับเบี้ยยังชีพเลย  แต่กลับมีผู้ป่วยในพื้นที่ถึง 50 กว่าคนหรือเกือบ 100 คนก็มี 

                 สิ่งที่ผู้นำชุมชนพูดตรงกันก็คือ  ถ้าเขารู้จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชนของเขาจะต้องสนับสนุนงบประมาณด้านเอดส์ให้แน่นอน  อาจเป็นในรูปการส่งเสริมอาชีพ  การป้องกันเอดส์ในเยาวชน ฯลฯ 

                   ลองคิดดูนะครับแค่ชุมชนรู้ว่ามีใครเป็นไข้เลือดออกสักรายสองราย  อปท.เขาก็สนับสนุนทุกอย่างทั้งงบประมาณและการพ่นหมอกควัน  เพราะเขามีความรู้ที่จัดการเพียงเท่านี้   แต่ถ้าเชิงลึกมากกว่านี้เขาก็ยังหวังพึ่งพิงทางสาธารณสุขอยู่ 

                    แต่นี่ชุมชนไม่รู้ว่ามีจำนวนผู้ป่วยเลยสักคน  แล้วจะให้ชุมชนสนับสนุนการทำประชาคมระดมทรัพยากรชุมชนได้อย่างไร ?  เขาเหล่านั้นคิดตรงกันว่า เอดส์ไม่ใช่ปัญหาของชุมชนเขา  

 

           ข้อค้นพบที่ 2 การไม่กล้าเปิดเผยตัวเพื่อรับเบี้ยยังชีพของผู้ป่วยเอดส์  เพราะกลัวผลกระทบจากชุมชน  ส่งผลให้มีงบเบี้ยยังชีพเหลือจำนวนมากใน อปท. 

                    สิ่งที่พบคือมีผู้ป่วยเอดส์ไปแสดงตนเพื่อรับเบี้ยยังชีพจำนวนน้อยรายมาก  เพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของงบประมาณที่ อปท.ตั้งไว้เท่านั้น  และถ้าเทียบแล้วไม่ถึงร้อยละ 5 ของจำนวนผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส  ในเขตพื้นที่นั้นเสียด้วยซ้ำ....ทำไมล่ะหรือ ?

                    ก็เพราะการที่ผู้ป่วยไปเปิดเผยตัวเองเพื่อรับเบี้ยยังชีพที่ อปท.เดือนละ 500 บาทนั้น  อาจส่งผลทำให้ชีวิตของเขา ลูกหลาน และครอบครัว  นับแต่บัดนั้น  ต้องเปลี่ยนแปลงไปแบบย้อนกลับไม่ได้  เขาและครอบครัวเกรงกลัวการถูกรังเกียจจากชุมชนที่อาจยังไม่เข้าใจ  เขากลัวการถูกแบ่งแยกและกีดกัน  เขากลัวทุกสิ่งทุกอย่างที่ชุมชนจะรู้ความลับของเขา  เพราะคนที่ทำงานใน อปท.ก็คือลูก ๆ หลาน ๆ ของคนในชุมชนนั่นเอง  ความลับที่เคยลับก็จะถูกเปิดเผยให้รู้ทั่วกันก็คราวนี้

                    เมื่อคิดได้อย่างนี้เขาก็เลยไม่เปิดเผยตัวไปรับเบี้ยยังชีพเสียดีกว่า  ใจก็อยากได้รับการสงเคราะห์ที่รัฐจัดให้  แต่ก็กลัวผลที่ตามมาที่คาดเยากหากต้องไปแสดงตัวต่อ อปท.เพื่อรับเบี้ยยังชีพ  ผลก็คืองบประมาณเบี้ยยังชีพแต่ละ อปท.เหลือบานเบอะ  บางแห่งแต่ละปีไม่ได้เบิกจ่ายเลยสักบาท  ทั้งที่ผู้ป่วยเอดส์ในพื้นที่มีจำนวนมากหลายสิบคน.....

                    

           ข้อค้นพบที่ 3 การไม่มีโครงสร้างคณะทำงานทางนิตินัยด้านโรคเอดส์ในชุมชน   ส่งผลให้การประชุมต่าง ๆ เป็นแค่พฤตินัยและประชุมรวมกับหัวข้ออื่น ๆ  ผู้นำชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เห็นสภาพปัญหาอย่างเป็นทางการของโรคเอดส์

                    ชุมชนทุกแห่งที่ทีมงานผมทำการประเมินผล ไม่มีแห่งใดเลย ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานด้านเอดส์ของชุมชน   การทำงานปรึกษาหารือกันเรื่องเอดส์จึงเป็นแค่เรื่องจร  เรื่องผ่าน ๆ  รวมกับเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น  เบาหวาน  ความดัน ฯลฯ  พอถึงเรื่องเอดส์  ผู้ร่วมประชุมเลยไม่สนใจ  เพราะไม่มีข้อมูลใด ๆ ให้ที่ประชุมพิจารณา  ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี  ในชุมชนก็ไม่มี  ผู้มาขอรับเบี้ยยังชีพก็ไม่มี  ก็ไม่รู้จะคุยกันไปทำไม ?

                   ผลที่ได้รับก็คือ  ชุมชนเองก็ไม่ทราบสภาพปัญหาที่แท้จริงด้านเอดส์ของชุมชน  เมื่อไม่ทราบปัญหา  ก็คิดว่าเอดส์ไม่ใช่ปัญหาของพวกเขา  นี่คือความเป็นจริงของชาวบ้าน  ปัญหาของเขาจะต้องเป็นสิ่งที่เขารับรู้และจับต้องได้เท่านั้น 

                   

                   สิ่งที่ผมต้องกลับมานั่งคิดคือคำพูดที่ว่า สาธารณสุขน่ะศึกษาชุมชน  แต่ไม่เคยให้การศึกษาชุมชนเลย  แต่กลับข้ามขั้นตอนไปให้การศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนเลย    ผมฟังตอนแรกก็งง ๆ แต่พอมานั่งทบทวนก็จริงของเขา  โรงพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยแต่ละตำบลในมือ  แต่ไม่มีโรงพยาบาลใดเลยที่บอกจำนวนผู้ป่วยนี้กับชุมชน  แต่กลับไปสอนชุมชนว่าต้องป้องกันเอดส์ในเยาวชน....อือ..ก็แปลก  ก็ทำไมไม่บอกเขาล่ะว่าแต่ละตำบลมีผู้ป่วยกี่คน  ต่อจากนั้นให้เป็นภูมิปัญาชาวบ้านเขาเองว่าเขาจะแก้ไขปัญหาชุมชนเขาอย่างไร 

 

             เมื่อได้ข้อค้นพบปัญหา 3 ประเด็นหลักผมจึงเสนอกุญแจไขสู่ทางแก้ปัญหาให้ 3 ข้อเช่นกัน  คือ

 

กุญแจไขทางแก้ปัญหาที่ 1 ผลักดันในระดับนโยบายระดับจังหวัด  ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์  ส่งให้กับ สนง.สาธารณสุขอำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุก 6 เดือน  โดยต้องแยกเป็นรายตำบลและรายหมู่บ้าน

 

                 ผมเน้นนะครับ แค่ จำนวน   เท่านั้น  ไม่ได้หมายถึงที่อยู่ใด ๆ ทั้งสิ้น  แค่จำนวนแยกเป็นรายหมู่บ้าน  แต่ละตำบลก็เพียงพอแล้ว  ปีหนึ่งโรงพยาบาลทำเป็นสถานการณ์โรคเอดส์  ส่งให้สาธารณสุขอำเภอ  และ อปท.ในพื้นที่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น  ปรับฐานข้อมูลทุกภาคส่วนให้ตรงกัน  เราศึกษาชุมชนแล้ว  ต้องบอกผลการศึกษานั้นกับชุมชนครับ   อย่าเพิ่งข้ามไปบอกเขาว่าจะต้องป้องกันเอดส์ในเยาวชน   เอาแค่ให้ชุมชนเขารู้จำนวนผู้ป่วยในชุมชนก่อน  หลังจากนั้นให้โอกาสชุมชนเขาคิดเพื่อใช้ภูมิปัญาชุมชนเขาเอง   ว่าเขาจะจัดการกับตัวเลขผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ที่เขาทราบได้อย่างไร

                 ที่สำรวจไม่พบโรงพยาบาลใดเลยที่ทำแบบนี้  พบแต่เพียงทำรายงานจำนวนผู้ป่วยรวมภาพใหญ่ทั้งอำเภอ  อปท.แต่ละแห่งก็ไม่ทราบว่าจำนวนผู้ป่วยนั้นอยู่ในตำบลใด  ความตระหนักก็ยังไม่เกิด  เพราะข้อมูลนั้นมันกว้างไป  ต้องแคบลงกว่านี้ต้องลงลึกถึงรายตำบลรายหมู่บ้านเลย 

                 แล้วคำถามคือจะมีผลกระทบใดต่อผู้ติดเชื้อไหม  ผมตอบได้เลยว่าไม่มีครับ  เพราะข้อมูลเป็นแค่ จำนวน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด  แต่สิ่งที่ตามมาคือชุมชนต้องคิดหนัก  หากจะละเลยการแก้ปัญหาเอดส์  ในเมื่อตัวเลขมันจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเห็นอยู่ตรงหน้าและจับต้องได้  ผู้บริการ อปท.คงต้องคิดทำอะไรสักอย่างในการแก้ไขปัญหานี้  กองทุนสุขภาพตำบล  งบประมาณประจำปีของ อปท.คงหลีกหนีไม่พ้น  ที่จะต้องมีเรื่องของการแก้ไขปัญหาเอดส์บรรจุเข้าไปในแผนงบประมาณชอง อปท.   

 

            กุญแจไขทางแก้ปัญหาที่ 2  ผลักดันกำหนดให้ อปท.โอนงบเบี้ยยังชีพตามสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ในพื้นที่   มารวมไว้ที่ศูนย์เฉลิมพระเกียรติอำเภอ   แล้วให้โรงพยาบาลทำหลักฐานราชการ  และเบิก - จ่ายเบี้ยยังชีพที่โรงพยาบาลเวลาที่ผู้ป่วยมารับยาต้านไวรัสตามนัด   เป็นการลดการเผชิญหน้าของผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินโดยมีศูนย์เฉลิมพระเกียรติอำเภอเป็นตัวกลาง

 

                  เคยลองทบทวนดูไหมครับ  ว่าทำไมมีผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากยินดีเปิดเผยตัวที่โรงพยาบาลเพื่อไปรับยาต้านไวรัสรักษา ( ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยรับยาต้านไวรัสประมาณ 2 แสนคน )  แล้วทำไมผู้ป่วยรายเดียวกันจึงมีไม่ถึงร้อยละ 5 ที่เปิดเผยตัวต่อ อปท.เพื่อรับเบี้ยยังชีพ?  คำตอบก็คือ ไว้ใจหมอแต่ไม่ไว้ใจ อปท.   สั้น ๆ ครับแต่ได้ข้อสรุป

                 คำถามถัดมาคือ  แล้วทำไมต้องไปรับเบี้ยยังชีพที่ อปท. ผู้ป่วยไปรับที่โรงพยาบาลพร้อมกับวันนัดหมอที่นัดรับยาไม่ได้หรือ ? ....ถ้าโรงพยาบาลเผยแพร่จำนวนผู้ป่วยแยกรายตำบล....อปท.แต่ละแห่งในอำเภอก็โอนงบประมาณเบี้ยยังชีพตามสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ตนเองไปไว้ที่ศูนย์เฉลิมพระเกียรติอำเภอ  นายอำเภอลงนามคำสั่งตามระเบียบราชการ  เรื่องมอบหมายให้โรงพยาบาลทำและเก็บหลักฐานที่อยู่  แล้วทำการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพมาจ่ายให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในวันนัดรับยาประจำเดือนซะเลย   อปท.ก็ได้จ่ายงบประมาณเบี้ยยังชีพที่ตั้งงบไว้  หลักฐานก็เก็บไว้ที่อำเภอตรวจสอบได้  ผู้ป่วยก็ได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือน  ไม่ต้องเปิดเผยตัวต่อชุมชน  โรงพยาบาลก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย  จ่ายค่าเบี้ยยังชีพเป็นค่ารถค่ารามาโรงพยาบาล  ผู้ป่วยก็พอใจให้ความร่วมมือในการกินยาอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง  สุขภาพจิตก็ดี 

                   ทุกคนได้ประโยชน์  อปท.ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าจ่ายเงินให้ใคร  หน่วยตรวจสอบการใช้งบราชการก็ไปดูหลักฐานที่โรงพยาบาลทำได้ที่อำเภอ  เท่านี้ก็ช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามสิทธิที่เขาพึงได้ตามกฎหมาย

 

                กุญแจไขทางแก้ปัญหาที่ 3  จัดตั้งคณะอนุกรรมการเอดส์ตำบล

 

                คณะกรรมการเอดส์ชาติก็มีแล้ว  คณะอนุการเอดส์จังหวัดก็มีแล้ว  Provincial  Coordinating  Machanism ( PCM ) ก็มีแล้ว  คณะอนุกรรมการเอดส์อำเภอก็มีแล้ว  แต่ไฉนไม่มี คณะอนุกรรมการเอดส์ตำบล   ถ้าแต่งตั้งได้จะด้วยอำนาจของเทศบาลหรือ อปท.ก็ทำได้อยู่แล้ว  กฎหมาบบัญญัติให้ทำได้ชัดเจน  ในเรื่องอำนาจการควบคุมป้องกันโรค  อปท.สามารถออกประกาศ  อาศัยอ้างถึงข้อกฎหมายที่ถืออยู่  แต่งตั้งผู้มีความรู้  นายก อปท.  ครู อาจารย์  จนท.สาธารณสุข  ประธาน อสม. ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  ประชาชน  ผู้ติดเชื้อที่ยอมเปิดเผยตัว  ฯลฯ  จากทุกภาคส่วนในชุมชนเป็น คณะอนุกรรมการเอดส์ตำบล

                เมื่อมีคณะกรรมการทางนิตินัยแล้ว  ข้อมูลทุกอย่างก็จะหลั่งไหลถูกนำมากางพูดคุยปรึกษาหารือกัน  มีเวทีเฉพาะกิจที่เป็นเรื่องเป็นราว  มีขั้นมีตอน  มีวาระการประชุมเรื่องเอดส์  มีแนวทางที่เป็นระบบออกมาจากการหารือกัน  มีผลในทางกฎหมาย  มีมติที่ทุกคนในชุมชนยอมรับ  มีการผลักดันงบประมาณด้านเอดส์ผ่านประชาคม  ผ่านสภา อปท.

                เป็นกลไกในระดับพื้นที่ ๆ ที่ทราบปัญหาของชุมชนดีที่สุด  เพราะนี่คือบ้านของพวกเขา  ชุมชนของพวกเขา  โรงพยาบาลส่งข้อมูลจำนวนผู้ป่วยในตำบลให้เขาปีละ 2 ครั้ง  คณะอนุกรรมการเอดส์ตำบล   ก็จะมีข้อมูลให้ปรึกษากัน  ในการแก้ไขปัญหาเอดส์ของชุมชน  เป็นการใช้กลของชุมชนแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง  ตั้งเถอะครับ คณะอนุกรรมการเอดส์ตำบล   ผมเชื่อมั่นว่าเวทีนี้แหละจะเป็นหนทางระดมความคิดภูมิปัญญาชุมชนที่เป็นนิตินัย  และมีผลในทางปฏิบัติได้แน่นอน

             เล่ามาเสียยาวไว้โอกาหน้าหาก หากมีประเด็นใดใหม่  ผมจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง

ภก. เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ 

http://dpc9.ddc.moph.go.th/aids/cherkiat.html

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9  พิษณุโลก

 
หมายเลขบันทึก: 264490เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 03:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2012 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท