ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) ตอนสอง


ตอนสองต่อทันทีครับ...

------------------------------------------------------

แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่ใหม่มากบนแผนที่โลกด้วยอายุเพียงสองร้อยสามสิบปีเศษ ถ้านับช่วงอายุคนที่อพยพมาตั้งรกรากกันที่ทวีปนี้ก็เป็นรุ่นที่สามหรือสี่เท่านั้น แต่สิ่งที่น่ามหัศจรรย์อย่างหนึ่งสำหรับประเทศนี้คือจำนวนสถาบันที่ดำเนินการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้นมีถึงสี่พันกว่าแห่ง

อเมริกาทุ่มเงินกองโตที่กอบโกยจากการชนะสงครามโลกครั้งที่สองไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สนับสนุนการจับจองอสังหาริมทรัพย์ของชนชั้นกลางและที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนโฉมหน้าของอุดมศึกษาในประเทศด้วยการออกกฏหมาย G.I. Bill ที่จัดสรรเงินจำนวนมหาศาลในการสนับสนุนให้ทหารผ่านศึกได้เข้าศึกษาทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและอุดมศึกษา ผลที่ตามมาคือจำนวนสถาบันการศึกษาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อตอบรับความต้องการของทหารจำนวนนับไม่ถ้วนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกฎหมายนี้

แน่นอนว่าการขยายตัวของสถาบันอุดมศึกษานั้นเปลี่ยนประสบการณ์สังคมด้วยจำนวนของประชากรที่ได้รับการศึกษามากขึ้นและสูงขึ้น ธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญหลายๆ อย่างในสถาบันอุดมศึกษากลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหลักอย่างน้อยก็ในกลุ่มคนชั้นกลางเป็นประชากรหนึ่งในสามของทั้งประเทศ ธรรมเนียมหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ประจำปีของวงการศึกษาคือสุนทรพจน์ในพิธีประสาทปริญญาบัตรซึ่งมหาวิทยาลัยท๊อปเทนจะเชิญผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มากล่าวสุนทรพจน์ หลายๆ ครั้งมหาวิทยาลัยดังๆ เซอร์ไพรส์นักศึกษาด้วยการเชิญคนที่คาดไม่ถึงมา อย่างเมื่อปี 2003 วิล เฟอเรล ดาราตลกชื่อดังจากหนังอย่าง Stranger Than Fiction (2006), Blades of Glory (2007) ได้รับเชิญไปกล่าวในงานรับปริญญาของฮาร์วาด วิลกล่าวเปรียบเทียบปริญญาชีวิตที่เขาได้จากโลกนอกมหาวิทยาลัย แถมด้วยการสวมบทบาทประธานาธิบดีจอร์ช บุชที่สร้างชื่อให้วิลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถัดมาในปี 2005 สตีฟ จ๊อป CEO ของ Apple และ Pixar Animation ก็ขึ้นกล่าวในงานประสาทปริญญาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จ๊อปเน้นถึงความสำคัญของการศึกษาที่ไม่ได้มีจุดหมายที่ใบปริญญาแต่เป็นความกล้าที่จะตัดสินใจหาความรู้เพื่อบรรลุความฝันและความสุขในชีวิต เมื่อปี 2008 ที่ผ่านมาบัณฑิตใหม่ฮาร์วาดก็ต้อนรับนักเขียนชื่อดัง เจ. เค. โรว์ลิ่ง ที่กล่าวถึงผลพลอยได้จากความผิดพลาดในชีวิต ทั้งชีวิตคู่ที่ล้มเหลว เงินและงานก็เป็นสองสิ่งที่เธอแทบจะไม่ได้เห็นเมื่อครั้งสมัยเรียนจบใหม่ๆ มีเพียงลูกสาวตัวน้อยและจินตนาการเป็นความหวังสุดท้ายที่ช่วยให้เธอก้าวผ่านความยากลำบากมาได้

นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมการเชิญคณาจารย์อวุโสในมหาวิทยาลัยให้กล่าวสุนทรพจน์ด้วยโจทย์ที่ลึกซึ้งว่าถ้านี่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะจากโลกนี้ไปคุณอยากจะฝากอะไรให้คนรุ่นหลังบ้าง? การบรรยายแบบนี้รู้จักในชื่อ การบรรยายครั้งสุดท้าย หรือ The Last Lecture ผมไม่แน่ใจว่าธรรมเนียมการบรรยายครั้งสุดท้ายนี้มีมานานแค่ไหน แต่การบรรยายครั้งสุดท้ายที่ดังมากคือการบรรยายของแรนดี เพาช์ (Randy Pausch Last Lecture) ศาสตรจารย์ผู้บุกเบิกการค้นคว้าวิจัยด้านโลกเสมือนจริง (virtual reality) ที่มหาวิทยาลัยคาเนกี้ เมลลอน เส้นทางอาชีพของแรนดีนั้นคล้ายกับจอร์น แนชที่ได้กลับมารับใช้มหาวิทยาลัยต้นสังกัด เขาทำคุณประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้กับคาเนกี้ เมลลอนมากมาย การบรรยายที่ถ่ายทอดเรื่องราวการบรรลุความฝันวัยเยาว์ของเขาให้นักศึกษาและผู้สนใจในมหาวิทยาลัยจึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น การบรรยายครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายของเขาจริงๆ เนื่องจากแรนดีนั้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนและก่อนหน้าการบรรยายเพียงหนึ่งเดือนคณะแพทย์ผู้ทำการรักษาได้แจ้งว่าเขาสุขภาพเขาจะเริ่มทรุดโทรมลงหลังจากเวลาสามถึงหกเดือนต่อจากนี้


สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากธรรมเนียมการเชิญคนดังเหล่านี้มาพูดน่าจะเป็นคำนิยามของความสำเร็จทางสังคมที่ไม่ได้หยุดที่ใบปริญญาแต่รวมถึงหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นน่าจะเป็นแนวคิดหลักของวัฒนธรรมปัญญาชนในอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคล มุ่งเน้นการยอมรับความแตกต่างทั้งภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติภาษา ความเชื่อและจุดยืน สิ่งเหล่านี้เป็นปรัชญาสำคัญของการสร้างความหลากหลายในทางวิชาการ และคงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าประสบการณ์ชีวิตในสถาบันอุดมศึกษานั้นเปิดมุมมองให้กับคนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน ตัวอย่างง่ายๆ คือหอพักนักศึกษาที่รวบรวมเอาคนต่างสีต่างเชื้อชาติเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันซึ่งเปิดโอกาสให้วัยรุ่นเหล่านี้จะได้เรียนรู้ความหลากหลายทางเชื้อชาติแบบไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิตเลยด้วยซ้ำ

จากประสบการณ์ส่วนตัวผมคิดว่าบรรยากาศของความหลากหลายนี้เห็นได้ชัดในเมืองมหาวิทยาลัย เพื่อนนักเรียนชาวตะวันออกกลางของผมได้รับการปฏิบัติแทบไม่ต่างจากนักเรียนในประเทศ ในขณะที่เพื่อนคนเดิมได้รับการปฏิบัติเหมือนคนชั้นสองชั้นสามของประเทศไม่ว่าจะที่อู่ซ่อมรถหรือห้องอาหารที่อยู่ห่างออกไปจากเขตมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่ไมล์ นักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่มักจะเคยมีประสบการณ์แย่ๆ กับคนขาวชั้นล่างโลกทัศน์แคบที่รู้จักกันในนามขยะสีขาว (white trash) มาแล้วทั้งนั้น

อเมริกาทุ่มเงินมหาศาลไปกับการขยายโอกาสทางการศึกษาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ เรื่องที่น่าเจ็บปวดคือโอกาสเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยเงินกำไรจากสงคราม ผมสงสัยว่าจะต้องก่อสงครามกันอีกสักกี่หนคนทั้งประเทศถึงจะได้เรียนรู้ว่าสงครามนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย และเมื่อไหร่ประเทศอื่นๆ จะมีโอกาสชนะสงครามกับเขาบ้างไหม เผื่อจะได้มีเงินไปพัฒนาประเทศของตัวเสียที

------------------------------------------------------

ก็มีแค่สองตอนนั่นละครับ

เชิญแสดงความคิดเห็นกันตามสะดวกนะครับ

หมายเลขบันทึก: 264488เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การที่ได้พักอยู่ในหอพักเดียวกันกับเพื่อนต่างชาติ

เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ ได้มุมมองที่หลากหลายในสถานการณ์จริง

การบรรยายครั้งสุดท้ายก็เป็นแนวความคิดที่ดี

ผมคิดว่าคนๆ หนึ่งถ้าจะทำอะไรเป็นครั้งสุดท้าย

ก็คงพยายามที่จะทำให้ดีที่สุดครับ

ขอบคุณครับ ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันครับ

ทุกลิงค์ที่คุณแว้บให้ไว้ในบล๊อก ผมเปิดเข้าไปอ่านแล้ว มีประโยชน์มากครับ

ชอบแนวคิดที่ร่วมกันหาข้อมูลในการเตรียมสอบqual ด้วยครับ

ตั้งแต่ตอนเย็นที่ผมเข้ามาคอมเม้นท์ครั้งแรก

ผมดูคลิปThe Last Lecture ของRandy Pausch 2 รอบแล้วครับ

เป็นการบรรยายที่น่าสนใจมากครับ (ฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง)

แต่ก็ทำให้ผมมีกำลังใจในการทำความฝันของผมให้เป็นจริง

และทำให้ผมรู้ว่า ผมต้องขยันทบทวนและฝึกฝนทักษะการฟังให้มากกว่านี้

ผมตั้งใจว่าจะเรียนต่อป.เอก ทางด้านการศึกษาพิเศษ

แต่ความรู้ภาษาอังกฤษของผมต้องพยายามอีกเยอะครับ

TOEFL ยากมากเลยครับ โดยเฉพาะSpeaking tasks

ว่าจะลองสอบบIELTS ดู แต่ตอนนี้ขอเตรียมตัวให้พร้อมก่อน

ถ้าผมไปเรียนต่อป.เอก ทางด้านการศึกษาพิเศษที่อเมริกา ผมต้องยื่นผลGRE ด้วยไหมครับ?

ปล. สมองของผมblank มากในวิชาคณิตศาสตร์ครับ

ขอบคุณครับคุณภู

ยินดีที่บันทึกผมพอจะเป็นประโยชน์บ้าง

การมาเรียนต่อที่อเมริกา ถ้าด้าน Education ส่วนใหญ่แล้วต้องยื่นผลทั้ง TOEFL และ GRE ครับ เท่าที่ผมทราบ มหาวิทยาลัย First tier หรือ Top 100 นั้นเขาต้องการ 1000 - 1100 ครับ (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด First tier คือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ผู้รับทุน กพ. สมัคร คือไปเรียนกลุ่มที่ต่ำกว่านี้ไม่ได้)

จริงๆ แล้ว GRE มีสองส่วนคือ Verbal และ Math ส่วน Verbal นั้นคนอเมริกันยังว่ายาก เพราะมันเหมือนศัพท์ที่ชาวบ้านเขาไม่ได้ใช้กัน แต่ถ้าค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ท่องไปเรื่อยๆ อย่างตอนผมเตรียมตัว ผมมีสมุดศัพท์เล็กๆ พกติดตัวตลอด ไม่ว่าจะไปเที่ยว ขับรถ ติดไฟแดง ก็หยิบมาทบทวน ภาษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ว่าไหมครับ? ส่วน Math ของ GRE นั้นจริงๆ แล้วเนื้อหาหยุดอยู่แค่เลขที่เราเรียนกันตอนมัธยมสามเท่านั้นเองครับ เพียงแต่ว่ามันเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็มีพลิกแพลงนิดหน่อย ลองศึกษาดู ก็น่าจะทำได้ครับ ตอนผมเตรียมตัว ผมอ่านชีวประวัติของ พอล แอร์ดิช แบบว่าสร้างกำลังใจให้ตัวเอง (link) แล้วก็เรื่อง ดอกเตอร์กับรูท และสูตรรักของเขา โอกาวะ โยโกะ ของ JBOOK อ่านแล้วเห็นความงามของคณิตศาสตร์ครับ (ฮา)

TOEFL นี่ผมไม่ทราบว่าเขาเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากมายแค่ไหน ตอนผมสอบยังเป็น CBT ตอนนี้เปลี่ยนเป็น internet based หรืออะไรก็ไม่ทราบ...

เป็นกำลังใจให้นะครับ

ได้อ่านในแผนงานของคุณแว้บ เขียนไว้ว่า จะส่งเปเปอร์ให้กรรมการแก้ไขในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา

คงใกล้เส้นชัยแล้วใช่ไหมครับ?

ยิ่งเข้าใกล้เส้นชัยเท่าไหร่ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เราจะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนล้าแล้วเช่นกัน

นึกถึงตอนที่ผมเขียนวิทยานิพนธ์ตอนป.โท คิดในใจว่า ถ้าเรียนจบป.โท ไปได้ ไม่ขอเรียนแล้วป.เอก

2 ปี ผ่านไป ไวเหมือนโกหก นึกอยากเรียนป.เอก ขึ้นมาอีกแล้ว 555++

Someone says "Knowledge has bitter roots, but sweet fruits."

เป็นกำลังใจให้ สู้ๆ ครับ

ภู

ตอนนี้เป็นiBT แล้วครับ

ตอนผมไปเรียนที่ญี่ปุ่นเป็นโปรแกรมนานาชาติ

ผมยื่นผลCBT ผ่านแบบคาบเส้นเลยครับ

แต่คราวนี้ถ้าจะไปเรียนต่อป.เอก ที่อเมริกาหรืออังกฤษ น่าจะต้องได้คะแนนอย่างต่ำ90/120 iBT scores หรือband 7 of IELTS ครับ

เหงื่อตกเลยครับ

แต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุัดครับ

ผมถือคติที่ว่า ยอดเขาที่สูงที่สุด อยู่เพียงใต้เท้ามนุษย์ที่ไม่ละความพยายาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท