ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) ตอนหนึ่ง


เอาคอลัมน์ American Dream ที่ลงใน happening มาให้อ่านครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้าง ...

---------------------------------------------------------

ตลอดเวลาสามปีที่ผมใช้ชีวิตที่นี่ สายอาชีพหนึ่งที่ผมได้คลุกคลีด้วยมากที่สุดคืออาจารย์มหาวิทยาลัยครับ ช่วงปีแรกนั้นผมมองเห็นอาจารย์เหล่านี้ในฐานะอาจารย์อย่างที่นักเรียนไทยคนหนึ่งติดต่อกับอาจารย์ คือมีความเคารพ พูดคุยกับท่านด้วยความสุภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนเวลาผ่านไปผมเริ่มจะมองอาจารย์เหล่านี้เป็นรุ่นพี่ที่คอยสอนงานให้เรา เพราะจะพูดกันจริงๆ การเรียนปริญญาเอกนั้นก็ไม่ต่างจากการเตรียมตัวเป็นนักวิจัย หรือนักวิชาการ อาจารย์ทั้งหลายก็เป็นนักวิจัยรุ่นพี่ที่คอยชี้แนะแนวทางเรา ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ผมรู้สึกว่าบรรยากาศและแนวทางในอาชีพนี้น่าสนใจดี เลยอยากจะเล่าให้ฟัง

ระบบหนึ่งที่ถือว่าโดดเด่นมากสำหรับงานวิชาการในอเมริกาคือระบบ tenure อาจารย์ที่เข้าสู่ระบบนี้จะได้รับการประกันการจ้างงานแบบถาวร ผมเชื่อว่าระบบนี้เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเหล่าอาจารย์เพราะมันเป็นระบบที่รองรับแนวคิดความเป็นอิสระทางวิชาการ (academic freedom) นั้นหมายถึงว่าอาจารย์สามารถแสดงออกอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอก โดยเฉพาะอิทธิพลทางการเมือง ถ้าไม่มีระบบนี้แล้ว คงไม่มีนักวิชาการท่านไหนจะกล้าเปิดเผยข้อมูลละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของระบบประกันสุขภาพหรือผลการเรียนที่ย่ำแย่ของโรงเรียนรัฐบาลเมื่อเทียบกับภาคเอกชน พูดง่ายๆ คือระบบ tenure นี้เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิชาการแฉแหลกโดยไม่ต้องกลัวถูกไล่ออก อย่างไรก็ดี ระบบ tenure และความเป็นอิสระทางวิชาการนั้นไม่ได้ครอบคลุมความคุ้มครองในกรณีที่มีการทำผิดศีลธรรมจริยธรรมอันดีงามนะครับ

การเข้าสู่ระบบ tenure นั้น อาจารย์ต้องพิสูจน์ความสามารถในการปฏิบัติงานสามส่วนคือมีผลงานวิจัย ผลงานการสอน และงานบริการ เช่นการเป็นบรรณาธิการวารสารทางวิชาการหรือการเป็นกรรมการหน่วยงานต่างๆ สัดส่วนความสำคัญของหน้าที่เหล่านี้แตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัยครับ บางแห่งเน้นสอน บางแห่งเน้นการวิจัย แต่ข้อใหญ่ใจความของระบบนี้คือแนวคิดที่ว่าการเป็นอาจารย์นั้นต้องมีความพร้อมทั้งสามประการ ตรงนี้คล้ายๆ กับแนวคิดในระบบการรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยในอเมริกา ซึ่งจะดูคะแนนสอบ ผลการเรียนและนำเอาประสบการณ์นอกห้องเรียน เช่นการบำเบ็ญประโยชน์ หรืออาสาสมัครต่างๆ มาใช้ประกอบการพิจารณา ผมว่าแนวคิดนี้เข้าท่าเอามากๆ เพราะมันเป็นการมองคนๆ หนึ่งอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ตัดสินเขาด้วยค่าเฉลี่ยหรือตัวเลขเพียงไม่กี่ตัว

how professors spend their time

นอกจากระบบที่เราเห็นกันนี้ ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่น่าสนใจ โดยเฉพาะธรรมเนียมการจ้างงาน เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่คล้ายๆ กับเอาห้าสิบประเทศมารวมกัน การคัดเลือกผู้สมัครชั้นต้นจึงมักเริ่มด้วยการคัดเลือกใบสมัครและการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จากนั้นจึงเรียกผู้เข้ารอบสุดท้ายสองหรือสามคนเข้ามาที่สถาบันซึ่งโดยทั่วไปแล้วทางสถาบันจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมด ทั้งตั๋วเครื่องบิน โรงแรมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

การสัมภาษณ์รอบสุดท้ายนี้มักจะกินเวลาข้ามวันครับ นอกจากการพบปะกับผู้บริหารแล้ว กิจกรรมอื่นๆ อาจประกอบด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครนำเสนอผลงานวิชาการ รับประทานอาหาร หรือเป็นอาจารย์รับเชิญในชั้นเรียนสัมมนา โดยกิจกรรมดังเกล่าจะเปิดโอกาสให้ชุมชนในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและประเมินผู้สมัครได้เข้ามามีส่วนร่วม ในหลายๆ สถาบันนิยมพาผู้สมัครไปรับประทานอาหารก่อนเพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง  และเชิญนักเรียนเข้ามาฟังการนำเสนอผลงานของผู้สมัคร ถึงที่สุดแล้วความเห็นของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในขั้นตอนเหล่านี้จะถูกใช้ในการประเมินตัวผู้สมัคร

อีกประการหนึ่งที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงวิชาการแต่ไม่มีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไหนคือการไม่เริ่มต้นทำงานในมหาวิทยาลัยที่ตนได้รับปริญญาใบสุดท้าย (ดุษฎีบัณฑิต) ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าอาจารย์ที่เคยสั่งสอนเรามาจะติดภาพเราในฐานะนักศึกษา การจะเติบโตเป็นนักวิชาการเต็มตัวนั้นทำได้ยากกว่าการไปเริ่มต้นในที่ใหม่ซึ่งไม่เคยเห็นเราในฐานะผู้ช่วยวิจัยหรืออาจารย์ผู้ช่วยสอน ถ้าเกิดใครรักและผูกพันสถาบันต้นสังกัดที่ตัวจบมามาก ก็ต้องหาทางย้ายกลับมาหลังจากสามารถพิสูจน์ตัวเองและสร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับได้ในวงการ ดูอย่างในหนัง A Beautiful Mind ซึ่งกล่าวถึงความผูกพันที่จอร์น แนชมีต่อ Princeton มหาวิทยาลัยที่ตนสำเร็จการศึกษา แต่ต้องไปเริ่มงานที่ MIT แล้วภายหลังถึงกลับมาที่ Princeton อีกครั้ง

ธรรมเนียมนี้ดูจะตรงข้ามกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง เพราะนิสิตนักศึกษาหัวกะทินั้นจะถูกทาบทามจากอาจารย์ของตนให้ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลังจากสำเร็จการศึกษา ผมเข้าใจว่าใครๆ ก็อยากได้คนเก่งไว้ แต่ถ้าเราเก็บเอาคนที่เราสอนมากับมือ มีมุมมองแนวคิดเหมือนเรา (แถมยังเกรงอกเกรงใจเราในฐานะอาจารย์ผู้ใหญ่) เอาไว้ การถามหาความหลากหลายทางวิชาการและบรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์คงเกิดขึ้นได้ยาก

ความเป็นปัญญาชนในปัจจุบันน่าจะหมายถึงผู้ตระหนักถึงความหลากหลายทางความคิดและชี้นำสังคมที่มีความแตกต่างอย่างไม่แตกแยก หากสถาบันซึ่งมีหน้าที่ผลิตปัญญาชนกลับปฏิบัติตัวถือพวกถือพ้องกันเอง และปิดโอกาสให้กับความหลากหลายทางวิชาการ สังคมจะถามหาตัวอย่างจากใครดี?

---------------------------------------------------------

โจทย์ของคอลัมน์คือการเอาวัฒนธรรมไทยที่พอจะมีติดตัวอยู่บ้างเป็นแว่นส่องมองวัฒนธรรมอเมริกันที่กำลังเรียนรู้ เปรียบเทียบและแสดงความคิดเห็นเท่าที่ปัญญาน้อยๆ ของผมพอจะมี

เชิญแสดงความคิดเห็นกันตามสะดวกครับ

ภาพประกอบ: http://www.phdcomics.com/comics/archive.php?comicid=1060

หมายเลขบันทึก: 264476เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 01:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 03:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเห็นด้วยกับการที่ไม่ทำงานที่มหาวิทยาลัยที่ได้ปริญญาใบสุดท้ายเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางวิชาการครับ

ภู

ที่อังกฤษ เด็กนักเรียนก็มีสิทธินั่งฟังผู้สมัครเข้าเป็นครูในโรงเรียนนะครับ บ้านเราจะมีบ้างไหมเนี่ย? :) http://www.bbc.co.uk/news/education-12883110

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท