มหาวิทยาลัยชีวิต 2


คืนการศึกษาให้กับชุมชน : ภารกิจของท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยชีวิต 2

เขียน โดย รศ.ดร.เสรี  พงศ์พิศ

 

คืนการศึกษาให้ชุมชน : ภารกิจของท้องถิ่น 

 

การคืนการศึกษาให้ชุมชน ในปัจจุบัน เป็นภารกิจสำคัญของ องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยรัฐ ที่ใกล้ชิดประชาชนยิ่ง....เดิมเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่ต้องทำตัวเป็นแกน เป็นตัวเชื่อมการสานความร่วมมือระหว่าง รัฐ,ชาวบ้าน และ ศาสนสถาน (วัด) เพื่อให้ความเป็นครูพระ(พระครู) ให้ความรู้ในอดีตได้ ปรับเป็น ครูในโรงเรียน ,ครูในสถานศึกษา และอาจารย์ในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย จนระบุเป็นกฎหมายสำคัญคือ....
        
พระราชบัญญัติการศึกษา 2542 มาตรา 29 เขียนไว้ว่า

ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยากรต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน

มาตรา 41 เขียนไว้ว่า   
      
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น 
        
มหาวิทยาลัยชีวิตดำเนินการโดยการจัดการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้อยู่ในชีวิตจริง สิ่งแวดล้อมจริง บรรยากาศของชีวิตจริง และที่สำคัญ ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ และไม่ใช่เป็นเพียงกรรมการสถานศึกษาแต่ให้ร่วมดำเนินการต่างๆ โดยการเป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอง และดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยชีวิตเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยชีวิต 
        
สถานที่เรียนไม่จำเป็นต้องก่อสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ใช้สถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในแต่ละท้องถิ่น วัด โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล กศน. ฯลฯ  บางแห่งใช้โรงเรียนเก่า (ที่ปิดเพราะมีนักเรียนน้อย) หรือสถานที่ราชการเก่า (เช่น สำนักงานประถมศึกษาอำเภอ) มีการระดมทุนในท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน  
        
นักศึกษาเรียนรู้ในชีวิตจริง ในชุมชน นอกจากอาจารย์ประจำของสถาบันการศึกษาแล้ว ยังมีอาจารย์และผู้รู้ในท้องถิ่นที่เป็นพี่เลี้ยง” “ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้กับกลุ่ม ไปเรียนรู้กับผู้รู้ กับปราชญ์ กับชุมชนเข้มแข็งต่างๆ ร่วมกันจัดโครงงานซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนา เป็นส่วนสำคัญของการศึกษาวิชาต่างๆ ที่ต้องเรียนรู้แบบบูรณาการ เพราะชีวิตไม่มีการแยกส่วน เป็นระบบที่ทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กัน การเรียนรู้จึงต้องเรียนรู้แบบรอบด้าน เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ให้เป็นจิ๊กซอที่ต่อกันจนเป็นภาพที่สมบูรณ์ 

สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง : เป้าหมายของมหาวิทยาลัยชีวิต 
        
การเรียนรู้จากบุคคลและชุมชนเข้มแข็งทำให้พบว่า ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน การทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ชุมชนล่มสลายไม่ได้มาจากการขาดแคลนทรัพยากร ขาดแคลนแรงงานหรือแม้แต่ขาดแคลนเงิน แต่มาจากขาดความรู้ขาดปัญญาในการจัดการชีวิต จัดการทรัพยากรท้องถิ่นต่างหาก ชุมชนเข้มแข็งเป็นชุมชนที่เรียนรู้และใช้ความรู้ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาและพัฒนาศักยภาพ จัดการชีวิต จัดการทรัพยากร ซึ่งเป็นทุนท้องถิ่นที่มีเพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างพอเพียง 
        
วันนี้คนมีความรู้เหลืออยู่ในหมู่บ้านน้อย คนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนสูงๆ ไม่มีใครอยากกลับไปบ้าน เพราะการศึกษาในระบบเดิมนั้นทำให้นึกไม่ออกว่าจะกลับไปอยู่หมู่บ้านได้อย่างไร จะทำมาหากินอะไร อย่างมากก็เป็นครู หรือเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงานในอบต.หรือเทศบาล ซึ่งก็จำกัด  
        
วันนี้คนในชุมชน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสเรียนถึงระดับอุดมศึกษา แต่ระบบการศึกษาแบบเดิมๆ ทำให้กลายเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องทำใจกับการเรียนที่แปลกแยกจากชีวิต และต้องเรียนหนังสือและเรียนให้สอบได้เพื่อจะได้ปริญญามากกว่าอย่างอื่น  ผู้ใหญ่ที่อายุมาก ความจำไม่ดีจึงถอดใจ ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่เหล่านี้มีประสบการณ์มากมาย  
       
มหาวิทยาลัยชีวิตต้องการเสนอทางเลือกให้คนเหล่านี้ได้เรียน เรียนเพื่อจะ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นของตนเอง ไม่ต้องเอาปริญญาไปหางานทำที่ไหนก็อยู่ได้ พวกเขาจะเป็น บัณฑิตชาวนา เป็น ปัญญาชนชาวบ้าน เป็นผู้นำที่มีความรู้ มีความสามารถในการนำชุมชนให้ก้าวพ้นจากสังคมอุปถัมภ์มาสู่สังคมความรู้ จากสังคมที่ใช้อำนาจกับเงินมาสู่สังคมที่ใช้ความรู้และปัญญา
 
มหาวิทยาลัยชีวิตสร้าง ผู้นำพันธุ์ใหม่ที่ใช้ข้อมูล ใช้ความรู้ ใช้หลักการ ใช้คุณธรรมนำชุมชนไปสู่การพัฒนาที่พึ่งพาตนเอง ไม่ใช่รอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก


หมายเลขบันทึก: 264228เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท