คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย : [3] การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว--"หลักสิทธิมนุษยชน"--กรณีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน


 

3.3.2        กรณีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน

 

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิ อาศัยอยู่ในประเทศไทยหลายกลุ่ม ทั้งที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมแต่ตกสำรวจจากทางราชการ และกลุ่มที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ และความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยบางส่วนไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ ซึ่งนับวันคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่ามีคนต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียน จึงทำให้คนต่างด้าวกลุ่มนี้ไม่เอกสารแสดงตนเพื่อการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ในระหว่างรอการพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายไทย

ประกอบกับ กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ว่า “ประชาชนที่อยู่ในประเทศเขามีมานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นคนไทย คือ เขาไม่ถือว่าเป็นคนไทยแท้จริง เขาอยู่และเกิดในเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์ของความเป็นไทย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องปฎิบัติเหมือนกัน เพราะว่าถ้าหากว่ามีคนที่อยู่ในเมืองไทยและมีความน้อยใจมาก ไม่มีใครเอาใจใส่ก็จะทำให้ความั่นคงของประเทศด้อยไป”

ดังนั้น เพื่อให้มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์(human dignity) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยตระหนักถึงคุณค่าความหลากหลายทางความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรม รวมถึงความมั่นคงของชาติ  จึงก่อให้เกิดยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548[1]  อันเป็นที่มาของระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 ที่ให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติแก่กลุ่มบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร ซึ่งสามารถจำแนกคนต่างด้าวกลุ่มนี้ได้ 6 กลุ่ม [2]ได้แก่  

1. บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว  ซึ่งอาจจะเป็น

1. กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมแต่ตกสำรวจจากทางราชการ ตามกฎหมายถือว่าคนเหล่านี้มีสัญชาติไทย ดังนั้น จึงมีการแก้ปัญหาโดยกำหนดให้มีระเบียบเพื่อตรวจสอบพิสูจน์ทราบตัวบุคคล นำเข้าสู่ระบบเพื่อให้มีสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ อาทิ กรณีชาวไทยภูเขาดั้งเดิมในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น หรือ

2. กลุ่มที่อพยพมาจากนอกประเทศแต่อาศัยอยู่มานานหรือทำประโยชน์ ซึ่งทางราชการรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร

2.1 คนกลุ่มนี้อพยพเข้ามาในลักษณะของการหนีภัยจากประเทศต้นทาง โดยเข้ามาในลักษณะของผู้หลบหนีเข้าเมือง ในระยะแรกทางราชการได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติออกบัตรให้ถือไว้ควบคุม และผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวในพื้นที่ที่กำหนดเพื่อรอการส่งกลับ แต่ภายหลังได้อาศัยอยู่มานานจนผสมกลมกลืนรวมทั้งทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ จึงมี การรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรเป็นรายกลุ่ม อาทิ ชาวเวียดนามอพยพ อดีตทหารจีนคณะชาติ ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากพม่าและกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรับรองสถานะไปแล้วจำนวนหนึ่ง ยังคงเหลือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกจำนวนหนึ่ง

2.2 การรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน 2 รูปแบบ คือ

1) ให้สถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี) และสามารถแปลงสัญชาติเป็นไทยในโอกาสต่อไป (มาตรา 10 , 11 , 12 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508)

2) บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบุคคลข้อ 1 ได้รับสัญชาติไทย (มาตรา 7 ทวิวรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี)

3. กลุ่มที่อพยพมาจากนอกประเทศ และยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง เป็นกลุ่มคนในลักษณะเช่นเดียวกับข้อ 2 แต่ยังไม่มีคุณสมบัติในการได้รับสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรหรืออยู่ระหว่างที่ภาครัฐพิจารณากำหนดนโยบาย จึงมีการทำทะเบียนประวัติและออกบัตรให้ถือไว้ พร้อมทั้งผ่อนผันให้อยู่อาศัยชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม อาทิ ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าที่อพยพเข้ามาหลัง 9 มีนาคม 2519 เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล

(1) ดำเนินการแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุคคลที่มี เชื้อสายไทยที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียน และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด

(2) ให้สัญชาติไทยแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยของ คนต่างด้าวตามข้อ (1) ที่ได้รับแปลงสัญชาติเป็นไทย หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้สืบสายโลหิตของบุคคลดังกล่าว

(3) ให้สถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็น

เวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทย และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ กับประเทศต้นทางตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด

(4) ให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวตามข้อ (3) ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด

2.เด็กหรือบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย โดยมากเป็นบุตรหลานของบุคคลที่อพยพเข้ามาประเทศไทยนานแล้ว และบุตรหลานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ศึกษาในสถานศึกษาในประเทศไทย

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล  มีนโยบายให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศและจบการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย ทั้งนี้ กระบวนการให้สัญชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย และสำหรับเด็กที่ยังไม่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะในกลุ่มผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว

3. บุคคลที่ไร้รากเหง้า ซึ่งไม่ทราบที่มา หรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจน อาทิ เด็กที่ขาดบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้ง

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล  มีนโยบายให้สัญชาติไทยแก่บุคคลดังต่อไปนี้

(1) บุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์และมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานอย่างน้อย ๑๐ ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทยและมีคุณสมบัติอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด

(2) บุคคลที่ขาดบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่ได้รับสถานะเป็นบุตรบุญธรรมตามคำสั่งของศาล เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย

4. บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ  ได้แก่ บุคคลซึ่งมีผลงาน/ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการกีฬา รวมทั้งด้านอื่น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควร

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล มีนโยบายให้สัญชาติไทย

5. แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ได้แก่ แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับ การจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศต้นทางไม่ยอมรับ

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล  ให้ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศชั่วคราว และเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะ หากไม่สามารถกำหนดสถานะได้ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสถานะโดยกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคประชาชนพิจารณากำหนดแนวทางการให้สถานะที่เหมาะสมตามมาตรการระยะยาวแนบท้ายยุทธศาสตร์นี้

6. กลุ่มอื่นๆ คือ กลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร อาจเป็นกลุ่มคนดั้งเดิม หรือกลุ่มที่อพยพมาจากนอกประเทศซึ่งยังตกค้างอยู่ในประเทศไทย และยังไม่เคยได้รับ การสำรวจ

แนวทางการพัฒนาสถานะบุคคล 

(1) ให้สิทธิการอาศัยอยู่ชั่วคราวแก่กลุ่มคนต่างด้าวทั้งในส่วนที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วและที่จะมีการสำรวจจดทะเบียนเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการขอรับสถานะตามหลักเกณฑ์ข้างต้นดังกล่าว และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

(2) กำหนดให้คณะอนุกรรมการซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคประชาชน พิจารณากำหนดแนวทางการให้สถานะที่เหมาะสม

 

ข้อสังเกต

กลุ่มที่ทางราชการมีนโยบายดูแลเป็นการเฉพาะโดยมีเป้าหมายในเรื่องการส่งกลับชัดเจน 2 กลุ่มหลัก คือ  1. กรณีผู้หนีภัยการสู้รบในที่พักพิง ให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ หรือส่งไปประเทศที่สาม และ 2. กรณีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ซึ่งมีเป้าหมายในเรื่องของการส่งกลับ และปรับเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง

 

แนวทางการเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทย

คนต่างด้าวไม่มีสถานะทางทะเบียนเหล่านี้มีสิทธิเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรใน ทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ท.ร.38ก ด้วยวิธีการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.2548 [3]

โดยกำหนดแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติเป็นแบบ ท.ร. 38 ก  และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นบุคคลประเภท 0 กลุ่ม 89 กล่าวคือเลขหลักแรกเป็นเลข 0 ส่วนเลขหลักที่หกและหลักที่เจ็ดเป็นเลข 8 และ 9 คือ 0-xxxx-89xxx-xx-x  

โดยกำหนดให้มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการสำรวจบุคคลกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรงเรียนและสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนรับผิดชอบการสำรวจเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสถานศึกษา  หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมราชทัณฑ์ รับผิดชอบการสำรวจบุคคลไร้รากเหง้าที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร  สำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นรับผิดชอบการสำรวจกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ตกสำรวจ เป็นต้น[4]

หลังจากหน่วยงานดังกล่าวสำรวจแล้ว จะส่งให้ส่งแบบสำรวจให้สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นผู้รับผิดชอบในเขตพื้นที่ดังกล่าวจัดทำทะเบียนประวัติตามแบบ ท.ร. 38 ก  และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ต่อไป

ทั้งนี้ บุคคลกลุ่มที่ได้รับการพิสูจน์สถานะบุคคลที่แท้จริงตามกฎหมายไทยหรือได้รับการกำหนดสถานะบุคคลใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี ก็จะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานะบุคคลในเอกสารทะเบียนราษฎร  โดยจะได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนใหม่ และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.13 หรือ ท.ร.14 แล้วแต่กรณีตามสถานะบุคคล และสิทธิอาศัยที่ถูกต้องต่อไป

ในการนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์จึงขอนำเสนอ ตัวอย่างกรณีศึกษาของคนต่างด้าวในประเภทนี้ ดังต่อไปนี้

 

กรณีศึกษาที่ 12  เด็กหรือบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย : กรณีนายหนุ่มแก้ว แก้วคำ[5]  

นายหนุ่มแก้ว    แก้วคำ เกิดวันที่ 14 กุมภาพันธ์  2537 ณ บ้านหาดชมพู  หมู่ที่ 5 ต.ท่าตอน  อ. แม่อาย  จ.เชียงใหม่  เป็นบุตรของนายโยและนางหนุ่ม ชนชาติพันธุ์ไทยลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนาประเทศจีน ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยทางท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ.2532  

ในขณะเกิดนั้นนายหนุ่มแก้วไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนตามมาตรา 7ทวิวรรคหนึ่งแห่งพระราช บัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าว และไม่ปรากฎว่ามีสัญชาติของรัฐใดเลย จึงประสบปัญหาความไร้สัญชาติตั้งแต่เกิด และถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 บุพการีของนายหนุ่มแก้วได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บท(ชุมชนบนพื้นที่สูง ) โดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และมีเลขประจำตัว 6-xxxx-72xxx-xx-x แต่ไม่ปรากฎว่ามีชื่อนายหนุ่มแก้วในการสำรวจครั้งนั้น เนื่องจากบิดาเห็นว่านายหนุ่มแก้วยังเล็กอยู่บิดาจึงไม่ได้พาไปด้วย ทำให้นายหนุ่มแก้วตกหล่นการสำรวจ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2550 ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนบ้านท่ามะแกง ทางโรงเรียนได้สำรวจเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และส่งไปให้ทางอำเภอแม่อายดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในกลุ่มเด็กในสถานศึกษา นายหนุ่มแก้วจึงได้รับการสำรวจและได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(ท.ร.38ก) และถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเลขประตัว 0-xxxx-89xxx-xx-x และมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเช่นเดียวกับบุพการีอันเป็นไปตามหลักความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในครอบครัว (family unity) และมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าว ที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติ ท.ร.38  

กรณีศึกษาที่ 13  เด็กหรือบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย : กรณี ด.ช. วิษณุ บุญชา[6]

ด.ช.วิษณุ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2537 ที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นบุตรของนางปัญจราคนเชื้อสายมอญที่เกิดในประเทศไทย และนายเล็กคนเชื้อสายมอญที่อพยพมาจากประเทศพม่าเมื่อ 20 ปีก่อน  ปัจจุบัน ด.ช.วิษณุ และครอบครัว อาศัยอยู่ที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

และเมื่อวันที 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552  ด.ช.วิษณุ ในฐานะเด็กที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย อันเป็นกลุ่มบุคคลเป้าหมายตามมติครม.ว่าด้วยการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล วันที่ 18 มกราคม 2548 ได้รับการสำรวจโดยโรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ และสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 โดยกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก  

ดังนั้น จึงถือได้ว่า ด.ช.วิษณุ กำลังจะก้าวสู่ความเป็นต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทยประเภททะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ท.ร. 38

 

กรณีศึกษาที่ 14  บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ :กรณีอาจารย์อายุ นามเ

หมายเลขบันทึก: 261986เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กรณีศึกษาที่ 14  บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ : กรณีอาจารย์อายุ นามเทพ[1]

  • อาจารย์อายุ เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ที่ปาพันคอทุเรย์ ประเทศพม่า เป็นบุตรของ ดร.ยอร์ช แมนซรา โพ และนางแอกเนส โพ คนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ต่อมาเมื่อวันที่ 10มิถุนายน พ.ศ.2509 ดร.ยอร์ช แมนซรา โพ ได้นำสมาชิกในครอบครัวขอลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยต่อดังปรากฏตามหนังสือที่ 1811/2502 จากสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2502

อาจารย์อายุเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ และได้ทำคุณประโยชน์โดยการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกหลายครั้ง ได้แก่ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2521 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนจากประเทศไทยในการเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ฮ่องกง และเยอรมันตะวันตก ภายใต้การประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสถานฑูตเยอรมัน

ภายหลังมียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติครม.ลงวันที่ 18 มกราคม 2548 อาจารย์อายุ ได้เขียนหนังสือเพื่อร้องขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ทำการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 [2] โดยได้รับการสำรวจแบบ 89[3]  และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ท.ร.38ก โดยเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550  และได้รับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2550  ดังนั้น จึงถือได้ว่าอาจารย์อายุเป็นราษฎรไทยที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

 


[1] โปรดดูรายละเอียดกรณีศึกษา อาจารย์อายุ นามเทพ ในภาคผนวก....

[2] โปรดดูตัวอย่างหนังสือร้องขอสำรวจในหน้า .......

[3] โปรดดูตัวอย่างใบตอบรับการขอมีบัตรประจำตัวใหม่ของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(กลุ่ม 4) บุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย ในหน้า .......

คนพม่าที่อยู่ในประเทศไทยนานกว่า10ปีน่าจะโอนสัญชาติไทยให้เพราะบางครอบครัวมีลูกต้องคอยดูแลอีกหลายคนเด็กบางคนก็เรียนเก่งจะได้ทุนเรียนฟรีแต่ไม่ได้เพราะขาดสัญชาติไทย

เรื่องราวน่าสนใจดีครับ จะมาตามเก็บรายละเอียด และตั้งคำถาม อิ อิ

มีเด็กเกิดปี 2537 เรียนจบ ป.6 มาขอทำงานบ้านเพราะฐานะยากจน เมื่อถามประวัติพบว่าเป็นเด็กกำพร้าอยู่กับยายเป็นคนไทยมีบัตรประชาชนแต่บัตรหายไปนาน และยายก็ไม่ได้สนใจทำบัตรใหม่ เด็กเกิดมาพ่อแม่ก็ไม่อยู่ คิดว่าคงไม่ได้แจ้งเกิดด้วย ซึ่งชนบทไกลตัวเมืองมักไม่สนใจทำ เด็กเรียนหนังสือจนจบ ป.6 อยากหางานทำเลี้ยงตัวและยาย

ดิฉันสงสารเด็กจึงคิดว่าจะให้ทำงานบ้าน และหากมีความประพฤติดีก็จะส่งเสียให้เรียนต่อ แต่ไม่ทราบว่าบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่เด็กมีนั้น ทำให้เด็กมีสิทธิ์ขนาดไหน จะให้เค้าทำงานด้วยได้หรือไม่ และจะให้เค้าได้เรียนต่อได้หรือไม่ และทำอย่างไรเด็กจะได้บัตรประชาชนเป็นคนไทยได้

รบกวนขอคำแนะนำด้วยค่ะ

เด็กไร้สัญชาติอยากจะเป็นครู

สวัสดีค่ะ หนูเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไร้สัญชาติ ตอนนี้หนูถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนอยู่ค่ะ หนูเป็นคนไทยลื้อนะค่ะ ตอนนี้หนูอายุได้ 19 ปีแล้วค่ะ และกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คณะครุศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 หนูเรียนจบสายวิทย์-คณิต ค่ะ คือหนูอยากจะเป็นครูมากๆค่ะ หนูมีความใฝ่ฝันตั้งแต่ยังเด็กแล้วว่าหนูอยากจะเป็นแม่พิมพ์ที่ดีของชาติ หนูเกิดที่เมืองไทยนะค่ะและก็อยู่ที่ประเทศไทยมาตั้งแต่เกิดแล้ว หนูรู้สึกว่าหนูรักประเทศไทยมากค่ะ แต่ว่าแม่ของหนูไม่ได้ไปแจ้งเกิดค่ะ หนูมีเพียงหนังสือรับรองการเกิดของโรงพยาบาลค่ะ ตอนนี้แม่ของหนูก็ไม่มีบัตรอะไรเลยซักอย่างค่ะ พ่อของหนูเสียตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่หนูเป็นไทยลื้อค่ะ หนูไม่ได้อยู่กับแม่นะค่ะตั้งแต่ยังเด็กอยู่กับลุงป้าที่บัตรที่ขึ้นต้นด้วย 6-5709 หนูเคยไปขอแจ้งเกิดย้อนหลังแต่เขาก็ไม่เชื่อว่าหนังสือรับรองการเกิดเป็นของหนูจริงๆเพราะว่าหนังสือรับรองการเกิดนี้ผ่านมาหลายปีแล้วค่ะและก็ไม่ได้เขียนชื่อเขียนแต่นามสกุล เขาบอกว่าจะต้องมีพ่อหรือแม่ที่มีสัญชาติไทยถึงจะแจ้งเกิดได้ค่ะ เรื่องที่หนูเล่ามาทั้งหมดเป็นเรื่องจริงไม่ได้โกหกแม้แต่น้อย ทุกวันนี้หนูกลุ้มใจเรื่องสัญชาติมากค่ะ มีแต่คนดูถูก เหยียดหยาม ทั้งๆที่หนูมีความตั้งใจที่จะสู้นะค่ะ มีความฝันว่าสักวันหนึ่งหนูต้องทำได้แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีวันนั้นหรือเปล่าเพราะหนูเป็นเด็กที่ไร้สัญชาติไม่มีสิทธิพิเศษต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปต่างจังหวัดได้ มีแต่คนบอกว่าเรียนไปทำไมถึงแม้เรียนจบปริญญาก็ไม่ได้วุฒิเพราะเป็นเด็กที่ไร้สัญชาติ ใครที่จะสามารถให้คำตอบหนูได้บ้าง หนูอยากจะถามว่า

1. หนูมีโอกาสได้สัญชาติไหมค่ะ

2. หนูมีโอกาสได้เป็นข้าราชการไหมค่ะ คือหนูอยากจะเป็นครูมากๆค่ะ

3. หนูจะได้รับปริญญาบัตรที่ฝันเอาไว้ได้ไหมค่ะในวันที่หนูจบการศึกษา และจะได้รับวุฒิปริญญาตรีไมค่ะ

สุดท้ายหนูก็ขอขอบคุณมากๆที่หนูได้เล่าเรื่องราวออกมาบ้างเพราะหนูกลุ้มใจมากๆไม่รู้ว่าจะทำยังไงจริงๆ และก็ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคนที่ตอบคำถามให้หนูได้เข้าใจ

ความเป็นธรรมมีจริงหรือ ?

ก้าวแรกที่ผิดหวัง

ก้าวหลังที่พลาดไป

จงก้าวหน้าอย่าท้อใจ

เป็นก้าวใหม่ที่ทั่นคง

สวัสดีค่ะ จากเด็กไร้สัญชาติอยากจะเป็นครู

สวัสดีค่ะ

ใครรู้บ้างเกี่ยวกับกฏหมายเยอรมัน ดิฉันอยู่ฟินแลนด์ สิบหกปี ค่ะ ตอนนี้ ดิฉันหย่ากับสามีฟินแลนด์ แล้วดิฉันมาอาศัยอยู่กับลูกสาวที่เยอรมัน ไม่ทราบว่าจะอยู่ที่เยอรมันได้หรือเปล่า ( วีซ่าถาวรอยู่ฟินแลนด์ได้ )

ยุพิน

อยากทราบว่าจะมีการสำรวจบุคคลทีไม่มีสถานะทางทะเบียนอีกเมื่อไหร่คะ

ตอนนี้เรียนมหาลัยแล้ว อายุ 22 ปี จะเข้า 23 แล้วค่ะแต่ไม่มีอะไรเลย

อยากทราบว่าจะติดต่อคุณกิติวรญาทางโทรศัพท์ได้ไหมครับ มีเรื่องอยากจะปรึกษานะครับ

ขอบคุณครับ

หากผู้ถือบัตรไม่มีสถานะทางทะเบียนแต่งงานแล้วจดทะเบียนสมรสกับคนไทยมีทรัพย์สินคือที่ดินแล้วเมื่อต้องหย่าร้างผู้ไม่มีสถานะสามารถ

ครอบครองที่ดินผืนนั้นได้หรือไม่คะ

ธรรมชาติไม่ได้สร้างคนให้มาทะเลาะกันใครที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็เป็นคนไทยครับพระองค์ท่านได้ตรัสไว้ไม่กี่ปีนี้เองขอรับคนรุ่นใหม่ทำให้งง

ต่อจากความเห็นของเด็กตกหล่น ไม่ทราบว่าตอนนี้ยังเปิดe-mail อยู่หรือไม่ ตอนนี้มีการสั่งการใหม่ จะหมดเวลาสำรวจวันที่ 31 มีนาคม 2554 นี้ ถ้ายังไม่ทราบ เชิญdownload หนังสือสั่งการที่ http://gotoknow.org/file/i_am_mana/view/672798

ต่อจากความเห็น "เด็กไร้สัญชาติอยากจะเป็นครู" ไม่ทราบว่า 'จารย์ไหม ตอบ/ให้คำปรึกษาไปรึยังจ๊ะ  ถ้ายัง พี่มา...นะครับ จะได้เชิญชวนให้"เด็กไร้สัญชาติอยากจะเป็นครู"ไปเรียนรู้ที่ http://gotoknow.org/profile/i_am_mana/ โดยมีคำถามมาตรฐาน 4-5 คำถาม คือ

1. ผู้ที่ขอคำปรึกษา/ เจ้าของข้อมูล มีชื่อ/ชื่อสกุล ที่เป็นที่รู้จักในชุมชน ว่าชื่ออะไร/ ได้รับการบันทึกในระบบฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรแล้ว หรือยัง ถ้าได้รับการบันทึกฯ แล้ว มีเลข 13 หลัก อะไรบ้าง

2. ทราบวัน เดือน ปีเกิด หรือไม่ ถ้าทราบใครบอก...เชื่อได้แค่ไหน...มีเอกสารใดบันทึกไว้บ้าง หรือไม่

3. ทราบสถานที่เกิด หรือไม่ ถ้าทราบใครบอก...เชื่อได้แค่ไหน...มีเอกสารใดบันทึกไว้บ้าง หรือไม่ เช่น สูติบัตร หรือหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร.1/1) จากสถานพยาบาล เป็นต้น ถ้าเกิดในปรัะเทศไทยจริง สามารถให้นายทะเบียน สอบสวนขอหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร.20/1) ที่มีศักดิ์เทียบเท่าสูติบัตร จะได้เป็นหลักฐานสำคัญ เชิญdownload หนังสือสั่งการที่ http://gotoknow.org/file/i_am_mana/view/253110

4. ทราบชื่อพ่อ/แม่ หรือไม่ ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ขณะที่เกิดและปัจจุบันมีสถานะบุคคลอย่างไร มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรอะไร / มีเลข 13 หลัก อะไรบ้าง

5. ถ้ายังไม่เคยมีเลข 13 หลัก เคยมีถิ่นที่อยู่ที่ไหนมาบ้าง

ถ้าใครมีพ่อ/แม่ เป็นคนต่างด้าว(ยังไม่มีสัญชาติไทย) เกิดภายในวันที่ 25 ก.พ.2535 จะมีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แห่งกฎหมายสัญชาติ ฉบับที่ 4 ยื่นคำร้องได้ที่ สำนักทะบียนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนฯ แต่ถ้ายังไม่มีเลข 13 หลัก ก็ทำได้ ถ้ายังไม่ทราบ เชิญdownload หนังสือสั่งการที่ http://gotoknow.org/file/i_am_mana/view/181707

ถ้ายังต้องการข้อมูลเพิ่มกว่านี้ สอบถามที่  'จารย์ไหม (กิติวรญา) หรือติดต่อไปที่ พี่มา...นะครับได้จ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท