ผมมา...นะครับ


นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการ
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
Username
i_am_mana
สมาชิกเลขที่
23595
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
-
(ไม่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2564)
ประวัติย่อ

1. เกิดที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อ 13 ตุลาคม 2503

2. การศึกษา

     2.1 เรียนหนังสือในชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านหัวดง โรงเรียนอินทร์บุรี(วัดดงยาง)

     2.2 เรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนอินทร์บุรีและโรงเรียนสิงห์บุรี 

     2.3 เรียนหนังสือชั้นอุดมศึกษาสำเร็จตามหลักสูตรปริญญาตรี "ศิลปศาสตรบัณฑิต(รัฐศาสตร์) หรือ ศศ.บ.(รัฐศาสตร์)" จากคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จากนั้นก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท "รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต หรือ รป.ม.หรือ M.P.A." จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วยังได้มีโอกาสเรียนปริญญาตรีจนสำเร็จ  นิติศาสตรบัณฑิต หรือ  น.บ. จากคณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

     ล่าสุดได้เข้าศึกษาตามโครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นับเป็นรุ่นที่ 10 หรือหนึ่งทศวรรษ เหลือเพียงวิชาเดียวที่สอบไม่ผ่าน ถือว่า ไม่สำเร็จการศึกษา ก็ยอมรับได้ ส่วนความรู้ที่ได้รับมานั้น จะนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควร     และคงจะเรียนไปอีกเรื่อยๆ ถ้ายังมีเรี่ยวแรง เพื่อนำความรู้มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้มีความยุติธรรมมากกว่านี้

     เรื่องเรียน...ก็หยั่งที่กล่าวไว้ตั้งแต่สร้างบล็อกนี้แล้ว ว่า ยังต้องเรียนอีกเรื่อยๆ ขณะนี้เข้าศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต(พัฒนศึกษาศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ(มศว) เป็น 1 ใน 6 คนที่รับการเรียนรู้ โดยกระผมได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อเป็นเวลา 3 ปีถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2556 โดยไม่ต้องไปปฏิบัติงานและได้รับเงินเดือนคงเดิมตลอดการลา  ขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ผู้บริหารทุกระดับ เพื่อนร่วมงานและท่านที่รู้จักคุ้นเคยทุกท่าน โดยเฉพาะฅนรู้ใจ คือ อ๊อด ที่รักฅนใกล้ชิด ต่างล้วนเป็นกำลังใจให้เสมอมา...

       ส่วนการศึกษาจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามได้จากบล็อกและบันทึก...ขอกำลังใจจากทุกท่านมาเสริมพลังในการเรียนรู้ครั้งนี้ด้วย...ขอบพระคุณทุกท่านคร๊าบบบ

    3. เคยทำงานเป็นปลัดอำเภอที่ อ.เมืองเลย จ.เลย พ.ศ.2531-2535 แล้วก็ย้ายมาอยู่ที่กรมการปกครอง ทำงานอยู่หลายกอง เกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาชาวบ้านบนพื้นที่สูง จนกระทั่งมาเกี่ยวกับการกำหนดสถานะบุคคลให้อยู่ได้ในสังคมนี้ ด้วยการรวบรวมเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีนโยบายกับชนเผ่าต่างๆ

4. หลังจากนั้น พ.ศ.2545 ได้รับคัดเลือกให้โอนย้ายมารับราชการในตำแหน่งปัจจุบันที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขณะนี้ดูแลศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหากท่านประสบปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เชิญใช้บริการที่ โทร. 1377 หรือส่ง e-mail ร้องเรียนไปได้ที่ [email protected] และให้คำปรึกษา วิเคราะห์การกำหนดสถานะบุคคลให้กับผู้ประสบปัญหาทุกคนไม่ว่า "เขาเหล่านั้น จะเป็นใคร" เราต้องสืบค้นพยานหลักฐานทั้งหมดที่มี เพื่อนำเสนอให้ "เขาฅนนั้น" อยู่ได้อย่างถูกต้องต่อไป

จะมีวิธีการช่วยเหลืออย่างไร ท่านช่วยได้มั๊ย ผมเชื่อว่า ท่านมีโอกาสช่วยได้ เรามาร่วมมือช่วยกันนะครับ เรื่องนี้ไม่ยาก

5. ภารกิจพิเศษ ที่พอมีความรู้ที่จะแลกเปลี่ยน คือ

    5.1 เป็นวิทยากรบรรยายให้กับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดสถานะบุคคลและสิทธิ ความรู้เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ทะเบียนต่างๆ และบัตรประจำตัวทั้งของคนไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง  เรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ฯลฯ โดยล่าสุด ได้รับเชิญจากสำนักพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส สังกัด ส.ท. ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ไปบรรยายเกี่ยวกับมาตรฐานชีวิตของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ใน 8 เวที ทั้ง 4 ภาค ก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งมีผลสะท้อนกลับมาขอคำปรึกษาหลายราย อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลและให้คำแนะนำเพิ่มเติม คาดว่า น่าจะมีผลสำเร็จหลายราย

   5.2 ได้รับการแต่งตั้งเป็น

          1. อดีตอนุกรรมการและเลขานุการในคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสถานะและสิทธิบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธาน (คำสั่งคณะกรรมการสิทธิฯ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2553 และคำสั่งสำนักงาน กสม. วันเดียวกัน) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่สิบกว่าคน เรื่องการส่งเสริมสิทธิ ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของบุคคลกลุ่มนี้ น่าจะมีพัฒนาการไปด้วยดี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า มีข้อมูล ข้อเท็จจริงมาร่วมกันสร้างสรรค์ให้สังคมของผู้ที่อยู่ในอีกมุมหนึ่งของสังคมได้มีความเสมอภาคกัน ท่านที่สนใจก็ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนะครับ

       2. อดีตอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีคุณหมอแท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธาน (คำสั่งคณะกรรมการสิทธิฯ ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2553) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่สิบกว่าคน เรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่เรื่องสิทธิมนุษยชนในเชิงรุก ก็คอยดูผลงานกันต่อไปครับ ท่านในต้องการให้ดำเนินการในรูปแบบใด หรือมีข้อเสนอแนะ ก็เรียนเชิญให้คำแนะนำได้เลยครับ

 และเมื่อได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อ จึงจำเป็นต้องพ้นจากการทำหน้าที่ไปโดยปริยาย ทั้ง 2 คณะ

   5.3 ปัจจุบันทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการโครงการมาตรการเพื่อพิทักษ์และส่งเสริมสิทธิผู้ไร้สัญชาติของสำนักงาน ส.ท. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    5.4 อดีตคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการในคณะทำงานเรื่องการหามาตรการศึกษากรณีตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขตหน้าที่ ในส่วนของการพัฒนาบุคลากร ตามคำสั่งของศาสตราจารย์ วิชา  มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ พิจารณาเรื่องนี้ ที่มีอุดมคติในการทำงาน คือ การที่จะช่วยให้ตำรวจเป็นที่รักของประชาชน

   5.5 อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการในคณะอนุกรรมาธิการติดตามการบังคับใช้กฎหมายและยุทธศาสตร์ เพื่อการแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา ที่มี อาจารย์ตวง อันทะไชย เป็นประธานฯ ทนายวรินทร์  เทียมจรัส และครูหยุย (นายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ - อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ/สมาชิกสภานิติบัญญัติหรือ สนช.) ร่วมกันเป็นรองประธาน โดยมีสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านและผู้ทรงคุณวุฒิที่สนใจงานด้านนี้ร่วมเป็นกรรมาธิการ

   5.6 ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(นายอิสสระ สมชัย) ให้ทำหน้าที่อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการติดตามการกำหนดสถานะบุคคลแก่เด็ก ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ(ครูหยุย เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ) ก็คงเน้นเรื่องเด็กๆ แต่คงไม่ทิ้งบุคคลในครอบครัวด้วย งานนี้ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ถ้าชุมชน หมู่บ้านใดที่พบว่า มีสมาชิกในชุมชน "อยู่มานานแล้ว แต่ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน" จึงเป็นผู้ตั้งคำขวัญและใช้คำว่า เรามาช่วยกัน"เอ๊กซ์เรย์ทุกชุมชนให้ทุกฅนมีชื่อในทะเบียนบ้าน มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีบัตรประจำตัวไว้แสดงตนอย่างถูกกฎหมาย ง่ายนิ๊ดเดียว" ส่วนจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ คงต้องมาวิเคราะห์จากสถานที่เกิด วันเดือนปีที่เกิด และบิดา มารดาบุพการี หรืออาจจะต้องสืบไปถึงบรรพชนต้นสกุล เพื่อให้ได้ข้อมูลให้มากที่สุด

   5.7 อดีตเคยเป็นอนุกรรมาธิการในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการแก้ไขปัญหาเด็กไร้รัฐ ในคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา ที่มี "ครูหยุย" (นายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ - อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ)   เป็นประธานฯ

   5.8 อดีตเคยเป็นอนุกรรมาธิการในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการแก้ไขปัญหาสื่อลามกที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ก็ "ครูหยุย" (พ้นหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในวันที่ 2 มี.ค.2551) เป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและความมั่นคงของมนุษย์  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

   5.9 อดีตเคยเป็นอนุกรรมาธิการในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงของปัญหาการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคล ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เป็นงานที่ช่วยแก้ปัญหาเป็นรายบุคคลที่ส่งเรื่องเข้าไปที่ สนช. ซึ่งจะช่วยเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและสิทธิได้อีกระดับหนึ่ง ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 ครูแดงหรือพี่แดง (คุณเตือนใจ ดีเทศน์ - อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ และเมื่อพ้นจากตำแหน่ง สนช.ไปทำหน้าที่ ส.ว. ก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา อีกครั้งหนึ่งด้วย จนกระทั่งหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค.2551

   5.11 เคยทำหน้าที่อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น  ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ (ตามคำสั่งสภาทนายความ ที่ 239/2550 ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2550) แต่ก็ยังมีภารกิจช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอๆ

   5.11 พอมีความรู้เรื่องการถ่ายภาพ เพราะมีใจรักและเรียนมาจากรั้วพ่อขุน ก็พอจะคุยได้ว่า ลงทะเบียนเรียน 3 วิชา เกรดที่ได้ G ทั้งหมด จากกล้องปัญญาเลิศและกล้องเลนส์เดี่ยวธรรมดาที่ใช้ฟิล์ม จากนั้นก็พัฒนามาเป็นใช้กล้องดิจิตอลและกล้องVideo ที่นำเสนอภาพอย่างน่าสนใจ โดยถ่ายทำและตัดต่อ มีเทคนิคลูกเล่นมากกว่ามือสมัครเล่น แต่พยายามไปให้ถึงกึ่งอาชีพ ถ้าใครที่สนใจก็สามารถแลกเปลี่ยน หรือไปชมภาพที่แฟ้มกันได้เลยครับ

   5.12 จากการที่ศึกษามาทางด้านบริหารงานภาครัฐทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท แถมด้วยวิชากฎหมายที่เน้นกฎหมายมหาชน จึงได้รับเชิญจากวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้ทำหน้าที่อาจารย์พิเศษ โดยรับผิดชอบสอนวิชากฎหมายปกครอง 1 ให้กับนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต(รป.บ.) แขนงวิชายุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งใช้มาตรฐานการเรียนการสอนตามปกติ แต่เป็นหลักสูตรเร่งรัดใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 2 ปีครึ่งในภาคเรียนนี้มีสอนที่ศูนย์การเรียนโรงเรียนสงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรีและศูนย์การเรียนโรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี ทั้งสองศูนย์การเรียนใช้ระยะเวลาสอนศูนย์ละ 7 ครั้งๆละ 6 ชั่วโมง

   7. ข้อมูลเพื่อการติดต่อสื่อสาร กระผมเปิดให้ติดต่อสื่อสารได้ทุกช่องทาง นอกจาก โทรศัพท์เคลื่อนที่ 08-1931-6123 แล้ว ยังมีโทรสาร 0-2641-8203 สุดแท้แต่จะสะดวกทางใด หรือทางe-mail:[email protected], หรือใช้ร่วมกับ  msn: [email protected] และ facebook : Stateless Child ก็ยินดีเสมอครับ เพราะหากมีผู้ใฝ่รู้ในเรื่องที่กระพ๊มสามารถถ่ายทอดได้มากเพียงใด เท่ากับเป็นการสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับสังคม แล้วกระพ๊มจะได้เหนื่อยน้อยลง เพราะคิดอยู่เสมอว่า เป็นการจุดเทียนดวงเล็กดวงน้อยให้บนดอยสว่างไสวไปด้วยองค์ความรู้และพลังที่มีอยู่กันทุกฅน...เมื่อมีพลัง ความหวังก็สำเร็จ.

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท