เรียนรู้ "ประเภทของการประชุม" หลาย ๆ รูปแบบ จาก ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย


การสนทนา (Dialogue)

 

มี 2 ความหมาย คือ

(1) การพูดจาปราศรัยในวงสนทนาระหว่างบุคคล ตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(2) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นหนึ่งประเด็นใด โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะหาข้อยุติหรือข้อตกลงฉันมิตร

 

การให้ได้มาซึ่งการสนทนาฉันมิตร มีขั้นตอนดังนี้

ก. ให้ตกลงกันก่อนว่าทุกคนในวงสนทนาจะสลายพลังอำนาจและสลัดทิ้งซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน จะได้สร้างเงื่อนไขว่า ทุกคนในวงสนทนากำลังช่วยกันรวบรวมความคิดจากทุกฝ่ายให้ก่อรูปเป็น "ความคิดกลาง" (ไม่เป็นความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ)

ข. ในขณะที่คนหนึ่งพูดแสดงความคิดเห็น คนอื่นต้องตั้งใจรับฟังและพยายามเข้าใจ จนสรุปเป็นความคิดเห็นสู่ "ความคิดกลาง"

ค. ไม่ให้ตัดสินใจว่า ความคิดใดถูกหรือผิด แต่ให้เชื่อมโยงความคิดจากทุกฝ่าย จนกลายเป็นความคิดกลางที่เป็นทางออกไปสู่ข้อยุติหรือข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

 

 

การสัมมนา (Seminar)

 

การสัมมนา หมายถึง การประชุมตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ โดย

(1) มีการอภิปรายกันอย่างเสรี ในระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่ประสบข้อปัญหาหรือมีความสนใจร่วมกัน

(2) มีการสรุปผลว่า ที่ประชุมนั้นมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาหรือแนวทางพัฒนาอย่างไรบ้าง

(3) ผู้เสนอแนะไม่มีผลผูกพันจะต้องปฏิบัติ

(4) ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้รับข้อเสนอแนะ ควรนำข้อเสนอแนะไปพิจารณา ส่วนจะปฏิบัติได้หรือไม่ ไม่มีผลผูกพันกับการสัมมนา

 

 

การอภิปราย (Discussion)

 

เป็นการประชุมเพื่อให้สมาชิกได้พูดชี้แจงแสดงความคิดเห็นในเรื่องหรือประเด็นสำคัญ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นหลาย ๆ แง่มุมต่อเรื่องนั้น หรือประเด็นนั้น

กลุ่มอภิปราย (Discussion Group) หมายถึง กลุ่มคนที่มาร่วมประชุมกันเป็นประจำเพื่อถกแถลงแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

 

การบรรยาย (Lecture)

 

เป็นการพูดชี้แจงหรืออธิบายให้ฟังแก่กลุ่มบุคคล มักใช้ในการบรรยายของครู อาจารย์ แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือในการประชุมวิชาการ

ปาฐกถาเป็นการบรรยายเรื่องราวในที่ประชุม

 

 

สมัชชา (Assembly)

 

เป็นการประชุมเพื่ออภิปรายเรื่องหนึ่งเรื่องใดอันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมกัน ตัวอย่าง

(1) กลุ่มคนผู้ที่ได้รับเลือกจากประชาชนหรือสมาชิกให้ออกกฎหมายสำหรับประเทศหรือพื้นที่พื้นที่หนึ่ง

(2) กลุ่มคนที่มาชุมนุมกันเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ

(3) ที่ประชุมโดยปกติของครูและนักเรียนของโรงเรียนหนึ่ง

 

 

สุนทรพจน์ (Speech)

 

เป็นคำกล่าวของประธานหรือบุคคลสำคัญต่อผู้มาร่วมชุมนุมกันในพิธีการ หรือในโอกาสสำคัญต่าง ๆ

 

 

ระเบียบวาระ (Agenda)

 

คือ ลำดับรายการที่กำหนดไว้ในการประชุมแต่ละครั้ง (ส่วนคำว่า วาระ = term หมายถึง ครั้งหรือช่วงเวลาที่กำหนด)

 

 

ระเบียบวาระจร

 

คือ เรื่องที่มิได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระ แต่ได้นำเข้ามาพิจารณาเป็นพิเศษในการประชุมคราวนั้น

 

 

ญัตติ

 

ข้อเสนอเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ

 

 

มติ

 

ข้อวินิจฉัยในญัตติ หรือในประเด็นเพื่อพิจารณาในระเบียบวาระ

 

 

.........................................................................................................................................

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ค้นพบโดยบังเอิญในร้านหนังสือใหญ่แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ... ทำให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการประชุมกว้างขึ้น เพราะไม่ได้ร่ำเรียนทางนี้มาโดยตรง หากแต่ถูกนำไปใช้บ่อยในการประชุมการทำงาน และทำให้เราเข้าใจได้ถ่องแท้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นความรู้มูลฐานที่คนทำงานควรทราบ

 

บุญรักษา ทุกท่าน :)

 

.........................................................................................................................................

 

แหล่งอ้างอิง

เกษม วัฒนชัย.  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประชุม.  กรุงเทพฯ: พัฒนาศึกษา, ม.ป.ป.

 

หมายเลขบันทึก: 261933เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะอาจารย์

เพิ่งทำ world cafe ค่ะ ใช้รูปแบบการสนทนาค่ะ แต่ผลคือต้องปรับเปลี่ยนค่ะ การทดลองล้มเหลว คงต้องหาวิธีแก้ไข

ความจริงแล้ววิธีนี้ยากนะค่ะ การฟังอย่างให้เกียรติ ไม่ตัดสินถูกผิดความคิดของผู้อื่น เพราะนิสัยของมนุษย์ชอบตัดสิน

ส่วนการพูดอย่างให้เกียรตินั้นก็ยากถ้าหากว่าคนนั้นเห็นขัดแย้งกับเรา ไม่ง่ายเลยค่ะที่จะทนอยู่เฉยๆ โดยไม่โต้ตอบกลับไป

มาบ่นแล้วก็แจว

ขอบคุณค่ะ

อ๋อ ครับ น้อง สี่ซี่ ;)

นาน ๆ ผมจะเห็นคนที่เป็นผู้ฟังที่ดี นั่งฟังโดยไม่ตอบโต้กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับคนพูด ... เพราะส่วนใหญ่อย่างที่น้อง สี่ซี่ เล่าให้ฟัง ก็คือ ฟังใครไม่เป็น เห็นแต่ตัวเองถูกที่สุดในโลก ...

คนแบบนี้ หากทำงานกันใกล้ ๆ ต้องไปห่าง ๆ หรือหากจะสู้ ก็จะต้องหาเหตุผลมาพูด ต้องอาศัยประธานเป็นกลาง รับฟังจึงจะบรรลุเป้าหมาย หากประธานไม่ได้เรื่องได้ราว มีหวัง อาจจะต้องวางมวย เสียค่าปรับ 500 บาทกันไปก่อน

น้อง สี่ซี่ ... คงใกล้ได้สัมผัสตัวจริงของเหล่าบล็อกเกอร์แล้วนะครับ คราวนี้คงน่าจะพอคาดเดาได้แล้วล่ะว่า สไตล์ของแต่ละคนในการให้ความคิดเห็นเป็นอย่างไร ระวังหมั่นไส้ คนที่รับฟังใครไม่เป็น เห็นแล้วจะหนาวใจ ไม่อยากอยู่แถวนั้นอีกก็ได้

อยากให้กำลังใจ ลองหาวิธีใหม่ดูนะครับ

สู้ สู้ น้องจำไม :)

ขอบคุณค่ะอาจารย์ พี่ตามอ่านย้อนหลังจากบันทึกล่าสุดที่บอกว่าบันทึกสุดท้ายค่ะ

ขอบคุณมากครับ พี่หม่อม ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี :)

อาจจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ :)

ไม่มีสวนไม่มีมะพร้าวสักต้นเลยค่ะ พี่เพิ่งได้ความรู้เพิ่มเติมตรงความหมายของสมัชชาด้วยค่ะ เพราะไม่มีประสบการณ์ตรงเลยไม่เคยรู้มาก่อนค่ะ และหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ผ่านตานะคะ ลองค้น CMUL OPAC ก็ไม่มี...ว้า....เป็นไปได้ ;)

แน่นอนครับ พี่หม่อม ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี ;)

หนังสือเล่มนี้ค้นพบด้วยความบังเอิญ ณ ดวงกมลเชียงใหม่

ขอบคุณครับ :)

เรียนอ.เสือ โฮ่งๆ

พี่ตามมาจากProfessional Experience in Education  พุ่งพรวดเข้าไป หมายมั่น เจอ ฮา..ถอยกลับมา

ดีใจที่ได้เจอบันทึกนี้ ขออนุญาตินำลิงค์ไปฝากน้องๆ เพื่อนๆ กศฯ.สมุทรสาครเรื่องของ"Dialogue"

ส่วนตัวชอบ Seminar แต่ไม่ชอบการพูดของคนที่พูดแล้วไม่รับผิดชอบคำพูด ส่วน Discussion รู้สึกว่าได้ทำแล้วมันปาก อิอิเบื่อที่สุดคือLecture ยิ่งไปเจอคนพูดๆแต่ยกตัวเอง กว่าจะเข้าบทเรียนได้ วัยรุ่นเซ็งเป็ดเลยแต่ชอบฟัง speech นะ ชอบมากฟังแล้วได้อารมณ์ สำหรับAgenda เป็นเรื่องน่าเบื่อยิ่งในระบบราชการแล้ว หาสีสันไม่เจอ เดิมๆ เหมือนเดิมพูดไปนายฟังแต่แอบคิดไม่ดี เพื่อนพาลหมั่นไส้ ว่าแล้วก็เฉยดีก่า อยากให้ทำอะไรสั่งมา ผลทำแบบซังกะตาย งานตายๆ แบบมันตายตัว นอกคอกหน่อยนายงง ขี้เกียจอธิบายก็เลิกทำ หันไปสู่กรอบวิถีแห่งราชการ อิอิ

ขอบคุณค่ะ ร่ายยาวมากไป เดี๋ยวจะเบื่อขึ้นมาอีกคน

อรุณสวัสดิ์ค่ะอ.วสวัต ตีมาร J

เห็นเหมือนกับครูพี่ต้อยอย่างแรงค่ะ

เดือนนี้จะมีงานสัมมนา 2 งาน ดีหน่อยที่ยังมีสนทนา ซึ่งอยากให้เป็นสุนทรียสนทนา แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นยังไง J

เป็นไงบ้างค่ะกับวันหยุดนี้  ... อยากเห็นภาพงานแห่เทียนทางเวียงเจียงใหม่เจ๊า J

 

ร่ายยาวด้วยความเข้าใจและประสบการณ์ มิเป็นไรครับ มิเบื่อ ;)

ส่วน Professional Experience in Education (จะ) เป็นบล็อกสำหรับงานที่รับผิดชอบครับ แต่มันสุ่มเสี่ยงเหมือนกัน จึงยังไม่ได้ลงมือ มีแต่คิดครับ

ขอบคุณครับ คุณ krutoi :)

สวัสดีครับ คุณ poo ;)

เหมือนอย่างแรง แสดงว่า มีประสบการณ์เยอะครับ อิ อิ

หายใจเป็นการประชุมแน่ ๆ เลย

อิ อิ ... เชียงใหม่ฝนตกตั้งแต่เมื่อคืนแล้วครับ ยังไม่หยุดเลย ... จะได้เห็นภาพไหมเนี่ย

ขอบคุณครับ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท