มีผู้กล่าวว่า “ การทำงานนั้นเราทำกับคน ถ้าได้คนก็จะได้งาน ถ้าไม่ได้คนก็พังทั้งคนและงาน”
ในโลกของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลาในปัจจุบัน ทำให้เราต้องทำงานแบบ matrix มากขึ้น บุคคลคนเดียวอาจต้องทำงานหลายอย่าง และเกี่ยวข้องกับหลายทีมงาน สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริหารในฐานะผู้นำทีมต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและส่งเสริมทีมงานที่มีวัฒนธรรมหลากหลายให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพลังร่วม (synergy)
คุณลักษณะที่จำเป็นและสำคัญมากสำหรับผู้บริหารสมัยใหม่ในการแก้ปัญหาและพัฒนาองค์กรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสังคม เหตุการณ์ สถานการณ์ และบุคคล คือความสามารถในการปรับตัว และ มี ความยืดหยุ่น อันเป็นสมรรถนะที่หากผู้บริหารขาดเสียแล้ว อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย กระบวนการบริหาร การเป็นผู้นำทีมและการตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสามาถที่จำเป็นสำหรับการปรับตัวและยืดหยุ่นของผู้บริหารมีอย่างน้อย 5 ประการ คือ
1. การวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์
ผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการเข้าใจและวิเคราะห์พฤติกรรมทั้งของตนเองและของผู้อื่น เพื่อปรับปรุงตนเอง โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมทั้งต้องเข้าใจถึงคามเกี่ยวข้องระหว่างความต้องการ แรงจูงใจ และ พฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีทฤษฎีการบริหารหลายทฤษฎี เช่น ถ้าจะใช้ทฤษฎีพฤติกรรมการจูงใจของมาสโลว์ (Maslow) ที่กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ตามลำดับขั้น 5 ขั้น คือ ความต้องการทางกาย ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง ความต้องการทางสังคม ความต้องการการยอมรับนับถือ และ ความต้องการความสำเร็จสูงสุดแห่งตน ก็ควรตระหนักด้วยว่า ความต้องการที่ได้รับความพึงพอใจแล้ว อาจจะไม่เป็นสิ่งจูงใจให้เกิดพฤติกรรม แต่จะเกิดความต้องการในขั้นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความต้องการของบุคคลมีความซับซ้อนมาก เนื่องจาก “จิตมนุษย์นั้นไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง”
แมคคลีลแลนด์ (McClelland) แบ่งความต้องการออกเป็น 3 ประเภท คือ ความต้องการสัมฤทธิ์ผล คามต้องการสัมพันธ์ และ ความต้องการอำนาจ โดยเน้นว่า ผู้มีความต้องการสูงด้านสัมฤทธิ์ผล จะปฏิบัติงานได้ดีถึงแม้จะมีหรือไม่มีสิ่งจูงใจเป็นเงินก็ตาม เป็นต้น
2. ความสามารถด้านการบริหาร EQ
EQ คือ ปัญญาทางอารมณ์ที่ แดเนียล โกลแมน (Danial Goleman) ได้แบ่งองค์ประกอบไว้ว่ามี 5 ประการ คือ 1)การรู้ตัว 2)ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ 3)แรงกระตุ้น 4)ความเห็นใจ และ 5)ทักษะทางด้านสังคม เช่น การให้ความร่วมมือ ความเป็นผู้นำ เป็นต้น
ผู้บริหารจึงต้องมีคุณลักษณะสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาปัญญาทางอารมณ์อย่างน้อย 5 ประการคือ 1) การรู้จักตัวเอง 2) การรู้จักจัดการกับอารมณ์ 3)การสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง 4) การควบคุมอารมณ์ชั่ววูบ และ 5) การหยั่งรู้จิตใจผู้อื่น
ผู้บริหารที่มีความสามารถด้านการบริหาร EQ จะเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ มีคุณค่าอยู่กับใครใครก็รัก ทำงานกับใครใครก็ชอบ และ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาและมีการตัดสินใจที่ดีเสมอ
3.การปรับตัวให้เข้ากับบุคคลและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
ผู้บริหารคงไม่โชคดีที่จะมีโอกาสเลือกทำงานกับบุคคลหรือกับหน่วยงานที่ตนเองต้องการได้เสมอไป ในแต่ละองค์กรก็มีบริบท (context) ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในด้านบุคคล ปัจจัยความพร้อม วัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น ผู้บริหารที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะสมกับ work style การปรับตัวในความไม่แน่นอนและสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวกับบุคคลที่แตกต่างกันในโลกของงาน
ผู้บริหารจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนหลายคน หลายฝ่าย หลายภูมิหลัง หลายค่านิยม หลายความมุ่งหมาย หลายวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ มาผูกสัมพันธ์กับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง จนเป็นพลังสู่ความสำเร็จ จึงเป็นโจทย์สำหรับผู้บริหารยุคใหม่
การบริหารเพื่อการเปลี่ยนแปลง จึงต้องเริ่มจากการปรับตนเองไปพร้อมกับการใช้วิธีการปรับเปลี่ยนความรู้ เจตคติพฤติกรรมของบุคคลและพฤติกรรมของกลุ่มให้ไปสู่ทิศทางเป้าหมายที่ต้องการ ในทฤษฎีการบริหารการเปลี่ยนแปลงนั้น ถือว่า “การเปิดโอกาสให้บุคคลเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งการเสริมแรงทางบวก จะเป็นวิธีการปรับตัวและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมและคงทนอยู่ได้นาน
4. การจัดการกับปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
ความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในการบริหาร ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในการบริหารเสมอไป อาจเป็นประโยชน์ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานของกลุ่มก็ได้
ความขัดแย้งมีทั้งความขัดแย้งภายในบุคคล ความขัดแย้งระหว่างบุคคล ความขัดแย้งภายในกลุ่ม ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ความขัดแย้งภายในองค์กร และความขัดแย้งระหว่างองค์กร ยุทธศาสตร์ในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์นั้น ผู้บริหารจะตัองวินิจฉัยความขัดแย้งและพิจารณาใช้เทคนิคในการบริหารความขัดแย้งที่เหมาะสม
เทคนิควิธีการในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง มีหลายวิธีเช่น
แบบแพ้-ชนะ เช่น การใช้อำนาจ การขู่เข็ญคุกคาม การใช้เสียงข้างมาก เป็นต้น
แบบแพ้-แพ้ เช่น การประนีประนอม การประสานประโยชน์ การถ่วงเวลา เป็นต้น
แบบชนะ-ชนะ(Win-Win) เช่น การมีความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) การตัดสินใจแบบผสมผสาน เป็นต้น
ผู้บริหารสามารถเลือกใช้ได้จากทุกวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของความขัดแย้ง แต่แบบที่ถือว่าสร้างสรรค์ อันเป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างนำไปสู่การบริหารที่ไม่มีผลเสีย คือ แบบชนะ-ชนะ5. การสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
ผู้บริหารที่รู้จักปรับตัวและยืดหยุ่น จะสร้างบรรยากาศในการบังคับบัญชาที่ไม่วางตัวเป็นนาย ที่คอยบงการ แต่จะสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจ รับฟังความคิดเห็นของบุคลากร ส่งเสริมให้บุคลากรทำงานร่วมกันในลักษณะต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ มีระบบการติดตามช่วยเหลือการปฏิบัติงานของบุคลากร มีการยกย่องชมเชย ประกาศเกียรติคุณ หรือเผยแพร่ผลงานดีเด่นของบุคลากร ส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่าง เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นมิตรต่อกัน โดยมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและพัฒนาได้ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพและความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ทุกคนต่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งความเชื่อและการปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้บุคลากรเกิดความอบอุ่นใจ พึงพอใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุงพัฒนางานให้ก้าวหน้า เพราะความพึงพอใจของบุคคลนั้นมีปัจจัยสำคัญทางด้านจิตใจก็ คือความสำเร็จของงานและการได้รับความยอมรับนับถือ
การจัดสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสงบ ร่มรื่น สดชื่น สวยงาม มีเอกลักษณ์ ขจัดความซ้ำซากจำเจและมีความมั่นคงปลอดภัย จะทำให้บุคลากรเกิดความรู้สึกพอใจ ภูมิใจ อบอุ่นใจ สบายใจ รู้สึกในความเป็นเจ้าของและอยากมาทำงาน หากผู้บริหารจัดสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและบรรยากาศของการทำงานที่ดีก็จะส่งผลให้บุคลากรมีความสุขพึงพอใจในการทำงาน
มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงโทษของการไม่รู้จักปรับตัวและยืดหยุ่น กล่าวคือ มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ต่างมีทิฎฐิต่อกัน จะไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของอีกฝ่ายหนึ่งในทุกเรื่อง แม้แต่ในวันแต่งงาน เวลาวางมือรับพร รับน้ำสังข์ จับทัพพีใส่บาตร ต่างคนจะเกี่ยงกันที่จะไม่เอามือวางไว้ข้างล่าง เพราะกลัวจะถูกข่มรัศมีตามความเชื่อโบราณ ในที่สุดต้องให้มือของแต่ละคนอยู่ข้างบนหนึ่งข้างล่างหนึ่ง ให้อยู่ทั้งบนกับล่างไม่เสียเปรียบกันทั้งสองคน
พอแต่งงานงานกันแล้ว ยังถกเถียงกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องเสมอมา แทนที่จะเป็นคู่สมรสที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กลับเป็นคู่แข่งขันจ้องจะเอาแพ้ชนะกันตลอดมา
คืนวันหนึ่ง เมื่อทั้งสองคนเข้านอน ก็ฉุกคิดได้ว่าลืมปิดประตู สามีจึงบอกให้ภรรยาไปปิด แต่ภรรยาก็ไม่ยอมไป บอกว่าไม่ใช่เป็นคนใช้ ทุ่มเถียงกันเรื่องเกี่ยวกับไปเปิดประตูจนดึก ก็ตกลงกันไม่ได้ ภรรยาจึงพูดว่า
“หยุดพูดได้แล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องพูดกันอีก ถ้าใครพูดก่อนคนนั้นแพ้”แล้วทั้งสองก็นอนหันหลังให้กัน โดยปล่อยให้ประตูเปิดไว้เช่นนั้น
คืนนั้น มีขโมยย่องขึ้นบนบ้าน สามีและภรรยาก็รู้ แต่ไม่ยอมลุก และไม่ยอมพูดอะไร เพราะเกรงจะเป็นฝ่ายแพ้ ขโมยก็เลยขนของเอาไปเกือบหมดบ้าน
รุ่งเช้า ตื่นขึ้นมาเห็นของหายหมดก็ไม่มีใครพูด เพื่อนบ้านรู้ข่าวมาเยี่ยมและพูดด้วย ก็ไม่มีใครยอมพูด เพื่อนบ้างก็แปลกใจว่าสองคนนี้เป็นอะไรไป อาจเป็นบ้าก็ได้ วันหนึ่งเมื่อภรรยาออกไปทำธุระนอกบ้าน สามีอยู่บ้านคนเดียว นั่งซึมเศร้าเสียดายข้าวของ เพื่อนบ้านคนหนึ่งแอบรู้เหตุผลว่าสามีภรรยาต้องการเอาชนะกัน จึงนึกสนุกอยากจะทำอะไรเพื่อหวังว่าสถานการณ์อาจดีขึ้น โดยเอามีดโกนไปโกนผมฝ่ายสามีให้เหลือผมเป็นรูปกากบาทอยู่กลางหัว แล้วก็กลับไป
พอภรรยากลับมาเห็นทรงผมของสามีเป็นรูปพิสดาร จึงเผลอตัวร้องออกมาพร้อมกับชี้ไปที่หัวของสามี
“เอ๊ะ……..! นั่น……”
สามีได้ยินก็ลุกกระโดดโลดเต้น “นั่นแกพูดก่อน แกแพ้ข้าแล้ว ๆๆ”
เห็นหรือยังว่า การปรับตัวและยืดหยุ่น ที่หลายคนยังมองข้ามว่ามันมีอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ต่อการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพียงใด
********************************************************
ธเนศ ขำเกิด [email protected]