ความคิดเห็นต่อภาพรวมโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน (1)


                    หลังจากที่ผู้วิจัยได้ตอบคำถามต่างๆของทีมกลางเกี่ยวกับโครงการวิจัยของพวกเรา (5พื้นที่) ไปแล้ว วันนี้พอมีเวลาว่างก็เลยหยิบเอกสารภาพรวมโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนที่ทางทีมกลางส่งมาให้พร้อมกับคำถามขึ้นมาอ่านอีกครั้ง (หลังจากที่อ่านไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ลืมหน้า ลืมหลัง เลยตอบคำถามแบบกระท่อนกระแท่นอย่างที่ได้อ่านกันนั่นแหล่ะค่ะ) มีความเห็นเพิ่มเติม (เป็นจุดๆค่ะ) บางประการ ก็เลยเข้ามาเขียนให้อ่านเล่นกันค่ะ

                    ผู้วิจัยเข้าใจว่าเอกสารที่ทีมกลางส่งมานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน โดยตั้งชื่อบทความนี้ว่า “วิถีและพลังองค์กรการเงินชุมชน” แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ

                     ก.แนวคิด

                     ข.รูปแบบและการบริหารจัดการ

                     ค.ระบบสนับสนุน

                     ง.ข้อค้นพบและแนวทางจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน

                     สำหรับในส่วนแรก คือ ส่วนของแนวคิดนั้น สรุปได้ว่า แนวคิดขององค์กรการเงินชุมชนประกอบด้วยแนวคิดหลักๆ 3 ประการ คือ

                     1.การพัฒนาคนและชุมชน

                     2.นโยบายกระจายรายได้ กระจายอำนาจ เพื่อเป็นแหล่งทุนสร้างอาชีพเสริม

                     3.สร้างสวัสดิการชุมชนและกองทุนเมตตาธรรม

                    ผู้วิจัยขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นเรื่องการพัฒนาคนและชุมชน โดยใช้เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางเป็นกรณีตัวอย่างนะคะ (เพราะ ศึกษาแค่พื้นที่เดียวค่ะ ยังไม่เคยไปศึกษาพื้นที่อื่น) ความจริงแนวคิดของเครือข่ายฯเน้นประเด็นนี้ชัดเจน พูดย้ำกันอยู่เสมอ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าแนวคิดก็คือแนวคิดค่ะ เพราะ เครือข่ายฯก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สมาชิก กรรมการเข้าใจ รวมทั้งนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติได้ ไม่อย่างนั้นเครือข่ายฯคงจะมีสภาพเรียบร้อย (กว่านี้) ไปนานแล้วค่ะ ในขณะที่บางกลุ่ม (ในความเห็นของผู้วิจัยนะคะ) เขาสามารถที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์ ความคิดนี้ให้กับคณะกรรมการและสมาชิกได้ แม้อาจยังไม่ 100% แต่ก็พอมองเห็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำมาบอกเล่าให้ฟังได้ เช่น

                     ในกรณีของสมาชิกคนหนึ่งขององค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย เป็นบุญของผู้วิจัยมากเลยค่ะที่บังเอิญได้รู้จักสมาชิกคนนี้ พอดีวันนั้นเป็นวันออม (สัก 2 เดือนมาแล้วมั๊งคะ) สมาชิกคนนี้ก็มาออมตามปกติ ผู้วิจัยไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เลยเอาเครื่องบันทึกเสียงขึ้นมาเพื่อขอสัมภาษณ์ (แบบไม่ได้ตั้งตัวทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์) คุยไปคุยมาถึงได้ทราบว่า สมาชิกคนนี้ย้ายตามสามีไปอยู่ที่จังหวัดระยองตั้งนานแล้ว แต่ก็มาออมสม่ำเสมอทุกเดือนไม่เคยขาด โดยใช้วิธีการ คือ โดยสารรถบรรทุกสินค้าจากระยองที่จะมาส่งที่เชียงใหม่ไป-กลับ แต่ถ้าเดือนไหนไม่ว่างจริงๆก็จะโอนเงินเข้ามาในบัญชีของคณะกรรมการ ผู้วิจัยสงสัยเลยถามต่อว่า แล้วทำไมไม่ใช้วิธีโอนเงินวิธีเดียวล่ะคะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง สมาชิกท่านนั้น ตอบว่า อยากจะมาส่งด้วยตนเอง จะได้พูดคุยกับเพื่อนบ้าน กับคณะกรรมการไปด้วย และรู้สึกว่าการมาส่งเงินด้วยตนเองชัวร์กว่า ไม่ต้องรบกวนกรรมการด้วย เหนื่อยหน่อยก็ไม่เป็นอะไร พัก 1-2 วันก็หายเหนื่อยแล้ว

                    หรืออย่างในกรณีขององค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านเหล่า (เถิน) อ.นวภัทร์ ซึ่งเป็นประธานฯ ได้มาปรึกษาผู้วิจัยเกี่ยวกับการช่วยเหลือครอบครัวของสมาชิกรายหนึ่ง อาจารย์เล่าว่ามีครอบครอบครัวของสมาชิกรายหนึ่งมีกัน 3 คน พ่อ แม่ ลูก ครอบครัวยากจนมาก พ่อมีอาชีพรับจ้างเหยียบอิฐในโรงงานอิฐบล็อกของกลุ่มแม่บ้านได้ค่าแรงวันละ 170 บาท ส่วนแม่อยู่ทำงานบ้าน เพราะ ร่างกายไม่แข็งแรง ทำงานหนักไม่ได้เลย ขณะที่ลูกเรียนชั้น ม.5 ที่โรงเรียนในตำบล บ้านที่อยู่ก็เก่ามาก ที่สำคัญ คือ ไม่รู้ว่าวันไหนจะพังลงมา เห็นแล้วน่าสงสารมาก อยากจะช่วยเหลือโดยการสร้างบ้านใหม่ให้กับสมาชิกรายนี้ ผู้วิจัยคิดอะไรไม่ออกก็เลยพูดไปตามที่คิดว่า ไม่เห็นจะยากเลยค่ะ กลุ่มแม่บ้านก็มีเงินตั้งเยอะแยะ กลุ่มวันละบาทก็พอมีเงิน ทำไมไม่ให้เขากู้ล่ะคะ คิดดอกเบี้ยถูกๆ หรือไม่คิดเลยก็ได้ ถือว่าช่วยๆกันไป ยังไงเขาก็เป็นสมาชิกของเราอยู่แล้ว อ.นวภัทร์ บอกว่า ตอนแรกก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน เคยเอ่ยปากเรื่องนี้แล้วด้วย แต่เขาไม่ยอมกู้ บอกว่า กลัวเป็นหนี้และกลัวหาเงินมาใช้ให้ไม่ได้ ไม่อยากเป็นหนี้ บ้านที่มีอยู่ก็อยู่ไปก่อน ไม่รู้ว่าจะทำยังไงเหมือนกัน ตัวเอง (อ.นวภัทร์) เห็นแล้วสงสาร คิดว่ายังไงก็ต้องช่วยเหลือครอบครัวนี้ให้ได้ ก็เลยพูดกับกรรมการ ทุกคนก็เห็นว่าควรช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยยังไง ลำพังเรื่องซ่อมบ้าน คนในชุมชนพอที่จะช่วยกันได้ แต่จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อวัสดุ อุปกรณ์ที่หาไม่ได้ อ.นวภัทร์ จึงถามผู้วิจัยว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากที่ไหนได้บ้าง ผู้วิจัยก็คิดไม่ออกเหมือนกัน ตอนแรกก็กะจะบอกว่า ให้ไปขอพวก สส. สิ แต่คิดไปคิดมาอย่าเอาตัวไปยุ่งกับการเมืองเลย ก็เลยตอบไปว่า น่าจะไปขอเทศบาล อ.นวภัทร์ก็เห็นด้วย บอกว่าจะลองไปพูดกับเทศบาลดู ผู้วิจัยนึกสนุกขึ้นมาก็เลยบอกว่าถ้าจะไปวันไหนก็ขอให้บอกด้วย จะพยายามเคลียร์งาน จะได้ไปด้วยกัน

                     จากทั้ง 2 ตัวอย่างนี้ ผู้วิจัยเห็นว่า สะท้อนให้เห็นแนวคิดของการตั้งและการดำเนินการกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ชัดเจนในเรื่องของการพัฒนาคนและชุมชน ในตัวอย่างแรกสะท้อนให้เห็นคุณธรรมของสมาชิก ส่วนตัวอย่างที่สองแสดงให้เห็นคุณธรรมของคณะกรรมการ แต่จากตัวอย่างทั้ง 2 นี้ทำให้ผู้วิจัยเกิดคำถามขึ้นมาว่า “แล้วจะทำให้เกิดแนวคิดเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร?” ทำไมกลุ่มระดับชุมชนจึงมีแนวคิดนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ทำไมเครือข่ายฯทำให้เกิดขึ้นไม่ได้? สำหรับผู้วิจัยแล้วคิดว่าตัวเองมีคำตอบอยู่ 2 คำตอบในขณะนี้ คือ

                     1.กลุ่มให้อิสระกับกรรมการและสมาชิกในการที่จะคิด ที่จะทำ ในขณะที่เครือข่ายฯมีการครอบงำความคิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อครอบงำมากๆถึงจุดๆหนึ่งคนจะทนไม่ได้ เมื่อเขาทนไม่ได้ต่อให้ใส่อะไรเข้าไปเขาก็ไม่ยอมรับ

                     2.สิ่งจูงใจ  การให้สิ่งตอบแทนเพื่อเป็นรางวัลสำหรับคนทำงาน สิ่งนี้สำคัญมาก หลายคนมองไปแต่เฉพาสิ่งตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ซึ่งผู้วิจัยคิดว่าไม่ผิด เพราะ เราถูกหล่อหลอมมาแบบนี้ อย่างกลุ่มบ้านเหล่า คนทำงานจะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน มีหลายคน หลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยบอกว่า ทำอย่างนี้แสดงว่าไม่ได้ทำงานด้วยใจแต่ทำงานด้วยเงิน แต่สำหรับผู้วิจัยแล้วตัวเองคิดว่าก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลย ถ้ากลุ่มสามารถบริหารจัดการได้ สามารถหาเงินมาเป็นค่าตอบแทนได้ เขาจะทำยังไงก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาอะไร เพราะ กลุ่มเขามีศักยภาพอย่างนั้น ทำไมเราจะต้องเอาความคิดของเราไปตัดสินด้วย ทำไมเราจะต้องทำให้ทุกคนคิดและทำเหมือนเรา มีอยู่เยอะแยะที่คิดไม่เหมือนกัน ทำไม่เหมือนกัน แต่มีจุดหมายเดียวกัน

                     สิ่งตอบแทนที่ไม่ใช่เงินก็มีอยู่มากมาย เช่น การได้รับเกียรติ การได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นต้น สิ่งตอบแทนเหล่านี้ (น่าจะ) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสามารถนำมาหลอมคนให้มีอุดมการณ์เดียวกันได้  ซึ่งการให้สิ่งตอบแทนในระดับกลุ่มจะเห็นชัดมาก  และมีหลายรูปแบบ  ในขณะที่เครือข่ายฯ (แทบ) ไม่มีเลย แล้วจะมาเรียกร้องให้คนทำงานต้องมีคุณธรรม  มีอุดมการณ์ได้อย่างไร  (ผู้วิจัยคิดอย่างนี้จริงๆนะคะ  หลายคนบอกว่าการทำกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องของคุณธรรม  เป็นเรื่องของอุดมการณ์  อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง  ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้งเราจะไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงแนวคิดนี้อย่างแท้จริง  แต่ในสังคมปัจจุบันเราจะหาคนที่มีอุดมการณ์อย่างนี้ได้สักกี่คนคะ  แล้วเราจะสร้างเขาเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไร  ในเมื่อเราไม่ลงทุน  เราหวังแต่จะได้อย่างเดียว)  เขียนไปเขียนมาเพิ่งนึกออกอีกอย่างหนึ่งว่าผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ (น่าจะ) ถอดความรู้ วิธีการ ที่กลุ่มใช้หลอมแนวคิด อุดมการณ์ให้กับคณะกรรมการและสมาชิกด้วย ไม่ใช่บอกแต่จุดปลายทางว่าเกิดอะไรขึ้น แต่น่าจะบอกให้ได้ทั้งกระบวนการจึงจะเป็นประโยชน์มากที่สุด (ได้แต่คิดค่ะ ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่ก็จะพยายามให้ถึงที่สุดค่ะ)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26172เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2006 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ.อ้อมทำได้อยู่แล้ว จะรออ่านครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท