ก็เพราะจน จึงเครียด เลยต้องกินเหล้าไง


โฆษณาชุดนี้กำลังพลิกกลับความสัมพันธ์จากการที่เหล้านั้นเป็นปัญหาปลายเหตุ กลายเป็นเหล้านั่นเหละที่เป็นต้นเหตุของความจน

ตอนเรียนวิชาที่เกี่ยวกับสาธารณสุขครั้งยังเป็นนักศึกษา บทเรียนหนึ่งที่ผม (และทุกคนที่เรียนสายสาธารณสุข) ได้เรียน คือ วงจรแห่งความชั่วร้ายของคนในชนบทที่ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ โง่ จน และเจ็บ บทเรียนนี้ชวนให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพ หรือ ความ ‘เจ็บ' กับมิติด้านอื่น ๆของชีวิตอันได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ คือ ความ ‘จน' และมิติทางการศึกษา คือ ความ ‘โง่' ความเข้าใจเช่นนี้ได้เปิดโลกของบุคลากรสาธารณสุขให้มองปัญหาสุขภาพอย่างเห็นสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ อย่างไรก็ดีบทเรียนนี้ก็ถูกโต้แย้งโดยนักพัฒนาบางกลุ่มว่าการมองเป็นการดูแคลนและมองไม่เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วชาวบ้านนั้นมีศักยภาพ


นั่นเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไปครับ แต่ไม่ใช่ประเด็นของบทความนี้ เพราะฉะนั้นกลับเข้าสู่ประเด็นนะครับ

เมื่อก่อนถ้าเราไปถามบุคลากรสาธารณสุขว่าวงจรแห่งความชั่วร้าย 3 สิ่งคืออะไร แทบทุกคนจึงมักจะตอบได้ตรงกันว่า "โง่ จน เจ็บ" แต่ทุกวันนี้หากลองไปถามคำถามเดียวกันนี้อีกครั้ง ผมเดาว่ามีไม่น้อยคนที่อาจจะเผลอตอบว่า ‘จน เครียด กินเหล้า'

งานเขียนชิ้นนี้อาจจะเป็นเรื่องเก่าไปสักหน่อยเพราะกำลังพูดถึงสปอทโฆษณาชุด ‘จน เครียด กินเหล้า' ของ สสส.ที่เป็นที่มาของวลีฮิตข้างต้นซึ่งออกอากาศเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีเหตุที่ผมเลือกที่จะเขียนบทความนี้ก็ด้วยเพราะเชื่อว่าทุกคนจะต้องจำโฆษณาชิ้นนั้นได้ และผลของโฆษณาชิ้นนั้นอาจจะยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

โฆษณาชุดนี้กลายเป็น Talk of the town ในช่วงนั้น คุณสายเชีย พรีเซ็นเตอร์หน้าเหี้ยมเองก็ได้ดิบได้ดีเป็นดาราแสดงหนังไปแล้วหลายเรื่อง ‘จน เครียด กินเหล้า' ก็กลายเป็นมุขให้บรรดาตลกทั้งหลายเอาไปทำมาหากินอยู่พักใหญ่ ส่วนผลบวกของโฆษณานั้นจะทำให้คนเลิกกินเหล้าได้กี่มากน้อย ผมคงไม่อาจจะทราบได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งผลลบของโฆษณานั้นก็อาจจะมีอยู่เช่นกัน

ถ้าลองคิดอีกมุมหนึ่งมันก็สมเหตุสมผลดีไม่ใช่หรือครับ เพราะความจนมันทำให้เครียด แล้วเมื่อเครียดนักก็ต้องคลายเครียด แล้วกับชีวิตเกษตรกรหรือผู้ใช้แรงงานแบบนั้นจะให้คลายเครียดกันอย่างไร คงไม่ใช่การไปออกกำลังกาย (เพราะการงานทุกวันก็รีดกำลังกายออกไปจนหมดแล้ว) หรือการไปดูหนังฟังเพลงแน่ (เพราะรสนิยมไม่ได้ถูกกล่อมเกลามาแบบนั้น) เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่มีอะไรที่จะคลายเครียดได้ดีกว่าการร่ำสุรา หากจน-------> เครียด แล้วไม่กินเหล้า ชีวิตก็อาจจะไม่มีทางออก จนกลายเป็น จน ---> เครียด------> บ้า หรือ ฆ่าตัวตายก็ได้ใครจะไปรู้

ดังนั้นการกินเหล้าในแง่หนึ่งอาจจะเป็นทางออกของปัญหา ถึงอาจจะเป็นทางออกที่ไม่ดีนัก และกลายเป็นปัญหาในตัวของมันเอง แต่เหล้าก็ไม่ใช่ต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาแน่ๆ เพราะมันเป็นเพียงแค่เรื่องปลายเหตุหากพิจารณาจากตรรกะแบบ [จน ------> เครียด --------> กินเหล้า]

แต่โฆษณาชุดนี้กลับไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะคำบรรยายที่แทรกในโฆษณาชวนให้เราเข้าใจได้ว่านอกจากปัญหาจะเป็นเรื่องของ [จน ----------> เครียด ----------> กินเหล้า] แล้ว การกินเหล้าเองก็เป็นเหตุทำให้เกิดความจนและความเครียดด้วย จนในโฆษณาชุดถัดมาถึงกับเลยเถิดไปชี้ให้เห็นว่าเมื่อคิดได้ว่าจะเลิกเหล้าและจับจอบจับเสียมไปลงไร่นาแล้วล่ะก็ จะหายจนและชีวิตดีขึ้นจนถูกเชิญไปเป็นวิทยากรกันเลยทีเดียว หรือกล่าวได้ว่าโฆษณาชุดนี้กำลังพลิกกลับความสัมพันธ์จากการที่เหล้านั้นเป็นปัญหาปลายเหตุ กลายเป็นเหล้านั่นเหละที่เป็นต้นเหตุของความจน [กินเหล้า--------->จน----------->เครียด]

โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามโฆษณาชิ้นนี้นอกจากจะทำหน้าที่รณรงค์ให้คนลด ละ เลิก การดื่มสุราแล้ว จึงยังมีผลด้านกลับก็คือการบิดเบือนปัญหาความยากจนซึ่งมีเกิดจากเหตุอันสลับซับซ้อน หรือที่เรามักเรียกกันว่ามันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ให้กลายเป็นเพียงเรื่องที่เกิดจากความไม่ได้เรื่องของปัจเจก นั่นก็คือ "ก็เพราะเอ็งเสือกกินเหล้าไง มันถึงได้จนอยู่อย่างนั้น" และ "ก็เลิกกินเหล้าและลุกขึ้นมาทำมาหากินเสียสิจะได้หายจน" ปัญหาความยากจนจึงไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขในระดับโครงสร้างใดๆ แค่เลิกเหล้าก็พอ ซึ่งเป็นความคิดที่ไร้เดียงสา

นี่ไม่ใช่เรื่องของการคิดมากหรือคิดเล็กคิดน้อย อาจจะใช่ที่ว่าการผลิตสื่อโฆษณาอาจจะต้องสร้างภาพบางอย่างให้เกินจริงไปบ้าง แต่อย่าลืมว่าผลของสื่อในการสร้างภาพหรือก่อให้เกิดทัศนะบางอย่างที่ผู้ผลิตสื่อนั้นไม่ได้ตั้งใจให้กับคนในสังคมนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ วาทะยอดฮิตที่ว่า "จนก็เลยเครียดก็เลยกินเหล้าก็เลยจนก็เลย เครียดก็เลยกินเหล้าก็เลยจน......................." จึงอาจทำให้เราเข้าใจอะไรผิดไป เหมือนครั้งหนึ่งที่คำขวัญรณรงค์ที่อยากจะกระตุ้นให้คนขยันทำมาหากิน ที่บอกว่า "ไม่มีความยากจนในหมู่ชนที่ขยัน" ได้เคยทำให้คนจนเท่ากับคนที่ขี้เกียจ หรือเพราะขี้เกียจนั่นไงเอ็งถึงได้จนอยู่อย่างนี้ และทุกวันนี้ความรู้สึกเช่นนี้ก็ยังฝังลึกอยู่ในความรับรู้ของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย

การรณรงค์จะมีประโยชน์หรือได้ผลหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่เราสามารถถกเถียงกันได้ต่อไปไม่จบ แต่เอาเถอะครับ หากอยากจะรณรงค์ คนที่จะรณรงค์ก็ควรที่จะละเอียดอ่อนมากพอ จริงอยู่ว่าการรณรงค์ที่ดีนั้นควรที่จะจับใจคนรับสาร และความสนุกก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะทำให้การรณรงค์นั้นจับใจได้ แต่อย่างไรเสียก็อยากจะให้ระมัดระวังอย่าให้ความสนุกนั้นไปสร้างมายาคติให้กับเรื่องราวบางอย่าง ทำให้คนในสังคมเกิดการรับรู้และมองปัญหาต่าง ๆ อย่างบิดเบือนและตีตราบาปให้กับคนบางกลุ่มโดยไม่รู้ตัว

 

หมายเลขบันทึก: 261144เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กินเหล้า เพราะมันเป็น เรื่องธรรมดา

ใครๆ ก็กินเหล้า

กินจนติดเหล้า ก็กินเหล้าต่อไงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท