หลักนักบริหาร11


พระพิพิธธรรมสุนทร วัดสุทัศเทพวราราม

            การเป็นนักบริหาร  ควรที่จะมีหลักธรรมะมาใช้ในการบริหาร ซึ่งจะทำให้การบริหารงาน บริหารคน พาธุรกิจและภารกิจบรรลุสำเร็จสมประสงค์

             หลักการบริหารงาน 11 ประการ ของ พระพิพิธธรรมสุนทร  วัดสุทัศนเทพวราราม  ซึ่งเหมาะสำหรับนักบริหาร ศึกษาไว้ใช้งาน ดังนี้

          (1) ส่งเสริมความรู้  (2) อยู่อย่างเสียสละ  (3)กระจายตำแหน่งงาน  (4) ประสานสามัคคี  (5) ไม่เอาดีแต่เพียงตัว  (6)ไม่เมามัวเรื่องเงิน  (7) ไม่ใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา (8) ตั้งเมตตาไว้เป็นนิจ  (9)ใครทำผิดต้องเด็ดขาด (10) ไม่ประมาทเมามัว  และ(11) ประมาณตัวทุกเวลา

 

1. บทนำ

          จากหนังสือ คติธรรมนำชีวิต โดยพระพิพิธธรรมสุนทร วัดสุทัศนเทพวราราม ที่ออกทีวีช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือน ตุลาคม 2541 ได้นำเสนอหลักการบริหารงาน 11 ประการ หรือได้เสนอหลักการบริหารงานเชิงพุทธนั่นเอง ผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์แก่ผู้บริหารงานทั้งหลาย จึงได้นำมาสรุปในผังเผยแพร่เป็นธรรมทานต่อไป

 

2.หลักการบริหารงาน 11 ประการ

          การทำงานร่วมกันหลายๆคน จำเป็นต้องมีหลักการบริหาร สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจ ผู้ร่วมธุรกิจ และผู้ทำงานนั้น พระพิพิธธรรมสุนทร ได้นำลักษณะการบริหารงานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผนวกกับการบริหารบุคคลชั้นสูงทั่งไปมาผูกเป็นหลักธรรมะ 11 ประการ ดังนี้

          ส่งเสริมความรู้               อยู่อย่างเสียสละ            กระจายตำแหน่งงาน

          ประสานสามัคคี              ไม่เอาดีแต่เพียงตัว        ไม่เมามัวเรื่องเงิน

          ไม่ใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา  ตั้งเมตตาไว้เป็นนิจ       ใครทำผิดต้องเด็ดขาด

          ไม่ประมาทเมามัว            ประมาณตัวทุกเวลา

 

            2.1 ส่งเสริมความรู้

          สมเด็จพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสอนบริษัทของพระองค์ให้ทุกคนมีความรู้ การสอนคนนั้นต้องจัดประเภทคนเป็น บัว 4 เหล่าคือ ให้ความรู้ตามลักษณะภูมิปัญญา ดังนี้

          บัวพ้นน้ำ (อุคฆติตัญญู) เป็นคนมีปัญญา เพียงยกหัวข้อธรรมะขึ้นแสดงก็บรรลุแล้ว หรือเพียงแค่ยกหัวข้อเรื่องก็เข้าใจแล้ว ไม่ต้องอธิบายมาก

          บัวปริ่มน้ำ (วิปจิตัญญู) เมื่ออธิบายความหัวข้อนั้นก็บรรลุแล้ว

          บัวใต้น้ำ (เนยยะ) ต้องอธิบายเนื้อหาให้ละเอียดก็เข้าใจ สามารถแนะนำให้เป็นคนดีได้

          บัวใต้ตม (ปทปรม) อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องปล่อยเขาไป ให้เลิกสั่งสอน

ผู้บริหารคนใดที่พัฒนาแต่ความรู้ของตนเองโดยไม่พัฒนาความรู้ของผู้ใต้

          ปกครอง ย่อมไปไม่รอด เหมือนดีแต่สมอง แต่อวัยวะทุกส่วนเป็นอัมพฤก

          อัมพาต การทำงานย่อมสำเร็จได้ยาก

 

          2.2 อยู่อย่างเสียสละ

          ผู้บริหารต้องรู้สึกเสียสละให้กับลูกน้อง เช่น ต้องมีสังคหวัตถุ 4 มี ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา

          ทาน โดยการเอื้อเฟื้อเจือจานแก่ลูกน้องด้วยวัตถุ มากน้อย ตามแต่สถานการณ์

          ปิยวาจา โดยการพูดจากับลูกน้องให้ถูกใจ ผูกจิตผูกใจ รัดรึงดึงใจไว้ถูกสถานการณ์      และถูกกับอารมณ์ของคน (ปิยวาจานี้ไม่จำเป็นต้องพูดครับพูดขาเสมอไป มึงกูก็ได้ แต่ต้องตรงกับคน)

          อัตถจริยา โดยการลงไปบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกับผู้น้อย โดยไม่เกี่ยงงอน เช่น ประธานงานศพ งานสวด งานบวช งานแต่งงาน ไปเยี่ยมยามป่วย ถามข่าว ให้ชื่อ สกุลของเราไปร่วมในงานของลูกน้อง

          สมานัตตตา โดยการวางตนสม่ำเสมอ

          การเสียสละมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังความรู้ กำลังความคิด เรียกกว่าร่วม

          ด้วยช่วยกัน ในฐานะผู้บริหาร และผู้ร่วมงาน ควรจะมีการเสียสละทั้งสองฝ่าย จึงจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

 

          2.3 กระจายตำแหน่งงาน

          อำนาจของงานนั้นไม่ใช่อยู่ที่รวมอำนาจ ผู้บริหารหลายคนประสบความล้มเหลว เพราะไม่ยอมแบ่งอำนาจลงไป การกระจายอำนาจภารกิจเป็นสิ่งจำเป็น ในการบริหารนโยบายแบบ TQC ก็เน้นการกระจายนโยบาย (Policy Deployment) โดยการกระจายงาน กระจายอำนาจ และกระจายภารกิจ การไม่กระจายงาน ทำให้ทำงานไม่ทัน เพราะมีงานมาก ต้องใช้หลายๆ คนช่วยกัน และทำงานเป็นทีม

          ลองมาพิจารณาต้นไม้ ต้นไม้มีลำต้น มีราก มีกิ่ง ก้าน สาขา และมีหน้าที่ต่างกัน และสร้างความสมดุลด้วย มิเช่นนั้นต้นจะเอียงและล้มในที่สุด

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงกระจายตำแหน่งงาน มี 80 พระอรหันต์เอก เรียกว่า เอตทัคคะหรือ อสีติมหาสาวกที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่น พระโมคคัลลานะ ทรงยกย่องว่ามีฤทธิ์เสมอด้วยพระองค์ พระสารีบุตร ทรงยกย่องว่ามีปัญญาเสมอด้วยพระองค์

          จำไว้เสมอว่า งานกระจุก ผู้บริหารตาย งานกระจาย ผู้บริหารรอด

 

          2.4 ประสานสามัคคี

          งานทุกอย่างทุกชนิดมีปัญหาทั้งนั้น มีปัญหาด้านการทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งชิงดี และมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อน ผู้บริหารที่ดีต้องประสานสามัคคีให้ได้

          การประสานสามัคคีนั้น ผู้บริหารที่ใหญ่ที่สุด ต้องประชุมโต๊ะกลม ต้องมีใจกล้า เผชิญหน้า กล้าเรียกประชุม ก่อนการประชุมต้องหาข้อมูลจากแต่ละคนก่อน เพื่อหาเหตุที่ถูกต้อง ไม่ฟังความข้างเดียว แล้วนำมาตัดสิน ไม่ควรไล่โทษกัน หรือไล่บี้กัน จะสร้างความขัดแย้ง บางท่านอาจเคยอ่านหนังสือ การบริหารความขัดแย้งก็พอที่จะเข้าใจปัญหาได้ดี

          การบริหารแบบไทยๆ ที่ผิดพลาด คือ จับผิดและลงโทษ ทำให้ขาดการประสานสามัคคี ไม่ค่อยปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ชอบปรับทุกข์กัน ปรับโทษกัน การบริหารอย่างนี้ มักล้มเหลวในที่สุด เพราะจะเกิดอาการ คนแตกความสามัคคี

          สมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีพระ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งเก่งทางพระวินัย และอีกกลุ่มหนึ่งเก่งทางพระธรรม เมื่อหัวหน้าทะเลาะกัน ลูกศิษย์ก็ทะเลาะกัน โยมก็ทะเลาะกัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกพระทั้ง 2 กลุ่ม มาเจรจาด้วยกัน แต่ไร้ผล จึงได้ใช้วิธีทิ้งพระ 2 กลุ่ม เสด็จเข้าป่าไปเลย ในที่สุดพระทั้ง 2 กลุ่ม จึงนึกได้ สำนึกผิด จึงชวนกันไปทูลเชิญเสด็จกลับมา ความสามัคคีก็เกิดขึ้น

          ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะในหน่วยงานนั้นๆ ให้สำเร็จประโยชน์ได้ดังใจปรารถนา

 

            2.5 ไม่เอาดีแต่เพียงตัว

          ไม่เอาดีแต่เพียงตัว คือ ไม่เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น หรือเหยียบบ่าผู้อื่น เหยียบย่ำผู้อื่น แล้วเอาความดีมาใส่ตัวคนเดียวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

          การบริหารงานที่ประสบความสำเร็จนั้น จะเกิดจากทีมงาน ดังนั้นการบริหารงานจะต้องช่วยกันดี ต้องมีการยกย่อง ให้กำลังใจ มีการมอบของขวัญรางวัลให้เกียรติกัน ยกย่องเชิดชู แม้ผู้บริหารไม่มีอะไรจะให้ ก็หัดพูดคำว่า ขอบคุณทีมงานให้มันติดปาก ลูกน้องก็จะดีใจ ผู้บริหารยกย่องลูกน้อง ลูกน้องก็มีส่วนเกื้อกูลผู้บริหาร ศรัทธาผู้บริหาร ทำให้ผู้บริหารดูดีขึ้น ไม่ได้ตกต่ำแต่อย่างใด ในการกล่าวคำว่า ขอบคุณกับลูกน้อง

 

          2.6 ไม่เมามัวเรื่องเงิน

          เขาให้เงินก็อย่างง อย่าไปหลงจนสุดขีด

          เงินก็เหมือนพวงมาลัย อาจจะกลายเป็นพวงหรีด

          เราจะต้องพิจารณาว่าเงินเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดปัจจัย 4 คือ ข้าว ผ้า ยา บ้าน เงินเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสะดวก

          การบริหารงานถ้าผู้บริหารเห็นแก่เงินก็จะใช้พนักงานอย่างทาส เอาเปรียบลูกน้อง หรือกินใช้จ่ายจนเพลิดเพลินเจริญใจ คนระดับล่างระดับปฏิบัติการ ก็อย่าโลภเงิน จนถึงกับโกงเงินบริษัท

          พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบถุงใส่เงิน ยังตรัสกับพระอานนท์ว่านั้นเป็นงูเห่า เป็นอสรพิษ ที่จะขบกัดคนเสมอ การจะทำอะไรก็ตามต้องระวังเรื่องเงิน

 

            2.7 ไม่ใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา

          ผู้บังคับบัญชาคือนายจ้างของเรา เราคือลูกน้องของท่าน บางคนชอบแอบอ้างนายไปหากินทางทุจริต หรือไปอ้างกับคนอื่นเพื่อจะได้อะไรบางอย่าง เลขาบางคนซึ่งใกล้ชิดผู้บังคับบัญชา มักทำตัวใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา ตรงตามคำโบราณที่ว่า ตัวเท่าเสา เงาเท่าพ้อมนั่นคือเงาของเสา มันอ้วนใหญ่กว่าเสาเสียอีก

          พระอานนท์ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามากที่สุด พระอานนท์ขอพรจากพระพุทธเจ้า คือ ขออย่าให้รับกิจนิมนต์ ขออย่าส่งไปในที่นิมนต์ ขออย่าให้ให้อะไรเป็นพิเศษ เป็นต้น ท่านปฏิบัติงานไม่ใหญ่เกินผู้บังคับบัญชา และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

 

            2.8 ตั้งเมตตาไว้เป็นนิจ

          ผู้บริหารต้องมีเมตตาต่อผู้ใต้การปกครอง ผู้ใต้ปกครองต้องมีเมตตาต่อผู้บังคับบัญชา

          เมตตานี้อาจตีความหมายถึง ความรัก ความเคารพ ความนับถือ การบูชา การเทิดทูน จนถึงความจงรักภักดี เทิดทูนเหนือเศียรเกล้า

          ผู้บริหารควรมีหลัก 3 ประการ ในเรื่องความเมตตา คือ มือเอื้อม ปากอ้า และหน้ายิ้ม

          มือเอื้อม คือ เอื้อมไปแตะไปจับผู้อยู่ใต้การปกครอง เป็นลักษณะอาการทางกาย ที่สร้างความเป็นกันเอง เป็นห่วงเป็นใย

          ปากอ้า คือ เป่า ปลอบ ปลุก เป็นลักษณะอาการทางวาจา ในการให้กำลังใจลูกน้องทางวาจา

          หน้ายิ้ม คือ การให้กำลังใจ เป็นเรื่องของใจ ที่แสดงออกทางใบหน้า

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงปฏิบัติอย่างนี้ต่อพระสงฆ์ ต่อพุทธบริษัทของพระองค์เช่นเดียวกัน

          ส่วนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาก็ต้องไปเยี่ยมเยียน ถามข่าว หมอบราบกราบไหว้ ต่อผู้บังคับบัญชาบ้าง เราทุกคนจะอยู่ได้อย่างมีความสุข

 

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนา
หมายเลขบันทึก: 261142เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท