การประเมินทั้งระบบด้วย CIPP


ตีพิมพ์ใน...วารสารเทคโนโลยี(สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) 30(169)(มิย.-ก.ค.46)หน้า 81-82

          การประเมินเป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลและตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด  ซึ่งแบ่งได้หลายประเภทตามแต่จะใช้เกณฑ์ใดเป็นหลักในการแบ่ง  เช่น  แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการประเมิน  แบ่งตามหลักยึดในการประเมิน หรือแบ่งตามลำดับเวลาที่ประเมิน  เป็นต้น

                  การประเมินมีหลายรูปแบบ  ซึ่งผู้ประเมินสามารถพิจารณาเลือกรูปแบบการประเมินที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่มุ่งประเมิน  เช่น

1)     รูปแบบการประเมินที่เน้นจุดมุ่งหมาย  (Objective – Based Model)  เป็นรูปแบบที่มุ่งดูผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานว่าบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่  ได้แก่ 
      รูปแบบการประเมินของไทเลอร์ (Tyler)  ครอนบาด (Cronbach)  เคริกแพตทริค
      (Kirkpatrick)  เป็นต้น
2)     รูปแบบการประเมินตัดสินคุณค่า (Judgmental Evaluation Model)  เป็นรูปแบบที่มุ่งให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศสำหรับกำหนดและวินิจฉัยคุณค่าของโครงการนั้น  ได้แก่  รูปแบบการประเมินของ สเตค (Stake)  สคริฟเว่น (Seriven)  โพรวัส (Provus)  เป็นต้น
3)     รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจ  (Decision – Oriented Evaluation Model) เป็นรูปแบบที่มุ่งให้ได้มาซึ่งข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ  เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง  ได้แก่  รูปแบบการประเมินของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam)  เวลซ์ (Welch)  อัลคิน (Alkin)  เป็นต้น
                  CIPP เป็นรูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง  ซึ่งนำเสนอโดย  แดเนียล  แอล  สตัฟเฟิลบีม (Daneil L. Stufflebeam)  ที่เรียกกันทั่วไปว่า ซิปโมเดล (CIPP Model) เป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นสำคัญเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารโครงการอย่างต่อเนื่อง
                  คำว่า CIPP  ย่อมาจากคำว่า Context  (บริบท หรือสภาวะแวดล้อม)  Input (ปัจจัยเบื้องต้น)  Process (กระบวนการ)  และ Product (ผลผลิต)  สตัฟเฟิลบีม ให้ความหมายการประเมินไว้ว่าเป็นกระบวนการของการบรรยาย   การเก็บข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร   เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม  โดยรูปแบบ CIPP  กำหนดให้มีการประเมินทั้งระบบใน 4 ด้าน  แนวทางการประเมินแต่ละด้านมีดังนี้
                  1. การประเมินสภาวะแวดล้อม  เป็นการประเมินให้ได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ  ความเป็นไปได้ของโครงการ  เป็นการตรวจสอบว่าโครงการที่จะทำสนองปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่  วัตถุประสงค์ของโครงการชัดเจน  เหมาะสม  สอดคล้องกับนโยบายขององค์การหรือนโยบายหน่วยเหนือหรือไม่  เป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ในแง่ของโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ หรือไม่  เป็นต้น
                  2.   การประเมินปัจจัยเบื้องต้น   เป็นการประเมินเพื่อใช้ข้อมูลตัดสินใจต่อปัจจัยต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่า  เหมาะสมหรือไม่   โดยดูว่าปัจจัยที่ใช้ทั้งบุคลากร  งบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์  การบริหารจัดการ  จะมีส่วนช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่  ปัจจัยที่กำหนดมีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่  กิจกรรม/แบบ/ทางเลือกที่ได้เลือกสรรแล้วมีความเป็นไปได้และเหมาะสมเพียงใด  เป็นต้น
3.   การประเมินกระบวนการ   เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ  เพื่อหาข้อดี  ข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ     ที่กำหนดไว้ว่า  การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่  กิจกรรมใดทำได้หรือทำไม่ได้เพราะเหตุใด  มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง      มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร  เป็นต้น
                  4.   การประเมินผลผลิต   เป็นการประเมินเพื่อดูว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือตามที่คาดหวังไว้หรือไม่   โดยอาศัยข้อมูลจากการประเมินสภาวะแวดล้อม  ปัจจัยเบื้องต้นและกระบวนการร่วมด้วย  เพื่อตรวจสอบว่าเกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่  คุณภาพของผลลัพธ์เป็นอย่างไร  เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงอื่นใดหรือไม่  เป็นต้น
                  การประเมินแบบ CIPP  เป็นการประเมินที่ครอบคลุมองค์ประกอบของระบบทั้งหมด  ซึ่งผู้ประเมินจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน   กำหนดประเด็นของตัวแปรหรือตัวชี้วัด   กำหนดแหล่งข้อมูลผู้ให้ข้อมูล  กำหนดเครื่องมือการประเมิน  วิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  กำหนดแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล  และเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน

                  หากผู้ประเมินวางแผนและดำเนินการประเมินอย่างเป็นระบบและเหมาะสมก็จะทำให้การประเมินตามแผนและโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                  ดังที่กล่าวข้างต้นว่าการประเมินโครงการมีหลายรูปแบบ  ผู้ที่จะทำผลงานทางวิชาการก็ลองพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบท  เช่น  การวิจัยและพัฒนา  หรือการประเมินการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาก็อาจใช้รูปแบบของ Kirkpatrik เป็นต้น  ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้ผมได้เขียนไว้ในบล็อกนี้แล้ว ในคำหลัก "บทความ "ธเนศ ขำเกิด"

 
-----------------------------------
 
สมคิด   พรมจุ้ย   เทคนิคการประเมินโครงการ  นนทบุรี  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2544
สมประสงค์   วิทยาเกียรติ หน่วยที่ 8  การประเมินแผนและโครงการ”  ใน ประมวลสาระชุดวิชา  นโยบายและการวางแผนการศึกษา  หน้า 190  นนทบุรี  สาขาวิชาศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2543
สุพักตร์   พิบูลย์  กลยุทธ์การวิจัยเพื่อพัฒนางาน  วิจัยเพื่อพัฒนาองค์กร  นนทบุรี  จตุพรดีไซน์ 2544
Stufflebeam, D.L., et al. Educational Evaluation and Decision – Making, Illinois : Peacock Publishers., Inc., 1971.
 


 

หมายเลขบันทึก: 26106เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2006 07:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
อ่านบทความของอาจารย์แล้ว เติมความรู้ได้อีกมากเลย ขอบคุณค่ะ
  • ครูอ้อยมาอ่านและเก็บความรู้ไปได้เยอะแยะเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อ่านบทความของอาจารย์แล้วได้ความรู้มากเลย กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ข้อมูลแล้วดีใจมากเลยขอบคุณอาจารย์ธเนศมาก ที่มีบทความดี ๆให้เพื่อนครูได้อ่านได้ศึกษา

ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

ในการประเมิน ด้วย CIPP นี้เราสามารถนำไปประเมินด้านการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา เช่น การประเมินหลักสูตร ซึ่งในปัจจุบันนี้สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องมีการประเมินหลักสูตร เพื่อปรับปรุงและพัฒนา นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถนำหลักการนี้ไปประเมินโครงการต่าง ๆ ของสถานศึกษาได้

รัฐติพงศ์ เสนีโสด

สวัสดี ครับ ท่าน อดีต ผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์

.... ผมรัฐติพงศ์ ครับ ที่ขอเครื่องราชฯ ให้กับอาจารย์ครับ อ.สบายดีนะครับ ถ้า อ.จะดูภาพเก่า ๆ ของ หน่วยศึกษานิเทศก์ เข้าไปที่เว็บ www.google.com แล้วคีคำค้นหาว่า ประมวลภาพเพื่อนศึกษานิเทศก์ ก็จะปรากฎข้อความลิ้งขึ้นมา ให้ อ.คลิกลิ้งตรง ลำดับที่ 1 ในหน้าที่ 1 อ.ก็จะเห็นภาพเพื่อน ๆ ของ ศน.ทุกคน ทุกฝ่ายครับ ผมตั้งใจทำให้เพื่อน ๆ ศน.ทุกคนครับ

จำรัฐติพงศ์ได้เสมอ ตอนนั้นผมยังเป็น ผช.หศน. ตอนหลังผมได้เป็น หศนคนสุดท้าย แล้วปี 2546 ศธ.ก็ปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ยุบกรมสามัญศึกษา หน่วย ศน.เลยหายไปด้วย ...ได้ดูเว็บที่รัฐติพงศ์ทำแล้ว ดีมากเลย ทำให้ย้อนรำลึกถึงภาพเก่าๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท