เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (10)


ถึงวันนี้ โครงการ KM-NCD Network” คืบหน้ามาถึงจุดที่สามารถชักชวน เชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนมา ร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาเครือข่ายฯ ด้วยเครื่องมือ แผนที่ผลลัพธ์ หรือ Outcome Mapping - OM โดยจัด workshop ไปเมื่อวันที่ 1-3 เมย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากกันและกัน รวมทั้งได้ แผนที่กลยุทธ์ คร่าวๆ ที่จะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันต่อไปได้

 

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คุณหมอฉายศรี ในฐานะหนึ่งใน แกนนำ หลักของโครงการฯ และผู้เขียนได้นัดหมายพูดคุยกันหลายครั้ง โดยมีประเด็นหลักๆ ที่แลกเปลี่ยนกันอยู่ 2 ประเด็น คือ

 

เรื่องแรก คือ การดำเนินงานขั้นต่อไปของโครงการฯ หลังผ่าน OM Workshop มาแล้วประมาณ 1 เดือน พบว่า สมาชิกเครือข่ายที่เข้าร่วม workshop หลายท่านได้โทรศัพท์มาติดตามถามไถ่ว่า เรา จะทำอะไรกันต่อ และจะมีอะไรให้ช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานก้าวต่อไปของเครือข่ายได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากสำหรับน้ำใจไมตรี รวมไปถึงความกระตือรือร้นของสมาชิกเครือข่าย ผู้เขียนคิดว่า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันใน OM Workshop น่าจะมีส่วนจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มีเป้าหมายการทำงานในเรื่องเดียวกัน ต้องการที่จะเชื่อมโยงและจับมือกันทำงานในแนวระนาบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมากขึ้น

 

แผนการปฏิบัติงานขั้นต่อไปของโครงการฯ มีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการชักชวนและสนับสนุนให้หน่วยงานที่สนใจจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันใน OM Workshop ไปสานต่อ เพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน โดยในปีแรกนี้เรามุ่งหวังให้เกิดเครือข่าย 3 ระดับคือ 1) “เครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่เน้นประเด็นของการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทีมบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า (PCU) ในการสนับสนุนระบบบริการป้องกันและจัดการดูแลโรคไม่ติดต่อ 2) “เครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการ เน้นสร้างความเข้มแข็งและขยายผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ด้วยกัน และ 3) “เครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข เน้นการเชื่อมโยงและเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานร่วมกันระหว่างกรม กองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความใกล้ชิดและต่อเนื่องมากขึ้น เพื่อจะได้ไปสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่อีกทีหนึ่ง โดยการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในของแต่ละเครือข่ายให้เป็นไปอย่างอิสระ ส่วนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามเครือข่ายเราขอความร่วมมือว่าแต่ละเครือข่ายน่าจะมี blog ไว้สำหรับบอกเล่าเรื่องราวการทำงานสู่กันและกันอย่างน้อยเครือข่ายละ 1 blog

 

ส่วนที่ 2 เป็นการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องเล่าความสำเร็จ การดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมการกันอยู่ว่าจะจัดอย่างไร เมื่อไหร่ และที่ไหนดี

 

เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของการเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมกัน ผู้เขียนศึกษาเรียนรู้จากคำแนะนำของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เรื่อง โครงสร้างและการจัดการของเครือข่ายจัดการความรู้ (การจัดการความรู้ฉบับนักปฏิบัติ หน้า 196-197) ที่บอกไว้ว่า ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับโครงสร้าง และการจัดการของเครือข่ายจัดการความรู้ที่จะประสบความสำเร็จ แต่มีข้อแนะนำ ดังนี้

-         มี คุณเอื้อ ของเครือข่าย...

-         มีทรัพยากรและแผนการปฏิบัติงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในหน่วยงานและภายในเครือข่าย

-         มี คุณประสาน ของเครือข่าย ทำงานร่วมกับ คุณอำนวย ของแต่ละหน่วยงาน

-         มี คุณลิขิต ของหน่วยงานและของเครือข่าย ...

-         มี พื้นที่ประเทืองปัญญา ทั้งพื้นที่แบบ F2F และ B2B ทั้งที่เป็นของหน่วยงานและเครือข่าย

-         มีฐานข้อมูลความรู้สำหรับใช้งานร่วมกัน...

-         มีการประเมินกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลกระทบต่องาน ต่อคน และต่อฐานข้อมูลความรู้ขององค์กรและของเครือข่าย...

 

จากโครงสร้างดังกล่าวนี้ จะพบคำว่า คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณประสาน และ คุณลิขิต ที่ล้วนเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและจัดการเครือข่าย ซึ่งในความจริงแล้วสมาชิกเครือข่ายที่มาจับมือทำงานร่วมกันในระยะแรกนี้ต่างก็มีพื้นฐานด้านการจัดการความรู้ที่แตกต่างกันไป หลายๆ คนอาจจะคุ้นชินกับคำเหล่านี้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับอีกหลายคนอาจยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของคนสำคัญเหล่านี้ซักเท่าไหร่ คุณหมอฉายศรี จึงปรารภว่า เราจะมีการเสริมทักษะเหล่านี้ให้กับสมาชิกเครือข่ายที่สนใจได้อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าในเบื้องต้นถ้าเราจะเข้าไปเรียนรู้ในเครือข่าย gotoknow ก่อน นอกจากเราจะได้แนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องนี้แล้ว เรายังจะได้เรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์จริงไว้เป็นทุนก่อนด้วย ซึ่งผู้เขียนลองค้นดูใน gotoknow ก็พบว่ามีคนเขียนเรื่องเหล่านี้อยู่มากมาย เช่น

แต่ถ้าแหล่งเดียวมีครบทุก คุณ ก็ต้องอ่าน ที่นี่ และจากหนังสือของ อ.วิจารณ์ 2 เล่ม คือ การจัดการความรู้ฉบับนักปฏิบัติ และ KM วันละคำ ครบถ้วนและละเอียดมากๆ 

 

ปลาทูแม่กลอง

11 พฤษภาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 260571เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท