โรงเรียนชาวนาเข้าร่วมการสัมมนา ถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ


โรงเรียนชาวนาเข้าร่วมการสัมมนา   ถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ


          วันที่ 16 ส.ค.48   เป็นวันที่นักเรียนชาวนาของ มขข. ตื่นเต้นและปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นที่ได้เข้าร่วมการสัมมนาพิเศษด้านอาหารและโภชนาการครั้งที่ 14   ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี   เรื่อง “สิทธิในอาหารและโภชนาการที่พอเพียงเพื่อการพัฒนามนุษย์”   โดยนำเสนอเรื่อง “การจัดการความรู้ชุมชน : กรณีศึกษาโรงเรียนชาวนาและกลุ่มเกษตรกรชีวภาพ” เป็นเวลา 1 ชั่วโมง   โดยผมเกริ่นนำประมาณ 15 นาที   คุณเดชานำเสนอประมาณ 30 นาที   หลังจากนั้นเป็นการซักถามและอภิปราย


          ในช่วงบ่ายนักเรียนชาวนาจัดนิทรรศการถวาย   ช่วงนี้รายละเอียดเป็นอย่างไรคอยอ่านจากบล็อก 3 ซ่าที่คุณอ้อมจะเป็นผู้เขียนรายงานนะครับ


          ผมขอนำข้อความที่ผมจะบรรยายนำมาลงไว้   เวลาพูดจริง ๆ คงจะย่อกว่านี้ครับ


ขอพระราชทานกราบทูลทรงทราบฝ่าพระบาท


          ข้าพระพุทธเจ้า  ศาสตราจารย์  นายแพทย์วิจารณ์  พานิช   ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)    ขอพระราชานุญาตนำเสนอเรื่อง   โรงเรียนชาวนา   การจัดการความรู้สู่เกษตรกรรมยั่งยืนปลอดภัยเป็นภาษาสามัญ
          ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
          ผมจะใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาทีนำเสนอหลักการหรือแนวความคิดที่ สคส. เข้าไปส่งเสริมให้มูลนิธิข้าวขวัญดำเนินการโรงเรียนชาวนา
          ในมุมมองของ สคส.   โรงเรียนชาวนาเป็นเสมือนโครงการทดลอง   ลองประยุกต์ใช้หลักการและวิธีการจัดการความรู้ในบริบทของชาวบ้าน   ซึ่งหลักการสำคัญที่สุดคือ   การสร้างรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวบ้าน   ที่ชาวบ้านสามารถรวมตัวกันเองและเรียนรู้ร่วมกันผ่านการทำมาหากิน   หรือผ่านสิ่งที่ทุกคนปฏิบัติในชีวิตประจำวัน   ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้คือ   การมีนิสัยรับฟังรับรู้อย่างเปิดกว้าง   อาจถึงกับเสาะแสวงหาความรู้   แต่เมื่อได้มาก็ไม่เชื่อเสียทีเดียว   จะคิดใคร่ครวญเสียก่อน   แล้วหาทางปรับความรู้นั้นให้เข้ากับบริบทหรือสภาพแวดล้อมของตนเอง   และทดลองใช้   หากทดลองแล้วได้ผลดี   ก็กลายเป็นความรู้ใหม่ที่สร้างขึ้นใช้เองและบอกต่อรวมทั้งมีการจดบันทึกความรู้ที่ได้มาเบื้องต้น   บันทึกความคิดเกี่ยวกับการดัดแปลงความรู้นั้น   และบันทึกการทดลองใช้   รวมทั้งบันทึกความรู้เพื่อการใช้งาน   เป็นการสร้างนิสัยเปิดกว้างรับรู้   นิสัยไม่เชื่อง่าย   นิสัยทดลอง   และนิสัยจดบันทึก
          นี่คือเบื้องหลังที่ สคส. เข้าไปสนับสนุน มขข. ให้ดำเนินการโรงเรียนชาวนา
          กิจกรรมนี้ประกอบด้วยหุ้นส่วน 3 ฝ่าย   ที่ดำเนินการเพื่อหวังผลสุดท้ายคือมีอาหารที่ปลอดภัย   ไร้สารพิษแก่ผู้บริโภค   และผู้ผลิตคือชาวนา   ก็ปลอดภัยจากสารพิษที่เดิมใช้ในการทำนา
          หุ้นส่วนใหญ่ที่สุดคือชาวนาเอง   ซึ่งมีการรวมกลุ่มกัน   เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ   เรียนรู้จากชีวิตจริง   คือการทำนาจริง ๆ ของตน   ผลจากการดำเนินการที่เห็นจากกิจกรรมที่ดำเนินการมาแล้ว 1 ปี   คือเกิดการลด 3 ประการ   ได้แก่ลดค่าใช้จ่ายในการทำนา   ซึ่งลดลงเหลือครึ่งเดียวหรือไม่ถึงครึ่ง   ลดแรงงานทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น    และลดความเจ็บป่วย   ซึ่งลดลงไปจากเดิมหลายเท่า   และเชื่อว่าชาวนาจะค่อย ๆ ซึมซับกระบวนทัศน์ใหม่   จากเกษตรกรรมเคมีสู่เกษตรกรรมยั่งยืน   และจากการรับรู้เป็นเรียนรู้
          มูลนิธิข้าวขวัญมีต้นทุนความเชื่อเรื่องเกษตรยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์และมีความรู้หรือเทคโนโลยีสำหรับกิจกรรมดังกล่าว   มขข. แสดงบทบาท 3 ประการใหญ่ ๆ ในโรงเรียนชาวนาคือ (1) การอบรม  ที่เน้นการเปลี่ยนความคิดจากโลภหวังรวยมาเป็นเชื่อในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง   (2) จัด “คุณอำนวย” ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   และ (3) จัดทุนสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้   นอกจากได้เผยแพร่อุดมการณ์และเทคนิคการเกษตรยั่งยืนแล้ว   มขข. ยังได้เรียนรู้เรื่อง KM จากการปฏิบัติจริงอีกด้วย
          สคส. สนับสนุนกิจกรรมโรงเรียนชาวนา 3 ประการคือ (1) แลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีดำเนินการ KM   (2) ให้ทุน   (3) เชื่อมโยงกับภายนอก   เช่น  กับสถาบันวิชาการ   สื่อมวลชน   และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง   ที่จริง สคส. มองโรงเรียนชาวนาเป็นครูของ สคส.   ช่วยให้ สคส. ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ทั้งที่เป็น KM โดยชาวนาเอง   และ KM โดย มขข.
          ใคร่ขอย้ำว่า สคส. สนับสนุนกิจกรรมโรงเรียนชาวนาด้วยเป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมฐานความรู้   สคส. หวังส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่าย   และนำไปสู่การพัฒนาเชิงสถาบัน   คือเกิดสถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่น   ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ   โดยอาจใช้ชื่ออื่นก็ได้   แต่ภารกิจหลักคือการส่งเสริมการเรียนรู้จากการทำมาหากิน   ที่เป็นการรวมกลุ่มกันเรียนรู้และเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ
          ขอแนะนำ สคส. เพิ่มขึ้นอีกนิดว่า   สคส. มีเป้าหมายส่งเสริมให้คนไทยทุกหมู่เหล่าสร้างความรู้ขึ้นใช้งานในกิจการของตน   และพัฒนาขึ้นตลอดเวลาโดย สคส. ดำเนินกิจกรรมหลัก 4 ด้านได้แก่      (1) สร้างความรู้หรือเครื่องมือสำหรับใช้ดำเนิน KM ในบริบทไทย   ซึ่งเราได้สร้างโมเดลขึ้นหลายชิ้น    (2) สร้างคนที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกิจกรรม KM ซึ่งมีอย่างน้อย 7 ประเภท   (3) สร้างเครือข่าย KM เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนางานร่วมกัน   และ (4) สร้างกระแสสาธารณะด้าน KM ให้เห็นคุณค่าของความรู้ปฏิบัติ   ที่เป็นความรู้เล็กของคนตัวเล็ก ๆ    ในการทำงานของ สคส. ทำผ่านกิจกรรมที่หลากหลายมาก   ภายใต้ยุทธศาสตร์ปิดทองหลังพระ   คือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเน้นให้เกิด KM Inside คือมีกระบวนการ KM ฝังลึกอยู่ในการปฏิบัติงานประจำ
          สุดท้ายขอเสนอแนวคิดในการจัดการความรู้ว่า   สคส. เน้นที่ความรู้ฝังลึกหรือความรู้ซ่อนเร้น (Tacit Knowledge) หรือความรู้ปฏิบัติมากกว่าความรู้เด่นชัด (Explicit Knowledge) ที่เราค้นพบ   หรือกล่าวว่า สคส. เน้นการใช้และสร้างความรู้ทั้ง 2 แบบให้เกิดพลังเสริม (synergy) ซึ่งกันและกัน   เริ่มด้วยการเข้าถึง  ตีความ  และนำความรู้มาปรับใช้   ในกระบวนการนี้เกิดการเรียนรู้และยกระดับความรู้   นำไปรวบรวมจัดเก็บและเอามาตีความปรับใช้ใหม่   เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป   นี่คือวงจรของความรู้เด่นชัดซึ่งเราคุ้นเคยดีและไม่ค่อยมีการเพิ่มคุณค่ามากนักหาก KM ดำเนินการเฉพาะส่วนนี้   KM จะมีคุณค่าสูงหากเน้นความรู้ซ่อนเร้น   ดำเนินการเสาะหาความรู้ซ่อนเร้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้   ซึ่งจุดสำคัญคือผ่านการใช้ปฏิบัติจริง   จะเกิดการยกระดับความรู้ปฏิบัติทีละเล็กละน้อย   แต่เมื่อเป็นวงจรไม่รู้จบ   และเกิดขึ้นในทุกจุดขององค์กรหรือชุมชน   ก็จะเกิดการยกระดับความรู้มากอย่างไม่น่าเชื่อ   ในวงจรทั้งสองนี้ของ KM จริง ๆ จะเน้นตรงที่การเรียนรู้ร่วมกัน   และร่วมกันยกระดับความรู้ในทั้ง 2 วงจร   เน้นที่ความรู้ปฏิบัติซึ่งเป็นความรู้ซ่อนเร้น   ในกิจกรรมโรงเรียนชาวนานี้ได้เกิดการสร้างความรู้ปฏิบัติโดยนักเรียนชาวนาเองมากอย่างไม่น่าเชื่อ
          ในการดำเนินการจัดการความรู้โดยทั่วไป   มักเน้นเฉพาะวงจรของความรู้เด่นชัด  เน้นการดำเนินการเครื่องมือจัดการความรู้และ IT   ซึ่งจะทำให้เกิดผลน้อย   KM ในแนว สคส. เน้น 2 P คือ People (คน)  กับ Process (กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้)  เน้นการเปลี่ยนความคิดวัฒนธรรม  พฤติกรรมของคน   จากปกปิดความรู้และไม่เรียนรู้เป็นมีใจที่เผื่อแผ่แบ่งปันความรู้และเปิดใจรับความรู้จากเพื่อนร่วมงาน   สคส. เน้นเอา Tool & Technology เป็นตัวสนอง 2 P   ไม่ใช่ใช้ 2 T เป็นตัวตั้ง
          มองอีกมุมหนึ่ง   การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสร้างผลงานเลิศเป็นเครื่องมือพัฒนาคน   และพัฒนาองค์กรเป็นองค์กรเรียนรู้   โดยใช้พลังของความต่างที่มีอยู่ในองค์กร   ที่เป็นปัญญาปฏิบัติ   นำมาปฏิบัติเพื่อการบรรลุเป้าหมายเดียวกัน   โดยดำเนินกิจกรรมหลัก 5 ประการเกี่ยวกับความรู้คือ  การดูดซับ (จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร)  การใช้   การสร้าง   การแลกเปลี่ยน  และการบันทึก

 


                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   16 ส.ค.48

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2603เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2005 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท