ชื่นใจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้


ร่วมกิจกรรมเสวนาการจัดการความรู้ในเวที สมศ.ที่มรภ.พระนครศรีอยุธยา

เวที สมศ.สัญจร

          วันที่ ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๕๔๙  ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องการประกันคุณภาพภายในและการประเมินภายนอก โดยจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ ณ หอประชุม มรภ. และเชิญชวนหน่วยงานสถานศึกษานำผลงานมาจัดนิทรรศการแสดงที่อาคาร ๑๐๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
          วันแรก มีผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาหลายท่านมาบรรยายให้ความรู้แก่ครูอาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งมาจากจังหวัดอ่างทอง นครนายกและพระนครศรีอยุธยา กว่า ๕๐๐คน (เต็มหอประชุม)เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องการประกันภายในและการประเมินภายนอก อาทิ
          - ดร.รุ่ง แก้วแดง (เน้นเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความล้มเหลวและความสำเร็จของการปฏิรูปการเรียนรู้)
          - ศ.ดร.สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ เน้นเรื่องกระบวนการประเมินภายนอก (รอบสอง) ของ สมศ.
          - ดร.อมเรศ  ศิลาอ่อน เน้นเรื่องแนวทางการพัฒนาความรู้ ซึ่งท่านกล่าวว่า "จุดเริ่มต้นของความรู้ คือ ยอมรับว่าเราไม่รู้" 

เสวนาการจัดการความรู้
          วันที่สองถือว่าเป็นไฮไลท์ของการจัดกิจกรรม สมศ.สัญจร  ซึ่งทางผู้จัดได้เชิญ ผศ.ดร.เลขา  ปิยะอัจฉริยะ มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ เรื่อง "การจัดการความรู้"
          ด้วยความเป็นนักจัดการความรู้โดยสายเลือด ท่านจึงหาแนวร่วมไปเสวนาและสาธิตเทคนิควิธีการจัดการความรู้ เช่น
          - เทคนิคการเล่าเรื่องที่ทรงพลัง ได้เชิญผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเป็น "คุณกิจตัวจริง" จากจังหวัดลพบุรี ๓ท่าน มาเล่าประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จ และผูมเองได้แก่นความรู้ที่สำคัญจากท่านทั้งสามในด้านความสำเร็จของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ๔ประเด็น คือ
          ๑) ครูเป็นผู้ให้ (ให้ความรัก ความเข้าใจ ให้เวลา ให้ความรู้ ให้โอกาสแก่ผู้เรียน)
          ๒) ครูเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมดนตรี กีฬา ฯลฯ
          ๓) ครูมีจิตวิทยาในการสอนหรือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยยึดหลัก สี่ห้าม สามต้อง  กล่าวคือ
               หลักสี่ห้าม ได้แก่
                    - ห้ามไม่ให้คิดแทนเด็ก
                    - ห้ามรำคาญ
                    - ห้ามกลัวของเสียหาย
                    - ห้ามตำหนิติเตียน
               ส่วนสามให้ ได้แก่
                    - ให้เวลา
                    - ให้ความสนใจ
                    - ให้ฝึกฝนบ่อยๆ
          ๔) ผู้บริหารเป็นผู้ให้การสนับสนุน ทำหน้าที่ประสานงาน ประสานใจ เป็นคุณเอื้อ คุณอำนวยที่ดี

           สำหรับผู้เขียนได้นำประสบการณ์ "การจัดการความรู้ในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ซึ่งได้ยกตัวอย่างการพัฒนาสถานศึกษาแบบองค์รวมเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ร่วมกับเครือข่ายสถานศึกษา ๑๗ แห่ง ในจังหวัดอุทัยธานี สมุทรสงครามและพระนครศรีอยุธยา" มาเล่าสู่กันฟัง ในลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคแนวทางการจัดการความรู้ในฐานะที่เป็น "คุณอำนวย"

           ก่อนจบการเสวนาผมได้ทิ้งท้ายเทคนิคการเป็นคุณอำนวยที่ดีไว้ว่า "ยิงให้ถูกเป้า  เย้าให้ถูกที่  ชี้ให้ถูกคน  สนการสื่อสาร  ประสานอย่าให้ขลุก  นี่แหละมุขคุณอำนวย"  (รายละเอียดให้ติดตามในเว็บไซต์ jirasart.com หรือเว็บบล็อก gotoknow.org)

          ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
          ๒๗ เม.ย. ๒๕๔๙
        

หมายเลขบันทึก: 25804เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2006 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยี่ยมเลยครับท่านอาจารย์

 " คำคมทิ้งท้าย คุณ(เอื้อ)อำนวย" ไม่ทราบสงวนลิขสิทธิ์ หรือไม่ครับ

เรียน คุณJJ ที่นับถือ
        สำหรับคำคมคุณเอื้อ (อำนวย)ไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ

                                                ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
                                                   9 พ.ค.2549
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท