ประยงค์
ร้อยตรี ประยงค์ ธรรมมะธะโร

การอบรมแนะแนวและความคิดเห็นเรื่องเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินผลแนะแนว


เกณฑ์การประเมินผลกิจกรรมแนะแนวควรปรับเปลี่ยน

การอบรมงานแนะแนว ที่โรงเรียนชะอำคุณหญิงเนื่องบุรี
             
       
     
     
            
        

ศึกษาดูผลงานอาจารย์ 3 และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่ห้องเกียรติยศ
        
       
       
          
       
       
      
       ขอบคุณครับสำหรับความรู้ดีๆ ที่แบ่งปัน อาหารอร่อย ของว่างอิ่มๆ และมิตรภาพที่ดีสม่ำเสมอตลอดมาครับ...
            ********************************************************************
              ข้อพิจารณากำหนดการประเมินผลกิจกรรมแนะแนว (ความคิดของผม)

          ตามระเบียบฯแล้ว การประเมินผลกิจกรรมแนะแนว มี 2 อย่าง คือ ผ่าน และ ไม่ผ่าน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาคือ

1.  มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด

2.  ผ่านกิจกรรมที่สำคัญที่กำหนด

      แต่หลักสูตรใหม่ ปี 2551  กำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มี 3 ส่วน คือ

1.  กิจกรรมนักเรียน

2.  กิจกรรมแนะแนว

3.  กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์

        ในส่วนของการประเมินผล กลับไม่มีการปรับปรุง ทั้งๆ ที่ผ่านมาการประเมินผลเกี่ยวกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ค่อนข้างจะมีข้อจุกจิกรวมทั้งลำดับความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนก็มักจะอยู่ในส่วนท้ายสุด(บางทีครูด้วยกันยังแซวกันเองว่า กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสาระฯ แต่เรียกว่า “กลุ่มไร้สาระ” )

 

         ผู้สอนก็สอนวิชานี้มานานพอสมควร ใหม่ๆ ก็บอกว่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นการจัดกิจกรรม แต่ดูๆ ไปๆ มาๆ  ตั้งหลายครั้ง หลายสำนักพิมพ์ หลายผู้รู้  ทั้งหนังสือ คู่มือ แม้กระทั่งเอกสารต่างๆ ในตอนนี้ ผมก็ว่า”เหมือนการเรียนการสอนเข้าไปทุกขณะแล้วนะครับ” แต่ไม่เป็นไร เพราะอย่างไงๆ ก็ต้องจัดให้นักเรียนอยู่ดี ขอมาว่าด้วยเรื่องการประเมินดีกว่า

        ในส่วนของการประเมินฯ ขอสมมติว่าเหตุเป็นอย่างนี้แล้วกัน จะได้เข้าใจง่ายๆ หน่อย

         เกณฑ์กิจกรรมแนะแนวชั้น ม.2  ของโรงเรียนดังเดิมวิทยา  มีดังนี้

                1.  มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด    16  ชั่วโมง จาก 20 ชั่วโมง

2.  ผ่านกิจกรรมที่สำคัญที่กำหนด   4  กิจกรรม จาก 6 กิจกรรม

ในส่วนของโรงเรียนก็แจ้งในคู่มือนักเรียน ในส่วนของครูทั้งแจ้ง เตือนในชั่วโมง

       ปรากฏว่ามี นักเรียน 3 คน เข้าร่วมกิจกรรมแนะแนว ดังนี้

เด็กชายกลม      1.  มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม   15  ชั่วโมง

2. ผ่านกิจกรรมที่สำคัญที่กำหนด  3 กิจกรรม

เด็กชายกล่อม      1.  มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม   14  ชั่วโมง

                                            2. ผ่านกิจกรรมที่สำคัญที่กำหนด  2  กิจกรรม

เด็กชายเกลี้ยง      1.  มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม   13  ชั่วโมง

                                            2. ผ่านกิจกรรมที่สำคัญที่กำหนด  1 กิจกรรม

      ถ้าพิจารณาตามเกณฑ์ แน่นอน 3หนุ่ม 3 มุม ไม่ผ่าน ชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัย

       แต่ ผมขอถามว่า ถ้าท่านเป็น ครู เกณฑ์การพิจารณาคงไม่อยู่เพียงแค่นี้ ท่านคงต้องพิจารณาหาสาเหตุหลายๆ อย่างประกอบกัน เช่น สนใจเรียนหรือเปล่า? วิชาอื่นๆ เป็นอย่างนี้ไหม? พฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างไร ? ทำไมเด็กไม่เข้าร่วมกิจกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด ? นิสัยหรือมารยาทเป็นอย่างไร ? ภาระทางบ้านมีมากน้อยแค่ไหน ? มีปัญหาด้านหนึ่งด้านใดหรือเปล่า ? ไม่ชอบครูแนะแนวใช่ไหม?  ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้นี่แหละจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นตัวชี้วัดว่า3หนุ่ม 3 มุมคนไหนที่ครู ให้ผ่านหรือไม่ผ่านต่อไป และขณะเดียวกันก็จะมีผลกระทบต่อไปข้างหน้า เมื่อนักเรียนได้ผลไปแล้วนักเรียนก็จะไปคุยกัน อ๋อครูคนนี้ใจดี เข้าบ้างไม่เข้าบ้างก็ให้ผ่าน กลายเป็นผลเสียกับครูอีก 

          ครั้นจะว่าไปตามระเบียบ ก็จะมีเสียงตำหนิจากหลายๆ ฝ่าย แหม๋.. นิดๆหน่อยๆ ก็ไปเด็กผ่านไปเถอะ ไม่ใช่วิชาวิทย์ คณิต ที่จะไปกวดขันมากมาย ไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้  

         บางทียังคิดในใจเลยว่า อย่างนี้ ต้องมีระดับการประเมินผลที่แตกต่างกัน เช่น

           เข้าร่วมกิจกรรมหรือส่งใบงานครบ                   ให้เกณฑ์   ดีที่สุด ครบทุกกิจกรรม

           เข้าร่วมกิจกรรมหรือส่งใบงานครบเกณฑ์ครบ  ให้เกณฑ์  ดีมาก ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด

           เข้าร่วมกิจกรรมหรือส่งใบงาน 70 %                ให้เกณฑ์  ดี        ครบงาน 70 %               

           เข้าร่วมกิจกรรมหรือส่งใบงาน 48 %             ให้เกณฑ์  ไม่ผ่าน

          ผมว่าเข้าท่าดีนะ แถมตอบคำถามได้เยอะแยะเลย แก้ปัญหาได้หลายๆ ข้อ  อย่าลืมนะครับว่า นักเรียนสมัยใหม่ พฤติกรรม ความคิด การแสดงออก ไม่เหมือนเดิม การปรับปรุงในระบบการวัดผลก็ควรจะปรับเปลี่ยนบ้างถ้าการปรับเปลี่ยนนั้นไม่ได้เสียหายอะไร แต่สามารถแก้และตอบข้อสงสัยได้ก็น่าจะมีการนำไปพิจารณาปรับแก้บ้าง หรือตกลง ครูแนะแนวควรทำอย่างไรดี ? ขอผู้รู้ช่วยหน่อยเจ้าข้าเอ้ย........

      

                                      การแก้ผลการประเมินผลกิจกรรมแนะแนว

           เนื่องจากในการจัดกิจกรรมแนะแนวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในชั้นเรียน จำเป็นต้องมีการประเมินผลและขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้ผ่าน และ ไม่ผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของระบบโรงเรียน นักเรียนที่ผ่าน ปัญหาไม่มี แต่นักเรียนที่ไม่ผ่าน ปัญหาเยอะแยะ คงไม่ต้องแจกแจง ผู้สอนต้องเข้าใจด้วยตนเอง  โดยเฉพาะนักเรียนจะฉลาด พยายามมาแก้ตัวในกิจกรรมแนะแนวในช่วงเวลาสุดท้าย โดยหวังว่าครูจะใจอ่อน รีบๆ ให้ผ่าน เพราะเสียเวลาครู   จากนั้นก็ประชาสัมพันธ์บอกกันต่อๆ ไป วิชานี้หมูๆ เดี๋ยวก็ผ่าน  โดยไม่คิดว่าสาเหตุของการไม่ผ่านคืออะไร  ใช้เวลาหรือใบงานหรือกิจกรรมเท่าไหร่  ครูคอยถาม ตักเตือน เรียกชื่อ ติดตามทวงใบงาน โดยมีเหตุผลสารพัดในการอ้างเพื่อไม่ส่งใบงาน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงนั้นๆ แต่พอไม่ผ่านและต้องดำเนินการแก้ตัวกลับต้องการความรวดเร็ว ความสะดวก ง่ายๆ โดยยกเหตุผลข้างๆ คูๆ ประกอบ ทั้งผู้ปกครอง นักเรียนต่างติดต่อรบเร้า อ้อนวอน กลัวเสียเวลา กลัวผลการเรียนตกต่ำ ทั้งๆ ที่ผ่านมา ครูดำเนินการแจ้งนักเรียนและผู้ปกครองเป็นระยะ ๆ  กลับไม่สนใจ และชอบอ้างว่า ต้องประกอบอาชีพโดยลืมไปว่า นักเรียนมาโรงเรียนเพื่อเรียนและพัฒนาพฤติกรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ครูแก้ไขเพียงฝ่ายเดียว  เฮ้อ......บ่นไปมากหรือเปล่า กำลังจะเข้าเรื่องว่า แก้ตัวต้องทำอย่างไร ?  เอาละครับ เข้าเรื่องเสียที

         การแก้ตัวกิจกรรมแนะแนว เพื่อให้เป็นแบบแผนเดียวกันในการพัฒนาพฤติกรรม กำหนดไว้ดังนี้

1.  กิจกรรมรู้ รัก เข้าใจตนเองและผู้อื่น เช่น  รู้ว่าตัวเองขี้เกียจ ต้องทำ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

      รักตนเอง ต้องทำ กิจกรรมความสะอาด   ฯลฯ

2.  กิจกรรมปรับตัวและการดำรงชีวิต  เช่น การดำรงชีวิต ต้องทำกิจกรรมหารายได้ระหว่างเรียน

3.  กิจกรรมแสวงหาข้อมูลสารสนเทศ เช่น หาข้อมูล ต้องทำกิจกรรมแนวทางศึกษาต่อระดับสูง

4.  กิจกรรมอาชีพ   เช่น กิจกรรมอาชีพสำนักงาน “ “กิจกรรมอาชีพงานบริการ 

 นักเรียนที่ไม่ผ่านกิจกรรมแนะแนว ควรมาศึกษาเรียนรู้ไว้ จะได้ไม่เสียเวลา และจะเกิดความเป็นธรรมในการจัดกิจกรรมแนะแนว ทั้งนักเรียนที่สนใจและนักเรียนที่ไม่สนใจจะได้เกิดความเสมอภาคกัน โดยครูก็ไม่เกิดความกังวลใจ เพราะแจ้งให้ทราบ รู้แล้ว แต่ประพฤติตนจนไม่ผ่านเอง ก็ต้องแก้ไขพฤติกรรมกันไปตามแบบแผน เพื่อเป็นกำลังใจให้คนขยันจะได้ไม่เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจหรือคิดว่า ยังไงก็ไม่สำคัญเท่าวิชาสามัญ แต่อย่าลืมว่า วิชาสามัญถึงจะเลิศเลอ หากขาดซึ่งความเข้าใจ ความแจ่มแจ้งในตนเอง หรือไม่มีทักษะในการปรับตัว อารมณ์ ย่อมอยู่ในสังคมลำบาก สุดท้ายก็กลายเป็นความบกพร่องในการดำรงชีวิตต่อไป เอวังก็มีด้วยประการดังนี้

 

 

     

 

หมายเลขบันทึก: 257856เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พรพิมล อรรถวิเศษ ชั้นม2/9

ดีค่ะครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท