เพลงอีแซวสุพรรณฯ จะอยู่ได้อีกนานสักแค่ไหน (ตอนที่ 3)


พวกเขาเหล่านั้นถูกหลงลืมไปเป็นเวลานาน ๆ กว่าที่จะนึกขึ้นได้ก็ต่อเมื่อถึงวันที่ต้องการเรียกใช้

เพลงอีแซวสุพรรณฯ

จะอยู่ได้อีกนานสักแค่ไหน (ตอนที่ 3)

เมื่อเสาหลักถูกลืม

 

หากเป็นไปได้ อยากจะให้หวนกลับไปทบทวนบทบาทของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายจัดกิจกรรม  ฝ่ายสนับสนุนกิจกรรม  ฝ่ายนักแสดง ตลอดจนครูผู้ควบคุม และตอบคำถามของตนเองให้ได้เสียก่อนว่า ความจริงเรากำลังยืนอยู่ ณ จุดใดกันแน่  จุดเริ่มต้น แล้วเลิก  จุดที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  จุดที่เป็นการแสดงอาชีพรับงานแสดงได้ค่าตอบแทน  ใน 3 ระดับของความแตกต่างนี้ต่างหาก ที่จะตอบคำถามของสังคมได้ว่า เรากำลังอนุรักษ์ สืบสานงานเพลงพื้นบ้าน หรือเป็นการกระทำ เพียงเพื่อเลียนแบบจากต้นฉบับ เพื่อให้ได้ร่วมงานในกิจกรรมเพียงเท่านั้น 

 

ในวันใดที่มีคนสร้างให้เกิดมี เกิดเป็น เกิดได้ตัวตายตัวแทน วันนั้นคือ วันที่เราสามารถออกมายืนยันได้ว่า การอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกด้านยังคงอยู่  ยังคงมีให้เห็นต่อไป ถึงแม้ว่าจะล่วงเลยยุคสมัยของวิถีชีวิตแบบนั้นไปนานแล้วก็ตาม แต่วิธีการคิด การพึ่งตนเอง ความอยู่รอด บทบาทของชีวิตของคนรุ่นเก่า ๆ น่าศึกษา เอามาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป

 

ในทำนองเดียวกัน ถ้าวันนี้ เรายังไม่สามารถที่จะสร้างตัวตายตัวแทนได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ให้เขาได้แสดงความสามารถในโอกาสที่สมควร แต่เรายังคงเดินบนไหล่ทางหรือในช่องทางแคบ ๆ อยู่ ก็คงไม่สามารถที่จะประกาศต่อสังคมได้ว่า เราคือ กลุ่มบุคคลผู้อนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านใด ด้านหนึ่ง อย่างแท้จริง

 

ลำพังผมเพียงคนเดียว คงไม่สามารถที่จะแสดงความคิดความเห็นอะไรได้มาก เพียงแต่เป็นคน คนหนึ่งที่เดินทางอยู่บนถนนแห่งความใฝ่รู้ ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังในผลงานด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน เมื่อผมมีความสนใจในเพลงพื้นบ้าน ร้องเพลงขอทาน (เพลงกระบอก) เพลงแหล่ ขับเสภา และร้องเพลงเชียร์รำวง ตั้งแต่ผมยังอยู่ในวัยเด็ก เรียนอยู่ชั้น ป.5 ประมาณ ปี พ.ศ. 2505 จุดเริ่มต้นไม่มีใครชวน ไม่มีใครบังคับ ไม่มีครูสอน และไม่มีโอกาสอย่างในปัจจุบันนี้  เพราะในยุคก่อนนั้น (เมื่อเกือบ 50 ปี) มหรสพที่คนนิยมมากที่สุด คือภาพยนตร์ และวงดนตรี ส่วนลิเก รำวง หนังตะลุง โขน ละคร ไม่โดดเด่นมากนัก ถนนราคาในการหา จ้าง วานก็ไม่แพงมาก วงดนตรีดัง ๆ ในยุคนั้น ราคาค่าจ้างในการแสดงประมาณ คืนละ  6,000-7,000 บาท ส่วนหนัง หรือภาพยนตร์ก็คืนละ 2,500-5,000 บาท สุดแล้วแต่ความต้องการหนังใหม่หรือเก่าลงมาหน่อย หากเป็นหนังชนโรงก็ราคาเรื่องละ 1 หมื่นบาทเศษ/คืน

 

จากการที่ผมเดินเข้ามาสู่ถนนคนเพลง เล่นเพลงพื้นบ้านกับน้าชาย โดยไม่มีใครชวน ไม่มีใครบังคับ ไม่มีครูสอน และไม่มีโอกาส แต่ก็ยังมีน้าชายเป็นต้นแบบในการร้องเพลงขอทาน เขาร้องเป็นทำนองคล้าย ๆ เพลงแหล่ คนเก่า ๆ เขาสั่งสมความรู้กันมาจากคนรุ่นก่อน บางครั้งสิ่งที่ได้รับมาอาจไม่ตรงกับของแท้ก็ไม่ถือว่ารับมาผิด ๆ เนื่องจากต่างคนต่างครู ต่างความเชื่อความศรัทธา และเมื่อผมหันกลับไปมองคนในยุคเดียวกับผม รุ่นที่ปัจจุบันมีอายุอยู่ในระหว่าง 55-65 ปี บุคคลเหล่านี้ มีที่มาของการแสดงเพลงพื้นบ้านที่คล้ายคลึงกันคือ มาด้วยใจรักและมีความสนใจเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้จึงฝังใจเข้าไปในกระดูกดำ หัวใจมันเร่าร้อน อยากร้องอยากเล่นให้เป็นดังที่มีหวัง มีความตั้งใจ

 

ในวันนี้หากหลาย ๆ กลุ่มบุคคล ที่กำลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านหลาย ๆ ชนิด ได้คิดย้อนกลับไปถึงที่มาของศิลปะการแสดงแขนงนี้ ที่อยู่ยืนยงมาให้คนรุ่นเราได้เห็น มีเส้นทางเดินมาอย่างไร เรากำลังยืนอยู่บนเส้นทางเดียวกัน แล้วเราปฏิบัติหรือกระทำอย่างไร มีเป้าหมาย มีจุดประสงค์ที่ไกลสุดตาเลยลมหายใจสุดท้าย หรืออยู่เพียงแค่เอื้อมตรงนี้ต่างหากที่เป็นตัวชี้ให้สามารถบอกได้ว่า คงยังไปไม่ถึงคำว่าอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะเพลงอีแซวสุพรรณฯ ที่มีบุคคลหลายท่าน ได้นำไปสู่ความมีชื่อเสียง เกียรติยศให้แก่แผ่นดินถิ่นเกิดมานาน ได้แก่

 

1. ครูเคลิ้ม ปักษี  แห่งบ้านดอนเจดีย์ ต้นตำรับของเพลงอีแซว เป็นผู้ที่เขียนบทร้องเพลงอีแซวเอาไว้ เป็นจำนวนมาก ท่านเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2522 ด้วยอายุ 67 ปี

2. พ่อไสว  วงษ์งาม ครูเพลงคนสำคัญ ผู้บุกเบิกเพลงพื้นบ้านหลายชนิด โดยเฉพาะเพลงอีแซวให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป (เสียชีวิตไปเมื่อ ปี 2537)

3. แม่บัวผัน จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงเพลงอีแซว ปี พ.ศ. 2533 ครูเพลงที่สามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบ 80 อย่าง  (เสียชีวิตไปเมื่อ ปี 2549)

4. ขวัญจิต  ศรีประจันต์  ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงเพลงอีแซว ปี พ.ศ. 2539 ครูเพลงที่สามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้ 25 อย่าง

5. สุจินต์ ศรีประจันต์  ศิลปินดีเด่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี พ.ศ. 2541 ผู้ที่มีความสามารถในการแสดงเพลงพื้นบ้านหลายชนิด

นอกจากนี้ ยังมีศิลปินที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี อีกหลายท่าน ได้แก่ ขวัญใจ ศรีประจันต์, จินตนา ทับมี, นกเอี้ยง เสียงทอง, บุญโชค ชนะโชติ (เสียชีวิต ปี 2549) นกเล็ก ดาวรุ่ง รวมทั้งวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ที่ผ่านงานแสดงบนเวทีในสถานที่ต่าง ๆ มานับ 1000 ครั้ง

 

บุคคลเหล่านี้ มีความยั่งยืนในการสืบสานงานแสดงที่ยึดมั่น ไม่มีวันจาง แต่พวกเขาเหล่านั้นถูกหลงลืมไปเป็นเวลานาน ๆ จะนึกขึ้นได้ก็ต่อเมื่อถึงวันที่ต้องการเรียกใช้  ถึงแม้ว่าบางท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่ร่องรอยของความเป็นนักแสดงเพลงอีแซวยังคงอยู่ในความทรงจำของทุกคนในหมู่บ้าน สามารถที่จะเล่าขานให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนได้รับรู้เรื่องราวที่เป็นความจริงได้อย่างภาคภูมิใจ

 

เพลงอีแซวสุพรรณฯ จะอยู่ได้นานสักแค่ไหน ขึ้นอยู่กับภาพความจริงที่ชัดเจน มีความแน่นอนมั่นคง โดยมีจุดมุ่งหมาย ที่จะรักษาไว้ให้คงเดิม ปฏิบัติหรือการกระทำให้เกิดความต่อเนื่อง ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ การสืบค้นหาครูเพลงเก่า ๆ เรียนรู้ฝึกปฏิบัติจากท่าน เร่งผลิตทายาทขึ้นมารับช่วงต่อจากครูเพลง ให้เยาวชนได้ทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้านต่อสาธารณชน จนเป็นที่ยอมรับในความสามารถที่ได้รักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนโดยแท้

 

 

ชำเลือง มณีวงษ์  รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงพื้นบ้าน จังหวัดสุพรรณบุรี  ปี 2525

                        ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน (ราชมงคลสรรเสริญ) ปี 2547

                       โล่รางวัลความดีคู่แผ่นดิน จากรายการโทรทัศน์ ททบ. 5  ปี 2549

                       หนังสือรับรองการแสดงพื้นบ้านส่งเสริมวัฒนธรรมไทย 10 Station ปี 2551

หมายเลขบันทึก: 257617เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2009 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีคับ สำหรับการสืบสานไว้เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านภาคกลางนั้น ถ้ายังมีอาจารย์ชำเลืองอยู่ ผมขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ต่อไปนะคับ ถึงอาจารย์ใกล้จะเกษียณแล้วก็ตาม แต่ความเป้นครูยังคงอยู่ต่อไป ขอบคุณคับ

สวัสดี ยุทธนา

  • ดีใจที่คนรุ่นหนู คนหนุ่มรุ่นใหม่ยังหันมามองของเก่า โดยที่มิเคยลืม
  • ขอให้มีความสุข และประสบโชคดี ตลอดไป
  • ครูเพียงขอฝากประสบกาสรณ์ตรงเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาความจริง ในอนาคตข้างหน้า

สวัสดีครับ

ผมติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านมานาน ขอชื่นชมครูครับ และอบากให้ครูจัดโครงการลักษระพื้นบ้านสัญจร โดยการเรียนรูเพลงจากครูเพลงรุ่นเก่า และสำหรับผู้สนใจการเดินทางไปให้กำลังใจพ่อเพลงแม่เพลงรุ่นเก่ากัน

สุดท้านนี้ผมอยากทราบเกี่ยวกับรายการแสดงของครูเพลงรุ่นเก่าที่ครูเก็บไว้ ขอสำเนาได้หรือเปล่าครับ

ถ้าได้ต้องทำอย่างไรบ้างครับ

จากครูสุโขทัย สนใจเรื่องเพลง

สวัสดี คุณเฉลิมพล

  • โดยปกติวงเพลงของผมก็ตระเวณแสดงไปในทุกสถานที่ ที่มีผู้เรียกหา ครับ
  • ส่วนการเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน จากครูเพลงเก่า ๆ คงจะต้องเดินทางไปพบด้วยตนเอง
  • ผู้ที่จะไปชมการแสดงของครูเพลงเก่า ๆ จะมีน้อย ครับ ถ้าชอบจริง ๆ ไปที่งานวัดป่าเลไลยก์ มีงานปีละ 2 ครั้ง เดือน 5 และเดือน 12 ได้ดูแน่นอน 
  • บันทึกการแสดงเก่า ๆ ที่ผมมี เป็นเทปคาทเสท 20 ม้วน และวิดีโอ 10 ม้วนได้
  • สภาพการใช้งานค่อนข้างที่จะไม่สมบูรณื แต่ยังพอมีหลักฐานให้เห็นของเก่าได้
  • ส่วนการสำเนา ที่ผ่านมามีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย... เขามา COPY ไปก็หลายครั้ง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท