เงินคือบุญ บุญคือเงิน...!


คนเราสมัยนี้เข้าใจว่า "เงินคือบุญ บุญคือเงิน" ก็เลยหลงใช้เงินทำบุญ คิดว่าทำบุญด้วยเงินแล้วได้บุญ

เขาก็เลยใช้แต่เงิน เงิน เงิน แล้วก็เงิน

ความเข้าใจอันเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" นี้เป็นประเด็นที่ใหญ่หลวงทีเดียวเชียว

คนทำทาน ทำบุญด้วยเงิน ก็คิดว่า พอแล้ว ดีแล้ว
ก็เลยไม่รู้จักปฏิบัติทางจิต ไม่รู้จักพัฒนาทางใจ

คนที่ไม่มีเงินทำบุญ มารักษาศีลภาวนา ก็เข้าใจว่าไม่มีเงินก็ไม่ได้บุญ "ทำบุญเลยไม่รู้จักบุญ"

คนที่ไม่มีเงินทำบุญก็เลยทำบุญกันไม่ได้ คนรวยเท่านั้นเลยได้ทำบุญ คนรวยเท่านั้นเลยได้ขึ้นสวรรค์ อย่างนั้นหรือ...?

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
กุศลกรรมบท ๑๐
อกุศลกรรมบท ๑๐

ถ้านับจากบุญและกุศล ๓๐ ประการเบื้องต้นนี้ เงินมีอยู่แค่ ๑ ส่วน ใน ๓๐ ส่วน

หากจิตยังไม่คิดว่าการปฏิบัติสำคัญ ยังคิดว่าเงินสำคัญอยู่ จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกทางได้อย่างไร...?

คนที่ทำบุญด้วยเงินก็ยังหลงอยู่กับวัตถุ ให้สิบ ขอร้อย ให้ร้อยขอพัน ให้พัน ขอล้าน...

การทำทานมีผลอย่างหนึ่ง
การทำบุญมีผลอย่างหนึ่ง
การทำกุศลมีผลอย่างหนึ่ง
การรักษาศีลมีผลอย่างหนึ่ง
การภาวนามีผลอย่างหนึ่ง

ผลทั้งหลายเกิดขึ้นแก่จิต ถ้าทำเหตุไม่ตรงแล้ว ผลจะได้ออกมาดีได้อย่างไร

อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วผ่านเลยไป เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แหละสำคัญ

เราส่วนใหญ่มักมองแต่ที่ผล จะทำให้เกิดผลอย่างนั้น แต่สร้างเหตุไม่ตรง
 
"ทาน ศีล ภาวนา" ถ้าอยู่แต่ในชั้นทาน ไม่รักษาศีล ก็ภาวนาไม่ได้ แล้วยังคิดว่าจะพัฒนาจิตได้หรือ...!
อันนี้ยังไม่ต้องกล่าวเลยไปถึง "ศีล สมาธิ ปัญญา" เพราะเขาทั้งหลายยังปฏิบัติตนอยู่เพียงแต่ชั้นทาน

จิตทั้งหลายที่หลงวนเวียนอยู่ในกระแสแห่งเงิน ทั้งที่เข้าใจผิด และมีผู้มาหลอกให้เข้าใจผิดนั้นต้องสับสนหลงทางมานานแสนนาน

สอนคนให้เดินหลงทางนั้นเป็นบาป

ทำเหตุให้ตรง แล้วจิตจะดี
ถ้าจิตยังมีมิจฉาทิฏฐิ จิตจะดีได้อย่างไร...!

จิตที่ตรง มั่นคง คงที่ คือจิตที่มี "สัมมาทิฏฐิ"

รู้จักประพฤติ ปฏิบัติตน รู้จักทั้งทาน รู้จักการรักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา

จิตจะดีได้ด้วยการรู้จักหักห้ามใจโดยการมีศีลเป็นเครื่องกั้น

ศีลนี้เองจะทำให้จิตใจสงบ ระงับ และมีสมาธิ

จิตที่มีสมาธินี้เอง จะเป็นจิตที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

เมื่อรู้แท้ว่าอะไรเป็นอะไร คือ รู้ว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ก็สามารถระงับเหตุที่เกิดแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้น

ท่านทั้งหลายจงเดินทางในเส้นทางที่เป็นสัมมาทิฏฐิเถิด

ท่านทั้งหลายจะสามารถก้าวล่วงพันภัยแห่งสังสารวัฏนี้ได้ ไม่นานเอย...


 

หมายเลขบันทึก: 257612เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2009 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท