คลัง-ธปท.แก้โจทย์หินศก.ซบ


คลัง-ธปท.แก้โจทย์หินศก.ซบ
     คลัง-แบงก์ชาติเผชิญโจทย์หินรับมือเศรษฐกิจฟุบ เงินเฟ้อพุ่ง ค่าเงินบาทแข็ง   "ทนง" แย้มหากนโยบายการเงินดูแล ศก. ไร้ผล  แบงก์ชาติสามารถขอใช้นโยบายการคลังช่วย   ด้าน ธปท. เตรียมแผนรับมือคลื่นเงินเฟ้อ ลูกที่สองจากผลกระทบของราคาน้ำมัน ขณะที่นักวิชาการฟันธงดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ถึงจุดอันตรายเกิน 8.50% แน่ ส่วนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ยังแข็งค่าแบบหยุดไม่อยู่ แตะระดับ 37.48 บาทต่อดอลลาร์ แข็งสุดรอบ 6 ปีแล้ว
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2549 จะมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับ 5% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา  ว่าภาคส่งออกไตรมาสแรกขยายตัว 18 % และการท่องเที่ยวขยายตัว 25 % แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งในปัจจุบันสูงเกินว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.49) ที่ยังสูงถึง 5.7% และการแข็งค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์ที่เคลื่อนไหวแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปีแล้ว   ล้วนเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย และเป็นโจทย์ทางเศรษฐกิจซึ่งทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดูแลนโยบายการเงิน และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ดูแลนโยบายการคลังต้องร่วมแก้ไข
ทั้งนี้ ธปท. ได้ประกาศปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่  จากประมาณการเดิมที่ 4.75-5.75%  โดยคาดว่าจีดีพีจะลงอยู่ที่ 4.50-5.50% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประมาณการของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)  และเป็นที่คาดการณ์ว่า สภาพัฒน์ฯ มีแนวโน้มที่จะปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้ลงอีกเช่นกัน นอกจากนี้ ในวันที่ 27 เมษายนนี้คณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนจะมีการหารือถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการรับมือต่อแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่า
ดร. ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ จะรับฟังการสรุปจาก ธปท. เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ แต่หาก ธปท. เห็นว่า มาตรการด้านการเงินไม่สามารถจะควบคุมดูแล
ภาวะเศรษฐกิจได้ ก็สามารถร้องขอให้ทางกระทรวงการคลังหาแนวทางในการใช้มาตรการทางด้านการคลัง  


เข้ามาช่วยสนับสนุนได้  แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะนำมาตรการทางการคลังออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ "เท่าที่พิจารณาดูแล้วนโยบายด้านการคลังที่จะนำมาใช้ ก็คงจะมีเพียงเรื่องภาษีเท่านั้น ส่วนนโยบายการเงิน    ก็เป็นเรื่องของ ธปท. และการควบคุมดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็เป็นส่วนงานความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ภาคการลงทุนที่แท้จริงก็ถือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้น ๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น เรื่องของราคาน้ำมัน หรือการลงทุนของภาคเอกชน" ดร.ทนงกล่าว
นอกจากนี้ แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท. ในฐานะผู้ดูแลเศรษฐกิจมหภาคเริ่มเห็นสัญญาณ     ที่ชัดแจนแล้วว่า จะต้องเผชิญกับปัญหาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นรอบหนึ่ง เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้นในครั้งนี้  จากสมมติฐานเดิมที่ ธปท. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2549  หรือผลกระทบของราคาน้ำมันที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อในรอบที่แล้วน่าจะหมดในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้   แต่เมื่อเกิดคลื่นของเงินเฟ้อลูกที่ 2 ขึ้นใหม่ ทำให้แนวโน้มของการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อยืดออกไปอีก  อย่างไรก็ตาม ในการการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังต้องให้น้ำหนักต่อการดูแลอัตราเงินเฟ้อมากกว่าการให้น้ำหนักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ
ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สภาพัฒน์ฯ) รายงานในที่ประชุม ครม. (25 เม.ย.) ว่า ได้เสนอแนวทางการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงเวลา   ที่เหลือ 8 เดือนหลังของปีนี้ (พ.ค.-ธ.ค.) ใน 3 แนวทาง คือ การบริหารต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และดูแลการปรับราคาสินค้าและบริการอย่างเป็นธรรม, การบริหารจัดการเพื่อให้สามารถใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ และการบริหารการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออก เพื่อรักษาดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้ขาดดุลเกิน 2% ของ GDP ส่วนมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว คือ มาตรการเรื่องพลังงาน มาตรการเพิ่มรายได้ และมาตรการลดภาระรายจ่ายของภาคประชาชนและธุรกิจ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการต่อการแก้ปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจ         ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าควรจะใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังควบคู่กัน
รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมัน      ที่ยังผกผันและคาดว่าจะกระทบอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในขณะที่ ธปท. ให้เหตุผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้เป็นบวกนั้น หากภาวะเงินเฟ้อยังเป็นปัญหามาจากราคาน้ำมัน ผู้ดูแลนโยบายก็ต้องใช้เครื่องมือของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อให้สอดรับแนวโน้มของเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัวลง เช่นเดียวกับนโยบายการคลังที่ควรจะเป็นนโยบายแบบชะลอตัวด้วย คือ การนำมาตรการด้านภาษีมาใช้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการด้านภาษีเลย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ครบกำหนด     จะเพิ่มเป็น 10% ก็ยังไม่เพิ่มขึ้น
ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันไม่เป็นไปตามที่    รัฐบาลคาดการณ์ไว้ เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงถึง 74 ดอลลาร์ต่อบาเรลแล้ว  อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังมี    ความไม่แน่นอนสูงมาก การรักษาเสถียรภาพจึงมีความสำคัญที่จะต้องใช้ทั้ง 2 นโยบายคือ นโยบายการเงิน   


ซึ่ง ธปท. เดินมาถูกทางแล้วจากการส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นและพยายามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้  ส่วนนโยบายการคลังนั้นต้องเน้นการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ คือ พยายามรักษา      งบประมาณไม่ให้ขาดดุล ดูแลการจัดเก็บและรายจ่ายที่เน้นสร้างผลิตภาพ
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเชิงวิชาการในภาวะที่ราคาสินค้าปรับราคาสูงขึ้นนั้น ไม่แน่ใจว่าการที่ทางการจะใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่   ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองก็มีการแข่งขันกันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปีนี้ก็ยังมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว แต่สถานการณ์ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย   ไปนานเข้าเท่าไร ยิ่งมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วนโยบายเศรษฐกิจมหภาคคงต้องดูแลว่าจะใช้นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวเพื่อดูแลต่อไปหรือไม่
นอกจากนี้ แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับสูงชึ้น และทำให้ ธปท. ต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนเกินไป จะมีผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตรา  ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี 14 วัน)   โดยก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท. เคยระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 8.50% เป็นระดับที่ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยพอรับไหว แต่หากอัตราดอกเบี้ยปรับสูงกว่าระดับดังกล่าว หรือขึ้นไปถึงระดับ 2 หลัก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ล่าสุด แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (เอ็มแอลอาร์) จะเร่งตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 8.50% ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อ ที่ยังไม่ปรับลดลงเพราะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ ธปท. อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์   โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Spread) หรือในกรณีที่มีความเสี่ยงในการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นมาก ๆ   นอกจากนี้ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่กระทรวงการคลังและ ธปท. จะหยิบยกขึ้นหารือกันในวันที่ 27 เม.ย. ซึ่งความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เปิดตลาดที่ระดับ 37.55-37.58 บาทต่อดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 37.60-37.63 บาทต่อดอลลาร์   ซึ่งแข็งค่าขึ้นแล้วถึง 8 % เมื่อเทียบกับต้นปี 2549   โดยระหว่างวันเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 37.48-51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี นับจากเดือน เม.ย. 2543 ขณะที่นักค้าเงินของธนาคาร       ไทยธนาคารชี้ว่าในขณะนี้ ธนาคารกลางของประทศในภูมิภาคเอเชียหลายแห่งเข้ามาดูแลค่าเงินเพราะหลายประเทศไม่อยากให้ค่าเงินแข็งค่าเกินไปจนกระทบกับการส่งออก ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่เห็นสัญญานว่ามีการเข้ามาดูแลค่าเงินแต่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามค่าเงินในภูมิภาค

ฐานเศรษฐกิจ  26  เมษายน  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25718เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2006 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท