Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๗๔)_๒


ชุมชนบล็อก
         การจัดการความรู้ไม่ว่าในบริบทใดก็ตาม จะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มต้นด้วยกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ในองค์กรที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน มีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นระยะ มีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน มีความพร้อมที่จะ “ให้” และพร้อมที่จะ “รับ” อย่างจริงใจ และมีความรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่ม เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice หรือ CoP)
         การจัดการความรู้ในชุมชนนักปฏิบัติจะสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนและรวดเร็วคงต้องอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าอำนวยในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ความสามารถที่เด่นชัดของระบบบล็อก GotoKnow.org ในแง่ชุมชนคือ การสร้างและบริหาร “ชุมชนบล็อก” (ดังแสดงในรูปที่ 5) เมื่อผู้เขียนบล็อกต้องการค้นหาผู้ชำนาญการ หรือผู้ที่มีแนวคิด ความสนใจ ความถนัดร่วมกัน ก็จะสร้างชุมชนบล็อกขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง และเมื่อผู้เขียนบล็อกต่างๆ เข้ามีร่วมชุมชนแล้ว การรวบรวมบันทึกความรู้ในด้านหนึ่งๆ จากผู้เขียนหลากหลายคนก็จะเกิดขึ้น ทีมงานพบว่านอกจากที่ชุมชนบล็อกจะเป็นการช่วยสร้างคลังความรู้เฉพาะด้านให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยที่จำนวนบันทึกในชุมชนบล็อกจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติตามจำนวนบันทึกที่สมาชิกเขียนขึ้นในบล็อกของตนเองแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี

 
รูปที่ 5 ตัวอย่างชุมชนบล็อกใน GotoKnow.org 


         นอกจากนี้ ในความเป็นจริงแล้ว คนแต่ละคนย่อมที่จะมีความสนใจหรือความถนัดในหลากหลายด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในชุมชนหนึ่งๆ ย่อมที่จะมีชุมชนย่อยๆ แฝงอยู่นั่นเอง ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานประเด็นนี้ ผู้เขียนบล็อกใน GotoKnow.org สามารถที่จะเป็นสมาชิกของชุมชนบล็อกได้มากกว่าหนึ่งชุมชน (Multi-CoP) (ดังแสดงในรูปที่ 6) โดยทุกครั้งที่ผู้เขียนบล็อกมีการบันทึกความรู้เกิดขึ้น บันทึกจะถูกคัดลอกไปสู่คลังความรู้ของชุมชนบล็อกต่างๆ ที่ผู้เขียนบล็อกเป็นสมาชิกอยู่ได้โดยอัตโนมัติ อันจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ได้หลายต่อจากบล็อกอันเดียวกัน 

 

                   
รูปที่ 6 ตัวอย่างบล็อกที่อยู่ในชุมชนบล็อกมากกว่าหนึ่งชุมชน 

         อย่างไรก็ตาม การประยุกต์เอาความสามารถของระบบ GotoKnow.org ในด้านชุมชนบล็อกไปใช้ นอกเหนือจากการสร้างคลังความรู้ของชุมชนแนวปฏิบัติแล้วนั้น ปัจจุบัน ชุมชนบล็อกยังถูกนำไปใช้อย่างหลากหลายเพื่อวัตถุประสงค์ของการสร้างคลังความรู้และแหล่งปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งๆ โดยไม่ได้เน้นถึงคุณสมบัติของชุมชนแนวปฏิบัติ เช่น การนำเอาชุมชนบล็อกไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในจัดการความรู้ในทีมทำงาน (Teamwork) ของแต่ละองค์กรหรือระหว่างองค์กร หรือ การนำเอาชุมชนบล็อกไปใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายนอกชั้นเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาหรือระดับบัณฑิตศึกษา เป็นต้น
         ชุมชนในลักษณะนี้มีความแตกต่างในเชิงปัจเจกบุคคล (Individual Differences) มากกว่าชุมชนแนวปฏิบัติ อย่างน้อยก็ในเรื่องความแตกต่างด้านความถนัดเชิงอาชีพ ความสนใจ และอาจรวมถึงทัศนคติอีกด้วย เรียกได้ว่า คนที่มาเข้าเป็นสมาชิกของชุมชนในลักษณะนี้อาจไม่ได้มาด้วย “ใจ” ดังนั้น การดูแลรักษาชุมชนบล็อกให้คงอยู่นานหรือกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างทั่วถึงทั้งกลุ่มอาจจะทำได้ยากกว่าชุมชนแนวปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้บริหารชุมชนบล็อกลักษณะนี้มักจะเจอและพยายามหาหนทางแก้ไข
         ทีมงานพบว่าการทำให้สมาชิกชุมชนร่วมมือและเต็มใจ (Commitment) ที่จะร่วมถ่ายทอดความรู้ผ่านทางบล็อกอย่างสม่ำเสมออันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรวม คงทำไม่ได้ด้วยความสามารถใดๆ ของระบบเทคโนโลยี หากแต่เป็นเรื่องของหลักจิตวิทยาในการบริหารองค์กรหรือชุมชน อันต้องเริ่มต้นที่ผู้นำที่แสดงความตั้งใจในการเขียนบันทึกความรู้ลงบล็อกอย่างแท้จริงและสม่ำเสมอเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สมาชิกชุมชนท่านอื่นๆ และนอกจากนี้ องค์กรหรือชุมชนนั้นๆ จะต้องสื่อสารสู่ผู้เขียนบล็อกในชุมชนให้เห็นถึงนโยบายการจัดการความรู้และสิ่งตอบแทนที่ชัดเจนอันจะได้รับจากการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อันเกิดจากการปฏิบัติลงสู่บล็อก


การเลือกอ่านบล็อก

         ในยุคที่ความรู้และสารสนเทศจำนวนนับไม่ถ้วนในรูปแบบดิจิตอลเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างง่ายดาย บุคคลในหน้าที่ต่างๆ ผู้ซึ่งสวมบทบาทของการจัดการความรู้ในองค์กรหรือชุมชน เช่น ผู้บริหารสูงสุด (CEO) คุณเอื้อ (CKO) คุณอำนวย (Knowledge Facilitator) และคุณกิจ (Knowledge Practitioner) จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจและเปิดใจอย่างพอประมาณที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการจัดการความรู้และเลือกสรรบริโภคข้อมูลเฉพาะส่วนที่สำคัญหรือส่วนที่สนใจได้
         แน่นอนว่าจำนวนบล็อกใน GotoKnow.org จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ การบรรยาย และการนำความรู้ที่ได้รับมาไปถ่ายทอดต่อๆ กันไป ดังนั้น การติดตามอ่านบันทึกทุกฉบับจากทุกๆ บล็อกใน GotoKnow.org จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่ควรปฏิบัติ แม้ว่าการอ่านบันทึกในบล็อกและการแสดงความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้อยู่เป็นประจำเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเขียนบันทึกเพื่อถ่ายทอดความรู้ แต่การบริโภคข้อมูลมากเกินไปโดยไม่เลือกสรรทำให้เสียเวลาและอาจเข้าสู่สภาวะเครียดและล้าทั้งสายตาและจิตใจอันเป็นอาการทั่วไปของภาวะบริโภคข้อมูลมากเกินความจำเป็น (Information Overload Syndrome)
         ดังนั้น การเลือกอ่านเฉพาะบล็อกที่สนใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง วิธีที่ง่ายที่สุดคือ เลือกจดจำลิงค์ที่อยู่ของบล็อกนั้นๆ อันเปรียบเสมือนการจำชื่อสมุดบันทึกหนึ่งๆ เช่น    http://ThaiKM.GotoKnow.org, http://FaciCOP.GotoKnow.org, http://Howto.GotoKnow.org เป็นต้น แต่วิธีการนี้ก็ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เพราะผู้อ่านยังจำเป็นต้องพิมพ์ลิงค์ที่อยู่ในโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ เช่น Internet Explorer ทุกลิงค์และทุกครั้งที่เข้าอ่าน
         การอ่านบล็อกหลายบล็อกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในแง่การเข้าถึงข้อมูลได้ได้โดยง่าย คือ การอ่านผ่านทางซอฟต์แวร์หรือเว็บไซต์ที่เรียกว่า Feed Aggregator หรือ Feed Reader เช่น SharpReader, Newsgator, หรือ BlogExpress (ดังแสดงในรูปที่ 7) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการอ่านบล็อกด้วยการรวบรวมเอาข่าวสารล่าสุด (RSS Feed) จากบล็อกต่างๆ มารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อจะได้รับข่าวสารจากหลายแหล่งในที่เดียวกันโดยไม่ต้องใช้โปรแกรมเว็บบราวเซอร์เปิดบล็อกต่างๆ จนครบทุกบล็อก

                             
รูปที่ 7 ตัวอย่างหน้าตาของโปรแกรม BlogExpress (จาก BlogExpress.com) 

         บล็อกทุกบล็อกใน GotoKnow.org จะมีกราฟฟิกสีส้มเขียนว่า RSS 2.0  กราฟฟิกนี้บรรจุไฟล์ RSS 2.0 (RSS Feed) ซึ่งบรรจุเนื้อหาย่อของบันทึกล่าสุดสำหรับแต่ละบล็อก ไฟล์นี้จะปรับปรุงอัตโนมัติทุกครั้งที่บล็อกมีบันทึกใหม่ใส่เข้ามา ดังนั้นไฟล์ RSS 2.0 ของแต่ละบล็อกก็จะต่างกันแม้ว่าจะใช้กราฟฟิกที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ผู้อ่านบล็อกจะเริ่มต้นด้วยการสมัครรับ Feed โดยต้องทำการ Copy ลิงค์ของ Feed นั้นๆ จากกราฟฟิกสีส้มเล็กๆ นี้ ซึ่งทำได้โดยกดเม้าส์ด้านขวาบนกราฟฟิก และเลือก “Copy Shortcut” มาใส่ในโปรแกรม Feed Aggregator ที่ผู้อ่านเลือกใช้ เมื่อผู้อ่านต้องการอัพเดตข้อมูลใหม่ของ Feed ที่มีอยู่ ก็ให้กดเลือกปุ่มที่เขียนไว้ว่า “Synchronize feeds” และเมื่ออ่าน Feed แต่ละอันเสร็จแล้ว ก็ควรจะเลือกกดปุ่มที่เรียกว่า “Catch up feeds” เพื่อว่าเมื่ออัพเดต Feed ครั้งต่อไป โปรแกรมจะแจ้งเฉพาะข่าวใหม่ให้โดยทันที

การเปิดเผยรหัสต้นแบบ (Open-Source)
         ทีมงานพัฒนา GotoKnow.org มีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบขึ้นมาด้วยหลักการของการเป็น Open-Source คือ นอกจากที่ผู้พัฒนาอนุญาตให้นำเอาระบบไปลงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแล้ว หลักการดังกล่าวนี้จะเป็นการร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาปรับปรุงรหัสต้นแบบ (Source Code) ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อผลประโยชน์แก่ผู้ใช้ทุกคน และเป็นข้อบังคับที่ว่าผู้ที่พัฒนาต่อเนื่องจะต้องเผยแพร่รหัสต้นแบบที่ต่อยอดจากรหัสต้นแบบหลักนี้ออกสู่สาธารณชนเช่นกันภายใต้ลิขสิทธิ์ GNU GPL (GNU General Public License)
ดังนั้น ด้วยการ “ให้” รหัสต้นแบบของระบบบล็อกที่ทีมงานพัฒนาขึ้น องค์กรทุกประเภทที่ต้องการมีระบบบล็อกเป็นของตนเองเพื่อการจัดการความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการความรู้เฉพาะภายในองค์กร ระหว่างองค์กร หรือเปิดกว้างออกสู่สาธารณะ จะสามารถนำเอาระบบบล็อกไปลงใช้ในเครื่องแม่ข่ายของตนเองได้โดยสะดวก หรือในอีกทางหนึ่ง องค์กรที่มีเว็บท่า (Portal Web) อยู่แล้ว ก็สามารถเลือกนำเอาความรู้ในชุมชนบล็อกขององค์กรซึ่งอยู่ใน GotoKnow.org ไปเพิ่มเติมเข้าที่เว็บท่าขององค์กรได้เช่นกัน


บทสรุป
         คลังความรู้ใน GotoKnow.org จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการ “ให้” ประสบการณ์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจากประชาชนคนไทยของทุกหน่วยงานและทุกชุมชน และการพัฒนาระบบบล็อกเพื่อการจัดการความรู้ภายใต้การสนับสนุนของ สคส. นี้ จะดำเนินต่อเนื่องไปด้วยความมุ่งมั่นและท้าทาย อันจะนำมาซึ่งความสามารถใหม่ๆ ของตัวระบบ อาทิเช่น การจัดทำแผนที่ความรู้แบบอัตโนมัติ การเสนอแนะคำหลักของบันทึกความรู้แบบอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อตอบรับความต้องการด้านการใช้งานให้ได้ผลเป็นอย่างดีสำหรับกระบวนการจัดการความรู้ขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย

ดร.จันทวรรณ น้อยวัน และ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(
[email protected], [email protected])

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25711เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2006 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท