มหาวิทยาลัยของพื้นที่



          วันที่ ๑๐ เม.ย. ๕๒ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยนเรศวร    ท่านอธิการบดี ศ. ดร. สุจินต์ จินายน มาให้นโยบาย/วิสัยทัศน์ ของมหาวิทยาลัย    ที่มีความชัดเจนมาก   ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะนำมาบันทึกไว้


          ผมตีความคำพูดของท่านว่า     ต้องการให้ มน. ทำงานวิชาการโดยมีเป้าหมายเน้นรับใช้ภาคเหนือตอนล่าง ๙ จังหวัด   ท่านมองภารกิจหลักของ รพ. มน. ด้านวิชาการ คือการผลิตคน และวิจัย   ไม่ใช่บริการ    ท่านมองบริการเป็นเครื่องมือเพื่อการผลิตคนและความรู้    และมองการทำงานเป็นเครือข่ายของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๙ จังหวัด   ไม่มองการทำงานของ รพ. มน. แบบโดดเดี่ยวหรือแยกตัว


         ผมประทับใจช่วงเวลา ๑๕ – ๒๐ นาทีที่ท่านอธิการบดี ดร. สุจินต์ แลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการเป็นอย่างยิ่ง    และกลับมาคิดต่อ ว่าตัววิสัยทัศน์เช่นนี้มีความหมายต่อวิธีการจัดการองค์กร  การสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร    และการทำความเข้าใจร่วมกันวางยุทธศาสตร์ในพื้นที่ ๙ จังหวัด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ    โดยต้องร่วมคิดร่วมวางยุทธศาสตร์กับ key players ทุกภาคส่วนใน ๙ จังหวัด


         มอง key players เหล่านี้อย่างรู้เท่าทันว่า เขาเป็นทั้ง collaborator และ competitor ในเวลาเดียวกัน    มีโอกาสของความร่วมมื่อ และมีความเสี่ยงที่เกิดจากการแข่งขันกันสร้างชื่อเสียง


         การจัดการ รพ. มน. มีความท้าทายอย่างยิ่ง    ที่จะต้องสนองความต้องการของคณะ/หน่วยงานด้านสุขภาพภายใน มน.   และในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสุขภาพ ๙ จังหวัด    โดยท่านอธิการบดีระบุว่า รพ. มน. ต้องไม่ใหญ่เกิน ๔๐๐ เตียง    แต่แน่ชัดว่า การฝึกอบรม นศ. ด้านสุขภาพของ มน. ต้องการบริการสุขภาพที่ใหญ่กว่า รพ. ๔๐๐ เตียงมาก    นั่นคือ ต้องแสวงหาความร่วมมือกับบริการสุขภาพภายนอก มน. เพื่อให้ นศ. สาขาต่างๆ ไปฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ และเรียนรู้ชีวิตจริงในการทำงาน


        โรงพยาบาล มน. จะเป็น รพ. ตติยภูมิ (tertiary care) เน้นเก่งเพียงบางด้าน   ยิ่งต้องมีการจัดการในแนวที่ไม่เหมือน รพ. มหาวิทยาลัยโดยทั่วไปที่มีอยู่ในประเทศไทย    และหน่วยจัดสรรงบประมาณก็ไม่คุ้นเคยกับการจัดสรรงบประมาณแก่ รพ. แนวใหม่นี้    เกิดคำถามว่า รพ. มน. ในรูปแบบนี้จะมีความมั่นคงทางการเงินได้อย่างไร    รัฐจะจ่ายเงินหนุนความเป็น รพ. วิจัยหรือไม่    ค่าใช้จ่ายด้านบริการตติยภูมิอันแสนแพงจะมาจากไหน    จากผู้มารับบริการ กับจากการอุดหนุนโดยรัฐ ในสัดส่วนเท่าไร


         โจทย์การเป็นมหาวิทยาลัยของพื้นที่   โยงมาสู่ระบบการบริหารจัดการ    มองจากมุมของการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา    ต้องการการวิจัยเชิงระบบอย่างมากมาย    ท้าทายอย่างยิ่ง


วิจารณ์ พานิช
๑๐ เม.ย. ๕๒

         

หมายเลขบันทึก: 256601เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

ขอบคุณครับได้เรียนรู้ พอจะจำใจความหลัก--บางส่วน-ได้ว่า

รพ. มน.

  • ภารกิจหลักของ  คือ ใช้งานบริการเป็นเครื่องมือเพื่อผลิตและวิจัย ไม่ใช่บริการ 
  • เน้น "ความเป็นเลิศ" ในแนวที่ไม่เหมือน รพ. มหาวิทยาลัยโดยทั่วไปที่มีอยู่ในประเทศไทย

 

มุมมองน่าสนใจมากครับ อาจารย์หมอ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท