คิดเรื่องงาน (39) : กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมแบบไม่มีกำแพงทางสถานะ...


มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากการสังสรรค์ทางความคิด เป็นการเนรมิตเมนูอาหารสมองให้คนในบ้านเดียวกันได้กินอย่างออกรส

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา  ผมมีนัดกับบุคลากรหอพักร่วมๆ ๑๒๐ ชีวิต  โดยมีเป้าหมายหลักๆ คือการประชุมทำแผนดำเนินงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ 

มีบางคนถามผมว่าจำเป็นแค่ไหนถึงต้องให้มีการระดมทุกคนมาร่วมทำแผนด้วยกัน  เพราะที่ผ่านมา  ก็มอบหมายให้แต่เฉพาะแกนหลักเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น  ส่วนในกลุ่มที่เป็นพ่อบ้าน คนสวน แม่บ้าน  รปภ. ก็ไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมกำหนดแผนงานในทำนองนี้เท่าใดนัก


ผมก็ได้แต่ตอบแบบซื่อๆ ไปอย่างบริสุทธิ์ใจว่า

จำเป็นสิ-งานนี้ไม่มีแบ่งชั้นวรรณะ ทุกคนต้องเสมอภาค และมีเสรีภาพพอที่จะคิดอะไรๆ ด้วยตัวเอง  และนั่นก็หมายถึงการเป็นผู้มีส่วนในการกำหนดทิศทางขององค์กร  ไม่ใช่คนเพียงไม่กี่คนต้องมานั่งสถาปนาตัวเองเป็นประหนึ่งผู้หยั่งรู้ฟ้าดินเพียงคนเดียว



ครับ-ผมตอบเช่นนั้นจริงๆ ..ตอบเพราะเห็นว่าที่ผ่านมาไม่ปรากฏกระบวนการของการมี
ส่วนร่วม เช่นนี้เท่าที่ควร  คนกำหนดแผนก็กำหนดเอง คิดเอง โดยขาดการสร้างเวทีประชาคม 
           มันเหมือนมีกำแพงที่ยังไม่ถูกทลายลง ยังไงยังงั้น


อันที่จริงนั้น ผมว่าวิธีการนั้นก็ไม่ผิดนะ  เพราะในเชิงนโยบายก็สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้  แต่ถึงกระนั้น  ตลอดระยะเวลา ๓-๔ เดือนมานี้  ผมเรียนรู้มากพอที่จะบอกได้ว่า  องค์กรดังกล่าว  ยังขาดกระบวนการอันเป็น
ทักษะ  ของการ เรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Teame Learning)  อยู่พอสมควร 

และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  ก็คือ  วิธีคิดที่ไม่เปิดให้บุคลากรได้เข้ามามีส่วนต่อการกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันนั้น ก็เสมือนว่าเป็นการไม่กำหนด
วิสัยทัศน์ ร่วมกัน (Share Vision)  เมื่อใครๆ  ไม่มีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่ต้น  แล้วไฉนแต่ละคนจะมีความรู้สึกร่วมกับ เป้าหมาย นั้นๆ ล่ะ...


นั่นคือนัยยะหนึ่งที่ผมพูดไม่ดังนัก  แต่ก็เชื่อว่า เจ้าของคำถาม หรือแม้แต่ทีมแผนขององค์กรจะตระหนักและหยั่งรู้ได้บ้าง...

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ที่ผมพูดๆ คิดๆ และบอกแบบมีนัยสำคัญนั้น  มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากการสังสรรค์ทางความคิด เป็นการเนรมิตเมนูอาหารสมองให้คนในบ้านเดียวกันได้กินอย่างออกรส
         เรียกได้ว่า  ปลูกเอง เลี้ยงเอง จ่ายตลาดเอง  ปรุงเอง และตบท้ายด้วยการ "กินเอง" 
         เหมือนการดูแลสุขภาพตัวเอง-สุขภาพองค์กรด้วยตัวของตัวเองไปในตัว

 

 

และท้ายที่สุดนั้น ด้วยความที่เกรงว่าจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมสื่อ  ผมจึงยกเอาประเด็น หรือสภาพที่ผ่านมาที่ผมย้ำแบบเปรยๆ มาตลอดให้เขาได้เห็นกันอีกรอบ เพราะนั่นคือการเรียนรู้ก่อนทำ (Lean before)  ด้วยการนำเอาเรื่องราวอันเป็น บทเรียน จากอดีตมาเป็นแนวทาง เช่น 
         ที่ผ่านมา  แผนงานในระดับองค์กรไม่สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ 
         ที่ผ่านมา  แผนงานที่พัฒนานิสิต ไม่เคยมีนิสิต หรือกรรมการนิสิตเป็นส่วนร่วมคิดและร่วมสร้าง 
         เกือบทุกอย่างถูกกำหนดจากบุคลากรแบบล้วนๆ ...ไม่มีแม้กระทั่งกระบวนการของการสำรวจ-วิเคราะห์-สังเคราะห์ว่านิสิต
ต้องการอะไร
        
หรือแม้แต่ หลายๆ แผนงานที่ผ่านพ้นมา บุคลากรในทีมก็ไม่มีส่วนร่วมคิดร่วมกำหนด เป็นแต่เพียงรองรับมาสนองตอบ
          ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่เข้าใจในเป้าหมายนั้นเลย


แน่นอนครับ  เราคงไม่จำเป็นต้องถามว่าใครต้องการอะไรเสียทั้งหมด เพื่อที่จะได้ทำ หรือสนองตอบความต้องการเหล่านั้นเสียทุกประเด็น  แต่มันหมายถึงการเก็บข้อมูลมาเป็นต้นทุนในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ และยุทศาสตร์ ...ไม่ใช่นั่งเทียนเป็นผู้รู้กำหนดทุกอย่างเอง

 

          หากเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ก็ถือว่าซื้อหวยถูก
          แต่ถ้าพลาด ก็ถือว่า
ซวย ไป...

 

เช่นเดียวกับวันนี้  การนำพาทุกคนมานั่งล้อมวงพูดคุยกันแบบไม่จำแนกชนชั้น หรือสถานะทางการงานเช่นนี้  ก็คือวิธีคิดของการ ร่วมกำหนดเป้าหมาย ด้วยกัน  เรียกให้เป็นวิชาการหน่อยก็คือการร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม ก็คงไม่ผิด 

ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า  เท่าที่สังเกตแต่ละคนก็ดูมีความสุขกับบทบาทและพื้นที่ทางความคิดที่หยิบยื่นไปให้มากอยู่มิใช่น้อย  แต่สำหรับคนที่สูญเสียพื้นที่อำนาจแบบเดิมๆ ก็ดูซึมๆ ไปเหมือนกัน

          แต่จะให้ผมทำยังไงได้ล่ะ (ผมว่ามันจำเป็น) ...ไม่เริ่มระบบนี้วันนี้  ก็ไม่รู้จะเริ่มระบบนี้กันวันไหน

 

แต่อย่างไรก็เถอะ  จากการประเมินในผลลัพธ์ที่ออกมา  เนื้อหาที่ปรากฏในแผนงานนั้นดูยังไม่สมน้ำสมเนื้อเสียเท่าไหร่  ซึ่งผู้บริหารก็เปรยในทำนองว่า ไม่ผ่าน  แต่ผมก็เข้าใจดีว่า  อะไรใหม่ๆ ก็ทำนองนี้แหละ  และที่สำคัญผมก็คิดว่ามันจะออกมาในรูปนี้อยู่แล้ว


ครับ-ที่ผมพูดเช่นนั้น  เพราะการเริ่มต้นก็ไม่จำเป็นต้องคิดว่ามันต้องสำเร็จรูป หรือไปได้ไกลจากจุดที่เป็นอยู่ (ย่ำอยู่) ...แต่ที่ผมถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดแล้วก็คือ
บทเรียนแฝง  ที่ผมซ่อนไว้ในกระบวนการครั้งนี้ เช่น

·       กระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของตนเองที่มีต่อการกำหนดความเป็นความตายขององค์กรแบบไม่แยกชั้นวรรณะ

·        กระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการมีใจ (Care) ที่จะแบ่งปัน (Share)  ทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม ประหนึ่งคนในบ้านเดียวกัน ผ่านการเล่าแบบเปิดเปลือย และผ่านการฟังอย่าง "ตั้งใจ  ของแต่ละคน โชคดีก็กลายเป็นการฟังแบบ "ลึกซึ้ง"

 

ครับ-ผมยืนยันว่าผมมีความสุขกับ บทเรียนแฝง  ที่ทิ้งไว้เป็นอย่างมาก และไม่รู้สึกขมขื่นกับสาระที่บุคลากรนำมาเสนอ  เพราะเรายังมีเวลามากพอที่จะร่วมกันปรับแต่งอีกรอบใหญ่ๆ ...

 

ครับ-สามถึงสี่เดือนที่ผ่านมา  คือการบริหารงานแบบศึกษางาน  แต่บัดนี้ผมพร้อมแล้วที่จะบริหารงานแบบ ขับเคลื่อน  โดยยึดเอาวันนี้เป็นวันแห่งการเริ่มต้น
          - งานที่มีบุคลากรจำนวนมากเกือบๆ ๑๕๐ คน 
            และงานที่มีรายได้เข้ามาในแต่ละปีเกือบๆ ๖๐ ล้านบาทให้บริหารเองเช่นนี้  เป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับผมมากๆ ..  เพราะมันคือการงบประมาณที่ลงทุนกับความเป็น "คน" โดยเฉพาะคนที่มีสถานะ "อนาคต" ของชาติ
         ซึ่งถึงแม้ว่า 
ทุกวันนี้  ผมจำต้องทำงานและโหมงานแบบสองที่สองทาง  หนักเท่าตัว และทำฟรีแบบไม่รับเงินประจำตำแหน่ง-
          เหนื่อย แต่ก็สุขใจ...
          สุขใจที่ได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมกับองค์กรอันเป็น
บ้าน ของตัวเอง

 

          และสำหรับวันนี้ ผมสุขใจกับการเห็นคนที่ไม่เคยพูดต่อที่สาธารณะอย่างเป็นทางการ เช่น พ่อบ้าน แม่บ้าน รปภ..ก็จำต้องออกมานำเสนอผลแห่งการพูดคุยของคนในกลุ่มแบบเคอะๆ เขินๆ

          ผมว่า มันไม่มีอะไรเสียหาย และไม่มีอะไรล้มเหลว
          เพราะมันคือการเริ่มต้นของการมีส่วนร่วม..
          มันคือยกแรก...
          และ "เรา" ซึ่งหมายถึง "ทุกคน"  ก็ยังจะต้องมียกต่อๆ ไป

         

 

........

๑๙  เมษายน ๕๒
อาคารบริการกลาง, มมส

หมายเลขบันทึก: 256524เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เห็นภาพความสำเร็จเล็กๆ แล้วก็พลอยชื่นอกชื่นใจแทนไม่ได้

เมื่อไหร่หนอ ภาพใหญ่ๆ ของประเทศจะเริ่มทำกันแบบนี้บ้าง

ผมคิดว่า ใครที่กล้าหาญทำ และทำได้แบบนี้

คงจะต้องเห็นคุณค่า และความดีที่ซ่อนเร้นอยู่ตัวผู้อื่นเสียก่อน

อยากเรียกว่า มีศรัทธาในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์

ไม่ง่ายครับ กว่าที่ใครสักคนจะผ่านกระบวนการเรียนรู้ไปสู่จุดดังกล่าว

ผมก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง

แต่คิดว่าอาจารย์น่าจะทราบคำตอบนะครับ

คงเป็นบรรยากาศการทำงานที่มีความสุขมากนะค่ะ ถือว่าเป็นเคล็ดลับการทำงานให้ประสบความสำเร็จแถมได้ความร่วมมือและความสุขกันทั่วหน้า รู้สึกชื่นชมแนวคิดการมีส่วนร่วมในการทำงานของคุณแผ่นดินมากๆค่ะ

  • มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากการสังสรรค์ทางความคิด เป็นการเนรมิตเมนูอาหารสมองให้คนในบ้านเดียวกันได้กินอย่างออกรส
             เรียกได้ว่า  ปลูกเอง เลี้ยงเอง จ่ายตลาดเอง  ปรุงเอง และตบท้ายด้วยการ "กินเอง" 
  • ประโยคเหล่านี้มีค่ามากๆ

 

ต้องบอกว่าดีใจแทน มมส.ที่มีคนทำงานที่เข้มเเข็งเเลเปี่ยมด้วยคุณภาพทางความคิดอย่างนี้ อย่างคุณแผ่นดินวันนี้เเวะมาทักทายคิดว่าคงจะเขียนบล็อกวันนี้ เป็นวันสุดท้าย...เดี๋ยวนะคะยังพูดไม่จบ ก่อนจะพักยกไปเลี้ยงลูกที่บ้านนอกสกลนคร หลายวันเลยค่ะพักร้อนคงคิดถึงชาว g2k น่าดูที่บ้านไม่มี googleค่ะ คงกลับมาใหม่เมื่อชาติยังต้องการเอ๊ย.เมื่อชาว g2k ยังต้องการ วันนี้เลยมาชวนคุณแผ่นดินกับนางไห ข้างกายไปอ่านบล็อกนี้ค่ะเชิญทางนี้ค่ะhttp://gotoknow.org/blog/245/256787

เป็นหมอลำกลอนค่ะแต่ว่าเป็นกลอนเศร้านิดนึง

ให้นางไหลำให้ฟังนะคะ เเต่ว่าอย่าร้องไห้ตามนะคะ

  • เวทีแบบนี้ ได้กระเทาะเกราะออกก่อน ...อะไรๆก็ตามมา
  • โดยเฉพาะไอเดียดีๆ หรือความคิดสร้างสรรค์

สวัสดีครับ ซวง ณ ชุมแสง

ตอนนี้ผมก็ได้แต่พยายามอย่างเต็มที่กับการสร้างให้คนในองค์กรรู้สึกถึงความรู้สึกของการเป็นทีม และรู้สึกถึงความสำคัญของกันและกัน เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทาง ความเป็นความตายขององค์กร

เมื่อวานก็เป็นอีกวันที่ผมขยายผลดังกล่าวเป็นเวทีที่สอง คราวนี้มาเฉพาะแกนหลัก โดยนำเอาข้อมูลที่เกิดจากการระดมในเวทีก่อนมาหารือร่วมกับแกนหลักของแต่ละฝ่าย..

ก็เป็นบรรยากาศง่ายๆ เน้นให้แต่ละคนได้พูดได้นำเสนอ พร้อมๆ กับการกระตุ้นให้แต่ละคน หรือแต่ละฝ่ายได้มีส่วนร่วมกับการวิเคราะห์งานของเพื่อนๆ ในองค์กร..ผมเองก็คอยตั้งประเด็นให้ร่วมกันคิดและใคร่ครวญกันอย่างช้าๆ

เชื่อว่าก็คงได้อะไรบ้างล่ะ..
ผมเชื่อเช่นนั้น นะครับ

 

สวัสดีครับ.. คุณนิตยา จรัสแสง

วิธีการเช่นนี้  ผมเคยเขียนเป็นกลอนไว้กว่าสิบปีที่แล้วว่า

คุณค่าความเป็นคน
สูงส่งสักแค่ไหน
ต้อยต่ำสักปานใด
ล้วนอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน

....

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ...คุณ เบดูอิน

ปลูกเอง เลี้ยงเอง จ่ายตลาดเอง  ปรุงเอง และตบท้ายด้วยการ "กินเอง" 

ครับ-เหตุที่ผมเขียนเช่นนั้น  เพราะผมมองแบบหยาบๆ หรือกว้างๆ ว่า คนเราย่อมดูแลตัวเองได้ดีที่สุด เหมือนกินอาหาร หากอยากให้ตัวเรามีสุขภาพดี เราก็ย่อมคัด หรือทานแต่สิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ

การทำงานก็เช่นเดียวกัน คนแต่ละคนก็ย่อมมีศิทธิ์ที่จะกำหนดทิศทางของงานด้วยตนเองได้บ้าง ถึงไม่ทั้งหมด แต่ก็ต้องมีส่วนบ้าง...มิใช่ยกให้เป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ... สุธีรา

สัปดหานี้แทบไม่ได้ไปเยี่ยมเลยครับ วุ่นอยู่กับงาน  ทุกๆ วันประชุมยาวทั้งวันตลอด...

...

มีความสุขกับชีวิตและการงานน นะครับ

 

พี่ สุธีรา

ครับ, อ่านแล้วออกเศร้าๆ ...แต่ในความโศกเศร้านั้น ผมเห็นความงดงามของการขอบคุณและฝากแง่งามของชีวิตอยู่มากเลยทีเดียวครับ

....

 

สวัสดีครับ...คุณน้อง-พิชชา

นั่งตอบบันทึกนี้ ในขณะที่รอรถตู้มารับเพื่อลงพื้นที่..
เห็นด้วยนะครับว่านี่คือกระบวนการขั้นต้นที่ว่าด้วยการ "กระเทาะเกราะ"...

หากทำได้  อะไรดีๆ ก็จะตามมา ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคน และประเด็นดีๆ สำหรับการพัฒนาองค์กร

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

เป็นแนวคิดที่เพียงพอ เหมาะกับสภาวะของประเทศเรานะคะ

ปลูกเอง เลี้ยงเอง จ่ายตลาดเอง  ปรุงเอง และตบท้ายด้วยการ "กินเอง" 

แต่บางอย่างพี่ว่า กินเองไม่ได้นะคะ อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท